เอเอฟพี - พบซากช้างแคระบอร์เนียวในมาเลเซีย เพิ่มอีก 3 ตัวในวันพุธ (30) หลังก่อนหน้านี้นับตั้งแต่ต้นเดือนเป็นต้นมา พบซากช้างแคระใกล้สูญพันธุ์ไปแล้ว 10 ตัว ด้วยต้องสงสัยว่าพวกมันอาจถูกวางยาพิษ
ลัวเรนเทียส อัมบู ผู้อำนวยการกรมอุทยานสัตว์ป่าแห่งรัฐซาบาห์ บนเกาะเบอร์เนียว สันนิษฐานว่าช้างเหล่านี้อาจถูกวางยาพิษโดยคนงานสวนปาล์ม เพื่อกันไม่ให้พวกมันเข้าไปกินผลปาล์ม พร้อมแสดงความกังวลว่าอาจพบซากช้างมากกว่านี้ เนื่องจากช้างแคระมักเดินทางกันเป็นโขลง “เรากำลังพยายามขยายขอบเขตของการตรวจสอบ แต่ผมสังหรณ์ใจว่าเราอาจพบซากช้างมากกว่านี้" เขาบอกกับเอเอฟพี "ผมไม่คิดว่ามันเป็นอุบัติเหตุ”
อัมบู เผยว่าพบซากช้างเพิ่มอีก 3 ตัวในวันพุธ (30) ในสภาพที่น่าเปื่อยไปมากแล้ว ภายในเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตวป่ากูนุง รารา ของรัฐซาบาห์ ไม่ห่างจากจุดที่พบซากช้างแคระ 10 ตัวอื่นๆก่อนหน้านี้
เจ้าหน้าที่ของรัฐเมื่อวันอังคาร (29) ได้เผยแพร่ภาพของซากแคระ 10 ตัวที่พบ ในนั้นรวมไปถึงภาพถ่ายใจสลาย ลูกช้างตัวหนึ่งพยายามปลุกแม่ให้ตื่น โดยไม่รู้ว่าผู้เป็นแม่นั้นตายแล้ว
ลูกช้างตัวดังกล่าวไม่แสดงอาการได้รับบาดเจ็บหรือพิษใดๆ และถูกนำตัวไปยังสวนสัตว์แห่งหนึ่งภายในรัฐ ขณะที่ อัมบู เผยว่าผลตรวจทางเคมีของซากช้างทั้ง 10 ตัวจะเสร็จสมบูรณ์ในสัปดาห์หน้าและน่าจะทำให้ทราบถึงสาเหตุที่แท้จริงของการตายของช้างโขลงนี้
กองทุนสัตว์ป่าโลก(WWF) ประจำมาเลเซีย คาดหมายว่าเวลานี้เหลือช้างแคระบอร์เนียวอยู่ตามป่าต่างๆเพียงแค่ 1,200 ตัว พร้อมบอกว่าการตัดไม้ทำลายป่าหรือเคลียร์พื้นที่เพื่อการเกษตร โดยเฉพาะการทำสวนปาล์ม ถือเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อแหล่งหากินของช้างแคระรวมถึงสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์อื่นๆ บนเกาะบอร์เนียว
ขณะที่พื้นที่ป่าของช้างป่าถูกเบียดบังจนเหลือน้อยลงไปทุกที เป็นผลให้บ่อยครั้งที่พวกมันเกิดเผชิญหน้ากับมนุษย์ อย่างไรก็ตาม อัมบู ยืนยันว่าหากกรณีต้องสงสัยเกี่ยวกับการถูกวางยาพิษได้รับการยืนยัน ก็นับเป็นครั้งแรกซึ่งเกิดขึ้นในรัฐเซบาห์
ข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับการถูกวางยานี้เกิดจากซากแคระทุกตัวที่พบทุกตัวมีอาการเลือดตกในอย่างรุนแรงและมีความเสียหายในระบบย่อยอาหาร
เจ้าหน้าที่อนุรักษ์สัตว์ป่า ตำรวจและอาสาสมัครหลายสิบคน กระจายกำลังสอดเสาะไปทั่วเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตวป่ากูนุง รารา เพื่อค้นหาเหนื่อเพิ่มเติม ขณะที่กองทุนสัตว์ป่าโลกของมาเลเซีย ออกถ้อยแถลงกล่าวโทษการตายของช้างจากการบุกรุกป่าของสวนปาล์ม บีบให้ช้างไม่มีทางเลือกสำหรับการหาอาหารและถิ่นที่อยู่ จนนำมาซึ่งการเผชิญหน้าโดยตรงระหว่างมนุษย์กับช้าง