xs
xsm
sm
md
lg

เหตุเกิดบนเครื่องบิน : พลังของหนึ่งเสียงร้องในยุคสังคมออนไลน์ / ประสาท มีแต้ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ : โลกที่ซับซ้อน
โดย...ประสาท มีแต้ม
 

ผมมีเรื่องที่จะนำมาเล่าในที่นี้ 4 เรื่องครับ สองเรื่องเกิดขึ้นในต่างประเทศ ผมฟังมาอีกต่อหนึ่ง สำหรับอีกสองเรื่องเกิดขึ้นกับตัวผมเอง ทั้งหมดเกี่ยวกับการเดินทางโดยเครื่องบิน มีทั้งน่าขันน่ารัก และเครียดๆ ขอเริ่มต้นด้วยเรื่องที่น่าขันน่ารักก่อนก็แล้วกันนะครับ
     
เรื่องแรกเกี่ยวกับคุณยายวัยเกิน 80 ปีแล้วล่ะ ท่านเดินทางจากประเทศซิดนีย์ (หึ!) รัฐนิวเซาท์เวลส์ ไปยังเมืองเพิร์ท รัฐออสเตรเลียตะวันตก คุณยายหิ้วตะกร้าพร้อมกับแมวสุดที่รักเดินเข้าไปในเขตที่พักผู้โดยสารขาออก ปรากฏว่า เจ้าหน้าที่ไม่ยอมให้เอาแมวขึ้นเครื่องบิน พร้อมกับเสนอตัวนำเอาตะกร้าแมวไปโหลดในช่องสัมภาระ คุณยายท่านก็ไม่ขัดขืนอ้อนวอน พร้อมกับให้ความร่วมมือแต่โดยดี
      
เมื่อเครื่องบินถึงสนามบินปลายทาง เจ้าหน้าที่พบว่าแมวในตะกร้าได้ตายเสียแล้ว ด้วยความที่ทั้งกลัวความผิด และกลัวว่าคุณยายจะเสียใจ เจ้าหน้าที่ก็พยายามไปหาซื้อแมวตัวใหม่ที่มีลักษณะคล้ายตัวเดิมมากที่สุดหลังจากรออยู่สักพักใหญ่ เจ้าหน้าที่ก็หิ้วตะกร้าแมวมาคืนคุณยายพร้อมขอโทษขอโพยในความล่าช้า
      
เมื่อคุณยายเห็นแมวในตะกร้าก็ร้องเสียงดังด้วยความตกใจว่า “นี่มันไม่ใช่แมวของฉันนิ! แมวของฉันตายแล้ว ฉันจะเอาไปฝังที่บ้านเกิดของมัน”
      
แม้ว่าเรื่องนี้จะปนมาด้วยความไม่ซื่อสัตย์ของเจ้าหน้าที่ แต่ก็แฝงไว้ด้วยความรับผิดชอบ การเห็นคุณค่าทางจิตใจของเจ้าหน้าที่ และของคุณยายด้วย
      
ผมสรุปสั้นๆ ว่าทั้งน่าขัน และน่ารักของเจ้าหน้าที่สายการบิน ซึ่งจะตรงกันข้ามกับเรื่องที่จะเล่าต่อไป
      
เรื่องที่สอง เป็นเรื่องเล่าที่เกิดขึ้นในการประชุม “คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค (Now!)” (หมายเหตุ มาตรา 61 ของรัฐธรรมนูญ ปี 2550 กำหนดให้มีพระราชบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องนี้ภายในเวลาหนึ่งปีหลังจากมีรัฐบาลชุดแรก แต่จนถึงปัจจุบัน ปี 2555 พ.ร.บ.ดังกล่าวก็ยังค้างอยู่ที่สภาผู้แทนราษฎร หลังจากวุฒิสภาได้ขอแก้ไขในประเด็นสำคัญ เครือข่ายผู้บริโภคทั่วประเทศจึงรวมกันเพื่อรณรงค์ให้กฎหมายฉบับนี้คลอดออกมา พร้อมกับขอทำงานล้อไปกับร่างกฎหมายดังกล่าวด้วย)
      
เรื่องเล่าที่ว่านี้มาจากนักร้องชาวแคนาดาคนหนึ่ง (ชื่อ Dave Carroll) พร้อมคณะได้เดินทางด้วยสายการบิน United Airline ของสหรัฐอเมริกา เขาได้นำกีตาร์โหลดไปในห้องสัมภาระ เมื่อถึงปลายทาง เขาและคณะได้เห็นเจ้าหน้าที่สนามบินโยนกีตาร์ของเขาไปบนลานจอดโดยไม่ได้มีความพิถีพิถัน และในเวลาต่อมาเขาพบว่าคอกีตาร์ของเขาหัก
      
นักร้องคนนี้พยายามร้องเรียนต่อเจ้าหน้าที่สายการบินครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ก็ได้รับการปฏิเสธ และโบ้ยกันไปมา ในที่สุดเขาได้แต่งเพลงแนวคันทรีที่มีเนื้อร้องและทำนองสนุกสนานโดยตั้งชื่อเพลงว่า
      
United Breaks Guitars (ยูไนเต็ดทำกีตาร์ฉันพัง) เพลง และมิวสิกวิดีโอของเขาได้ปล่อยผ่าน Youtube ในต้นเดือนกรกฎาคม 2552 (หลังเหตุการณ์และการร้องเรียนผ่านไป 9 เดือน) ปรากฏว่า ได้รับความสนใจจากสังคมออนไลน์อย่างล้นหลาม เพียงคืนเดียวมีผู้มากดฟังถึง 1.5 แสนราย จนเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว

ปัจจุบัน จำนวนผู้ชมได้เพิ่มขึ้นถึงกว่า 12 ล้านราย มีการเผยแพร่ทั้งในรูปหนังสือและหนังสือพิมพ์ คาดกันว่ามีผู้รับรู้เรื่องนี้ไม่ต่ำกว่าหนึ่งร้อยล้านคน
      
การร้องเรียนต่อสาธารณะดังกล่าวของ Dave Carroll แทบจะไม่มีต้นทุน แต่ได้สร้างความน่าอับอาย และเสียชื่อเสียงแก่สายการบินดังกล่าว หุ้นของสายการบินนี้ตกลง 10% คิดเป็นมูลค่าถึง 180 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่นักวิเคราะห์บางรายก็แย้งว่า หุ้นของสายการบินอื่นก็ตกเหมือนกัน ดังนั้น การจะอ้างว่ามิวสิกวิดีโอดังกล่าวทำให้หุ้นตกก็ไม่น่าจะเป็นความจริง
      
เรื่องที่สาม เมื่อวันที่ 16-17 ผมได้เดินทางไปประชุมที่อำเภอหาดใหญ่ (จังหวัด!) ในตอนขาไปหาดหาดใหญ่สายการบินนกแอร์เสียเวลาเกือบ 3 ชั่วโมง แต่ปรากฏว่า ทั้งพนักงานบริการบนเครื่องบิน และกัปตันไม่มีใครขอโทษและชี้แจงแก่ผู้โดยสารเลย
      
ผมตัดสินใจเขียนโน้ตสั้นๆ ฝากพนักงานบริการว่า “เรียนกัปตัน เครื่องบินเสียเวลาเกือบ 3 ชั่วโมง แต่ทำไมไม่มีการขอโทษจากผู้รับผิดชอบบนเครื่องเลย”
      
พนักงานบริการถามผมว่า “จะให้เจ้านาย หรือกัปตันคะ” ผมตอบ “กัปตัน” พร้อมกับรู้สึกตัวเองว่าหัวใจเต้นแรงเล็กน้อย เวลาผ่านไปนานพอสมควร พนักงานคนเดิมกลับมาหาผมอีกครั้งพร้อมพูดว่า “ความจริงพวกหนูก็ไม่ทราบว่าเครื่องดีเลย์ จริงๆ แล้วพวกหนูต้องบินไปภูเก็ต”
      
เมื่อตอนผมเดินออกจากเครื่อง พนักงานคนเดิมบอกผมว่า “ได้ส่งโน้ตของผมให้กัปตันแล้ว ท่านฝากมาขอโทษผู้โดยสารด้วย ท่านบอกว่าอาจจะเป็นเพราะมัวแต่สนใจแต่สภาพอากาศจึงลืมขอโทษไป”
      
ผมตอบเธอว่า “ช่วยเรียนกัปตันด้วยว่าผมขอบคุณ”
      
ตอนขากลับจากหาดใหญ่ สายการบินเดิมครับเสียเวลาไปประมาณ 2 ชั่วโมง ผมถามเจ้าหน้าที่ตั้งแต่ห้องเช็กอิน เมื่อไม่ได้รับคำขอโทษ ผมจึงถามเธอว่า “ในฐานะที่คุณเป็นพนักงานบริษัทคุณไม่คิดจะขอโทษผู้โดยสารสักคำเหรอ” ในที่สุดเธอก็กล่าวคำว่า “ขอโทษคะ”
      
ตอนขึ้นเครื่อง พนักงานบริการ (คนละชุดกับครั้งแรก) กล่าวขอโทษก่อนที่จะแนะนำการรัดเข็มขัด แต่น่าเสียดายที่ผมหลับเสียก่อนที่จะได้ฟังกัปตัน เพราะตอนนั้นมันเลยเวลาเที่ยงคืนไปแล้ว
      
เรื่องสุดท้าย สายการบินเดิมครับ จากน่านถึงดอนเมือง เป็นเครื่องบินเล็ก 33 ที่นั่ง ผมกับเพื่อนร่วมเดินทาง (เป็นคุณหมอและมีชื่อเสียงในสังคม) มีที่นั่งอยู่ในแถวที่สอง แต่อยู่ๆ ก็มีคนแก่กับหญิงสาวมานั่งแทน โดยไม่มีการบอกกล่าวแต่อย่างใด
      
เมื่อพนักงานบริการมาเสิร์ฟอาหารว่าง เพื่อนร่วมเดินทางของผมก็ถามเธอว่า “ทำไมไม่บอกกันก่อน” พนักงานบริการก็ถามกลับมาว่า “จะกลับไปนั่งที่เดิมไหมคะ” (ทั้งๆ ที่ที่นั่งเต็มทั้งลำ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สมควรทำเพราะที่นั่งเต็ม และมีคนแก่จริง) เพื่อนร่วมเดินทางของผมก็ตอบกลับไปว่า “ไม่ใช่ ทำไมไม่บอกเราก่อน รู้จักขอโทษไหม” เธอจึงได้กล่าวคำว่า “ขอโทษค่ะ”
      
จบครบทั้งสี่เรื่องแล้วครับ แม้จะขาดรายละเอียดไปเยอะ ผมรู้สึกว่าเรื่องที่หนึ่งน่ารักมาก สำหรับเรื่องสุดท้ายท่านผู้อ่านว่าไงครับ?
      
ประเด็นหลักที่น่าจะชวนกันคิดคือ การทำอย่างไรให้การสื่อสารยุคใหม่มีพลังขึ้นมาจริงๆ มันสามารถเปลี่ยนโลกได้จริงๆ
 
 
 
กำลังโหลดความคิดเห็น