xs
xsm
sm
md
lg

ผอ.โฉนดชุมชน ตรวจพื้นที่เก็บข้อมูลหาทางออกข้อพิพาทชาวบ้านพัทลุง-ม.ทักษิณ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายทัศพันธ์ พงษ์เภตรา ผู้อำนวยการสำนักงานโฉนดชุมชน ลงพื้นที่บ้านใสกลิ้ง และบ้านท่าช้าง ต.พนางตุง อ.ควนขนุน จ.พัทลุง
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ผอ.สำนักงานโฉนดชุมชน ลงพื้นที่ จ.พัทลุง เพื่อติดตามข้อพิพาทที่ดินระหว่างชาวบ้าน และ ม.ทักษิณ ที่มีความยืดเยื้อ โดยจะเก็บข้อมูลให้คณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน (ปจช.) พิจารณาต่อไป ซึ่งอาจจะเป็นทางออกยุติปัญหานี้ได้

เมื่อวานนี้ (3 ก.ค.) มีรายงานว่า สำนักงานโฉนดชุมชน นำโดย นายทัศพันธ์ พงษ์เภตรา ผู้อำนวยการสำนักงานโฉนดชุมชน ลงพื้นที่บ้านใสกลิ้ง และบ้านท่าช้าง ต.พนางตุง อ.ควนขนุน จ.พัทลุง เพื่อสำรวจ และตรวจสอบพื้นที่โฉนดชุมชนบ้านใสกลิ้ง และบ้านท่าช้าง เนื้อที่ 1,022 ไร่ มีประชากรใช้ประโยชน์ในพื้นที่ 123 ครัวเรือน ซึ่งทางเครือข่ายรักษ์แผ่นดินทุ่งสระ สมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด ได้ยื่นขอให้สำนักงานโฉนดชุมชนพิจารณาจัดโฉนดชุมชน โดยมีผู้เข้าร่วมประมาณ 200 คน

นางเนิม หนูบูรณ์ กรรมการโฉนดชุมชนบ้านใสกลิ้ง และบ้านท่าช้าง กล่าวว่า ชาวบ้านทำนาในพื้นที่ดังกล่าวมานานนับร้อยปีแล้ว ต่อมา พ.ศ.2528 กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศเขตสาธารณะประโยชน์ทับซ้อนพื้นที่ชาวบ้าน หลังจากนั้น พ.ศ.2533 มหาวิทยาลัยทักษิณ ได้ขอใช้พื้นที่สร้างคณะของมหาวิทยาลัย ชาวบ้านเข้าใจว่า ความเจริญจะเข้าชุมชน ลูกหลานจะได้เรียนใกล้บ้าน จึงยกที่นาส่วนหนึ่งให้มหาวิทยาลัยได้สร้างอาคารโดยไม่รอให้กระทรวงมหาดไทยอนุญาตให้ใช้พื้นที่ตามกฎหมาย ทั้งยังทำลายระบบน้ำชลประทาน เพื่อกันแนวเขตมหาวิทยาลัย ทำให้น้ำท่วมในปี พ.ศ.2539 ซ้ำยังขาดน้ำทำนา และเลี้ยงสัตว์ ทำให้ชาวบ้านรู้สึกผิดหวัง และเจ็บแค้น

นางเนิม กล่าวอีกว่า ในช่วงปี พ.ศ.2551-2552 ชาวบ้านได้ร้องเรียนกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ผลคือ กสม. มีมติเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2552 ให้มหาวิทยาลัยยุติการก่อสร้างใดๆ จนกว่าจะได้ดำเนินการขอใช้พื้นที่ให้ถูกต้องตามขั้นตอนกฎหมาย โดยเคารพต่อสิทธิชุมชน และสิทธิองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามรัฐธรรมนูญ และให้มหาวิทยาลัยดำเนินการก่อสร้างวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชนเฉพาะพื้นที่ที่มีการก่อสร้างไปแล้วเท่านั้น โดยให้เทศบาลพนางตุงดูแลพื้นที่สาธารณะประโยชน์ต่อไป

อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยไม่ได้ดำเนินการตามคำวินิจฉัยของ กสม. แต่อย่างใด ยังคงเดินหน้าก่อสร้างอาคารเพิ่มเติม พร้อมทั้งปักป้ายประกาศห้ามชาวบ้านเข้าไปทำกินในที่ดินดังกล่าว และฟ้องร้องดำเนินคดีกับชาวบ้านในข้อหาทำลายทรัพย์สินของมหาวิทยาลัย จำนวน 3 คดี 20 กว่าราย ดังนั้น ทางชุมชนจึงได้ร่วมกับเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด ยื่นขอจัดโฉนดชุมชน เพื่อแก้ปัญหาข้อพิพาทดังกล่าว และรักษาที่ดินไว้ให้ลูกหลาน

นางสายัญ ดำมุสิก สมาชิกพื้นที่โฉนดชุมชนบ้านใสกลิ้ง และบ้านท่าช้าง กล่าวว่า ตนถูกมหาวิทยาลัยทักษิณ แจ้งความดำเนินคดีอาญาข้อหารบกวนทรัพย์สินของมหาวิทยาลัย ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว ตนได้รับที่ดินผืนนี้มาจากพ่อ มหาวิทยาลัยต่างหากที่มาบุกรุกที่ดินของชาวบ้าน มหาวิทยาลัยมาแจ้งความดำเนินคดีกับชาวบ้านได้อย่างไร ในเมื่อเขาไม่ได้มีสิทธิตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ในวันนี้รู้สึกยินดีที่สำนักงานโฉนดชุมชนลงพื้นที่รับฟังความเป็นจริง ทำให้มีความหวังว่าความยุติธรรมยังมีอยู่จริง

นายทัศพันธ์ พงษ์เภตรา ผู้อำนวยการสำนักงานโฉนดชุมชน กล่าวว่า สำนักงานโฉนดชุมชนลงพื้นที่โฉนดชุมชนบ้านใสกลิ้ง และบ้านท่าช้าง เพื่อสำรวจและตรวจสอบพื้นที่ ตามที่เครือข่ายได้ยื่นเรื่องแสดงเจตจำนงขอจัดโฉนดชุมชน วันนี้ ได้จัดเก็บข้อมูลสมบูรณ์แล้ว หลังจากนี้ จะตรวจเช็กข้อมูล และรวบรวมข้อมูลให้คณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน (ปจช.) พิจารณาต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นโยบายโฉนดชุมชนเป็นนโยบายที่ภาคประชาชน นำโดยเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ได้นำเสนอต่อรัฐบาลชุดที่แล้ว เพื่อแก้ปัญหาข้อพิพาทในที่ดินของรัฐ และได้รับการบรรจุเป็นนโยบายรัฐบาล มีการออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน มีการจัดตั้งคณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน และจัดตั้งสำนักงานโฉนดชุมชน รวมทั้งมีการพิจารณาคัดเลือกพื้นที่นำร่องโฉนดชุมชน 55 พื้นที่ โดยหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ได้ส่งมอบพื้นที่ให้สำนักงานโฉนดชุมชนบริหารจัดการร่วมกับชุมชน 2 พื้นที่ ต่อมา รัฐบาลชุดปัจจุบัน ได้มีนโยบายสานต่อโฉนดชุมชน โดยแต่งตั้งนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ เป็นประธานคณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน
กำลังโหลดความคิดเห็น