ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ธุรกิจยางพารา แบงก์ชะลอสินเชื่อชั่วคราวแล้ว ส่งสัญญาณได้เห็นราคายางพาราต่ำกว่า 70 บาท/กก. แน่ในปีนี้ ชี้ราคาร่วงหลังออเดอร์เปลี่ยนเส้นทาง มุ่งสู่ประเทศอินโดนีเซียแทนที่มีราคายางพาราต่ำกว่า
นายเทียบจิตต์ ผลาจันทรภูติผลากร ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายกิจการสาขา บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า จากภาวะราคายางพาราที่ไม่นิ่ง และราคาได้ตกต่ำมาอยู่ที่กว่า 80 บาท/กก. สำหรับน้ำยางสด ทำให้สถาบันการเงินได้ชะลอโครงการให้สินเชื่อไปแล้วประมาณต้นเดือนสิงหาคม 2555 เป็นต้นมา จนกว่าภาวะการตลาดจะดีขึ้น จึงจะมีการพิจารณา
“เศรษฐกิจตัวเด่นๆ ของภาคใต้ ยางพารา ไม้ยางพารา ปาล์ม เฟอร์นิเจอร์จากไม้ยางพารา ปาร์ติเกิลบอร์ด ประมง การท่องเที่ยว โดยตัวที่มีผลกระทบขณะนี้คือ ยางพารา ส่วนตัวอื่นๆ ยังอยู่ในเกณฑ์ดี และอีกประมาณ 3 เดือนของยางพารา คาดว่าจะเห็นผลกระทบเกิดขึ้นเกี่ยวกับธุรกิจ”
นายเอกพร นิโรจน์ ผู้จัดการสำนักงานจังหวัดสงขลา บสย. พื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง กล่าวว่า ขณะนี้การให้สินเชื่อเกี่ยวกับธุรกิจยางพาราของสถาบันการเงิน มีบางสถาบันการเงินเท่านั้นที่ได้ชะลอโครงการให้สินเชื่อไว้ก่อนชั่วคราว ไม่ครบทุกธนาคาร แต่หากผู้ค้ารายใดต้องการเงินทุนมาลงทุน ทาง บสย. ก็สามารถดำเนินการให้ได้
นายเพิก เลิศวังศ์พง หัวหน้าพรรคยางพาราไทย (พยท.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ยางพาราในประเทศขณะนี้ค่อนข้างจะมีอุปสรรคมาก และขณะนี้ได้รับการส่งสัญญาณมาจากต่างประเทศแล้วว่า จะได้เห็นราคายางพาราตกต่ำกว่า 70 บาท ภายในปีนี้ เนื่องจากตลาดต่างประเทศได้เปลี่ยนแปลงคำสั่งซื้อ โดยหันไปสั่งซื้อยางพาราในประเทศอินโดนีเซียเป็นการทดแทน ซึ่งมีราคาต่ำกว่าของไทย เนื่องจากยางพาราอินโดนีเซียมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าของไทย
“คำสั่งซื้อยางพาราจากต่างประเทศรายใหม่หยุดชะงักลงตั้งแต่รัฐบาลมีโครงการรักษาเสถียรภาพยางพารา 15,000 ล้านบาทเป็นต้นมา ตอนนี้พ่อค้าในประเทศไทยที่ส่งออกไปก็เป็นคำสั่งซื้อรายเก่าทั้งสิ้น จึงขอให้ประชาชนเตรียมรับความพร้อมจากภาวะวิกฤตยางพาราไทยเอาไว้ล่วงหน้า”
นายเพิกยังกล่าวอีกว่า และปัญหาเพิ่มเติมที่เกิดขึ้นมาใหม่เมื่อรัฐบาลออกมาตรการงดการส่งออกยางพาราไทย อีกประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ จึงก่อให้เกิดการลักลอบส่งออกไปต่างประเทศขึ้นมา เนื่องจากบริษัทพ่อค้ายางไทยต่างเป็นบริษัทลูกครึ่งแทบทั้งสิ้น และต่างมีสาขาอยู่ในต่างประเทศ
“เฉพาะในการประกาศลดการส่งออกต่างประเทศ 10 เปอร์เซ็นต์ บริษัทผู้ส่งออกเกิดภาวะความปั่นป่วนพอสมควร เพราะเกิดการสูญเสียทางด้านการตลาด เพราะก่อนหน้านั้นค้าขายกันมาตลอด ในขณะที่มีมาตรการงดการส่งออก แต่รัฐบาลกลับมีการเจรจาการส่งออก หากจะมีนโยบายนี้ก็ควรใช้นโยบายก่อนจะมีมาตรการโครงการ 15,000 ล้าน”
นายเพิก ยังกล่าวอีกว่า จนถึงขณะนี้พ่อค้ายางพาราได้เปลี่ยนเส้นทางโดยหันเข้าไปประเทศมาเลเซียแล้ว เพราะบริษัทต่างๆ ต่างเป็นบริษัทลูกครึ่งไทย มาเลเซีย มีเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะลดความเสี่ยงกว่า และขณะนี้ในภาคใต้ บริษัทขนาดใหญ่ต่างลดการรับซื้อยางพาราแล้วเป็นจำนวนหลายราย เพื่อป้องกันความเสี่ยง และสถาบันการเงินก็ชะลอการให้สินเชื่อเพื่อลดความเสี่ยงเช่นกันแล้ว
“สำหรับพ่อค้าส่งออกนั้นยังไม่เกิดผลกระทบแต่อย่างใด ราคายางพารายิ่งตกต่ำเท่าใด ก็ยิ่งขายดี”
เจ้าของสวนยางพารา บ้านทุ่งเหรียง เทศบาลตำบลควนเสาธง อ.ตะโหมด จ.พัทลุง เปิดเผยว่า ราคาน้ำยางสดวันที่ 1 ก.ย. ราคาของพ่อค้ารับซื้อในท้องถิ่น 80 บาท/กก. ลงมาจากเมื่อวันที่ 31 ส.ค. จำนวน 5 บาท จากราคา 85 บาท/กก. ส่วนราคาของสถาบันเกษตรกร 92 บาท/กก. ราคาจะต่างกันกว่า 10 บาท/กก.