xs
xsm
sm
md
lg

ปราบปรามคนอยู่กับป่า ไม่เว้นชุมชนดั้งเดิม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพ-เหตุการณ์ล่าสุดซึ่งเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติฯ ได้ทำลายสะพาน ซึ่งเป็นเส้นทางเชื่อมต่อโลกภายนอกของชาวบ้านกลุ่มหนึ่งใน จ.ตรัง ที่กำลังมีปัญหาระหว่างโฉนดชุมชนกับป่าอนุรักษ์
บัณฑิตา อย่างดี

สืบเนื่องจากในขณะนี้ มีการปราบปรามคนอยู่กับป่ารุนแรงขึ้นมาก โดยไม่แยกแยะพิจารณาว่าเป็นชุมชนดั้งเดิม ข่าวจากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 12 มี.ค. ระบุว่า นายดำรงค์ พิเดช อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ตนได้มอบนโยบาย และสั่งการให้ผู้บริหารและหน่วยงานภาคสนาม เช่น หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า หัวหน้าเขตห้ามล่า หน่วยงานโครงการในพระราชดำริ หน่วยจัดการต้นน้ำ ในพื้นที่ภาคใต้ ตั้งแต่ จ.ชุมพร ลงไป ถึง จ.สงขลา ให้เร่งสำรวจพื้นที่ป่าในความรับผิดชอบของกรมอุทยานฯ ว่าแต่ละพื้นที่มีการบุกรุก เพื่อปลูกยางพารา และปาล์มพื้นที่ละเท่าไหร่ โดยให้เร่งสำรวจจัดทำพิกัดแผนที่ และรายงานมาที่ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่ และรวบรวมข้อมูลส่งมาที่กรมอุทยานฯ โดยด่วน

นายดำรงค์ กล่าวว่า จากนี้ไป กรมอุทยานฯ จะให้เร่งจับกุมผู้ที่บุกรุกป่าอนุรักษ์ในภาคใต้ เพื่อปลูกยางพารา และสวนปาล์ม จะจับกุมดำเนินการในลักษณะเดียวกับการจับกุมผู้บุกรุกอุทยานแห่งชาติทับลาน อ.วังน้ำเขียว และ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี โดยจะระดมเจ้าหน้าที่หน่วยเคลื่อนที่เร็วจากทั่วประเทศ เข้าไปดำเนินการในลักษณะเดียวกันกับที่ดำเนินการที่วังน้ำเขียว จะไม่ปล่อยให้เจ้าที่ในพื้นที่โดดเดี่ยว

“การบุกรุกป่าในภาคใต้เป็นต้นเหตุปัญหาสำคัญที่ทำให้เกิดภัยพิบัติน้ำป่า ดินถล่ม โดยเฉพาะใน จ.สงขลา มีการบุกรุกเพื่อปลูกยางกว่า 2 แสนไร่ และนครศรีธรรมราชกว่า 5 แสนไร่ และจะค่อยๆ ไล่ลงไปตั้งแต่ชุมพร ไปถึงสงขลา ยกเว้น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เป็นพื้นที่ความมั่นคงให้ฝ่ายทหารดูแล” นายดำรง กล่าว

ทั้งนี้ เป็นเพราะรัฐบาลยังไม่มีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนเกี่ยวกับการสร้างความเป็นธรรม และลดความเหลื่อมล้ำในการใช้ประโยชน์ที่ดิน และทรัพยากรธรรมชาติ แม้จะมีการแถลงไว้กับรัฐสภา มิหนำซ้ำ เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2555 โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้แถลงว่านายกรัฐมนตรีได้กล่าวต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ว่า

“กรณีโฉนดชุมชนมีการดำเนินการผิดพลาด โดยพบว่า มีการนำไปซื้อขายแลกเปลี่ยนเอาไปทำโครงการขนาดใหญ่ ที่พบมากแถบจังหวัดภาคใต้ ที่มีการเอาไปทำสวนยาง”

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชได้ฉกฉวยโอกาสในช่วงเวลาปัจจุบัน ปราบปรามชุมชนท้องถิ่นที่อยู่อาศัยในเขตป่าทั่วประเทศ โดยไม่ได้แยกแยะ พิจารณาถึงข้อเท็จจริง ว่าชุมชนเหล่านั้น อยู่อาศัย และทำกินมาก่อนการประกาศเขตป่าหรือไม่ ในส่วนภาคใต้ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ตั้งเป้าหมายจับกุม และรื้อถอนสวนยางพื้นที่หลายแสนไร่ให้แล้วเสร็จอย่างเร่งด่วน โดยระดมเจ้าหน้าที่หน่วยเคลื่อนที่เร็วจากทั่วประเทศ รวมทั้งสนธิกำลังทหาร ตชด. ฝ่ายปกครอง ร่วมกันดำเนินการ

กรณีจังหวัดตรัง เจ้าหน้าที่ได้เริ่มปฏิบัติการปราบปรามแล้ว โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2555 นายสุรเชษฐ์ วันดีเรืองไพศาล หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัด ได้จับกุมชาวบ้านในพื้นที่นำร่องโฉนดชุมชนบ้านตระ ม.2 ต.ปะเหลียน อ.ปะเหลียน จ.ตรัง 2 ราย ในขณะที่นำหมากแห้งออกไปจำหน่าย แต่ตำรวจไม่รับแจ้ง ความเนื่องจากเห็นว่าเป็นวิถีชีวิตปกติของชาวบ้าน

ต่อมาวันที่ 30 มีนาคม 2555 นายสมชัย แสงแก้ว หัวหน้าเขตอุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า ได้นำกำลังเจ้าหน้าที่ป่าไม้จำนวน 50 นาย เข้าไปตัดฟันสวนยางของชาวบ้านจำนวน 3 ราย ซึ่งเป็นเกษตรกรรายย่อยที่มีที่ดินถือครองเพียง 4 ไร่ ในพื้นที่นำร่องโฉนดชุมชนบ้านทับเขือ-ปลักหมู ม.1 ต.ช่อง อ.นาโยง จ.ตรัง ทั้งที่พื้นที่โฉนดชุมชนบ้านตระ และบ้านทับเขือ-ปลักหมู ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน (ปจช.) แล้วว่ามีคุณสมบัติครบถ้วน สามารถบริหารจัดการที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชนร่วมกับหน่วยงานภาครัฐได้

ต่อมา เมื่อเวลาประมาณ 09.30 น. วันที่ 6 เมษายน 2555 นายเกรียงศักดิ์ ดีกล่อม หัวหน้าหน่วยปากแจ่ม อุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า ได้นำกำลังเจ้าหน้าที่ป่าไม้ 30 คน และตำรวจตระเวนชายแดน 5 คน พร้อมด้วยเครื่องเลื่อย 2 เครื่อง และอาวุธปืนเอชเค เข้าไปรื้อถอนสะพานเข้าบ้านหาดสูง ม.5 ต.เขาปูน อ.ห้วยยอด และ ม.7 ต.น้ำผุด อ.เมือง จ.ตรัง จำนวน 2 สะพาน ขนาดความกว้างประมาณ 1 เมตร ยาวประมาณ 13 เมตร

นางอำนวย สังข์ช่วย ชาวบ้านหาดสูง สมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด กล่าวว่า บ้านหาดสูงก่อตั้งชุมชนมาก่อน พ.ศ.2500 หลังจากนั้น มีการสัมปทานป่าไม้ในปี พ.ศ.2503 และการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า ทับซ้อนพื้นที่ชุมชนในปี พ.ศ.2525 ชาวบ้านทำสวนยางมานานแล้ว ไม่ได้บุกรุกป่า ต่อมา ประมาณต้นปี 2555 ได้ยื่นเรื่องขอจัดทำโฉนดชุมชนไปยังสำนักงานโฉนดชุมชน สำนักนายกรัฐมนตรี ปัจจุบัน อยู่ระหว่างการดำเนินการสำรวจ และตรวจสอบพื้นที่

นางอำนวย กล่าวต่อไปว่า ประมาณเดือนธันวาคม 2555 หัวหน้าอุทยานฯ ได้มีคำสั่งรื้อถอนสะพานบ้านหาดสูง ทางองค์กรชุมชนบ้านหาดสูง และเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด ได้รายงานต่อสำนักงานโฉนดชุมชน ต่อมา สำนักงานโฉนดชุมชนได้มีหนังสือถึงกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ชะลอการรื้อถอนสะพานดังกล่าว และตรวจสอบข้อเท็จจริงตามอำนาจหน้าที่ และตามนัยระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ.2553 ตลอดจนส่งข้อมูลกลับมาที่สำนักงานโฉนดชุมชนภายในวันที่ 10 เม.ย. แต่เจ้าหน้าที่ป่าไม้ก็ไม่ได้ปฏิบัติตาม
แฟ้มภาพเหตุการณ์เดียวกันเกิดขึ้นที่ จ.ตรัง
กำลังโหลดความคิดเห็น