ปัตตานี - ดร.โอฬาร ไชยประวัติ ร่วมเวที “เปิดบ้านปัตตานี” แลกเปลี่ยนความรู้เรื่องเศรษฐกิจในสภาวะความขัดแย้ง เตรียมดันชายแดนใต้สู่อาเซียน อันดับแรกดัน “ต้มยำกุ้ง” ในประเทศมาเลเซีย
เมื่อเวลา 09.30 น.วันนี้ (25 ก.ย.) ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นประธานในพิธีเปิดงาน “เปิดบ้านปัตตานี” เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยน และให้ความรู้ในเรื่องเศรษฐกิจในสภาวะที่มีความขัดแย้งในพื้นที่ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนให้กลับคืนมาในพื้นทีจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในงานจัดให้มีการปาฐกถาจาก ดร.โอฬาร ไชยประวัติ ประธานผู้แทนการค้าไทย เรื่อง “เหลียวหลัง แลหน้า ศักยภาพและโอกาสเศรษฐกิจชายแดนใต้” โดยมีนายสมศักดิ์ อิสริยะภิญโญ ประธานหอการค้าจังหวัดปัตตานี นิสิต นักศึกษา นักธุรกิจ ประชาชน เข้าร่วมรับฟังเป็นจำนวนมาก
จากปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจในพื้นที่เป็นอย่างมาก เนื่องจากนักลงทุนจากต่างประเทศไม่กล้าที่จะมาลงทุนในพื้นที่ ทั้งที่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ถือว่าเป็นแหล่งวัตถุดิบที่สำคัญไม่ว่าจะเป็นทางด้านประมง น้ำมันปาล์ม ยางพารา รวมถึงแหล่งอาหารที่เป็นอาหารฮาลาลที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก ดังนั้น ทางหอการค้าจังหวัดปัตตานีได้จัดงาน “เปิดบ้านปัตตานี” ก็เพื่อต้องการที่จะให้ความรู้ความเข้าใจในด้านเศรษฐกิจของพื้นที่ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน รวมถึงการผลักดันวัตถุดิบจากการทำประมง และน้ำมันปาล์มนำมาผลิตเป็นอาหารฮาลาล ภายใต้อัตลักษณ์ของชาวจังหวัดปัตตานีที่มีความเป็นวิถีมุสลิมที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศอาเซียน ภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาล ที่มีนโยบายสนับสนุนให้จังหวัดปัตตานีเป็นศูนย์กลางอาหารฮาลาล (Halal City) โดยหวังว่าความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จะฟื้นคืนกลับมาอีกครั้ง
ด้าน ดร.โอฬาร ไชยประวัติ ประธานผู้แทนการค้าไทย กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะต้องมีการเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านซึ่งในอีก 3 ปีข้างหน้า 10 ประเทศ รวมถึงประเทศไทยก็จะร่วมกันเป็นกลุ่มประชาคมประเทศอาเซียน ก็หมายความว่า ข้อจำกัดที่จัดขึ้นมาเมื่อในอดีต เช่น อัตราภาษี การห้ามเข้าออกตามชายแดนระหว่างกันก็จะหมดไป ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องพัฒนาอาชีพ การศึกษา และอิสระในการประกอบอาชีพ ก็จะทำให้โอกาสทางด้านเศรษฐกิจก็จะเปิดกว้างขึ้นซึ่งไม่ต้องรอให้ถึง 3 ปี
เพราะในวันนี้ มีโครงการนำร่องก็คือ ร้านต้มยำกุ้งที่กำลังได้รับความนิยมในประเทศมาเลเซีย เราจะเพิ่มคนไทยที่ขายอยู่ในประเทศมาเลเซียจาก 3 แสน คนเป็น 6 แสนคน ซึ่งถ้าทำได้ก็จะมีคนมาเลเซียจะเดินทางข้ามฟากมายังประเทศไทยมาเรียนรู้การทำอาหารที่คนไทยนิยมรับประทาน มาประกอบธุรกิจในประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เพิ่มโอกาสเพิ่มมากขึ้นในไม่กี่ปี และอีกอย่างหนึ่งก็คือ จำเป็นจะต้องมีอาหารฮาลาลในพื้นที่ โดยการร่วมมือกัน แทนที่จะไปแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อหามาตรฐานฮาลาลเดียวกัน โดยมีเป้าหมายในการส่งไปขายในชุมชนมุสลิมทั่วโลก