xs
xsm
sm
md
lg

พ้นผิดแต่ถูกตามยิง อดีตจำเลยคดีไฟใต้จี้ ศอ.บต.อัปเดตสารบบ-ตรวจสอบสายข่าว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การตรวจสอบพาหนะที่สัญจรเข้าออกเมืองยะลา เพื่อสแกนหารถยนต์ต้องสงสัย(แฟ้มภาพ)
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - “สมาชิกเครือข่ายคดีความมั่นคง จชต.” ร้อง ศอ.บต.ลบข้อมูลหมายจับออกจากสารบบเหตุถูกเรียกค้นบ่อยทั้งที่คดีสิ้นสุดแล้ว พร้อมจี้สอบสายข่าวในหมู่บ้านว่ามีปมการเมืองแฝงหรือไม่ หลังชาวบ้านถูกควบคุมตัวซ้ำซาก และสมาชิกเครือข่ายฯ ถูกลอบฆ่า 3 คน

สมาชิกเครือข่ายคดีความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประมาณ 40 คน นำโดย นายซูกีมัน สูหลง แกนนำเครือข่ายฯ ได้ยื่นข้อเสนอ 3 ข้อในการช่วยเหลือดูแลสมาชิกต่อ ศอ.บต. โดยมี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต. นายประมุข ละมุล รองเลขาธิการ ศอ.บต. และนายกิตติ สุระคำแหง ผู้อำนวยการสำนักบริหารยุติธรรม ศอ.บต. เป็นผู้รับข้อเสนอ เมื่อวันที่ 15 ก.ย.ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) อ.เมือง จ.ยะลา

สำหรับข้อเสนอทั้ง 3 ข้อ ได้แก่

1.ให้มีมาตรการดูแล และคุ้มครองความปลอดภัยแก่สมาชิกในเครือข่ายฯ รวมถึงการให้ความช่วยเหลือเยียวยา

2.ให้ประสานงานกับทุกหน่วยงานของรัฐเพื่อให้ลบข้อมูลที่เกี่ยวกับหมายต่างๆ ที่สมาชิกเคยมี ได้แก่ หมายจับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) และหมายจับ และควบคุมตัวตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน)

3.ให้มีการมาตรการคัดกรองข้อมูลการให้ข่าวของสายข่าวในชุมชน เพราะหากเกิดเหตุร้ายในชุมชน มักจะส่งผลให้สมาชิกเครือข่ายฯ ต้องถูกเชิญตัว หรือถูกควบคุมตัวซ้ำซาก

นายซูกีมัน ชี้แจงระหว่างการยื่นข้อเสนอดังกล่าวว่า เครือข่ายคดีความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดจากการรวมตัวกันของผู้ที่ถูกดำเนินคดีความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยบางคนอยู่ระหว่างการปล่อยตัวชั่วคราว บางคนศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง ทั้งนี้ สมาชิกส่วนใหญ่เป็นอาสาสมัครยุติธรรมในชุมชนด้วย โดยทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานกับทั้งหน่วยงานของรัฐ และองค์กรภาคประชาสังคมในระดับชุมชน เพื่อให้ความช่วยเหลือชาวบ้านในด้านกระบวนการยุติธรรม โดยมีสมาชิกประมาณ 300 คน ครอบคลุมในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ จ.ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส

นายซูกีมัน ชี้แจงต่อไปว่า สำหรับเหตุผลของข้อเสนอแต่ละข้อ มีดังนี้

1.ที่ผ่านมา มีสมาชิกในเครือข่ายฯ ถูกยิงเสียชีวิตมาแล้ว 3 ราย ได้แก่ นายอับดุลเลาะ เจ๊ะตีแม ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที 26 ก.ค.2555 ที่ อ.ยะหา จ.ยะลา นายรอมลี เจ๊ะเลาะห์ ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 6 ต.ค.2555 ที่ อ.ยะหา จ.ยะลา และนายมะสาวี มะสาและ ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 27 ม.ค.2555 ที่ อ.ปานาเระ จ.ปัตตานี ทำให้สมาชิกที่เหลือรู้สึกไม่ปลอดภัย

2.เนื่องจากสมาชิกบางคนยังมีข้อมูลหมายจับ ป.วิอาญา และหมายจับ และควบคุมตัวตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินปรากฏอยู่ในสารบบข้อมูลหน่วยงานของรัฐ ทำให้เกิดความไม่สะดวกในการเดินทางไปมา โดยเฉพาะเมื่อถูกเจ้าหน้าที่ตรวจค้นตามจุดตรวจต่างๆ ทั้งที่คดีสิ้นสุดแล้ว

ส่วนเหตุผลข้อที่ 3 ขอให้หน่วยงานของรัฐตรวจสอบสายข่าวของตัวเองด้วยว่าเป็นคนที่มีนัยทางการเมืองหรือไม่ เช่น มีศัตรูอยู่ในหมู่บ้าน เพราะเมื่อเกิดเหตุร้ายในหมู่บ้าน จะมีสมาชิกบางคนถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อเหตุทุกครั้ง จนนำมาสู่การควบคุมตัวอย่างซ้ำซาก

พ.ต.อ.ทวี ชี้แจงระหว่างรับข้อเสนอว่า ตนมีคำสั่งให้นายกิตติ สุระคำแหง ผู้อำนวยการสำนักบริหารยุติธรรม ศอ.บต. แต่งตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาหนึ่งชุดเพื่อค้นหาความจริงกรณีการเสียชีวิตของสมาชิกในเครือข่ายฯ ทั้ง 3 คนดังกล่าว ซึ่งประกอบด้วย เจ้าหน้าที่รัฐ ผู้นำศาสนา ภาคประชาสังคม และมีสมาชิกเครือข่ายฯ โดย ศอ.บต.รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด

พ.ต.อ.ทวี ชี้แจงอีกว่า ส่วนการช่วยเหลือเยียวยาสมาชิกเครือข่ายนั้น ตามระเบียบของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับความเสียหาย และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 ต.ค.2554 ระบุว่า ผู้ถูกควบคุมตัว หรือถูกคุมขัง หรือถูกดำเนินคดีเป็นผู้ต้องหา หรือจำเลย และถูกควบคุมตัว หรือคุมขังตาม ป.วิอาญา โดยไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ต่อมา ปรากฏหลักฐานว่าผู้นั้นมิได้กระทำผิด หรือมีการถอนฟ้อง หรือมีคำพิพากษายกฟ้อง และคณะกรรมการพิจารณาว่าต้องได้รับการเยียวยา ก็ต้องได้รับการช่วยเหลือเยียวยาด้วย

โดยกรณีนี้จะมีการพิจารณาตามคำสั่งของศาล หากเป็นคดีที่ศาลยกฟ้อง ศอ.บต.จะช่วยเหลือเยียวยาทันที แต่ทั้งนี้ หากเป็นคดีที่สิ้นสุดก่อนวันที่ 1 ต.ค.2555 จะได้รับเงินเยียวยาด้านจิตใจ 15,000 บาท และค่าชดเชยตามจำนวนวันที่ถูกควบคุมตัวตามกฎหมายพิเศษ ทั้งกฎอัยการศึก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และตามจำนวนวันที่ถูกขังในเรือนจำ วันละ 400 บาท แต่ไม่เกิน 200,000 บาท

กรณีที่คดีสิ้นสุดหลังจากวันที่ 1 ต.ค.2555 เป็นต้นไป จะได้รับเงินช่วยเหลือเยียวยาด้านจิตใจ 30,000 บาท และค่าชดเชยตามจำนวนวันที่ถูกควบคุมตัว หรือถูกขังวันละ 400 บาท เช่นกัน แต่ไม่จำกัดวงเงิน ส่วนการลบข้อมูลหมายจับ การควบคุมตัวซ้ำซาก และการตรวจสอบสายข่าวในชุมชนนั้น ตนจะนำเรื่องนี้ไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

ฮัสซัน โตะดง
โรงเรียนนักข่าวชายแดนภาคใต้(DSJ)

 

กำลังโหลดความคิดเห็น