xs
xsm
sm
md
lg

วิศวะ ม.อ.เจ๋ง! คว้ารางวัล “Winner Best Rookie” จากสนามแข่งรถฟอร์มูลาญี่ปุ่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายณัฐศรัณย์ รสิตานนท์ หนึ่งในสมาชิกทีม “ลูกพระบิดากระทิงแดง”
 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - วิศวะ ม.อ.เจ๋ง! เป็นตัวแทนประเทศไทยคว้ารางวัล “Winner Best Rookie” หรือมือใหม่ยอดเยี่ยม จากสนามแข่งรถฟอร์มูลาระดับอุมศึกษา Student Formula, SAE Competition 2012 of Japan ที่ประเทศญี่ปุ่นได้สำเร็จ

วันนี้ (13 ก.ย.) ที่ห้องประชุมมงคลสุข คณะวิศกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตหาดใหญ่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ได้จัดงานแถลงข่าวความสำเร็จของ “ทีมลูกพระบิดากระทิงแดง” หลังจากเป็นตัวแทน 1 ใน 3 ทีมของประเทศไทย เดินทางไปแข่งขัน Student Formula, SAE Competition 2012 of Japan หรือ JSAE 2012 ซึ่งเป็นการแข่งขันออกแบบและสร้างรถฟอร์มูลาร์ในระดับอุดมศึกษา ที่เมืองชิสุโอกะ ประเทศญี่ปุ่น จนได้รับรางวัล “Winner Best Rookie” หรือมือใหม่ยอดเยี่ยม

นายณัฐศรัณย์ รสิตานนท์ หนึ่งในสมาชิกทีม “ลูกพระบิดากระทิงแดง” เล่าว่า กว่าทีมของตนจะผ่านเข้ารอบไปแข่งขันรายการดังกล่าวที่ประเทศญี่ปุ่นได้นั้น ต้องผ่านการคัดเลือกจากสนามแข่ง TSAE Auto Challenge Student Formula 2010-12 ซึ่งจัดโดยสมาคมวิศวกรรมยานยนต์ไทยก่อน เพื่อคัดเลือกตัวแทนประเทศไทยไปแข่ง JSAE 2012 ที่ประเทศญี่ปุ่นต่อไป โดยในปีนี้ 3 ทีมที่เป็นตัวแทนประเทศไทย ได้แก่ ทีมจากมหาวิทยาลัยสยาม ทีมจากสถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น และทีมจาก ม.อ.หาดใหญ่
ผศ.ดร.เจริญยุทธ เดชวายุกุล อาจารย์ที่ปรึกษาประจำทีม
 
ด้าน ผศ.ดร.เจริญยุทธ เดชวายุกุล อาจารย์ที่ปรึกษาประจำทีม เปิดเผยว่า การแข่งขันออกแบบ และสร้างรถฟอร์มูลาในระดับอุดมศึกษานี้ ทั่วโลกมีอยู่หลายสนามแข่ง และในเอเชียการแข่งขัน Student Formula, SAE Competition of Japan หรือ JSAE ก็เป็นสนามใหญ่ที่ทั่วโลกยอมรับ ทั้งนี้ ก่อนการแข่งขันจะต้องเตรียมทีมอย่างหนัก ทั้งในเรื่องของเอกสารการสมัคร ซึ่งในแต่ละทีมจะมีสมาชิกประมาณ 10-30 คน และข้อมูลด้านวิชาการเกี่ยวกับรถที่ใช้แข่งซึ่งจะต้องส่งไปให้คณะกรรมการพิจารณาก่อนด้วย สำหรับทีม “ลูกพระบิดาฯ” ของ ม.อ.หาดใหญ่ ลงแข่งในรายการดังกล่าวมา 4 ปีแล้ว โดยในครั้งนี้ใช้เวลาเตรียมทีมก่อนแข่งขันถึงครึ่งปีก่อนจะเดินทางไปแข่งที่ประเทศญี่ปุ่น

ทั้งนี้ การแข่งขันดังกล่าวไม่ได้ดูเฉพาะความเร็วของรถเท่านั้น แต่ยังดูภาพรวมการออกแบบ สมรรถภาพของรถ ระบบความปลอดภัย และอัตราการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงอีกด้วย ประกอบด้วย 8 รายการย่อย ได้แก่
1.การออกแบบทางวิศวกรรม
2.การวางแผนการจัดการใช้จ่ายงบประมาณในทีม
3.การนำเสนอข้อมูลรถแข่งต่อกรรมการ
4.การทดสอบอัตราเร่ง
5.การทดสอบการทรงตัวของรถแบบวิ่งเป็นวงกลมซ้ายขวา
6.การทดสอบวิ่งแข่งในสนามหนึ่งรอบ
7.การทดสอบประสิทธิภาพทั้งหมดของรถ วิ่งในสนามเป็นระยะทาง 22 กม.
8.การทดสอบอัตราการกินน้ำมันเชื้อเพลิง
บรรยากาศขณะแข่งขันที่ประเทศญี่ปุ่น (ภาพประกอบจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.อ.หาดใหญ่)
(ภาพประกอบจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.อ.หาดใหญ่)
Tilt Test ทดสอบการเอียงของรถในกรณีที่รถไม่ได้มาตรฐาน อาจมีโอกาสพลิกคว่ำ (ภาพประกอบจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.อ.หาดใหญ่)
 
สำหรับการแข่งขัน JSAE 2012 ที่ประเทศญี่ปุ่นนั้น ปรากฏว่า “ทีมลูกพระบิดากระทิงแดง” จาก ม.อ.หาดใหญ่ ซึ่งได้รับการสนับสนุนหลักจากเครื่องดื่มกระทิงแดง สามารถคว้ารางวัล “Winner Best Rookie” หรือรางวัลมือใหม่ยอดเยี่ยม มาครองได้สำเร็จ โดยเป็น 1 ใน 31 ทีมหน้าใหม่ที่ผ่านด่านตรวจสอบความเร็ว และความปลอดภัยครบทุกรายการ นอกจากนี้ ยังมีคะแนนรวมในอันดับที่ 29 จากทั้งหมด 82 ทีมทั่วโลกอีกด้วย
รถของทีมลูกพระบิดากระทิงแดง หมายเลข 81 จากทั้งหมด 82 ทีม (ภาพประกอบจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.อ.หาดใหญ่)
(ภาพประกอบจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.อ.หาดใหญ่)
ตัวถังรถเสียหายในขณะขนส่ง (ภาพประกอบจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.อ.หาดใหญ่)
 
“รางวัล Winner Best Rookie ที่เราได้รับเป็นรางวัลใหญ่ในใจของพวกเราทั้งหมด เพราะเราเป็นมือใหม่จริงๆ เมื่อเทียบกับทีมอื่นๆ โดยเฉพาะจากประเทศญี่ปุ่นที่ขึ้นชื่อเรื่องวิศวกรรมยานยนต์ แม้เราจะไม่ได้คะแนนรวมเป็นอันดับ 1 แต่เราก็เป็น 1 ใน 31 ทีมที่สามารถเข้าร่วมแข่งขันครบทุกรายการ สนามนี้เป็นเวทีการแข่งขันที่ใช้ทักษะความรู้ทางด้านวิศวกรรมยานยนต์ การออกแบบ และการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าสูง ทันทีที่ไปถึงเราพบว่ารถของเราที่ส่งไปกับตู้คอนเทนเนอร์เกิดความเสียหายบางจุด ซึ่งคาดว่าเกิดขึ้นในระหว่างการขนส่ง แต่เราก็เตรียมอุปกรณ์สำหรับซ่อมแซมทุกอย่างไปแล้ว จึงแก้ไขตรงนั้นได้” นายณัฐศรัณย์กล่าว
ขึ้นรับรางวัล Winner Best Rookie (ภาพประกอบจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.อ.หาดใหญ่)
(ภาพประกอบจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.อ.หาดใหญ่)
(ภาพประกอบจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.อ.หาดใหญ่)
 
“เราประทับใจการแข่งขันที่ประเทศญี่ปุ่นมาก คณะกรรมการจะอำนวยความสะดวกแก่ทีมจากต่างประเทศเป็นอย่างดี และในขณะแข่งขันถ้ามีข้อผิดพลาด หรือรถเรามีปัญหา คณะกรรมการจะแนะนำทันที ซึ่งจากการแข่งขันในประเทศไทยมา 3 ปีเราไม่เคยรู้เลยว่าเราผิดพลาดตรงไหนบ้าง ต้องแก้ยังไง แต่ที่ญี่ปุ่นกรรมการประมาณ 10-20 คน เขาเข้ามาคุยกับทีมเราเลยว่าต้องแก้ปัญหาอย่างไรบ้าง ตรงนี้คือสิ่งที่ผมประทับใจมาก” ตัวแทนทีมลูกพระบิดากระทิงแดง กล่าวทิ้งท้าย
ทีมลูกพระบิดากระทิงแดง และคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.อ.หาดใหญ่
 


 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น