ไม้ เมืองขม
ปัญหาความไม่สงบที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้ว่าโดยภาพรวม “เจ้าภาพ” ในการดำเนินการดับ “ไฟใต้” จะเป็นหน้าที่โดยตรงของ “กองทัพ” ที่สั่งการผ่าน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ในการกำหนด “ยุทธศาสตร์” และ “ยุทธการ” ต่อขบวนการแบ่งแยกดินแดนบีอาร์เอ็นโคออดิเนต เพื่อสร้างความสงบสุขให้เกิดขึ้น
แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า “ตำรวจ” คือผู้มีหน้าที่หลักในการปฏิบัติการดับ “ไฟใต้” เพราะตำรวจเป็นผู้รักษากฎหมาย เป็นผู้ใช้กฎหมายในการสืบสวน จับกุม สอบสวน ส่งฟ้องผู้ทำความผิด ตำรวจเป็นด่านแรกที่เป็น “ต้นน้ำ” ของการให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกกล่าวหา และเป็นด่านสุดท้ายในการหาพยานหลักฐานให้แก่พนักงานอัยการ เพื่อเอาคนทำผิดลงโทษตามกฎหมาย ตำรวจเป็นผู้รักษาความสงบ เป็นผู้รักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินในท้องถิ่นที่อยู่ใกล้ชิดกับประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง และไม่ว่าสถานการณ์จะเลวร้ายมากขึ้น หรือสงบราบคาบ ตำรวจก็ไม่มีการถอนกำลังกลับกรมกองอย่างทหาร เพราะตำรวจมีหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อยที่จะต้องอยู่กับประชาชนตลอดไป
ดังนั้น ความ “ล้มเหลว” ของการดับ “ไฟใต้” ครั้งใหม่ ที่ลุกลามอย่างยาวนานถึง 9 ปี และไม่มีที่ท่าจะมอดดับ ปัญหาส่วนหนึ่งก็มาจากความไม่พร้อมของตำรวจ เช่น ตำรวจภูธรมีกำลังไม่เพียงพอ กำลังที่มีอยู่ใน สภ.ต่างๆ แค่ทำหน้าที่งานประจำ เช่น ป้องกัน จับกุมผู้ทำความผิดฉกชิงวิ่งราว ปล้นฆ่า โจรกรรมรถ เสพ และขายยาเสพติด และการจัดการจราจร ออกตรวจท้องที่ก็แทบจะทำไม่หมดแล้ว ดังนั้น การจะหวังให้ตำรวจมีประสิทธิภาพในการสืบสวนจับกุม “แนวร่วม” และ “แกนนำ” ขบวนการก่อความไม่สงบมาลงโทษ หรือการป้องกันอย่าให้เกิดเหตุฆ่ารายวัน วางระเบิดรายวัน จึงเป็นไปไม่ได้เลย
แค่กำลังตำรวจที่ไม่เพียงพอต่อการปฏิบัติหน้าที่ และการขาดแคลนยุทธโธปกรณ์ ยานพาหนะ งบประมาณก็กลายเป็นปัญหาใหญ่ที่พูดกันมาหลายต่อหลายปี แต่ยังไม่มีการแก้ไข ยังมีการปล่อยให้ตำรวจในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่การก่อการร้ายปฏิบัติหน้าที่ในลักษณะเหมือนกับพื้นที่ทั่วๆ ไป ดังนั้น ที่ผ่านมา งานของตำรวจภูธรจึงไม่ตอบโจทย์ของการแก้ปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้น
แต่พลันที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีการแต่งตั้ง พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว เป็น ผบ.ตร. ตำรวจ และประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ค่อนข้างจะ “คาดหวัง” ว่า ต่อไปนี้ ประสิทธิภาพของตำรวจในจังหวัดชายแดนภาคใต้น่าจะถูกทำให้เป็นหน่วยงานที่มีส่วนในการดับ “ไฟใต้” ได้ผลมากขึ้น และประชาชนน่าจะมีความอุ่นใจในเรื่องของความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สิน รวมทั้งในด้านการอำนวยความเป็นธรรมมากกว่าที่ผ่านมา
เพราะมีการเชื่อกันว่า พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว เป็นนายตำรวจที่เข้าใจปัญหาของจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ดี มองเห็นอุปสรรคของตำรวจภูธรในพื้นที่ได้ชัดเจน มองเห็นความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นกับประชาชนจากกระบวนการยุติธรรม และมองเห็นความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นกับตำรวจในพื้นที่ เพราะ พล.ต.อ.อดุลย์ เคยเป็น ผบช.ภ.9 เคยอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดแบบ “เกาะติด” ทุกปัญหา และเป็นผู้ที่หลั่งน้ำตากับกรณีการสูญเสีย พ.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา อดีต ผกก.สภ.บันนังสตา จ.ยะลา จากการโยกย้ายที่ไม่เป็นธรรม ดังนั้น พล.ต.อ.อดุลย์ จึงเป็น ผบ.ตร.คนแรก ที่ “รู้แจ้งแทงตลอด” ในเรื่องของชายแดนใต้ ทั้งเรื่องของขบวนการ เรื่องของประชาชน และเรื่องของตำรวจด้วยกัน
โดยข้อเท็จจริง ความขาดแคลนกำลังพล ความขาดแคลนเครื่องไม้เครื่องมือ ยุทโธปกรณ์ และอุปสรรคอื่นๆ ของตำรวจเป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหาที่ทำให้ตำรวจภูธรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ถูกมองจากภาคประชาชนว่า “ล้มเหลว” ในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น แต่เรื่องที่สำคัญกว่านั้นซึ่งเป็นเรื่องที่ พล.ต.อ.อดุลย์ ต้อง “ลงลึก” และทำเป็นอันดับแรก คือ การพัฒนาศักยภาพของตำรวจภูธรเพื่อลดเงื่อนไข และสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นแก่ประชาชนในพื้นที่
เพราะปัญหาใหญ่ๆ ที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีเพียง 3 เรื่อง เรื่องที่ 1 คือการก่อการร้ายของขบวนการบีอาร์เอ็นฯ เพื่อแบ่งแยกดินแดน เรื่องที่ 2 คือ จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นแหล่งระบาดของยาเสพติด ที่เป็นแหล่งค้าส่งรายใหญ่ของประเทศ และเรื่องที่ 3 คือ เรื่องขบวนการค้าน้ำมันเถื่อน และผู้มีอิทธิพลที่สนับสนุนการก่อการร้าย
ปัญหาแรกต้องแก้ด้วยการเพิ่มอัตรากำลังให้เพียงพอ และเพิ่มเครื่องไม้เครื่องมือที่จำเป็น และทันสมัย และเพิ่มศักยภาพของตำรวจ เพิ่มขวัญและกำลังใจให้แก่คนที่ทำงาน และต้องโยกย้ายตำรวจที่ไม่ทำงาน ที่ทำตัวเป็น “นักบิน” เป็น “เด็กฝาก” เป็น “เด็กเส้น” ที่ต้องการมาอยู่ในพื้นที่เพื่อต้องการ “วันทวีคูณ” และต้องการผลประโยชน์ออกจากพื้นที่ให้หมด และต้องปรับนโยบายการทำหน้าที่ของ ศชต.จชต. ให้สอดคล้องกับภารกิจของการเป็นพื้นที่ก่อการร้าย
ส่วนประเด็นที่ 2 เรื่องยาเสพติด แก้ได้ด้วยการเอาจริงกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีผลประโยชน์กับขบวนการค้ายาเสพติด เพราะที่ผ่านมา การแก้ปัญหายาเสพติดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ไม่ได้ผล เนื่องจากตำรวจส่วนใหญ่ตั้งแต่ระดับผู้บริหารโรงพักจนถึงระดับปลายแถว ต่างมีผลประโยชน์กับผู้เกี่ยวข้องกับการเสพยา ค้ายา โดยเฉพาะวิธีการ “จับ” แล้วรีดเงิน และปล่อยผู้ต้องหา และการเปลี่ยนข้อหาจากการ “ขาย” มาเป็น “เสพ” เพื่อแลกกับเงินก้อนโต ซึ่งเป็นกันทุกโรงพักจะต้องไม่เกิดขึ้น เพราะหากยังปล่อยให้แต่ละโรงพักใช้วิธีการเช่นนี้ “ตบทรัพย์” ผู้ทำความผิด การแก้ปัญหายาเสพติดไม่มีทางได้ผล
และเรื่องการปราบปรามขบวนการค้าน้ำมันเถื่อน และผู้มีอิทธิพลที่ทำธุรกิจผิดกฎหมาย พล.ต.อ.อดุลย์ จะต้องเร่งดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพราะขณะนี้ ขบวนการค้าน้ำมันเถื่อนเติบโตยิ่งใหญ่ที่สุดกว่าขบวนการอื่นๆ มีเม็ดเงินกว่า 1,000 ล้านในแต่ละเดือนที่กลายเป็น “ส่วย” ให้เจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะตำรวจ และวันนี้ตำรวจในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เข้าไปค้าขายสิ่งของผิดกฎหมายเสียเอง ทั้งน้ำมันเถื่อน เหล้าเถื่อน บุหรี่เถื่อน และอื่นๆ มีจำนวนกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ และเพราะผลประโยชน์ที่มหาศาลเช่นนี้ จึงทำให้ตำรวจวางเฉยต่อการทำผิดกฎหมาย จนสุดท้ายประชาชนในพื้นที่ซึ่งเป็นพฤติกรรมของตำรวจทุกวัน จึงไม่เชื่อมั่น และไม่ศรัทธากับเจ้าหน้าที่ตำรวจ การให้ความร่วมมือระหว่างประชาชนกับตำรวจจึงไม่เกิดขึ้น
อบายมุขที่ “บานสะพรั่ง” ทั้งเมือง น้ำมันเถื่อนที่เต็มไปทุกพื้นที่ ยาเสพติดที่ซื้อง่าย-ขายคล่อง เหมือนซื้อขนมขบเคี้ยว โรงพักที่กลายเป็น “ตลาดหลักทรัพย์” ให้คนทำผิดใช้เงินซื้อ “กฎหมาย”ได้ จนกลายเป็นที่ซื้อ-ขาย “สำนวน” การประกันตัวผู้ต้องหาที่ต้องจ่ายขั้นต่ำ 5,000 บาทถึงจะได้ประกัน และอีกมากมายที่ล้วนเป็นที่เสื่อมเสียของตำรวจในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ล้วนเป็น “ภาพลบ” ที่เกิดขึ้นมายาวนาน ซึ่งประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่างคาดหวังว่า พล.ต.อ.อดุลย์ คงเห็นและเข้าใจ และจะทำให้ภาพเหล่านี้หมดไปจากสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้ “ตำรวจ” ในพื้นที่เป็น “กลไก” สำคัญในการผดุงความยุติธรรมให้กัแก่ประชาชน
ถ้า พล.ต.อ.อดุลย์ สามารถที่จะลบภาพเก่าๆ ของตำรวจในจังหวัดชายแดนภาคใต้ทิ้ง และสร้างภาพตำรวจเพื่อประชาชน และสร้างโรงพักเพื่อประชาชนจริงๆ ขึ้นมาได้ ตำรวจก็จะเป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีประสิทธิภาพในการสร้างความสงบให้เกิดขึ้นแก่แผ่นดิน “ปลายด้ามขวาน” อย่างแท้จริง