xs
xsm
sm
md
lg

โค่นสวนยางบุกรุกป่าอุทยานนครศรีฯ กว่า 18 ไร่ เตรียมเพิกถอนสิทธิ์ถือครองพื้นที่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นครศรีธรรมราช - ระดมกำลังเจ้าหน้าที่กว่า 200 นาย รื้อถอนสวนยางพาราในเขตอุทยานแห่งชาติ รวม 17 แปลง กว่า 80 ไร่ พบในจำนวนนั้นมีข้าราชการระดับสูงเป็นเจ้าของด้วย เผยเตรียมเพิกถอนการครอบครองตามมติ ครม.41 หากขาดคุณสมบัติยึดคืนทันที

เมื่อเวลา 09.00 น. วันนี้ (29 ต.ค.) นายวิกรานต์ ทั่วด้าว ผอ.ส่วนป้องกันและรักษาทรัพยากรธรรมชาติ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 นายจรวย อินทร์จันทร์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติน้ำตกโยง ได้ระดมเจ้าหน้าที่จากกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ในพื้นที่นครศรีธรรมราชกว่า 200 นาย เข้าสนธิกำลังกับเจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดน กก.ตชด.42 ปฏิบัติการรื้อถอนผลอาสิน โดยเฉพาะการลักลอบบุกรุกแผ้วถางป่า และปลูกยางพาราในเขตอุทยานแห่งชาติน้ำตกโยงในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อ.ทุ่งสง อ.ลานสกา อ.ช้างกลาง และ อ.ร่อนพิบูลย์ ซึ่งได้มีการตรวจยึดจนดำเนินคดีแล้วเสร็จชุดนี้รวมทั้งหมด 17 แปลง เนื้อที่รวม 83 ไร่ โดยเจ้าหน้าที่ได้ใช้เครื่องเลื่อยยนต์ มีดพร้า และขวานเข้าทำการตัดโค่นต้นยางพาราอายุประมาณ 2-3 ปี จำนวนกว่า 4,000 ต้นที่ปลูกจนเต็มพื้นที่บุกรุกอย่างต่อเนื่อง โดยจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันนี้

ขณะเดียวกัน ในการเข้ารื้อถอนตัดโค่นต้นยางพาราในพื้นที่ ม.1 ต.นาหลวงเสน อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งได้มีการตรวจยึดดำเนินคดีไปเมื่อปี 2546-2547 จนคดีแล้วเสร็จ พบว่า แปลงปลูกยางพาราบนภูเขาดังกล่าวเป็นของข้าราชการระดับสูงที่เคยปฏิบัติหน้าที่อยู่ใน อ.ทุ่งสง รายหนึ่ง และปัจจุบัน ได้ย้ายออกจากพื้นที่ไปแล้ว

โดยชาวบ้านต่างให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ยืนยันว่า แปลงยางพาราดังกล่าวเป็นของข้าราชการรายนั้น แต่ไม่มีหลักฐานเชื่อมโยงไปถึงเพียงพอที่จะเอาผิดได้ และเป็นที่จับตาของชาวบ้านในย่านใกล้เคียงว่า เจ้าหน้าที่จะกล้าดำเนินการหรือไม่ ซึ่งในที่สุด หลังจากที่การดำเนินคดีแล้วเสร็จ เจ้าหน้าที่ได้เข้าตัดโค่นทั้งแปลงจนราบเพื่อปล่อยให้สภาพป่าธรรมชาติฟื้นตัวคืน

นายจรวย อินทร์จันทร์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติน้ำตกโยง เปิดเผยว่า เนื้อที่รับผิดชอบของอุทยานแห่งชาติน้ำตกโยงมีประมาณ 1.2 แสนไร่ ครอบคลุมใน 4 อำเภอ ประกอบด้วย อ.ร่อนพิบูลย์ อ.ทุ่งสง อ.ช้างกลาง และ อ.ลานสกาบางส่วน ทั้งนี้ มีพื้นที่ป่าที่มีสภาพสมบูรณ์ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ ถือเป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญของ จ.นครศรีธรรมราช ส่วนอีกประมาณ 10 เปอร์เซ็นนั้นประชาชนได้เข้าครอบครองทำการเกษตรกรรมประมาณ 1 หมื่นไร่เศษ โดยได้สำรวจการถือครองโดยใช้มติ ครม.เมื่อปี 2541

และหลังจากที่ปฏิบัติการทวงคืนผืนป่าที่ถูกบุกรุกปลูกยางพาราในพื้นที่อุทยานแล้วเสร็จนั้น จะเริ่มตรวจสอบสิทธิการทำประโยชน์ในพื้นที่ตามมติ ครม. หากมีคุณสมบัติไม่ครบ หรืแอบเปลี่ยนมือซื้อขายไปแล้วจะเข้าทำการรื้อถอนผลอาสินฟื้นสภาพป่าทันที เพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนไปขาย หรือตกไปอยู่ในมือของนายทุน

 
 



กำลังโหลดความคิดเห็น