xs
xsm
sm
md
lg

ร่วมกู้วิกฤตมหาวิทยาลัยไทย/จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

นับตั้งแต่มีการจัดการศึกษาในระบบในประเทศไทย โดยได้แบบอย่างมาจากประเทศตะวันตกในศตวรรษที่แล้ว การศึกษาไทยมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง หรือปฏิรูปมาเรื่อยๆ ในทุกระดับ แต่ดูเหมือนว่ายิ่งปฏิรูปยิ่งเปลี่ยนแปลงก็ยิ่งถอยหลังเข้าคลองลึกยิ่งขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะการอุดมศึกษา หรือมหาวิทยาลัยจนมีคำกล่าวกันจนติดปากมานานแล้วว่า “โรงเรียนตายแล้ว” และ “มหาวิทยาลัยตายแล้ว” หรือ “ทำบุญ 100 วัน” ให้มหาวิทยาลัยไปนานแล้ว

ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยถูกกำกับดูแลโดยสภามหาวิทยาลัยภายใต้ความเห็นชอบของคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ก่อนหน้านี้ มหาวิทยาลัยอยู่ในสังกัดทบวงมหาวิทยาลัย แต่ปัจจุบัน ยุบรวมมาอยู่ในสังกัดเดียวกับการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ประถมศึกษาและมัธยมศึกษา) คือ กระทรวงศึกษาธิการ และมหาวิทยาลัยไทยแบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ มหาวิทยาลัยของรัฐ มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ และมหาวิทยาลัยเอกชน ซึ่งต่างก็มีจุดเด่นจุดด้อยแตกต่างกันไปแต่ที่มีปัญหาเหมือนกันก็คือ คุณภาพของบัณฑิต และการบริหารจัดการ
ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต
โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยของรัฐ และมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ หรือมหาวิทยาลัยนอกระบบ ในระบบการจัดการศึกษาที่กล่าวขานกันว่า “จ่ายครบจบแน่” และ “สภามหาวิทยาลัยกับฝ่ายบริหารผลัดกันเกาหลังให้กัน” และประชาคมในมหาวิทยาลัย “เบื่อที่จะมีชีวิตอยู่แต่ไม่กล้าตาย” หรือมีแต่คน “เห็นด้วยแต่ไม่เอาด้วย” ที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการมหาวิทยาลัย

นวพร เรืองสกุล (2555) เคยแสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า “ในแวดวงมหาวิทยาลัยไทยในขณะนี้ กำลังอยู่ในขั้นวิกฤตในการสร้างผู้บริหารขึ้นมาทดแทนคนเก่าให้ทันต่อเหตุการณ์ ความเปลี่ยนแปลงของโลก โดยเฉพาะวิกฤตของปัญหาการวางแผนสืบทอดกิจการที่ไม่ได้สื่อความหมายเชิงบวกอย่างที่พึงเป็น”

อภิชัย รัตนวราหะ (มติชนรายวัน วันที่ 13 กันยายน 2555 หน้า6) มีความคิดเห็นสอดคล้อง และให้การสนับสนุนขยายความ เป็นเหตุเป็นผลกันว่า “การได้มาของผู้บริหารมหาวิทยาลัยไทยนั้น ยังวนเวียนอยู่ในวงแคบๆ เพียงไม่กี่กลุ่ม (มหาวิทยาลัยราชภัฏต่างๆ มักจะมาจากคนใน มหาวิทยาลัยทักษิณมาจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สายวิทยาศาสตร์-ผู้เขียน) เกือบทุกมหาวิทยาลัย ยกเว้นมหาวิทยาลัยเอกชน ดังคำกล่าวที่ว่ารู้กันอยู่แล้วว่าใครจะได้เป็นอธิการบดี (และทุกตำแหน่งที่มีการสรรหา ชาว ม.ทักษิณเรียกว่า “นอนมา”-ผู้เขียน)

หรือคณบดีวนเวียนซ้ำซากกันมาแบบนี้เป็นเวลาช้านาน สภามหาวิทยาลัยไทยได้กลายเป็นองค์กรสูงสุดที่สามารถจะกำหนดได้ว่า ใครสมควรเป็นอธิการบดี หรือคณบดี โดยไม่จำเป็นต้องไปแคร์เสียงของประชาคมในมหาวิทยาลัยนั้นๆ (ถึงรับฟังก็ไม่ได้ยิน) เพราะสภามหาวิทยาลัยถือว่าตัวเองเป็นผู้มีอำนาจเด็ดขาดในการแต่งตั้ง การสืบตำแหน่งของผู้บริหารมหาวิทยาลัยจึงไม่มีตัวตายตัวแทน และไม่มีตัวเลือก”

มหาวิทยาลัยหลายแห่งไม่มีตัวตายตัวแทน และไม่มีตัวเลือก เพราะผู้บริหารแต่ละชุดไม่ได้สร้างว่าที่ผู้บริหารชุดต่อไปที่จะสืบทอดภารกิจในการนำพามหาวิทยาลัยอาจจะมีปัญหามาจากหลายเหตุหลายปัจจัย เช่น ผู้บริหารเองก็เป็น “มือใหม่หัดขับ” ไม่มีพื้นฐานไม่มีภูมิรู้เกี่ยวกับการบริหารมหาวิทยาลัย ได้เป็นผู้บริหารเพราะ “นายกสภามหาวิทยาลัยประทาน” หรือ “บุญหล่นทับ” บางคนไร้เดียงสาเสียจนไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นผู้บริหารระดับสูงของสถาบันอุดมศึกษาได้

บางมหาวิทยาลัยผู้บริหารมาจากคนนอกที่ต่างวัฒนธรรม กว่าจะรู้จักมหาวิทยาลัยที่ตนเองรับผิดชอบก็หมดสมัยเสียแล้ว ไม่ทันได้คิดเรื่องการสร้างตัวตายตัวแทน (หรือบางแห่งมีแต่ตัวตาย คือ พามหาวิทยาลัยไปตาย หรือตายเอาดาบหน้า บางแห่งก็มีได้แต่ตัวแทนคือ ตัวแทนเรื่องอิทธิพลผลประโยชน์ สร้างอาณาจักร “พ่อขุนอุปถัมภ์” บางแห่งก็มีทั้งตัวตายตัวแทนแต่อยู่ในคนละคนกันคือ คนหนึ่งตาย และคนหนึ่งแทน)

อภิชัย รัตนวราหะ มีความคิดเห็นเกี่ยวกับต้นเหตุของปัญหาการบริหารมหาวิทยาลัยที่นำไปสู่วิกฤตในปัจจุบันว่ามาจาก “สภามหาวิทยาลัยที่เน้นผู้บริหารที่มาจาก “ภายใน” เอง หรือต้องเป็นคนที่มาจากสถาบันของตัวเอง การถือสีถือสถาบัน การให้อำนาจอย่างเด็ดขาดของสภามหาวิทยาลัย และการขาดความใส่ใจที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมของประชาคมภายในมหาวิทยาลัยด้วยกันเอง สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นอุปสรรคในการพัฒนาบุคลากรในการพัฒนามหาวิทยาลัยไทยเป็นอย่างมาก”

ส่วนทางออกเกี่ยวกับเรื่องนี้ ท่านมีความเห็นว่ามีอยู่ทางเดียวเท่านั้นคือ “ประชาคมภายในมหาวิทยาลัยจะต้องมีความตื่นตัวให้มากกว่านี้ มิใช่ปล่อยปละละเลยให้สภามหาวิทยาลัยเพียงไม่กี่คนมาเป็นผู้กำหนดชะตากรรมของมหาวิทยาลัยเพียงอย่างเดียว”

ประชาคมมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลาง และชนชั้นล่างระดับสูง ส่วนหนึ่งเป็นปัญญาชนจึงมีวิถีและวัฒนธรรมโดยเฉพาะวิธีคิด และวัฒนธรรมองค์กรที่แตกต่างกัน ดังนี้

1.ชนชั้นปัญญาชน หรือชนชั้นกลางระดับสูง และระดับกลาง คนพวกนี้เป็นพวกมีสถานภาพทางสังคม มีฐานะทางเศรษฐกิจดี มีความพร้อมทางครอบครัว พึ่งตนเองได้ และมักจะมีโอกาสเข้าสู่อำนาจ และเข้าถึงบริการของรัฐและของมหาวิทยาลัยมากกว่าคนอื่น คนเหล่านี้จึงไม่ค่อยสนใจปัญหาของสาธารณะทั้งภายใน และภายนอกมหาวิทยาลัย เพราะพวกเขาไม่มีปัญหานั้น มิหนำซ้ำบางคนยังเป็นผู้สร้างปัญหานั้นเสียเอง สังคมของพวกนี้คือ ผู้บริหารด้วยกัน ผู้ใต้บังคับบัญชาที่ประจบสอพลอตอแหล แพศยา คู่ขัดแย้ง หรือปฏิปักษ์ของคนเหล่านี้คือคนที่มีความคิดความเห็นเป็นตัวของตัวเอง และเป็นปากเสียงของคนชั้นล่างหรือชนชั้น “ใต้ถุนสังคม”

2.ชนชั้นกลางระดับล่าง พวกนี้คือ ปัญญาชนระดับผู้ปฏิบัติ โดยเฉพาะฝ่ายสนับสนุนในมหาวิทยาลัย มีสถานภาพเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของกลุ่มแรก กลุ่มนี้มีความรู้สึกรู้สาต่อเรื่องส่วนรวมมากกว่ากลุ่มแรก เพราะมักได้รับผลกระทบจากการบริหารจัดการมหาวิทยาลัยที่ผิดพลาด แต่ด้วยสถานภาพที่เป็น “ผู้น้อยคอยก้มประนมกร ลำบากก่อนค่อยสบายเมื่อปลายมือ” ตามคตินิยมในสังคมไทย พวกนี้จึงถูกแบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ

กลุ่มแรก วิ่งเข้าหา “ศูนย์กลางของอำนาจ” คือ ไปเป็นลิ่วล้อของกลุ่มผู้บริหารด้วยกระบวนการประจบสอพลอตอแหล กลุ่มที่สอง ปฏิเสธอำนาจที่ไม่เป็นธรรม คัดค้านต่อสู้สิ่งไม่ถูกต้องเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ พวกนี้จะไม่มีความก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่การงาน แต่จะเป็นกลุ่มหลักในกระบวนการมีส่วนร่วมในมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะกิจกรรมที่ไม่มีค่าตอบแทน และเสี่ยงต่อการถูกเกลียดชังจากผู้บริหาร กลุ่มที่สาม กลุ่มนี้จะเป็นส่วนใหญ่ของประชาคม เป็นพวกเสมอนอก ขาดจุดยืน “เห็นด้วยแต่ไม่ค่อยเอาด้วย” ชอบแสดงความคิดเห็นแบบใช้ “ความรู้สึก” มากกว่าความรู้ ขาดข้อมูลในการวินิจฉัย ไม่มีข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ เป็นพวก “สีแก้วพลอยรุ่ง” หรือ “ลอยช้อนตามเปียก” และเห็นแก่ประโยชน์เฉพาะหน้า ซื้อใจได้เพียงอาหารมื้อเดียว หรือเหล้าเบียร์ขวดครึ่งขวดเท่านั้น

3.กลุ่มที่สามคือ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงได้แก่ นิสิตนักศึกษาซึ่งเป็นประชากรหลักของมหาวิทยาลัย แต่กลุ่มนี้มีสถานภาพอ่อนด้อยกว่ากลุ่มอื่นๆ เพราะค่านิยมกดข่มความเป็นเด็กของสังคมไทย และวัฒนธรรมอำนาจนิยมในสังคมไทยที่ให้ความสำคัญกับกลุ่มผลประโยชน์ที่มีอำนาจในการต่อรอง และกดดันมากกว่า มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่จึงไม่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของนิสิตนักศึกษาทั้งๆ ที่มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่อยู่ได้ด้วยเงินที่เก็บจากพวกเขา และผู้ปกครอง

เมื่อเป็นเช่นนี้ ทางออกที่จะให้ประชาคมมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะการบริหารจัดการ “สภามหาวิทยาลัย” จึงจำเป็นต้องพัฒนาบุคลากรในมหาวิทยาลัยโดยการขับเคลื่อน และกดดันของประชาคมภายนอกมหาวิทยาลัยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงกับการบริหารจัดการมหาวิทยาลัย ซึ่งประชาคมภายนอกเหล่านี้มีวุฒิภาวะในการมีส่วนร่วมมากกว่าประชาคมในมหาวิทยาลัย แต่ที่สำคัญเหนืออื่นใดคือ การผลักดันให้นิสิตนักศึกษาผู้เป็นอนาคตของชาติบ้านเมืองที่จะพัฒนาเติบโตไปเป็นส่วนหนึ่งส่วนใดของประชาคมในวันข้างหน้าได้มีพื้นที่ในการฝึกการเป็น “พลเมืองดี” ไปพร้อมๆ กัน

กำลังโหลดความคิดเห็น