ตรัง - เกษตร, ธ.ก.ส., สกย. และคณะอนุกรรมการฯ ระดับจังหวัดตรัง ประชุมหารือแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ พร้อมกำหนดแนวทางเพื่อป้องกันการทุจริต
นายไพศาล โรจน์สราญรมย์ เกษตรจังหวัดตรัง พร้อมด้วย นายภาณุมาศ ตั้นซู่ ผู้อำนวยการ สำนักงานธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จังหวัดตรัง นายอาวุธ ประพันธ์ ผู้อำนวยการกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) จังหวัดตรัง และคณะอนุกรรมการบริหารโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางพาราระดับจังหวัด ได้ร่วมกันประชุมเพื่อพิจารณาอนุมัติให้สถาบันเกษตรกร และกลุ่มชาวสวนยางเข้าร่วมโครงการฯ และหารือแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ
ตามที่รัฐบาลมีนโยบายในการดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกร เพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง ผ่านการแทรกแซงราคายางพารา ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2555 ที่ผ่านมา ในการสนับสนุนงบประมาณ 15,000 ล้านบาท โดยโครงการนี้ได้มีการประกาศราคารับซื้อยางพาราในราคานำตลาด เช่น ยางแผ่นรมควันชั้น 3 ราคากิโลกรัมละ 104 บาท, ยางแผ่นรมควันชั้นสอง 98 บาท, ยางแผ่นรมควันชั้น Cutting 94 บาท, ยางแผ่นรมควันอัดก้อน 106 บาท และยางแผ่นดิบคุณภาพ 1 กิโลกรัมละ 101 บาท เป็นต้น
สำหรับจังหวัดตรัง ได้มีการรับซื้อยางพาราจากสถาบันเกษตรกรที่สมัครเข้าร่วมโครงการฯ ที่มีองค์การสวนยางทำหน้าที่ในการรับซื้อยางพาราตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขที่กำหนด โดยได้มีการตั้งจุดรับซื้อยางจากสถาบันเกษตรกรที่สมัครเข้าร่วมโครงการ 2 จุด คือ บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลทับเที่ยง อำเภอเมืองตรัง และบริษัท ยูนิแมครับเบอร์ จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลนาโต๊ะหมิง อำเภอเมืองตรัง
โดย นางนงลักษณ์ ดำรงศิริ หัวหน้าสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์ตรัง เสนอให้ที่ประชุมทราบว่า ทางกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ได้จัดทำคำแนะนำ และวิธีปฏิบัติทางบัญชีตามรูปแบบของโครงการ ในการรวบรวมยางพารา พร้อมจัดทำคู่มือตรวจสอบบัญชีในการรับซื้อ และจำหน่ายยางพารา ของสถาบันเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ และการตรวจสอบจุดรับซื้อยางขององค์การสวนยาง โดยกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ได้กำหนดขั้นตอนการปฏิบัติการตรวจสอบ 7 ขั้นตอน ให้แก่สถาบันเกษตรกร เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการศึกษาตามหลักเกณฑ์การตรวจสอบ เพื่อสร้างความเข้าใจ และให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างโปร่งใส
ด้าน นายภาณุมาศ ตั้นซู่ ผู้อำนวยการสำนักงาน ธ.ก.ส. จังหวัดตรัง กล่าวว่า จากปัญหาสถานการณ์ยางพาราในท้องตลาดทั่วไป และราคาที่รับซื้อตามโครงการฯ มีความแตกต่างกันมาก ทำให้มีความพยายามนำยางพาราที่พ่อค้าซื้อจากเกษตรกรทั่วไปมาขายในโครงการฯ เพื่อหวังกำไรส่วนต่าง ดังนั้น ทางจังหวัดตรังจึงได้กำหนดมาตรการป้องกัน คือ หากมีการตรวจพบยางพาราที่สถาบันเกษตรกรนำมาขาย เป็นยางพาราของพ่อค้าที่รับซื้อมาในการขายแต่ละครั้ง ทางจุดก็จะไม่รับซื้อ โดยสถาบันเกษตรกรจะต้องนำยางพาราทั้งหมดกลับไปตรวจสอบ และคัดยางพาราของพ่อค้าที่ซื้อมาออกให้หมด จึงนำกลับมาขายใหม่ แต่ถ้าหากมีการตรวจพบครั้งที่สอง ก็จะนำเสนอคณะกรรมการบริหารโครงการฯ เพื่อให้พิจารณาตัดสถาบันเกษตรกรดังกล่าวออกจากโครงการฯ ต่อไป