xs
xsm
sm
md
lg

กลั่นความคิด “มลายูปาตานี” ผ่านนักเขียนการ์ตูน 3 ภาษา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตัวอย่างหนังสือการ์ตูน 3 ภาษา
มูฮำหมัด ดือราแม สำนักข่าวประชาไท
โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (DSJ)

هيلڠ بهاس هيلڠ بڠسا هيلڠ بڠسا هيلڠ اݢام

ประโยคภาษามลายูอักษรยาวีข้างต้น เป็นข้อความรณรงค์ให้มีการรักษาและใช้ภาษามลายูอย่างถูกต้องในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีมานานแล้ว ด้วยเพราะความตระหนักถึงอิทธิพลและปัจจัยที่ทำให้ภาษานี้ค่อยๆ หมดไป

วันนี้นับว่าโชคดีที่หลายฝ่ายเริ่มให้ความสำคัญ เห็นได้จากป้ายประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ที่มีการเพิ่มข้อความภาษามลายูอักษรยาวีมากขึ้น ยังไม่นับรายการวิทยุภาคภาษามลายูที่เกิดขึ้นในพื้นที่อย่างมากมาย และการเกิดขึ้นของสื่อสิ่งพิมพ์ภาษามลายูอักษรยาวี ก็เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมรณรงค์ในเรื่องนี้ ทว่า มากพอหรือยัง

“มลายูเป็นอัตลักษณ์ของเราตั้งแต่ตื่นจนกระทั่งเข้านอนก็จริง แต่ทุกวันนี้สื่อภาษามลายูในพื้นที่ยิ่งน้อยลง ก็ยิ่งทำให้เรามีความคุ้นเคยกับภาษามลายูยิ่งลดลงไปด้วย แม้เราอยากให้กลับมาเหมือนเดิม แต่ก็ยากและยังไม่พอ”

นั่นคือสิ่งที่ “ซอลาฮุดดีน บิน ฮัสบุลเลาะห์” หรือนายซอลาฮุดดีน กริยา กราฟิกดีไซเนอร์ หรือนักออกแบบการ์ตูน 3 ภาษา (ไทย - มลายู - อังกฤษ) แห่งสำนักพิมพ์บุหงารายาบุ๊ค ตระหนัก จึงพยายามค้นหาหนทางที่จะฟื้นฟูการใช้ภาษามลายูในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างถูกต้อง ซึ่งแนวทางหนึ่งที่เขาทำ คือการผลิตสื่อสิ่งพิมพ์

กริยามองว่า ปัจจุบันการใช้ภาษามลายูอย่างเป็นทางการมีเพียงในตำราเรียน ในคุตบะห์คือบทเทศนาธรรมในการละหมาดวันศุกร์ ซึ่งทั้งสองกรณีใช้ภาษาชั้นสูงที่คนทั่วไปยังเข้าใจยาก อีกส่วนคือหนังสือประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานต่างๆ ซึ่งมักใช้ทั้ง 2 ภาษา คือ ภาษาไทย และภาษามลายู
“ดิง – เลาะห์” :  ซอลาฮุดดีน กริยา - อับดุลเลาะห์ บิน วันอะหมัด
กริยาได้ร่วมกับเพื่อนอีก 2 คน คือ อับดุลเลาะห์ บิน วันอะหมัด และ มูฮำหมัดอันวัร หะยีเต๊ะ มาร่วมมือกันสร้างสื่อสิ่งพิมพ์ภาษามลายูขึ้นเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการรณรงค์การใช้ภาษามลายูที่ถูกต้อง ด้วยจิตวิญญาณที่ต้องการรักษาภาษามลายูให้อยู่คู่กับแผ่นดิน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป ในฐานะที่เป็นอัตลักษณ์หนึ่งของดินแดนปาตานี ก่อนที่จะเลือนหายไปมากกว่านี้ ควบคู่กับการผลิตสื่อภาษาไทย และภาษาอังกฤษได้ด้วย

“เราพยายามเริ่มต้นจากสิ่งที่ง่ายๆ ก่อน นั่นคือเริ่มจัดพิมพ์หนังสือการ์ตูน ซึ่งเป็นชุดภาพระบายสี 3 ภาษา สำหรับเด็กชั้นอนุบาล เดิมตั้งใจจะทำวารสารภาษามลายู แต่จากประสบการณ์ที่ผ่านมาเราเห็นว่าถ้าไม่พร้อมจริงๆ ทำไม่ได้ เพราะงานหนักและตลาดไม่พร้อม จึงคิดใหม่โดยเริ่มจากสิ่งง่ายๆ แล้วค่อยพัฒนาไปสู่เป้าหมายที่สูงขึ้น”

หนังสือการ์ตูนชุดระบายสี 3 ภาษา เป็นสื่อประกอบการเรียนการสอนสำหรับเด็กเล็ก จากนั้นค่อยพัฒนาไปสู่การผลิตสื่อการเรียนการสอนที่เหมาะกับทุกระดับการศึกษา จนกระทั่งสามารถผลิตสื่อสิ่งพิมพ์อื่นๆ ต่อไป เพราะมองว่าทุกระดับการศึกษาน่าจะมีสื่อที่เหมาะสมร่วมกันอยู่ และคนทุกระดับการศึกษาเข้าถึงได้ จึงออกมาในรูปของหนังสือประกอบการเรียนและใช้งบประมาณน้อยที่สุด

สำหรับผลงานชุดแรก เป็นหนังสือชุดระบายสี 3 ภาษา ชุดแรกมี 4 เล่ม แต่เพิ่งตีพิมพ์ไปเพียง 2 เล่ม ที่เหลือกำลังทยอยเขียนและออกแบบตัวการ์ตูน เนื่องจากความไม่พร้อมของบุคลากรและงบประมาณ จึงผลิตไป 2 เล่มก่อน โดย 2 เล่มแรกชื่อ “แพะดำ” และ “กบกับหนู” มีเนื้อหาเป็นนิทานสนุกสนาน เขียนข้อความทั้ง 3 ภาษา คือ มลายูอักษรยาวี ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ เพื่อให้น้องๆ ได้ฝึกอ่านไปพร้อมๆ กับการระบายสี โดยเริ่มวางแผงขายไปแล้ว

กริยาเล่าถึงจุดเริ่มต้นที่ได้มาร่วมงานกับ อันวาร์ หรือนายมูฮำหมัดอันวัร หะยีเต๊ะ จากบุหงารายานิวส์ ซึ่งทำหน้าที่บรรณาธิกรณ์หนังสือชุดระบายสีว่า “เพราะแอบชมมานานแล้ว ในเรื่องการทำเว็บภาษามลายู และได้คุยกันทางเฟซบุ๊ก ขณะที่ผมเองก็เป็นนักพัฒนาฟอนต์ (แบบอักษร) ภาษายาวีในระบบคอมพิวเตอร์ จากนั้นได้คุยกัน ก็พบว่ามีความฝันเหมือนกันว่าจะตั้งสำนักพิมพ์ภาษามลายู”

จากนั้นเริ่มคุยกันอย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา จนกระทั่งตัดสินใจจะตั้งสำนักพิมพ์ภาษามลายูอักษรยาวี จากนั้นก็เจอกับอับดุลเลาะห์ บิน วันอะหมัด ซึ่งเป็นนักเขียนภาษามลายู เป็นนักกวีมลายู มีความสามารถด้านภาษามลายูอักษรยาวี จึงทำให้ความคิดที่จะตั้งสำนักพิมพ์มลายูอักษรยาวีลงตัวมากขึ้น

“ทั้ง 3 คนเสมือนกับร่างเดียวกันแล้วในตอนนี้ โดยตัวผมเองเป็นผู้กำหนดเอกลักษณ์หรือคาแรกเตอร์ของตัวการ์ตูน อันวาร์เป็นผู้ขับเคลื่อนให้งานนี้เกิดขึ้นและงานการตลาด ส่วนอับดุลเลาะห์ เป็นจิตวิญญาณของภาษามลายู เป็นผู้เขียนเนื้อหาเป็นหลัก”

กริยาบอกว่า การผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ครั้งนี้ไม่ใช่แค่ต้องการรักษาภาษามลายูให้คงอยู่ แต่ต้องการให้สามารถใช้ได้ในชีวิตประจำวันจริงๆ และการผลิตในเชิงธุรกิจก็เพื่อต้องการพิสูจน์ว่า ถ้าสิ่งนั้นดีจริงมันก็จะอยู่ได้ และจะทำให้เราประเมินได้ว่างานของเราเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายจริงหรือไม่

“เราใช้คำว่า “ممباچ فتاني” แปลว่า อ่านปาตานี เป็นการรณรงค์ให้คนมาอ่านภาษามลายูมากขึ้น เพราะทุกวันนี้หากเปรียบภาษามลายูของคนปาตานีก็เหมือนต้นไม้ดอก ที่ใครๆ ก็บอกว่า เรามี แต่ไม่ดูแล ไม่รดน้ำ ไม่ใส่ปุ๋ย ต้นไม้ดอกจะสวยงามเติบโตได้อย่างไร”

จะทำอย่างไรที่จะให้คนช่วยกันรักษาสิ่งที่เป็นตัวตนของตนเองไว้ ทั้งการใช้ การเขียน และการอ่าน เพราะปัจจุบันมีแต่การพูดและการฟังเท่านั้น การเขียนไม่มีเลย และนับวันภาษามลายูก็จะยิ่งค่อยๆ หายไป โดยมีภาษาอื่นเข้ามาแทน ดังนั้นจึงต้องเริ่มที่การอ่านก่อน แล้วค่อยปรับ ค่อยพยายามจนกระทั่งนำไปสู่การเขียนต่อไปได้

ขณะที่อันวาร์เล่าว่า เดิมจะทำแค่ภาษามลายูอย่างเดียว แต่ก็พบว่าตลาดแคบเกินไป จึงต้องทำเป็น 3 ภาษา ซึ่งหนังสือชุดระบายสียังมีอีกหลายชุดที่จะผลิตออกมา เพราะจำเป็นต้องให้มีเยอะและหลากหลายจึงจะสร้างแรงจูงใจให้คนมาสนใจได้ ส่วนเนื้อหาและความถูกต้องของการใช้ภาษานั้น ทางศูนย์ประสานงานตาดีกาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ PERKASA ได้มาเป็นที่ปรึกษาการผลิตหนังสือชุดระบายสีนี้ด้วย

ส่วนอับดุลเลาะห์มองว่า “การใช้ภาษามลายูจะยากง่ายหรือไม่อยู่ที่เราเอง ในปาตานีมีคนอ่านภาษามลายู แต่กลับไม่มีสื่อให้อ่าน ดังนั้นจึงเป็นความท้าทายของเราด้วยที่จะให้มีสื่อภาษามลายูอักษรยาวีขึ้นมา”

อับดุลเลาะห์มองอีกว่า ในอดีตอารยธรรมอิสลามที่เกิดขึ้นที่นี่ได้ก็ด้วยภาษามลายู ศาสนาอิสลามของที่นี่เจริญรุ่งเรืองได้ก็ด้วยภาษามลายู ดังนั้นเราต้องรักษาไว้ อย่างเหมือนกับคำกล่าวภาษามลายูข้างต้น เพราะหากภาษาหายไป เชื้อชาติ ศาสนาก็หายไปด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น