คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย
ออกจากน้ำตกหลี่ผีเกือบเที่ยงวัน หลังจากซื้อหาของที่ระลึกเสื้อยืดสกรีนน้ำตกหลี่ผี และสบายดีจำปาสัก ราคา 70 บาท (ขายตามขนาด) มัคคุเทศก์ส้มนำเรามุ่งหน้าไปยังน้ำตกคอนพะเพ็งเพื่อทานมื้อเที่ยง ซึ่งอาหารส่วนใหญ่เป็นเมนูปลาต่างๆ ตามด้วยไข่เจียว ข้าวเหนียว รสชาติ (พอแหลกได้ ดีกว่าไม่ได้แหลก)
ทานมื้อเที่ยงเสร็จ ชวนกันไปชมน้ำตกคอนพะเพ็ง หรือ “ไนแองการาแห่งเอเชีย” ระหว่างทางเดินเจอกับลูกตื๊อของเด็กหญิงชายชาวลาวมาคะยั้นคะยอให้ซื้อภาพถ่ายขนาด 10X12 นิ้ว เป็นภาพเรื่องราวเกี่ยวกับต้นไม้ใหญ่ในความเชื่อของชาวลาวว่ามีอยู่ต้นเดียวในโลก ก่อนหน้านี้ มีการบูรณะขึ้นใหม่หลังจากต้นไม้ต้นนี้โค่นล้มลง
นอกจากนั้น ก็มียาสมุนไพรปลาไหลเผือกต้นสดๆ วางขายสนนราคามัดละ 40 บาท 3 มัด 100 บาท ผู้เขียนสนใจรากสีขาวยาวมากขนาดโตกว่าหัวแม่มือ ลักษณะคล้ายแครอตแต่เล็กกว่า แต่ไม่กล้าต่อรองราคาเพราะไม่รู้ว่าจะต่อรองราคาเท่าไรจึงจะเหมาะสมทั้งสองฝ่าย ยืนรีรอสักพัก พรรคพวกที่เป็นผู้หญิงที่ไปด้วยกันต่อ 2 มัด 50 บาท ปรากฏว่า คนขายตกลง ผู้เขียนแทบไม่เชื่อหูตนเองจึงตัดสินใจซื้อด้วยคน นำมาต้มกินได้มื้อสองมื้อก็หยุดไปเพราะมันขมมาก เขาบอกว่าสรรพคุณทางยาคือ แก้ความดัน และเบาหวาน แต่ผู้รู้บอกว่าให้ใช้ดื่มแทนชา แต่อย่าต้มกินแบบยาต้มอย่างที่ผู้เขียนทำเพราะมันอาจจะเป็นอันตรายได้
น้ำตกคอนพะเพ็งมีลักษณะคล้ายกับน้ำตกหลี่ผี เนื่องจากเรามาชมในหน้าฝนมีน้ำมากจึงทำให้ไม่เห็นเกาะแก่งโผล่ขึ้นมาเหมือนหน้าแล้งที่น้ำไม่เยอะ ตามภาพถ่ายที่เด็กๆ นำมาเร่ขาย ดังนั้น ใครอยากเห็นความสวยงามของน้ำตกทั้งสองนี้ให้มาในหน้าแล้งจะดีกว่าในหน้าฝน
สถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติในเมืองลาวมีลักษณะใกล้เคียงกับเมืองไทย แต่เมืองไทยอาจจะดูดีกว่านิดหน่อยในเรื่องอาคารสถานที่ ห้องน้ำห้องส้วม และการให้บริการ เป็นระบบระเบียบมากกว่า แต่คนลาวดูจะเป็นกันเองมากกว่า หน้าตาก็ยิ้มแย้มแจ่มใส ที่สำคัญ พ่อค้าแม่ขายในแหล่งท่องเที่ยวไม่คึกคักหลากหลายอย่างเมืองไทย ส่วนใหญ่เป็นเด็กๆ และชาวบ้านขายของเล็กๆ น้อยๆ ที่เป็นของในท้องถิ่น เช่น ข้าวโพดต้ม ถั่วต้ม เมล็ดหางนกยูง พืชตระกูลถั่ว ร้านอาหารส่วนใหญ่อยู่ในที่ทำการของแหล่งท่องเที่ยวน่าจะอยู่ในกระบวนการสัมปทานตามที่มัคคุเทศก์บอก
ที่น้ำตำคอนพะเพ็งก็มีร้านขายของที่ระลึกที่หลากหลายใกล้เคียงกับที่น้ำตกหลี่ผี ทั้งชนิดของสินค้า และราคาพอๆ กัน โดยเฉพาะเสื้อยืดสกรีนข้อความ และภาพน้ำตก เสื้อผ้าพื้นเมืองต่างๆ ขณะรอขึ้นรถปรากฏว่า ฝนเทลงมาอย่างหนัก ต้องรอฝนหยุดจึงสามารถขึ้นรถได้ครบถ้วน และออกเดินทางกลับไปปากเซเพื่อทานมื้อเย็นที่ร้านอาหารเรือนแพในลำน้ำโขง
วันสุดท้ายของการอยู่ในลาว เราเริ่มมื้อเช้าที่โรงแรม สายๆ ก็ออกมาซื้อหาของที่ระลึกที่ตลาดดาวเรือง ตลาดใหญ่สุดของปากเซ มีสินค้านานชนิดทั้งทองคำ เงิน อัญมณี เสื้อผ้า เครื่องใช้ไม้สอย ของป่า ทั้งที่ขายข้างถนน เดินเร่ขายและในตลาด ส่วนใหญ่จะซื้อผ้าถุง ผ้าตัดชุดตัดเสื้อ ทั้งผู้หญิง และผู้ชาย
ออกจากตลาดดาวเรือง เรามุ่งหน้าไปน้ำตกตาดเฮือนเมืองปากซอง เส้นทางที่ไปเป็นถนน 2 ช่องทางจราจรรถค่อยๆ ไต่ระดับความสูงขึ้นไปเรื่อยๆ จนรู้สึก และเห็นได้ด้วยสายตา สองข้างทางเต็มไปด้วยสวนกาแฟ และสวนทุกเรียน มีเรือนเพาะชำต้นกล้ากาแฟอยู่เป็นระยะๆ มีโรงบ่ม และลานตากเมล็ดกาแฟของบริษัทเจ้าของกาแฟดาวที่แพร่หลายทั้งในลาว และในไทย มัคคุเทศก์บอกว่า เมืองนี้ (ปากซอง) มีชื่อเสียงในการผลิตกาแฟอันดับ 1 ของลาว โดยเฉพาะพันธุ์อาราบีก้า (ถ้าจำผิดขออภัยด้วย)
น้ำตกตาดเยืองตกจากที่สูงที่ลาดชันลงไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นหุบเหว เราต้องไต่ขั้นบันไดที่ลาดชันท่ามกลางสายฝนที่ตกลงมาปรอยๆ สลับกับลงหนักหนาเม็ด พื้นเปียกปอน ดินค่อนข้างลื่นเพราะเป็นดินเหนียวปนลูกรังแดง ต้องใช้มือจับราวสะพาน แต่เมื่อลงไปถึงจุดชมวิวน้ำตกด้านล่างก็คุ้มค่าเหนื่อย น้ำตกส่งเสียงซ่านซ่า ฟองกระเด็นสัมผัสหน้าจนเปียกปอน ต้องใช้มือบังหน้ากล้องแล้วรีบถ่ายรูปแข่งกับเวลา
เดินไต่บันไดขึ้นมาจากน้ำตก ท่ามกลางอากาศที่ค่อนข้างเย็นและทั่วบริเวณเปียกชื้น ชุ่มฉ่ำด้วยน้ำฝน หลายคนสั่งกาแฟร้อนๆ จากปากซองมานั่งดื่มแก้หนาว หลายคนเลือกซื้อหากาแฟดาวของท้องถิ่นปากซอง 3 รสชาติ คือ ชนิดดั้งเดิม ชนิดอ่อนและชนิดเข้มข้น ถุงละ 100 บาทเป็นกาแฟสำเร็จรูปชงดื่มได้เลย ราคาที่นี่ถูกกว่าที่ดิวตี้ฟรีถุงละ 10 บาท
จากนั้น มัคคุเทศก์นำเราไปทานมื้อเที่ยงที่น้ำตกผาส้วมเพราะน้ำตกอีกที่ไม่สามารถเข้าไปด้วยรถบัสได้เนื่องจากฝนตกหนัก ถนนเฉอะแฉะมาก ถึงน้ำตกผาส้วมที่มีเจ้าของผู้สัมปทานเป็นคนไทย ปัจจุบันนี้ตาบอดด้วยไข้มาลาเรียขึ้นสมองสมัยมาบุกเบิกที่นี่ และเขียนหนังสือเล่าเรื่องราวเอาไว้เป็นหนังสือเล่มหนา วางขายอยู่ข้างโต๊ะอาหารที่ต้องนุ่งทานกับพื้นแบบโต๊ะญี่ปุ่น และห้อยเท้าลงไปข้างล่าง
บรรยากาศที่นี่ร่มรื่น ชุ่มชื้นด้วยน้ำฝน เครื่องใช้ไม้สอยในร้าน และบริเวณทั่วไปเน้นการนำรากไม้ ตอไม้ ชิ้นส่วนของไม้มาดัดแปลงตกแต่ง พร้อมเอกสารชี้แจงว่าไม้เหล่านี้ได้มาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และไม่ได้ตัดไม้ทำลายป่าอย่างที่มีคนให้ข่าวกล่าวหาแต่อย่างใด
ที่น้ำตกผาส้วม (ส้วม หมายถึง ห้องหอแห่งความสุข อย่างเดียวกับที่ไทยเรียกส้วมว่า “สุขา”เพราะการเข้าส้วมกับเข้าเรือนหอมีความสุขพอๆ กัน แต่เป็นความสุขคนละแบบกันนั่นเอง-ฮา) มีบริการถ่ายรูปอัดกรอบให้เรียบร้อยในเวลาเร่งด่วน สนนราคาประมาณ 120 บาท แต่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีใครใช้บริการ เช่นเดียวกับที่น้ำตกหลี่ผี และคอนพะเพ็ง
ออกจากน้ำตกผาส้วมหลังมื้อเที่ยง เรามุ่งหน้าสู่ช่องเม็ก อุบลราชธานีเพื่อผ่านด่านเข้าสู่ราชอาณาจักรไทย แวะซื้อหาของฝากจากดิวตี้ฟรีซึ่งส่วนใหญ่สินค้าคล้ายๆ กับที่หาดใหญ่ แต่ที่ราคาถูก และนิยมซื้อกันมากที่สุด คือ สินค้าประเภทเหล้า เบียร์ และไวน์
เราผ่านด่านช่องเม็กเข้าสู่ประเทศไทยเมื่อใกล้ค่ำ เสียงโทรศัพท์ และการพูดคุยกับทางบ้านดังอยู่ตลอดเวลา ก่อนออกจากเมืองลาว สินค้าที่ถูกนำมายัดเยียดให้คือ “มะระหวาน” ถุงละ 20 บาท 3 ถุง 50 บางคนได้ในราคา 6 ถุง 50 บาท แต่สังเกตดูน้ำหนักแต่ละเจ้าแต่ละถุงไม่เท่ากัน แต่จะอย่างไรก็ตาม ซื้อแล้วห้ามถามคนอื่นว่าเขาซื้อมาในราคาเท่าไหร่ในสินค้าประเภทเดียวกัน เพราะเกรงว่าคนถามจะซื้อแพงกว่าคนตอบจนไม่น่าเชื่อ
ก่อนออกจากเมืองลาวเย็นย่ำค่ำวันนั้น ได้ถ่ายรูปกับไกด์ลาวสาวส้ม กล่าวคำสบายดีเมืองลาว จนกว่าจะพบกันอีกในอีกไม่นานในประชาคมอาเซียน…สบายดี.