xs
xsm
sm
md
lg

วิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน ม.ทักษิณ ไม่สนมติกรรมการสิทธิ์ เตรียมไล่บี้ชาวพัทลุงกรณีที่ดินสาธารณะประโยชน์ “ทุ่งสระ” ต่อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - วิทยาลัยภูมิปัญญา ม.ทักษิณ เมินมติกรรมการสิทธิ์ อ้างมติคณะกรรมการกำกับการใช้ที่ดินของรัฐฯพัทลุง ให้ชาวบ้านเสนอขออนุญาตใช้ประโยชน์ หากปฏิเสธสัญญาเตรียมไล่ฟ้องต่อ ชาวบ้านกร้าวไม่กลัวเดินหน้าใช้สิทธิชุมชนทำกินต่อ แฉถูกข่มขู่-กลั่นแกล้งสารพัด

นางเนิม หนูบูรณ์ เหรัญญิกเครือข่ายรักษ์แผ่นดินทุ่งสระ สมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด เปิดเผยว่า หลังจากที่ชาวบ้านไปยื่นหนังสือกับผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง ให้แก้ไปปัญหาข้อพิพาทที่สาธารณะประโยชน์ทุ่งสระ ระหว่างชาวบ้านกับวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ ต่อมาวันที่ 20 ก.ค. 2555 เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย (รปภ.) ของวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน ได้เอาประกาศวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ เรื่องการใช้ที่ดิน “ทุ่งสระ” สาธารณะประโยชน์ในส่วนที่เป็นสิทธิของมหาวิทยาลัยทักษิณ ณ วันที่ 19 ก.ค. 2555 ลงลายมือชื่อโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์วิเชียร แก้วบุญส่ง ผู้อำนวยการวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ ปฏิบัติหน้าที่แทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ มาแจกให้ชาวบ้านไสกลิ้ง และท่าช้าง ตำบลพนางตุง อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง
เอกสารที่ ม.ทักษิณ ติดประกาศห้ามชาวบ้านเข้าใช้พื้นที่ ทุ่งสระ
เอกสารที่ ม.ทักษิณ ติดประกาศห้ามชาวบ้านเข้าใช้พื้นที่ ทุ่งสระ
 
ประกาศวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ มีสาระสำคัญระบุว่า เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2551 คณะกรรมการกำกับการใช้ที่ดินของรัฐประจำจังหวัดพัทลุง ซึ่งมีผู้ว่าราชการเป็นประธาน ได้มีการประชุมและมีมติเอกฉันท์ให้มหาวิทยาลัยทักษิณใช้ “ทุ่งสระ” ที่ดินสาธารณะประโยชน์ ตำบลพนางตุง อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง เนื้อที่ประมาณ 635 ไร่ ทางฝั่งทิศตะวันตกของถนนสายทะเลน้อย-ลำปำ ตามที่รังวัดเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2551

ดังนั้น ที่ดิน “ทุ่งสระ” สาธารณประโยชน์ประมาณ 635 ไร่ คณะกรรมการกำกับการใช้ที่ดินของรัฐประจำจังหวัดพัทลุง มีมติเอกฉันท์ให้มหาวิทยาลัยทักษิณใช้ประโยชน์แล้วนั้น มหาวิทยาลัยมีสิทธิใช้ประโยชน์และดูแลรักษาตามกฎหมาย แต่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมและเจตนารมณ์วิทยาลัยที่มุ่งพัฒนาชุมชนและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน จึงอนุญาตให้ราษฎรบางรายใช้ประโยชน์ แต่ต้องแจ้งขออนุญาตจากมหาวิทยาลัยฯ และต้องได้รับความยินยอมจากมหาวิทยาลัยก่อน การอนุญาตดังกล่าวมีเงื่อนไข ดังนี้

1.ราษฎรที่ประสงค์จะใช้ที่มหาวิทยาลัยฯ ได้รับอนุญาตใช้ประโยชน์ ให้ขออนุญาต และทำสัญญาข้อตกลงกับผู้อำนวยการวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน ในนามมหาวิทยาลัยฯ

2.ลักษณะของการทำประโยชน์ที่จะอนุญาตให้ใช้ ราษฎรต้องใช้เพื่อทำนาหรือปลูกพืชล้มลุกตามฤดูกาลเท่านั้น และต้องไม่ขุดคูหรือยกร่องด้วยเครื่องจักร

3.ราษฎรที่ปลูกพืชยืนต้น เช่น ปาล์มน้ำมัน ยางพารา ไปแล้วก่อนเดือนเมษายน 2555 หากประสงค์จะเข้าไปดูแลบำรุงรักษาพืชที่ปลูกไว้ เพื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ มหาวิทยาลัยฯ จะอนุญาตให้กระทำการดังกล่าวได้ก็ต่อเมื่อเจ้าของได้ไปทำสัญญาข้อตกลงกับมหาวิทยาลัยฯ เท่านั้น

อนึ่ง ราษฎรที่ได้ไปทำสัญญาไว้กับมหาวิทยาลัยฯ แล้ว สามารถเก็บผลผลิตจากการปลูกไม้ยืนต้นดังกล่าวได้จนกว่าต้นไม้จะตาย หรือหมดอายุการเก็บผลผลิต แต่จะไม่มีการปลูกไม้ยืนต้นเพิ่มเติมทั้งในพื้นที่เดิม หรือพื้นที่ใหม่ แต่หากมหาวิทยาลัยฯ จำเป็นต้องใช้พื้นที่เพื่อการก่อสร้างหรือเพื่อการพัฒนาใดๆ มหาวิทยาลัยฯ จะแจ้งให้ทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 90 วัน ก่อนเข้าดำเนินการ

4.มหาวิทยาลัยฯ จะอนุญาตให้ใช้ที่ดินทำประโยชน์และอนุญาตให้เข้ามาดูแลรักษาต้นไม้ที่ปลูกไว้ได้เฉพาะราษฎรที่ได้มาทำสัญญาข้อตกลงกับมหาวิทยาลัยฯ เท่านั้น หากราษฎรรายใดเข้ามาใช้พื้นที่โดยไม่ได้รับอนุญาตมหาวิทยาลัยฯ จำเป็นต้องแจ้งความดำเนินคดีตามกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2551 นางแปลก หนูบูรณ์ กับพวกรวม 6 คน ซึ่งเป็นตัวแทนราษฎรหมู่ที่ 5 และหมู่ที่ 6 ตำบลพนางตุง อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง ได้ยื่นเรื่องร้องเรียนอนุกรรมการในการจัดการที่ดินและป่า ในกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ว่าได้รับความเดือดร้อนจากการที่มหาวิทยาลัยทักษิณได้เข้ามาครอบครองที่ดินสาธารณประโยชน์ “ทุ่งสระ” เพื่อก่อสร้างวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน โดยมหาวิทยาลัยทักษิณขัดขวางไม่ให้ราษฎรเข้าไปประกอบอาชีพ และปักป้ายประกาศห้ามราษฎรเข้าไปในที่ดิน อีกทั้งยังขุดลอกคลองขึ้นใหม่ ทำให้ราษฎรประมาณ 150 ครอบครัว ไม่สามารถสัญจรและเข้าไปประกอบอาชีพการเกษตรและเลี้ยงสัตว์บริเวณดังกล่าวได้เช่นเดิม

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีมติในการประชุมครั้งที่ 12/2552 เมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2552 เห็นชอบตามมติคณะอนุกรรมการสิทธิในการจัดการที่ดินและป่า ชุดที่ 3 จึงมีมาตรการในการแก้ไขปัญหาให้มหาวิทยาลัยทักษิณ ยุติการก่อสร้างใดๆ ในพื้นที่ตำบลพนางตุง จนกว่าจะได้ดำเนินการขอใช้พื้นที่ให้ถูกต้องตามขั้นตอนกฎหมาย โดยเคารพต่อสิทธิชุมชน และสิทธิองค์กรปกครองท้องถิ่นตามรัฐธรรมนูญ ให้มหาวิทยาลัยทักษิณ ดำเนินการก่อสร้างวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชนใน ต.พนางตุง เฉพาะพื้นที่ที่มีการก่อสร้างไปแล้วเท่านั้น โดยให้เทศบาลพนางตุงดูแลพื้นที่สาธารณประโยชน์ต่อไป

ต่อมา เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 2555 เครือข่ายรักษ์แผ่นดินทุ่งสระกว่า 80 คน ได้ไปถามเทศบาลตำบลพนางตุง ว่าวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ ได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่จากกระทรวงมหาไทยแล้วหรือไม่ โดยได้รับคำตอบว่ามหาวิทยาลัยทักษิณ ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่สาธารณะทุ่งสระจากกระทรวงมหาไทย
นางเนิม หนูบูรณ์ เหรัญญิกเครือข่ายรักษ์แผ่นดินทุ่งสระ หนึ่งในผู้ที่ถูกดำเนินคดี
 
นางเนิม หนูบูรณ์ เปิดเผยว่า เทศบาลตำบลพนางตุงทำหนังสือไปยังมหาวิทยาลัยทักษิณไม่ให้มีการต่อเติมอาคาร แต่ก็ยังเดินหน้าสร้างต่อโดยไม่สนใจ ชาวบ้านเห็นว่ากรรมการสิทธิ์ฯ และเทศบาลฯ ห้ามต่อเติมอาคารเลยเข้าไปทักท้วง ปรากฏว่าคนงานของวิทยาลัยภูมิปัญญา เปลือยก้นให้ชาวบ้านดูเชิงเหยียดหยาม ไม่นึกว่ามันทำได้ถึงขนาดนั้น

นางเนิม หนูบูรณ์ เปิดเผยอีกว่า เวลาชาวบ้านไปดายหญ้าสวนปาล์มน้ำมัน สวนยางพารา ไปเก็บถั่วเขียว ไปปลูกแตงกวา แตงโม มักมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย (รปภ.) ของวิทยาลัยภูมิปัญญา มหาวิทยาลัยทักษิณ มาถ่ายรูปเพื่อข่มขู่จะแจ้งความกับชาวบ้านอยู่เสมอ อย่างกรณีล่าสุดที่ชาวบ้านถูกแจ้งความข้อหาบุกรุก เขาแค่ไปเก็บถั่วเขียวเท่านั้น ตนก็งงเหมือนกัน เมื่อมหาวิทยาลัยฯ ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่จากกระทรวงมหาดไทย ตำรวจรับแจ้งความได้อย่างไร มีอยู่ครั้งหนึ่งตอนที่ชาวบ้านชุมนุมให้วิทยาลัยฯ ถอดป้ายห้ามชาวบ้านเข้าทำประโยชน์ มีการยิงปืนข่มขู่ชาวบ้านด้วย

“ยังไม่ใครไปทำข้อตกลงด้วยหรอก ในเมื่อที่ดินเป็นของพวกเรา เขาอ้างเอาเองทั้งนั้น ป้าและชาวบ้านก็เข้าไปใช้ประโยชน์เหมือนเดิม ป้าไม่กลัวหรอก ชาวบ้านก็ไม่กลัว เราใช้สิทธิของชุมชน และตอนนี้กำลังดำเนินการจัดทำโฉนดชุมชนตามนโยบายของรัฐบาลอยู่ วันที่ ผ.อ.สำนักงานโฉนดชุมชน ลงพื้นที่ทุ่งสระ พวกยามของวิทยาลัยฯ ไปปล่อยข่าวว่าเราโกหกทั้งเพ หลอกชาวบ้านว่าเป็น ผ.อ.โฉนดชุมชนลงพื้นที่ ทั้งๆ ที่ไม่รู้ว่าใคร และยังสบประมาทว่าไม่มีทางที่จะทำโฉนดชุมชนได้” นางเนิม กล่าว
นายเปลื้อม จันสุกสี กรรมการเครือข่ายรักษ์แผ่นดินทุ่งสระ ซึ่งถูกฟ้องร้องดำเนินคดีเช่นเดียวกัน
 
นายเปลื้อม จันสุกสี กรรมการเครือข่ายรักษ์แผ่นดินทุ่งสระ เปิดเผยว่า ผู้ช่วยศาสตราจารย์วิเชียร แก้วบุญส่ง ผู้อำนวยการวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ เคยพูดกับชาวบ้านว่า มติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติไม่เคยอยู่ในสายตามหาวิทยาลัยฯ เลย อีกทั้งเมื่อ 2-3 เดือนที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยทักษิณทำหนังสือถึงเทศบาลตำบลพนางตุงให้ฟ้องมหาวิทยาลัยฯ และชาวบ้านกับศาลปกครอง กรณีที่สาธารณะประโยชน์ทุ่งสระ แต่เทศบาลฯ ตอบปฏิเสธ

นายเปลื้อม จันสุกสี เปิดเผยอีกว่า เมื่อประมาณปี 2552 วิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ เดินไฟฟ้าตามสายลวดหนามบริเวณวิทยาลัยฯ ทำให้วัวของชาวบ้านโดนไฟฟ้าช็อตตายไป 2 ตัว ต่อมากรรมการสิทธิ์สั่งให้รื้อออก ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุงคุยเพื่อแก้ปัญหาให้ชาวบ้านแล้วเขาก็ไม่ยอม ชาวบ้านขอแค่ให้ใช้พื้นที่ที่สร้างอาคารแล้ว 185 ไร่ ที่เหลือขอให้ชาวบ้านใช้ประโยชน์

“แต่ก่อนชาวบ้านทำนาปีละ 2 ครั้งเพราะมีคลองชลประทานไหลผ่าน พอมหาวิทยาลัยฯ มาก็ขุดตัดคลองส่งน้ำชลประทาน จนให้ชาวบ้านทำนาไม่ได้อีกเพราะไม่มีน้ำ จึงหันกันไปปลูกปาล์มน้ำมัน ยางพารา พืชผัก วิทยาลัยภูมิปัญหาชุมชนอะไรทะเลาะกับชุมชน วิทยาลัยฯ ใช้อำนาจจ้างอันธพาลในตำบลให้เป็นยามมาคอยขมขู่ชาวบ้าน” นายเปลื้อม กล่าว

สำหรับข้อพิพาทระหว่างมหาวิทยาลัยทักษิณ มีอยู่ 3 คดี

คดีแรกอยู่ในชั้นศาล คือ คดีหมายเลขดำที่ 510 / 2554 อัยการจังหวัดพัทลุง ยื่นฟ้องนายบุญธรรม วรรณเดช กับพวกรวม 8 คน ประกอบด้วย นายรูญ หนูบูรณ์ นายบวน หนูบูรณ์ นางเนิม หนูบูรณ์ นายยุทธชัย ทองวัตร นายวิน ผอมหนู นางแปลก หนูบูรณ์ และนายเปลื้อม จันสุกสี ฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ของวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ โดยศาลจังหวัดพัทลุงนัดเจรจาไกล่เกลี่ยระหว่างชาวบ้าน กับวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ ซึ่งคดียังไม่มีข้อสรุป

คดีที่ 2 ยังอยู่ในชั้นอัยการ คือคดีอาญาที่ 78/2553 ที่พนักงานสอบสวน แจ้งข้อกล่าวหาแก่ นายบุญรัตน์ สวนอินทร์ จำเลยที่ 3 เป็นหัวหน้าผู้สั่งการนำกำลังชาวบ้านรวม 14 คน ประกอบด้วย นายบุญเศียร รอดยัง นายวิน ผอมหนู นายบุญรัตน์ สวนอินทร์ นายสมปอง จักรปล้อง นายมานะ เอื้อบำรุงเกียรติ นางสารภี เอื้อบำรุงเกียรติ นางอุไร จันสุกสี นางเอิ้ม จันสุกสี นายสมนึก จันสุกสี นางศรีเพียร จันสุกสี นายศรศักดิ์ จันสุกสี นายสวน เทพนุ้ย นางพัน เพชรศรี และนางเนิม หนูบูรณ์ ฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ของวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ โดยอัยการจังหวัดพัทลุงนัดเจรจาไกล่เกลี่ยซึ่งคดียังไม่ได้ข้อสรุปเช่นกัน

ล่าสุดเมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2555 ผศ.วิเชียร แก้วบุญส่ง ผู้อำนวยการวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ มาแจ้งความกับพนักงานสอบสวน สภ.ทะเลน้อย ตำบลพนางตุง อำเภอควนขนุน จังหัดพัทลุง ว่าเมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 2-3 เม.ย. 2555 และเมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 23-24 เม.ย. 2555 นางสายัญ ดำมุสิก และนายโสภณ ดำมุสิก เข้าใช้พื้นที่ของมหาวิทยาลัยทักษิณ โดยได้ยกร่องปลูกต้นปาล์มน้ำมัน กล่าวหาว่าร่วมกันบุกรุก รบกวนสิทธิการครอบครองและสิทธิการใช้ประโยชน์ของมหาวิทยาลัยทักษิณ ทั้งนี้ นางเนิม หนูบูรณ์ และนายวิน ผอมหนู ถูกดำเนินคดีซ้ำซ้อนถึง 2 คดี

ปรัชญเกียรติ ว่าโร๊ะ
ศูนย์สื่อสังคมภาคใต้
กำลังโหลดความคิดเห็น