xs
xsm
sm
md
lg

“กอ.รมน.ภาค 4 สน.” แจงนิ่มๆ คอลัมน์ “จุดคบไฟใต้”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - “กอ.รมน.ภาค 4 สน.” ร่อนบทแถลงข่าว “ชี้แจงข้อคิดเห็นสื่อในคอลัมน์จุดคบไฟใต้” ซึ่งนำเสนออยู่ที่หน้า “ASTVผู้จัดการภาคใต้” อีกครั้ง เป็นการสำทับจากได้เคยส่งบทแถลงข่าวเรื่อง “คณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ กปต. และศูนย์ปฏิบัติการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ หรือ ศปก.จชต.” ซึ่งเป็นข่าวไปแล้ววานนี้
 
วันนี้ (28 ส.ค.) กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ได้ส่งเอาสารทางเมลให้แก่ “ASTVผู้จัดการภาคใต้” โดยระบุว่าเป็น “บทแถลงข่าว” เรื่อง “ชี้แจงข้อคิดเห็นสื่อในคอลัมน์จุดคบไฟใต้” (http://www.manager.co.th/South/ViewNews.aspx?NewsID=9550000097811) โดยมีเนื้อหาดังต่อไปนี้
 
ตามที่สื่อมวลชนชื่อ ASTVผู้จัดการออนไลน์ ประจำวันที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๕ ได้เสนอบทความลงในคอลัมน์ จุดคบไฟใต้ นำเสนอโดย คุณไชยยงค์ มณีพิลึก มีเนื้อหาในลักษณะเป็นคำถาม หรือข้อสงสัยต่อแนวทางการดำเนินงานการแก้ปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในอดีตที่ผ่านมา จนถึงความหวังสู่ความสำเร็จตามแนวนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.๒๕๕๕-๒๕๕๗ ของรัฐบาลไทย ซึ่งจะมีการจัดตั้งหน่วยงานหลักทำหน้าที่ในการขับเคลื่อนนโยบายระดับสูงคือ คณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และหน่วยงานทำหน้าที่ในการวางแผน แปลงนโยบาย ยุทธศาสตร์ลงไปเป็นแผนงาน
 
รวมทั้งมีหน่วยงานที่มีบทบาทหน้าที่ในการอำนวยการและกำกับดูแลการปฏิบัติ ที่เรียกว่า ศูนย์ปฏิบัติการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปก.จชต.)นั้น เพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจ และเป็นการผนึกศักยภาพองค์กรทุกภาคส่วน รวมถึงสื่อมวลชนให้สามารถนำมาเป็นเครื่องมือเสริมสร้างความเข้าใจต่อประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค ๔ จึงขอชี้แจงให้ทุกภาคส่วน ตลอดทั้งได้รับทราบรายละเอียดดังนี้.-
 
ประการที่ ๑ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค ๔ ส่วนหน้า ขอสนับสนุนความเห็นของสื่อทุกประเภทในอันที่จะใช้สิทธิในการแสดงความคิดเห็นตามกรอบแห่งรัฐธรรมนูญ รวมถึงการแสดงความรัก และหวงแหนในผืนแผนดิน, อธิปไตย บูรณภาพแห่งดินแดนของประเทศไทย ซึ่งเป็นศักยภาพทางอุดมการณ์ที่หน่วยปฏิบัติในพื้นที่มีความมุ่งหวังที่จะได้รับจากองค์กรทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากประชาชน
 
เพียงแต่จากระบบงาน บทเรียน และประสบการณ์ที่ผ่านมา หน่วยรับผิดชอบพื้นที่คือ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค ๔ ส่วนหน้า มีข้อมูลที่จำเป็นต้องแสวงโอกาสทำการชี้แจงทุกภาคส่วนให้ทราบถึงความเป็นจริง ปัญหาที่มีทั้งเปิดเผย ซ่อนเร้น ปรากฏภายในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และมาจากภายนอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือแม้จากต่างประเทศที่จำเป็นต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวัง ทั้งนี้ ก็โดยมุ่งหวังที่จะใช้ความละเอียดอ่อนในการแก้ปัญหาให้เกิดความสงบสุขต่อประชาชน กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงมีความสมัครใจที่จะเดินทางเข้ามารายงานตัว ซึ่งปัจจุบันได้เพิ่มจำนวนมากขึ้น
 
โดยหน่วยปฏิบัติคือ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค ๔ ส่วนหน้า ได้หลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรง และยึดมั่นในการใช้หลักสิทธิมนุษยชน จึงทำให้ดูเหมือนการแก้ปัญหายังคงจำเป็นต้องใช้เวลา และเป็นไปในลักษณะที่ค่อยๆ คลี่คลายในแต่ละประเด็น
 
ประการที่ ๒ ปัญหาการก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็น “สงครามทางด้านมวลชน” หรือ “สงครามอุดมการณ์” ที่หลายๆ ฝ่าย แม้แต่สื่อมวลชนเองได้รับทราบเนื้อหาแก่นแท้ของสงครามประเภทนี้เป็นอย่างดีว่า เป็นสงครามที่แม้แต่กลุ่มผู้ก่อให้เกิดเหตุการณ์เอง ยังมีความจำเป็นต้องใช้เวลาตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๒๗ จนถึง พ.ศ.๒๕๔๗ เป็นระยะเวลา ๒๐ ปี หรือมากกว่านั้น
 
จากหลักการในการปราบปรามการก่อความไม่สงบของกองทัพไทย หรือประเทศชั้นนำของโลก มิได้ระบุตายตัวว่า วิธีการใดเป็นวิธีการที่ดีที่สุด หน่วยงาน หรือประเทศที่เผชิญกับสงครามมวลชน หรือสงครามอุดมการณ์ที่ทำการแก้ปัญหาควรจะจัดการอย่างไร จึงจะสามารถยุติปัญหา หรือได้ชัยชนะโดยเด็ดขาด เพียงแต่ละประเทศ แต่ละกองทัพ จะใช้วิธีปรับปรุงหลักการ ๕ ข้อ คือ การพิทักษ์ทรัพยากรและประชาชน, การปรับปรุงสภาพแวดล้อม, การใช้กำลังเข้าปราบปรามกองโจร, งานการข่าว และการปฏิบัติการจิตวิทยา ประยุกต์ใช้ด้วยความเด็ดขาด ละมุนละม่อม และระมัดระวังผสมผสานกันทุกประเทศ
 
ดังนั้น จึงน่าจะเป็นสิ่งที่สามารถตอบปัญหาได้ว่า การแก้ปัญหาการก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ของไทย จึงจำเป็นต้องมีการปรับปรุงหน่วยงานบ่อยครั้ง หรือหลายแบบ เนื่องจากปัจจัยในเรื่องข้อมูลที่ค่อยๆ ปรากฏขึ้น ปัจจัยในด้านกลยุทธ์ที่ไม่เฉพาะผู้ปราบจะต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ฝ่ายก่อเหตุรุนแรงก็มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเพื่อหลีกหนีกลยุทธ์การปราบปรามของรัฐบาลไทยเช่นเดียวกัน
 
ประการที่ ๓ การรวมอำนาจ หรือกระจายอำนาจ โดยเฉพาะการลดอำนาจการบริหารจัดการโดยองค์กรที่ได้ผ่านการพิจารณากลั่นกรองจากรัฐบาลมาเป็นอย่างดีต่อการแก้ปัญหาการก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้คือ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ นั้น มิได้อยู่ในแนวนโยบาย หรือข้อคิดเห็นจากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค ๔ ส่วนหน้า แต่ประการใด การจัดการบริหารทุกระดับชั้นยังขึ้นอยู่กับดุลยพินิจ อันผ่านการใคร่ครวญแล้วจากรัฐบาล
 
โดยปัจจัยที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค ๔ ส่วนหน้า ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จำเป็นต้องนำเสนอให้หน่วยระดับบังคับบัญชาได้ช่วยเหลือสนับสนุนอย่างเต็มขีดความสามารถก็คือ ประการที่ ๑ บุคลากรทุกประเภทที่ได้รับการบรรจุลงมาปฏิบัติงานในพื้นที่ต้องมีคุณภาพ ประการที่ ๒ หน่วยงานหรือผู้รับผิดชอบในการปฏิบัติงานเพื่อแก้ปัญหาควรมีสิทธิแนวทางในการบริหารจัดการบุคลากรที่ด้อยคุณภาพ หรือขาดคุณภาพ
 
ส่วนในประเด็นของการรวมอำนาจ หรือกระจายอำนาจ โดยเนื้อแท้ของการบริหารจัดการนั้นขึ้นอยู่กับเหตุผลด้านสถานการณ์ที่ต้องการความรวดเร็ว ตามต้องการบูรณาการแนวความคิด/แผน หรือองค์ประกอบด้านเวลาไม่พอเพียง ก็ควรใช้หลักการในการรวมอำนาจ ส่วนเมื่อสถานการณ์ไม่มีความจำกัดในเรื่องเวลา มีเวลาพอเพียง ต้องการความหลากหลายด้านแนวความคิด/แผนงาน สามารถใช้ความอ่อนตัว โดยที่ทั้งหลักการในการรวมอำนาจ และกระจายอำนาจ ในความเป็นจริงมิได้เป็นหลักการที่ผิด หรือแตกต่างจากหลักการทางประชาธิปไตยแต่ประการใด ดังจะเห็นได้จากการบริหารส่วนราชการของประเทศ ตั้งแต่ส่วนกลางไปยังส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น ก็ยังใช้หลักการรวมอำนาจ และกระจายอำนาจผสมกัน
 
ดังนั้น แนวทางการปฏิบัติงานร่วมกันของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค ๔ ส่วนหน้า ที่ปฏิบัติหน้าที่บนบทบาทของความเป็นฝ่ายความมั่นคง จึงมิได้เป็นปัญหา หรืออุปสรรคต่องานด้านการพัฒนาโดยศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เป็นองค์กรสำคัญในการทำสงครามมวลชนอีกส่วนหนึ่ง โดยจะให้ส่วนใดเป็นหน่วยนำ หรือหน่วยตาม ขึ้นอยู่กับการใช้ดุลยพินิจที่จะใช้หลักการรวมอำนาจ หรือกระจายอำนาจ โดยหน่วยงานที่ได้รับการจัดตั้งจากรัฐบาลไทยเป็นหลัก
 
ประการที่ ๔ การปรากฏของข้อความในหลายส่วนยังคงเป็นความรับผิดชอบที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค ๔ ส่วนหน้า กำลังเร่งดำเนินการแก้ไข และอาจเป็นข้อมูลที่ยังคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง เช่น กรณีกำลังเจ้าหน้าที่จำนวน ๑๐๐,๐๐๐ คนนั้น โดยจากข้อมูลแล้ว จำนวนทหาร, ตำรวจ, ข้าราชการพลเรือนที่ได้รับการบรรจุเดินทางมาจากพื้นที่ภาคกลาง, ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้น จะเป็นเพียงกำลังส่วนหนึ่ง สำหรับกำลังส่วนใหญ่นั้นยังคงเป็นกำลังที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน และจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งกำลังทหารพรานซึ่งจะเป็นกำลังหลักรักษาพื้นที่ในอนาคต โดยยอดรวมของกำลังทั้งหมดจะมีไม่ถึง ๑๐๐,๐๐๐ คน ตามที่กล่าว
 
สำหรับงานด้านการข่าว เนื่องจากข่ายงานการปฏิบัติของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง โดยภาพที่ปรากฏ และเปิดเผยต่อสาธารณชนส่วนใหญ่จะมีความเข้าใจว่า สถานการณ์การก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเพียงเหตุการณ์ที่จำกัดอยู่ในพื้นที่ แต่โดยความเป็นจริงแล้ว ข่ายงานการปฏิบัติของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงมิได้เชื่อมโยงอยู่เฉพาะพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่มีการเชื่อมโยงมาจากภายนอก ซึ่งได้มีการปิดบัง ซ่อนเร้นข้อมูลที่มีการตัดตอนช่องการติดต่อสื่อสาร
 
อีกทั้งจากข้อมูลความเป็นจริง กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงนอกจากการเชื่อมโยงเครือข่ายต่อแกนนำ ผู้ปฏิบัติ และแนวร่วมในพื้นที่แล้ว ยังมีการเชื่อมโยงเครือข่ายกับขบวนการค้าขายสิ่งผิดกฎหมาย โดยเฉพาะยาเสพติด ขบวนการค้าขายสินค้าหนีภาษี ที่มีการช่วยเหลือด้านการเงิน การสร้างสถานการณ์ให้เกื้อกูลต่อกัน การปิดบังด้านการปฏิบัติการ ส่งผลให้งานการข่าวของรัฐบาลจำเป็นต้องใช้ความพยายามเป็นอย่างมากต่อการติดตามความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ก่อเหตุ, ขบวนการค้ายาเสพติด, กลุ่มผู้ค้าสิ่งผิดกฎหมาย ที่มีการปิดบัง ซ่อนเร้นการปฏิบัติการของฝ่ายตนเป็นอย่างมากเช่นเดียวกัน
 
ประการที่ ๕ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค ๔ ส่วนหน้า ยังคงหวัง และให้ความสำคัญต่อสื่อ ที่จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความรู้ ความเข้าใจ และโน้มน้าวให้ทุกองค์กร ทุกภาคส่วน รวมถึงภาคประชาชน ได้เข้ามามีส่วนร่วมแก้ปัญหา ตีแผ่ความจริง นำเสนอความบริสุทธิ์ และจริงใจของรัฐบาล กระทรวง ทบวง กรม และกองทัพ ที่ยังคงใช้ความมุ่งมั่น ความอดทนต่อแรงกดดันในการแก้ปัญหา ในขณะเดียวกัน การมีส่วนโน้มน้าวเป็นเครื่องมือในการเปิดเผย ตีแผ่พฤติกรรมอันไร้มนุษยธรรม ไม่เคารพแม้หลักการทางศาสนา กฎบัตรประชาคมโลก และหลักสิทธิมนุษยชน
 
ซึ่งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค ๔ ส่วนหน้า มีความมั่นใจต่อการที่จะได้รับความร่วมมือ ความช่วยเหลือในการตีแผ่ นำเสนอข่าวสาร ข้อมูลได้ตรงตามนโยบาย แนวทางปฏิบัติที่วางไว้ อันจะเป็นเครื่องมือนำสู่ความสำเร็จในงานมวลชนได้อย่างแน่นอนต่อไป 
 
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 27 ส.ค.ที่ผ่านมา กอ.รมน.ภาค 4 สน. ได้ส่งหนังสือบทแถลงข่าวเรื่อง  “คณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ กปต. และศูนย์ปฏิบัติการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ หรือ ศปก.จชต.” ทางเมลให้ “ASTVผู้จัดการภาคใต้” (http://www.manager.co.th/South/ViewNews.aspx?NewsID=9550000105308) ซึ่งก็ได้นำเสนอข่าวไปแล้วด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น