นักวิทยาศาสตร์ซึ่งกำลังทำการสำรวจป่าทึบบนเกาะบอเนียวของอินโดนีเซียได้ค้นพบฝูง “ค่างสีเทา” หายากอีกครั้ง ซึ่งหลายคนเชื่อว่าค่างดังกล่าวได้สูญพันธุ์ไปแล้ว และพวกเขายังมึนงงกับการค้นพบฝูงค่างนอกพื้นที่อันเป็นถิ่นอาศัยเดิมที่เราเคยรู้จัก
ค่างดังกล่าวคือค่างสีเทามิลเลอร์ (Miller's Grizzled Langur) ที่มีใบหน้าสีดำและมีขนปุกปุยสีขาวคล้ายปกเสื้อของแดรคคูลาปกคลุมตั้งแต่คางลงไปตลอดหน้าท้อง ซึ่งเอพีระบุว่าทีมนักวิทยาศาสตร์ได้ตั้งดักถ่ายภาพสัตว์ในป่าวีเฮีย (Wehea Forest) ทางตะวันออกสุดของเกาะบอร์เนียวเมื่อเดือน มิ.ย. ด้วยความตั้งใจว่าจะดักได้ภาพเสือดาว อุรังอุตังและสัตว์ป่าอื่นๆ ทั่วไป ที่มาชุมนุมกันเพื่อเลียดินโป่ง หาแต่ภาพที่ได้กลับสร้างความแปลกใจให้แก่ทีม โดยพวกเขาฝูงลิงค่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน
เบรนท์ โลเคน (Brent Loken) นักศึกษาปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยซิมอนฟราเซอร์ (Simon Fraser University) ในแคนาดา และเป็นหนึ่งในผู้วิจัยหลัก กล่าวว่า การไม่มีภาพถ่ายตัวตนจริงของค่างสีเทาชนิดนี้เป็นสิ่งท้าทายแรกในการยืนยันข้อสงสัยของพวกเขาว่าใช่ค่างที่หายากหรือไม่ และภาพระบุชนิดค่างดังกล่าวก็เป็นเพียงภาพร่างในพิพิธภัณฑ์
“เราทั้งหมดดีใจอย่างเหลือล้น ข้อที่จริงที่ว่า...ว้าว...ค่างชนิดนี้ยังมีอยู่ และรวมถึงพวกมันอยู่ในวีเฮียด้วย สำหรับผมแล้วการค้นพบค่างเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายของสายพันธุ์สิ่งมีชีวิตในอินโดนีเซีย มีสัตว์จำนวนมากที่เรารู้จักพวกมันและถิ่นอาศัยเพียงเล็กน้อยกำลังหายไปอย่างรวดเร็ว มันให้ความรู้สึกว่าสัตว์จำนวนมากเหล่านี้เข้าสู่การสูญพันธุ์อย่างรวดเร็ว” โลเคนกล่าว
ค่างซึ่งมีขนปกคลุมรอบดวงตา จมุกสีชมพูและริมฝีปากนี้เคยร่อนเร่ไปทางตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะบอร์เนียว รวมถึงเกาะสุมาตรา เกาะชวาและคาบสมุทรไทย-มาเลเซีย แต่ก็มีเสียงแสดงความกังวลเมื่อหลายปีก่อนว่าค่างเหล่านี้อาจจะสูญพันธุ์ไปแล้ว โดยป่าที่พวกมันเคยอาศัยอยู่ได้ถูกทำลายจากไฟป่า การบุกรุกของมนุษย์ และการเปลี่ยนแปลงพื้นที่เพื่อการเกษตรและเหมืองแร่ และพื้นที่อันกว้างจากการสำรวจเมื่อปี 2005 ก็กลับกลายเป็นพื้นที่ว่างเปล่า
ก้าวต่อไปของทีมนักวิทยาศาสตร์ทั้งในท้องถิ่นอินโดนีเซียและทีมนานาชาติคือการกลับไปยังป่าพื้นที่กว่า 360 ตารางกิโลเมตรเพื่อหาคำตอบว่ามีค่างสีเทาจำนวนมากอยู่ที่ป่าดังกล่าวได้อย่างไร โดยพวกเขาได้ตีพิมพ์เผยแพร่การค้นพบของพวกเขาในวารสารอเมริกันเจอร์นัลออฟไพรมาโทโลจี (American Journal of Primatology) ซึ่งในช่วงกว่า 2 เดือนของการสำรวจ มีค่างปรากฏอยู่ในภาพกว่า 4,000 ภาพ แต่โลเคนกล่าวว่าอาจเป็นภาพของค่าง 1-2 ฝูงที่กลับมายังที่เก่า
“เราพยายามหาคำตอบทั้งหมดเท่าที่เราทำได้ แต่มันก็เหมือนการแข่งกับเวลา” โลเคนกล่าว
ผู้เชี่ยวชาญหลายคนที่ไม่ได้มีส่วนร่วมในงานวิจัยซึ่งรวมถึง อีริค ไมจาด (Erik Meijaard) นักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์ผู้ใช้ชีวิตมากกว่า 8 ปี เพื่อทำวิจัยภาคสนามในพื้นที่ป่าดังกล่าว ต่างตื่นเต้นกับข่าวการค้นพบนี้ โดยไมจาดกล่าวว่า ค่างชนิดนี้เป็นสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ที่เป็นปริศนาอย่างมาก ซึ่งในอดีตค่างชนิดนี้ถูกล่าเพื่อนำเนื้อไปเป็นอาหารและล่าเอาหินบีซัวร์ (bezoar) ในกระเพาะของค่าง
หินบีซัวร์เป็นก้อนวัสดุที่สัตว์กลืนเข้าระบบทางเดินอาหาร โดยมากเป็นเส้นขนหรือเส้นใยอื่นๆ ซึ่งแฟนๆ ของแฮร์รี พอตเตอร์ (Harry Potter) จะรู้จักก้อนหินดังกล่าวที่ศาสตราจารย์สเนป (Prof. Snape) ใช้สอนพ่อมด-แม่มดปี 1 โดยเชื่อว่าเป็นยาที่ช่วยถอนพิษได้
ไมจาดกล่าวว่าเราเคยเชื่อกันมายาวนานว่าค่างชนิดนี้เป็นสปีชีส์ย่อยของค่างแว่นโฮส (Hose's Leaf Monkey) ซึ่งพบที่มาเลเซียข้างๆ กับเกาะบอร์เนียว แต่ตอนนี้ดูเหมือนจะไม่เป็นเช่นนั้นแล้ว โดยเขากล่าวว่าค่างดังกล่าวอาจเป็นสปีชีส์ที่แยกออกมาต่างหาก ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริงก็จะทำให้การค้นพบที่ป่าวีเฮียเป็นสิ่งสำคัญยิ่งขึ้น
คลิปฝูงค่างสีเทามิลเลอร์ในป่าวีเฮีย