xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ตรวจการฯ เสนอรัฐบาลแก้รุกป่าวังน้ำเขียว ชะลอไล่รื้อถอน เร่งพิสูจน์สิทธิ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศรีราชา เจริญพานิช (แฟ้มภาพ)
ผู้ตรวจการแผ่นดิน เสนอนายกฯ แก้ปัญหารุกป่าวังน้ำเขียว เผย จนท.ละเลยการปฏิบัติ นโยบายหน่วยงานไม่สอดคล้อง แนะวิธีแก้ 3 หน่วยงานเร่งปรับปรุงรูปแผนที่ ให้ ก.ทรัพย์ฯ นำนโยบายการปรับปรุงเขตพื้นที่ป่าไม้กลับมาดำเนินการ เพื่อใช้แก้ไขปัญหาแนวเขตระหว่างที่ดินของรัฐ และที่ดินเอกชน ขณะเดียวกัน ชะลอการไล่รื้อถอนผู้บุกรุก ก่อนเร่งพิสูจน์สิทธิการถือครอง ชี้หากพบถือครองก่อนประมวล กม.ที่ดิน 2497 บังคับใช้ต้องได้เอกสารสิทธิ แต่ถ้าแผ้วถางป่าหวังได้ที่ดินต้องดำเนินการตามกฎหมาย พร้อมเสนอหากกระทำโดยสุจริตควรได้รับผ่อนผันให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินโดยมีกำหนดเวลา ภายใต้เงื่อนไขต้องปลูกป่า

วันนี้ (3 พ.ค.) นายศรีราชา เจริญพานิช ผู้ตรวจการแผ่นดินแถลงว่า เมื่อวันที่ 27 เม.ย.ที่ผ่านมา ผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีหนังสือเสนอแนะความเห็นต่อกรณีปัญหาการครอบครองที่ดิน ป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาภูหลวง (เขาแผงม้า) อุทยานแห่งชาติทับลาน และที่ดิน ส.ป.ก.ในพื้นที่อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ไปยังนายกรัฐมนตรี และประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยเห็นว่า เจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่รับผิดชอบละเลยการปฏิบัติหน้าที่ นโยบายแต่ละหน่วยงานไม่สอดคล้อง เกิดความขัดแย้ง และแบ่งเป็น 2 ฝ่าย โดยฝ่ายปกครอง และท้องถิ่นสนับสนุนพร้อมทั้งรับรองสิทธิการอยู่อาศัยและทำกินของราษฎร ส่งเสริมและกำหนดให้การท่องเที่ยวในเขต อ.วังน้ำเขียวเป็นยุทธศาสตร์ของอำเภอส่งผลให้มีการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว และการเกษตรเชิงนิเวศอย่างต่อเนื่อง

ส่วนกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รวมทั้งกรมป่าไม้ ไม่ได้ออกสำรวจตรวจสอบเพื่อบังคับใช้กฎหมายตามอำนาจหน้าที่อย่างจริงจัง และต่อเนื่อง แต่กลับปล่อยปละละเลยให้มีราษฎรเข้ายึดถือครอง และทำประโยชน์อยู่อาศัยทำกิน ทำการเกษตร ก่อสร้างที่พักอาศัย และใช้ประโยชน์ในที่ดินมาเป็นเวลานาน จนทำให้ราษฎรที่เปลี่ยนแปลงสภาพการใช้ประโยชน์ หรือราษฎรผู้รับโอนสิทธิการครอบครองต่อนั้น อาจเข้าใจ หรือเชื่อโดยสุจริตว่าสามารถกระทำการเช่นนั้นได้ อีกทั้งไม่ปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานตามที่ได้มีการรังวัดกันออกให้แล้วเสร็จตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 22 เม.ย.40 แต่กลับเร่งรัดดำเนินการตรวจยึดจับกุมดำเนินคดีกับราษฎรในพื้นที่ หากดำเนินการให้เรียบร้อยพื้นที่ดังกล่าวก็ไม่อยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานอีกต่อไป

สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหา ทางผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้เสนอว่า 1.กรณีปัญหาพื้นที่ทับซ้อนระหว่างเขตป่าสงวนแห่งชาติกับเขตปฏิรูปที่ดินเขตอุทยานแห่งชาติกับเขตปฏิรูปที่ดิน และการปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ประสานงานเพื่อบูรณาการการปรับปรุงแก้ไขรูปแผนที่ที่อยู่ในความรับผิดชอบของแต่ละหน่วย ตามแนวทางดังกล่าวข้างต้น เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงกฎกระทรวง และพระราชกฤษฎีกาที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดที่ดินของรัฐ ซึ่งจะเป็นการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน

2.กรณีปัญหาการกำหนดพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเขาภูหลวง เขตพื้นที่ป่าเพื่อการอนุรักษ์ (โซน C) บริเวณเขาแผงม้า ให้กรมป่าไม้ร่วมกับ จ.นครราชสีมา แต่งตั้งคณะทำงานประกอบด้วยภาครัฐ และภาคประชาชน เพื่อร่วมดำเนินการตรวจสอบแนวเขต และสภาพของพื้นที่ที่ได้กำหนดให้เป็นป่าโซน C ว่าเป็นการกำหนดที่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์และสภาพความเป็นจริงหรือไม่ อย่างไร และดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

3.กรณีการปรับปรุงเขตพื้นที่ป่าไม้ (Reshape) ซึ่งผลการดำเนินการรังวัดปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน กรมป่าไม้ ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการฯ คณะทำงานมาโดยลำดับ ตั้งแต่ พ.ศ.2537-พ.ศ.2543 สรุปผลการดำเนินการเป็นพื้นที่กันออก เนื้อที่ 273,310.22 ไร่ และพื้นที่ผนวก เนื้อที่ 110,172.95 ไร่ แต่การดำเนินการปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานยังไม่แล้วเสร็จ ดังนั้น ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพิจารณานำนโยบายการปรับปรุงเขตพื้นที่ป่าไม้ กลับมาดำเนินการให้แล้วเสร็จ เพื่อใช้แก้ไขปัญหาเรื่องแนวเขตระหว่างที่ดินของรัฐด้วยกัน และที่ดินของรัฐกับเอกชน ประชาชนให้เป็นรูปธรรมที่ถูกต้อง

4.เนื่องจากเจ้าหน้าที่ในสังกัดกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ตรวจสอบและจะดำเนินการตรวจยึดจับกุมดำเนินคดีกับราษฎรที่ครอบครองทำประโยชน์อยู่ในพื้นที่ที่ได้มีการรังวัดกันออก เพื่อปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน หากกรมอุทยานฯ ได้ดำเนินการเพื่อปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานให้แล้วเสร็จตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 เม.ย.40 แล้ว พื้นที่ดังกล่าวก็จะไม่ได้อยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานอีกต่อไป ดังนั้น เมื่อคำนึงถึงความเป็นธรรม และเพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎรที่ได้รับผลกระทบ จึงสมควรให้กรมอุทยานฯ ชะลอ หรือระงับการตรวจยึดจับกุมดำเนินคดีกับราษฎรดังกล่าวไว้ก่อน เมื่อแก้ไขปัญหาเรื่องพื้นที่ทับซ้อน และการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแนวเขตดังกล่าวข้างต้นแล้วเสร็จ ราษฎรที่ครอบครอง และทำประโยชน์อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวย่อมได้รับการคุ้มครองสิทธิในที่ดินตามควรแก่กรณีอยู่แล้ว

5.กรณีผู้ได้รับหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.4-01) ได้เปลี่ยนแปลงสภาพการใช้ประโยชน์ ให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมนำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เพื่อกำหนดพื้นที่ในการปฏิรูปที่ดินให้สอดคล้องกับนโยบาย และยุทธศาสตร์ของอำเภอวังน้ำเขียว เพื่อให้เกษตรกรที่ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์สามารถประกอบกิจการที่เป็นการบริการ หรือเกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของเกษตรกรในด้านเศรษฐกิจ และสังคมได้ตามข้อ 1.5 ของประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดกิจการอื่นที่เป็นการสนับสนุน หรือเกี่ยวเนื่องกับการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ตามมาตรา 30 วรรคห้า พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2532 (ฉบับที่ 2)

ขณะที่การดำเนินการกับราษฎรที่ได้ครอบครอง และทำประโยชน์ในที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และอุทยานแห่งชาติ เห็นว่าการแก้ไขรัฐควรพิจารณาโดยอาศัยหลักเกณฑ์ 5 ข้อ คือ 1. การพิสูจน์สิทธิการถือครองที่ดินของราษฎรในเขตป่าไม้นั้น หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบ เมื่อได้พิสูจน์สิทธิการถือครองดังกล่าว และได้ข้อยุติว่า ราษฎรได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินในพื้นที่ดังกล่าวอยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ คือก่อนวันที่ 1 ธ.ค.2497 ราษฎรดังกล่าวนี้ ย่อมต้องได้รับสิทธิในที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน โดยหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปัญหาข้อขัดข้องในการดำเนินการออกหนังสือสำคัญแสดงสิทธิในที่ดินต่อไป

2.กรณีที่เป็นผู้บุกรุกเข้าแผ้วถางพื้นที่ป่าไม้โดยเจตนาชัดแจ้ง ภายหลังที่มีมติ ครม. เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.41 ถือว่าเป็นผู้เข้าครอบครองที่ดินในเขตป่าไม้โดยไม่สุจริต การบังคับใช้กฎหมายแก่บุคคลดังกล่าว รัฐควรต้องดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่อง และต้องดำเนินการทางด้านกฎหมายแก่ผู้บุกรุกโดยเฉียบขาด โดยจะไม่มีการพิจารณาให้สิทธิใดๆ แก่บุคคลดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.ป่าไม้ 2484 พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ 2504 พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ 2507 หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

3.กรณีที่เป็นผู้รับโอนสิทธิจากผู้บุกรุกตาม ข้อ 2 โดยเป็นผู้ที่รู้เห็นเป็นใจ หรือจ้างวาน หรือส่งเสริมให้มีการบุกรุก เพื่อที่จะรับโอนสิทธินั้นมาเป็นของตน ต้องถือว่าบุคคลดังกล่าวเป็นผู้ไม่สุจริต ดังนั้น รัฐต้องดำเนินการทางกฎหมายโดยเฉียบขาดเช่นเดียวกัน

4.กรณีที่เป็นผู้รับโอนสิทธิมาโดยไม่สุจริต เช่น รู้อยู่แล้วว่าเป็นพื้นที่ป่าไม้ หรืออยู่ระหว่างรัฐบังคับใช้กฎหมาย แต่ก็ยังขืนรับโอนสิทธิดังกล่าวมา ก็ควรที่จะไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิเช่นเดียวกัน

5.กรณีราษฎรที่ได้ครอบครอง และทำประโยชน์ในที่ดินอยู่ก่อน หรือภายหลังการประกาศเป็นเขตป่าไม้ครั้งแรก แต่ได้มีการโอนสิทธิไปยังบุคคลอื่นหรือที่เปลี่ยนแปลงสภาพการใช้ประโยชน์ดังกล่าวแล้ว แม้หน่วยงานของรัฐจะได้บังคับให้เป็นไปตามกฎหมายโดยการยึดพื้นที่คืนแล้วก็ตาม ถ้าเป็นผู้ที่ได้กระทำการโดยสุจริต ก็ควรที่จะได้รับการผ่อนผันให้อยู่อาศัยและทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ต่อไปในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เช่น ระยะเวลา 15 ปี ในกรณีทั่วๆ ไป หรือ 10 ปี หรือน้อยกว่า ในกรณีที่เป็นพื้นที่ต้นน้ำ หรือพื้นที่ล่อแหลมต่อระบบนิเวศนั้น

ทั้ง 2 กรณีจะต้องอยู่ภายใต้ข้อกำหนดและเงื่อนไขไม่ให้ก่อสร้างเพิ่มเติม และให้ปลูกต้นไม้ รวมทั้งปลูกป่าให้เต็มพื้นที่ตามที่หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่เห็นสมควรกำหนด และไม่ให้มีการกระทำในลักษณะที่เป็นการคุกคามต่อระบบนิเวศ หากฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดและเงื่อนไข ก็จะต้องให้ออกไปจากพื้นที่ทันที เนื่องจากปัจจุบัน หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบยังมีงบประมาณไม่เพียงพอที่จะทำการฟื้นฟูรักษาป่า อีกทั้งอัตรากำลังบุคลากรไม่เพียงพอที่จะเข้าไปดำเนินการคุ้มครองป้องกัน และดูแลรักษาสภาพป่าไว้ได้อย่างทั่วถึง ซึ่งอาจทำให้มีผู้บุกรุกพื้นที่ป่ารายใหม่เพิ่มเติมอย่างไม่มีที่สิ้นสุด จึงควรให้มีการแก้ไขปัญหาโดยวิธีที่เสนอดังกล่าวข้างต้นนี้ เพื่อให้ได้ประโยชน์ด้วยกัน ทั้งฝ่ายรัฐและประชาชน ซึ่งจะเป็นกรณีที่ทำให้รัฐได้พื้นที่ป่าไม้ หรือพื้นที่ที่มีต้นไม้ยืนต้นเพิ่มขึ้นอีกมาก ทั้งยังเป็นกุศโลบายในการฟื้นฟูป่าให้สมบูรณ์ขึ้นได้โดยวิธีการที่ประหยัดทั้งงบประมาณ และบุคลากรภาครัฐ

นายศรีราชา กล่าวด้วยว่า ก่อนหน้านี้ ตนเองได้มีการพูดคุยทั้งกับอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และอธิบดีกรมอุทยานฯ เพื่อให้ชะลอการดำเนินการกับผู้บุกรุกไว้ก่อนเนื่องจากคณะรัฐมนตรีกำลังจะมีการพิจารณาข้อเสนอของผู้ตรวจการแผ่นดินในเร็วๆ นี้ และมีมติที่ชัดเจน ซึ่งก็ได้รับการตอบรับที่ดี อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาการบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติ และที่ดินของรัฐประเภทอื่นๆ ซึ่งในปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวของประเทศถูกบุกรุกเป็นจำนวนมาก หากจะใช้แนวทางดังกล่าวมาแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของราษฎรและการดำเนินการของรัฐที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับกรณีพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติและอุทยานแห่งชาติในเขตท้องที่ อ.วังน้ำเขียว เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ราษฎร และเป็นการแก้ไขปัญหาเป็นไปในทิศทางเดียวกันอย่างเป็นรูปธรรม จึงขอให้รัฐบาลพิจารณานำหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขดังกล่าวข้างต้นไปใช้เป็นต้นแบบในการดำเนินการสำหรับที่ดินของรัฐอื่นๆ เพื่อให้ประชาชนได้รับการเยียวยาที่เป็นธรรม และป่าไม้ก็จะได้รับการฟื้นฟูให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นโดยเร็ว อันจะเป็นผลดีต่อระบบนิเวศ และสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยในอนาคตด้วย
ผู้ตรวจฯแนะ"ปู"แก้วังน้ำเขียว ชะลอไล่ริ้อผู้บุกรุก-พิสูจน์สิทธิ
ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอนายกฯแก้ปัญหารุกป่าวังน้ำเขียว เผยจนท.ละเลยการปฏิบัติ นโยบายหน่วยงานไม่สอดคล้อง แนะวิธีแก้ 3 หน่วยงาน เร่งปรับปรุงรูปแผนที่ ให้ก.ทรัพย์ฯ นำนโยบายการปรับปรุงเขตพื้นที่ป่าไม้ กลับมาดำเนินการ เพื่อใช้แก้ไขปัญหาแนวเขตระหว่างที่ดินของรัฐ และที่ดินเอกชน ชะลอการไล่ รื้อถอนผู้บุกรุก ก่อนเร่งพิสูจน์สิทธิการถือครอง ชี้หากพบถือครองก่อนประมวล กม.ที่ดิน พ.ศ.2497 บังคับใช้ ต้องได้เอกสารสิทธิ์ แต่ถ้าแผ้วถางป่า หวังได้ที่ดิน ต้องดำเนินการตามกฎหมาย พร้อมเสนอหากกระทำโดยสุจริต ควรได้รับผ่อนผันให้ใช้ประโยชน์ในที่ดิน โดยมีกำหนดเวลา ภายใต้เงื่อนไขต้องปลูกป่า
กำลังโหลดความคิดเห็น