xs
xsm
sm
md
lg

นี่หรือ “เรื่องก๊าซ ไม่มีใครหลอกใคร!” / ประสาท มีแต้ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ : โลกที่ซับซ้อน

โดย...ประสาท มีแต้ม

 

นับตั้งแต่ประมาณเดือนเมษายนปีนี้ (2555) ก่อนที่บริษัท ปตท.จำกัดจะขึ้นราคาก๊าซเอ็นจีวี ได้มีโฆษณาผ่านทางโทรทัศน์หลายช่อง โดยทำเป็นรูปการ์ตูนประมาณ 10 ตอน ใช้ชื่อชุดว่า “รู้ทันก๊าซ” ซึ่งสาระที่ทำให้คนจำได้ก็คือ “เรื่องของก๊าซ ไม่มีใครหลอกใคร ความไม่รู้ต่างหากที่หลอกเรา”

วัตถุประสงค์ของโฆษณาชุดนี้ ก็เพื่อตอบโต้ข้อมูลของภาคประชาชนที่ออกมารณรงค์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์เล็กๆ ที่ตั้งคำถามว่า ทำไมในขณะที่ราคาก๊าซธรรมชาติในตลาดโลก และตลาด Henry Hub ลดลงจาก $4.25 (กันยายน 2554) เหลือ $1.70 (พฤษภาคม 55) ต่อล้านบีทียู หรือลดลง 2.5 เท่า แต่ประเทศไทยเรากลับสวนทางอย่างไม่รู้จักอายฟ้าอายดิน (http://www.wtrg.com/daily/oilandgasspot.html) ราคาเอ็นจีวีได้ขึ้นจาก 8 บาท มาอยู่ที่ 10.50 บาทต่อกิโลกรัม และจะขึ้นต่อไปอีก ราคาก๊าซหุงต้มก็กำลังจ่อคิวตามมา

ที่น่าเกลียดมาก นอกจากการ์ตูนชุดนี้ได้ให้ข้อมูลต่อสาธารณะไม่ครบถ้วน และบิดเบือนความจริงบางอย่างแล้ว ยังไม่ปรากฏชื่อผู้จัดทำ ไม่ทราบว่าเป็น ปตท. หรือกระทรวงพลังงาน หรือบริษัทใดกันแน่เป็นผู้ผลิต แต่เราทราบว่า กระทรวงพลังงานจ่ายค่าโฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ ประมาณปีละ 126 ล้านบาท มากกว่าบริษัทขายรถยนต์ยี่ห้อดังๆ เสียด้วยซ้ำ เป็นหน่วยงานของรัฐแท้ๆ เขาหวังอะไรกันหนักหนา?

บทความนี้ไม่ต้องการจะตอบโต้ในรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องก๊าซในชุดโฆษณาดังกล่าว แต่ต้องการชี้ให้เห็นความจริง 2 อย่าง ที่ทางกระทรวงพลังงานได้หลอกประชาชนมาตลอดคือ

หนึ่ง เราจำเป็นต้องเก็บค่าภาคหลวงในอัตราต่ำๆ เพราะแหล่งปิโตรเลียมของเรามีขนาดเล็ก ทำให้เกิดต้นทุนต่อหน่วยผลผลิตในการดำเนินการของบริษัทสูง สอง การให้สัมปทานแหล่งปิโตรเลียมครั้งใหม่ก็เพราะเพื่อลดการพึ่งพิงปิโตรเลียมจากต่างประเทศ และสาม ปริมาณปิโตรเลียมที่เจาะได้มาถึงจุดสูงสุดแล้วต่อไปมีแต่จะร่อยหรอ ผมมีตัวอย่างมาค้านแย้งดังนี้ครับ

                                 แปลงสัมปทานเอราวัณ (Erawan)

แปลงสัมปทานเอราวัณ เป็นแหล่งแรกของการสำรวจ อยู่ในอ่าวไทยทางทิศตะวันออกของอำเภอขนอม จ.นครศรีธรรมราช (ดูภาพประกอบ) ตามเอกสารของบริษัทเชฟรอนระบุว่า มีปริมาณก๊าซไม่น้อยกว่า 1.0 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต แต่เอกสารของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ในรูปเพาว์เวอร์พอยต์ เรื่อง กฎหมายปิโตรเลียม ไม่ระบุวันที่) ระบุว่า มีปริมาณก๊าซ 1.58 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต โดยจะผลิตวันละ 250 ล้านลูกบาศก์ฟุต เริ่มจากมิถุนายน 2525 ขอย้ำว่า ทางราชการอ้างว่ามีก๊าซธรรมชาติเพียงอย่างเดียว ไม่ระบุว่ามีน้ำมันดิบ หรือคอนเดนเสท (ปิโตรเลียมเหลวเมื่อกลั่นแล้วจะได้น้ำมันสำเร็จรูปชั้นดี)

อย่าเพิ่งปวดหัวกับตัวเลขมากนักนะครับ ผมจะจิ้มเครื่องคิดเลขให้เองครับ พบว่าถ้าเป็นอย่างนี้จริงก็จะหมดเมื่อขุดไปได้ 17 ปีกับ 4 เดือน นั่นคือหมดในปลายปี 2542

แต่จนถึงวันนี้ (2555) แหล่งเอราวัณยังคงผลิตอยู่ครับ นี่หมายความว่าอะไร ท่านอาจจะคิดว่าก็เขาอาจจะผลิตน้อยกว่าแผนก็ได้ แต่จากรายงานเรื่อง 40 ปี กฎหมายปิโตรเลียมไทย (หน้า 82) ระบุว่า นับถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2554 แหล่งเอราวัณได้เจาะก๊าซธรรมชาติไปแล้ว 2.715 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต ขุดมาแล้วเกือบ 30 ปี (นับถึง 31 ธันวาคม 54) วันละ 252 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต มากกว่าอัตราที่อยู่ในแผนเสียด้วยซ้ำ ก็ยังไม่หมด นอกจากนี้ ยังพบมีสำรองอีก 0.599 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต (ใช้ได้อีกประมาณ 7 ปี รวมทั้งหมด 37 ปี ทั้งๆ ที่เคยคาดว่าได้ 17 ปีเท่านั้น)

นี่แปลว่าปริมาณที่ขุดเจาะไปแล้วบวกกับปริมาณสำรองคิดเป็น 3.3 เท่าของปริมาณต่ำสุดที่บริษัทระบุ หรือ 2.1 เท่าของที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเคยทราบ

ยังไม่หมดเท่านี้ครับ แหล่งเอราวัณได้ให้ก๊าซธรรมชาติเหลวแล้ว 94.45 ล้านบาร์เรล แถมยังมีสำรองอีก 20.21 ล้านบาร์เรล นอกจากนี้ ยังมีน้ำมันดิบ 0.58 ล้านบาร์เรล

จากข้อมูลที่กล่าวมาแล้ว และประสบการณ์ของภาคประชาชน ผมได้ข้อสังเกตดังนี้ (1) เรามั่นใจได้อย่างไรว่า บริษัทผู้สำรวจจะบอกความจริงแก่รัฐบาล หม่อมหลวงกรกสิวัฒน์ เกษมศรี (อดีตวิศวกรวางท่อก๊าซ และผู้สืบค้นหาความจริงด้านปิโตรเลียม) ได้บอกแก่สาธารณะว่า ประเทศกัมพูชาจะว่าจ้างให้บริษัทขุดเจาะอย่างน้อย 2 บริษัทเพื่อการตรวจสอบข้อมูลกัน แต่ของไทยไม่มีครับ ชุดเดียว

(2) ข้าราชการระดับสูงของกระทรวงพลังงานยืนยันกับภาคประชาชนมาตลอดว่าแหล่งก๊าซของไทยไม่มีน้ำมันดิบ จริงอยู่ครับว่าถึงน้ำมันดิบมีก็น้อยมาก (สำหรับแหล่งเอราวัณ-ตามที่เขาบอก!) แต่แหล่งอื่นๆ ที่จะกล่าวต่อไปก็มีเยอะครับ

เหตุผลในการเปิดสัมปทานรอบที่ 21

ตามแผนเดิม กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ จะเปิดให้สัมปทานครั้งที่ 21 ในเดือนกรกฎาคม 2555 โดยมีเหตุผลข้อแรกว่า “เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ เพื่อให้มีพลังงานใช้อย่างพอเพียง และการลดการพึ่งพาพลังงานจากต่างประเทศ” ดังที่ผมตัดมาให้ดูกันบางส่วนในภาพข้างล่างนี้

แต่จากข้อมูลที่ผมค้นได้จากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ พบว่า เฉพาะในเดือนมกราคม 2555 เพียงเดือนเดียวมีการส่งออกน้ำมันดิบ (ไม่รวมคอนเดนเสท) จำนวน 2.01 ล้านบาร์เรล คิดเป็น 43% ของจำนวนน้ำมันดิบที่ผลิตได้ทั้งหมดในประเทศไทย คิดเป็นตัวเงินก็ 833 ล้านบาท

อ้าว! ไหนบอกว่าเพื่อลดการพึ่งพาพลังงานจากต่างประเทศ

มีคนมาเถียงแทนว่า น้ำมันดิบของไทยมีสารปรอทสูงบ้าง มีกำมะถันสูงบ้าง ไม่สามารถกลั่นในโรงกลั่นประเทศไทยได้ ผมก็ค้นต่ออีก พบว่า ในแปลงเดียวกัน เช่น สงขลา E ผลิตน้ำมันดิบได้ 3.2 แสนบาร์เรล แต่ส่งออกเพียง 1.4 แสนบาร์เรลเท่านั้น ที่เหลือก็ต้องกลั่นในประเทศไทยแน่นอน อ้าว! ไหนบอกว่ากลั่นไม่ได้

น้ำมันดิบไม่เหมือนกับกุ้งกุลาดำนะครับ ที่สามารถคัดเลือกตัวใหญ่ๆ ส่งไปยุโรป ตัวขนาดกลางๆ ส่งไปปีนัง ไอ้ที่หัวหัก หรือลอกคราบขายให้คนไทยกิน (ฮาไม่ออก) น้ำมันต้องกลั่นก่อนจึงจะสามารถแยกได้

เรียนตามตรงครับ นอกจากจะรู้สึกเหนื่อยกับการค้นหาความจริงแล้ว ยังต้องเหนื่อยกับการอธิบายให้สาธารณะเชื่อ เพราะสาธารณะในสังคมไทยได้ปักใจเชื่อไปแล้วกับผลงานการโฆษณาจำนวนมหาศาล และเป็นเงินของประชาชนเสียด้วย!

เพื่อยืนยันข้อมูลดังกล่าว ผมขออนุญาตเติมข้อมูลอีก 2 ชิ้นครับ จาก (http://www2.ops3.moc.go.th/) ชิ้นแรกเป็นมูลค่าน้ำมันดิบที่ไทยส่งออกในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2555 มูลค่า 33,200 ล้านบาท และน้ำมันสำเร็จรูป 2.32 แสนล้านบาท

ขอแถมอีกนิดครับ สำหรับท่านที่ไม่ได้ติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิด ผมได้ถามนักศึกษามหาวิทยาลัยรังสิต (21 กันยายน 55) ว่า สินค้าส่งออกอันดับ 1 ถึง 3 ของประเทศไทยคืออะไร

พวกเขาตอบว่า ข้าว ยางพารา แตกต่างกันไป แต่ความจริงเป็นตารางข้างล่างนี้ครับ รถยนต์อันดับ 1 น้ำมันสำเร็จรูปเป็นอันดับ 3 (งงเข้าไปใหญ่เลยทีนี้)

อย่าเพิ่งดีใจนะครับว่าเราส่งออกรถยนต์ได้ถึง 3.8 แสนล้านบาท (ในช่วง 7 เดือน) เพราะนอกจากไม่มียี่ห้อใดเป็นของคนไทยแล้ว เรายังนำเข้าส่วนประกอบ และอุปกรณ์ยานยนต์ถึง 1.52 แสนล้านบาท ทั้งหมดนี้ไม่ต้องเชื่อผมนะครับ แต่โปรดค้นตามที่ผมอ้างอิง

แล้วท่านจะสรุปได้เองว่า ใครหลอกใคร ใครล้างสมองใคร และใครปล้นทรัพยากรใคร? โลกมันเปลี่ยนไปเร็วมาก และโหดร้ายกว่าที่เราเคยรับรู้มากเลยครับ


กำลังโหลดความคิดเห็น