พัทลุง - หน่วยงานภาครัฐใน จ.พัทลุง ปล่อยสัตสว์ป่าคืนสู่เทือกเขาบรรทัดเพื่อเพิ่มความสมดุลของระบบนิเวศ โดยเพาะพันธุ์ และปล่อยกระจงควาย 21 ตัว กระจงหนู 8 ตัว และไก่ป่าตุ้มหูแดง 8 ตัว
วันนี้ (20 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.พัทลุง ว่า นายชลอศักดิ์ มากชู ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 6 พร้อมนายสมหวัง เรืองเพ็ง นายอำเภอศรีนครินทร์ ผู้นำท้องถิ่น และชาวบ้านในพื้นที่ ร่วมกันปล่อยกระจงควาย จำนวน 21 ตัว กระจงหนู จำนวน 8 ตัว ไก่ป่าตุ้มหูแดง จำนวน 8 ตัว สู่พื้นที่ป่าเทือกเขาบรรทัดในท้องที่หมู่ 1 ต.บ้านนา อ.ศรีนครินทร์ จ.พัทลุง
หลังทางสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าพัทลุง จ.พัทลุง ได้นำกระจงควายจากป่าใหญ่บนเกาะตะรุเตา อ.เมือง จ.สตูล มาเพาะเลี้ยงเมื่อปี 2538 จำนวน 6 คู่ เพื่อผลิต คัดเลือก และรักษาสายพันธุ์กระจงควาย และคัดเลือกปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ พร้อมเป็นการฟื้นฟูประชากรกระจงควายให้เกิดความสมดุลของระบบนิเวศ ซึ่งเป็นการปล่อยคืนสู่ป่าเทือกเขาบรรทัดของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งนี้เป็นครั้งแรก
นายชลอศักดิ์ มากชู กล่าวว่า กระจงควายเป็นสัตว์ป่าที่หายากและใกล้สูญพันธุ์ เนื่องจากถูกคุกคาม ป่าถูกบุกรุก พื้นที่ป่าชื้นลดลง เพื่อไม่ให้กระจงควายสูญพันธุ์จึงดำเนินโครงการเพาะพันธุ์กระจงควาย และปล่อยกระจงควายคืนสู่ธรรมชาติ เพื่อผลิตกระจงควายให้ได้ปีละไม่น้อยกว่า 25 ตัว และคัดเลือกเพื่อปล่อยคืนสู่ธรรมชาติให้ได้ปีละไม่ต่ำกว่า 21 ตัว ทั้งนี้ ลักษณะการปล่อยคืนต้องทำกรงเล็กแบ่งกรงละ 3 ตัว ตัวผู้ 1 ตัว เมีย 2 ตัว และล้อมรอบด้วยกรงใหญ่อีกชั้นหนึ่งบนพื้นที่ 1 ไร่ และติดตามก่อนปล่อยสู่ผืนป่าต่อไป
ด้าน นายวีรเชษฐ์ สงสมพันธุ์ หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าพัทลุง กล่าวว่า หลังจากดำเนินการปล่อยในกรงใหญ่ที่จัดไว้แล้ว ก็จะเข้ามาดูการปรับตัวของกระจงควายทุกเดือน เมื่อครบ 3 เดือนก็จะปล่อยคืนสู่ป่าตามปกติ สำหรับกระจงควายนั้นเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535 เลี้ยงลูกด้วยนม เป็นกระจงที่มีขนาดใหญ่ที่สุด รูปร่างหน้าตาคล้ายกระจงหนู แต่มีขนาดใหญ่กว่า พบอาศัยตามป่าที่ราบต่ำใกล้แหล่งน้ำ มีถิ่นกระจายพันธุ์แถบภาคใต้ของพม่า คาบสมุทรอินโดจีน มาเลเซีย สุมาตรา บอร์เนียว ส่วนในประเทศไทยพบบริเวณภาคใต้ และภาคตะวันออก