ยกฟ้องเอเอสทีวี ผู้จัดการรายวัน หมิ่น “ดำรงค์ พิเดช” ตีพิมพ์รายงานพิเศษกรณีการบุกรุกพื้นที่ป่า ทำให้เสียชื่อเสียง ศาลชี้เป็นการเสนอรายงานข่าวประเด็นสาธารณะมีความสำคัญต่อประเทศ เป็นการตั้งข้อสงสัยพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงเป็นบุคคลที่ประชาชนและสื่อให้ความสนใจว่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการบุกรุกป่าหรือไม่เท่านั้น หาใช่เป็นเรื่องที่สร้างเรื่องราวขึ้นมาเอง แต่เป็นการแสดงความคิดเห็น ติชม และวิพากษ์วิจารณ์เป็นวิสัยของประชาชนย่อมทำได้
วันนี้ (30 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวันที่ 27 มี.ค.ที่ผ่านมา ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก อ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ อ.4607/2552 ที่ นายดำรงค์ พิเดช อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อดีตรองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นโจทก์ฟ้องบริษัทเอเอสทีวี ผู้จัดการ จำกัด และนายตุลย์ ศิริกุลพิพัฒน์ บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา บริษัทเอเอสทีวี ผู้จัดการ จำกัด เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา และเรียกค่าสินไหมทดแทนความเสียหาย จำนวน 50 ล้านบาท เหตุเกิดที่แขวงจอมพล เขตจตุจักร กทม. ตำบลหรือแขวง อำเภอหรือเขต ทุกจังหวัดทั่วประเทศไทย ซึ่งจำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
คดีนี้โจทก์ฟ้องสรุปว่า โจทก์รับราชการปี 2520 จนถึงปัจจุบัน เคยดำรงตำแหน่ง ป่าไม้จังหวัดเชียงราย อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ และรองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและส่งแวดล้อม โจทก์มีชื่อเล่นว่า “เอี้ยง” บุคคลที่ใกล้ชิด สนิมสนมรู้จักกับโจทก์หรือผู้ใต้บังคับบัญชามักจะเรียกขานโจทก์ว่า “หัวหน้าเอี้ยง” จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันเขียนโฆษณาและอนุมัติให้ตีพิมพ์ข้อความลงในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการรายวัน หมิ่นประมาทใส่ความโจทก์ต่อประชาชนทั่วไป โดยจัดทำเป็นรายงานข่าวกรณีพิเศษ มีความยาว 3 ตอนจบ และตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2552 โดยตอนแรก ใช้ข้อความหัวข่าวว่า “เปิดกลโกงขบวนการฮุบป่าเชียงราย ส่วนหัวหน้าเอี้ยงใช้เล่ห์สวมคนตายเป่าคดี” และพิมพ์ใจความข่าวว่า “คดีรุกป่าเชียงรายทั้งกรณีบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนป่าแม่สลอง และบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติที่กิ่วทัพยั้ง ที่ทำกันเป็นขบวนการ เคยฮือฮามาก่อนแล้วก็เงียบหายไปเป็นระยะไปตามยุคของผู้มีอำนาจได้กลับมาเป็นข่าวใหญ่อีกครั้งหนึ่ง
โดยรอบนี้คณะกรรมการสืบสวนหาข้อเท็จจริงของกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 ลงพื้นที่รื้อคดีและพลิกคดีขึ้นมาใหม่มีความคืบหน้าถึงขั้นใกล้จะแจ้งความเอาผิดกับขบวนการที่มีเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้อง รายงานเรื่อง “เปิดกลโกงขบวนการฮุบป่าเชียงราย” จะนำมาเสนอถึงเล่ห์กลนานัปการของการใช้อำนาจเพื่อฮุบทรัพยากรป่าไม้ของชาติ ไม่ว่าจะเป็นการโยกย้ายผู้ทำคดีระหว่างที่ตนมีอำนาจ การร่วมมือกันปลอมเอกสารราชการ การใช้อำนาจอนุมัติเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้เอกชน รวมไปถึงกรณีเอาคนตายมาสวมเพื่อทำให้คดีตกไป คณะกรรมการสืบสวนหาข้อเท็จจริงตามคำสั่งของผู้บัญชาการตำรวจภูธร ภาค 5 กรณีบุกรุกพื้นที่สวนป่าต้นน้ำแม่สลอง และป่าสงวนแห่งชาติที่กิ่วทัพยั้ง อันเป็นคดีครึกโครมที่เคยมีการสอบสวนเพื่อเอาผิดมายาวนานก่อนหน้านี้ แต่ทว่ามักจะมีเหตุทำให้เรื่องราวหยุดชะงักไป ในรอบนี้คณะทำงานมีความคืบหน้าถึงขั้นเตรียมจะกล่าวโทษดำเนินคดีต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีเจ้าหน้าที่รัฐรวมอยู่ด้วยหลายราย สำหรับกรณีบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ “แม่ข้าวต้ม-ห้วยลึก” (สวนป่ากิ่วทัพยั้ง) อ.เมือง จ.เชียงราย มีการเสนอให้ดำเนินคดีแก่ผู้เกี่ยวข้อง 3 ราย ที่น่าสนใจมาก หนึ่งในนั้นยังรับราชการในตำแหน่งรองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นามว่า นายดำรงค์ พิเดช เคยโด่งดังมากในยุครัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
เนื่องจากเป็นอธิบดีกรมอุทยานฯ ที่เป็นมือไม้ใกล้ชิดกับนายยงยุทธ ติยะไพรัช อดีตรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ เป็นข่าวใหญ่ เนื่องจากทันทีที่รับตำแหน่งก็ใช้อำนาจโยกย้ายข้าราชการระดับสูงในกรมแบบล้างบาง ดึงคนใกล้ชิดตัวเองเข้ารับตำแหน่งสำคัญแบบเติบโตก้าวกระโดด พื้นที่ตรวจสอบที่คณะกรรมการสืบสวนเชื่อว่าบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติแปลงหนึ่ง พื้นที่ประมาณ 49 ไร่ ซึ่งเดิมที่ตรวจสอบพบรอบแรกแปลงสภาพเป็นสวนลิ้นจี่ เป็นที่ดินซึ่งชาวบ้านหมู่บ้านแม่ข้าวต้น เรียกขานว่า “สวนหัวหน้าเอี้ยง” ซึ่งช่างบังเอิญอย่างร้ายกาจที่นายดำรงค์ พิเดช รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ก็มีชื่อเล่นว่า “เอี้ยง” พ้องกัน นายดำรงค์ พิเดช เคยเป็นป่าไม้จังหวัดเชียงราย และป่าไม้เขตเชียงราย รับราชการในพื้นที่มายาวนานก่อนจะกระโดดขึ้นเติบโตในกรุงเทพฯ ในยุคที่ส.ส.จากเชียงรายเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวง
ช่างน่าประหลาดใจที่ระหว่างนายดำรงค์ พิเดช ดำรงตำแหน่งใหญ่นั้นคดีนี้เงียบหายไประยะหนึ่ง เจ้าหน้าที่เชื่อว่า “สวนนายเอี้ยง” ที่รุกป่าสงวนแห่งชาติน่าจะเกี่ยวข้องกับผู้มีอำนาจในกรมป่าไม้ (เดิม) และในกรมอุทยานฯ เพราะจากการลงพื้นที่สอบปากคำชาวบ้านหลายปาก สอดคล้องกัน เช่น นาง ค. (สงวนนามสกุลจริง) บอกว่าเพื่อนบ้าน ซื่อ ส. (ขอสงวนนามสกุลจริง) เคยชักชวนให้รับจ้างในที่ดินของนายเอี้ยงที่กำลังปลูกสวนลิ้นจี่ ชาวบ้านคนนี้บอกว่าแปลกใจที่นายเอี้ยงครอบครองที่เขตป่าไม้ได้ แต่ชาวบ้านครอบครองไม่ได้ ขณะที่ (นาย ก.ขอสงวนนามสกุลจริง) ให้การว่า ทราบว่าที่ตรงนี้เป็นป่าสงวนแห่งชาติมีป้ายปักไว้ชัดเจน โดยเจ้าหน้าที่ปลูกไม้พะยุงไว้จำนวนมากต่อจากนั้น ที่ป่าสงวนก็กลายเป็นสวนลิ้นจี่ และยังปลูกบ้านพักขึ้น 3 หลัง ชาวบ้านอีกคนหนึ่งยังเล่าว่า ตนเคยขุดสระในไถเกรดที่ดินปรากฎมีหัวหน้าป่าไม้ชื่อนายเอี้ยง มาห้ามบอกว่าเป็นเขตป่าสงวน บางคนยืนยันว่า พบเห็นรถกระบะติดตราป่าไม้เข้าออกในที่ดินดังกล่าวเสมอ ป่าสงวนแห่งชาติแม่ข้าวต้ม-ห้วยลึก ถูกกันออกมาเป็นสวนป่า เมื่อ พ.ศ. 2547
และเรื่องราวของแฟ้มคดีนี้เริ่มต้นปี พ.ศ. 2547 เมื่อมีเจ้าหน้าที่ป่าไม้ชื่อ ทนงศักดิ์ ธรรมโม หัวหน้าสวนป่ากิ่วทัพยั้ง ออกตรวจสอบแนวเขตป่าและพบว่ามีการบุกรุกที่ป่าสงวน มีการก่อสร้างบ้านพัก 4 หลัง สระน้ำขนาดใหญ่ 1 ลูก จึงเข้าไปตรวจยึดและร้องทุกข์ดำเนินคดีที่สถานีตำรวจภูธรเมือง จังหวัดเชียงราย ในเวลานั้น นายดำรงค์ พิเดช พ้นจากตำแหน่งป่าไม้เขตในพื้นที่ เป็นผู้อำนวยการอยู่ที่กรมป่าไม้ในกรุงเทพฯ เรื่องราวยอกย้อนซ่อนเงื่อนใช้ทั้งอำนาจและเล่ห์กลก็เรื่องจากตอนนั้นโดยทันที ที่นายดำรงค์ พิเดช ขึ้นเป็นอธิบดีกรมอุทยานฯ เมื่อปี 2548 ก็มีการโยกย้ายข้าราชการแผงใหญ่ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือตอนบนและคดีนี้ก็เงียบหายไป
จนกระทั่งเมื่อปี 2550 อำนาจเปลี่ยนอีกครั้ง กรมป่าไม้รื้อคดีนี้ขึ้นมา โดยตั้งให้นายสุนทร วัชรกุลดิลก เจ้าหน้าที่บริหารงานป่า 7 (ในขณะนั้น) เป็นกรรมการสอบสวนข้อเท็จริง แต่ก็นั่นเองรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้รับการขนานนามว่าขิงแก่ เป็นยุคที่ถูกวิจารย์ว่าข้าราชการไม่ให้ความร่วมมือและใส่เกียร์ว่างเพื่อรออำนาจที่แท้จริงกลับคืนมา จึงดูเหมือนว่าจะไม่ได้รับความร่วมมือจากข้าราชการอย่างจริงจังมากนัก นายสุนทร วัชรกุลดิลก ที่ได้รับแต่งตั้งมีบทบาทสูงมาก ในช่วงปี 2548-2549 เช่น เคยนำกำลังป่าไม้เข้าตรวจสอบและศูนย์ปฏิบัติธรรมที่ตำบลนางแล อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย นำผู้สื่อข่าวไปตรวจอ้างว่าเป็นที่ดินของนายสนธิ ลิ้มทองกุล และอาจจะมีไม้สักจากที่ข้างเคียงไปปลูกสร้าง แต่ปรากฎว่าแท้จริงเป็นที่ดิน ส.ป.ก.ซึ่งมีชื่อผู้อื่นเป็นเจ้าของ แต่ในเวลานั้นข่าวที่ออกมาเหมือนกันว่า นายสนธิ ลิ้มทองกุล เป็นผู้ลักลอบตัดไม้สักและรุกล้ำที่ป่าไปแล้ว
ขณะที่ผลการสอบสวนของนายสุนทร วัชรกุลดิลก กลับออกมาเป็นหน้ามือ-หลังมือจากที่หัวหน้าสวนกิ่วทัพยั้งสอบ เพราะบอกว่าเป็นที่เอกสารสิทธิและอยู่นอกเขตป่าสงวนฯ จำนวน 38 ไร่ เจ้าของชื่อนายเป็ง คำวัง ส่วนอีก 9 ไร่ ที่เหลือบุกรุกป่าสงวนจริง คณะกรรมการชุดนี้ระบุว่า คนที่ครอบครองที่ดิน 9 ไร่ ที่รุกป่าสงวนฯ (แต่เป็นสวนลิ้นจี่ที่ชาวบ้านเรียกว่าสวนนายเอี้ยง) ชื่อนายคำรณ คำมูล และที่สุดคดีสวนนายเอี้ยง จำนวน 49 ไร่ บุกรุกป่าสงวนก็จบลงแบบห้วนๆ เพราะเมื่อเรื่องขึ้นไปถึงชั้นอัยการ ก็มีคำสั่งให้ยุติดำเนินคดี เพราะผู้ต้องหาบุกรุกป่าสงวนชื่อว่า คำรณ คำมูล นั้นเสียชีวิตไปนานแล้ว สวนนายเอี้ยงจึงกลับสู่ความปกติสุข ยังคงเป็นสวนลิ้นจี่ที่กว้างขวางท่ามกลางป่าสงวนฯมาตั้งแต่ปี 2550 หลังจากรัฐบาลสุรยุทธ์ หมดอำนาจลง
อย่างไรก็ตาม เทคนิคการตั้งคณะกรรมการสอบโดยจับคนที่เสียชีวิตตั้งแต่ปี 2550 มาอุปโลกน์เป็นผู้บุกรุกเขตป่าในครั้งนั้นกลับกลายมาเป็นหอกสนองกลับผู้เกี่ยวข้อง เพราะคณะกรรมการสืบสวนของตำรวจภูธรภาค 5 ได้รื้อประเด็นและพบปมกระทำผิดใหม่ ความเปลี่ยนแปลงฉับพลันบังเกิดขึ้นที่สวนนายเอี้ยงอีกครั้ง ได้มีผู้นำรถไถมารื้อถอนต้นลิ้นจี่และปลูกต้นยูคาลิปตัสเต็มแปลง เพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่สวน ด้านหน้าติดป้ายขนาดใหญ่ อำพรางว่า “ห้ามเข้าที่ส่วนบุคคล เจ้าของสวนลุงเป็ง” พร้อมบอกเบอร์โทรศัพท์ แต่ชาวบ้านแม่ข้าวต้มก็ยังเรียกชื่อที่ดังกล่าวว่าสวนหัวหน้าเอี้ยง หรือสวนนายเอี้ยงเช่นเดิม การสืบสวนได้รับการยืนยันจากเจ้าหน้าที่ที่ดินว่า ไม่เคยมีการรังวัดแนวเขตหรือออกเอกสารสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวแต่อย่างใด ซึ่งขัดกับการสอบสวนของกรมป่าไม้เมื่อปี 2550 ที่ได้อุปโลกน์คนตายขึ้นมารับและยังอ้างว่าเป็นที่มีเอกสิทธิ์เป็นส่วนใหญ่ คณะกรรมการของตำรวจภูธรภาค 5 เสนอให้แจ้งความดำเนินคดีเอาผิดกับผู้เกี่ยวข้อง 3 ราย ดังนี้ 1. นายดำรงค์ พิเดช อดีตป่าไม้จังหวัดเชียงราย และรองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ 2.นายเป็ง คำวัง ผู้แจ้งกับสาธารณะว่าเป็นเจ้าของที่ดินมีเอกสารสิทธ์ 3 .เจ้าหน้าที่ออกใบเสร็จรับเงินภาษีบำรุงท้องที่ และใบเสร็จรับเงินกรมที่ดิน โดยอยู่ระหว่างการดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย” นอกจากนี้ รายงานพิเศษ ตอนที่ 2 หัวข้อข่าว “เปิดกลโกงขบวนการฮุบป่าเชียงราย (ตอนที่ 2) เล่ห์ป่าไม้-ที่ดินร่วมเอกชนฮุบสวนป่าราชการ” และตอนที่ 3 หัวข้อข่าว “เปิดกลโกงขบวนการฮุบป่าเชียงราย (จบ) เดิมพันสูงคดีมีตอ” ก็ยังมีข้อความหมิ่นประมาทโจทก์ต่อประชาชนทั่วไป เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นและถูกเกลียดชัง
คดีในส่วนอาญามีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ พยานโจทก์คงมีเพียงโจทก์อ้างตนเป็นพยานเบิกความยืนยันว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันเขียนโฆษณาและอนุมัติให้ตีพิมพ์ข้อความอันเป็นการหมิ่นประมาทใส่ความโจทก์ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการรายวัน เห็นว่าการตีพิมพ์รายงานข่าวดังกล่าว ในหนังสือพิมพ์ของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 ยินยอมให้มีการตีพิมพ์รายงานข่าวดังกล่าว และได้รับประโยชน์ตอบแทนเป็นเงินจากการจำหน่ายหนังสือพิมพ์ซึ่งมีการตีพิมพ์รายงานข่าวดังกล่าว จึงเป็นการกระทำของจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2 ได้ความจากพยานโจทก์เพียงว่าเป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณาของหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการรายวันเท่านั้น ไม่ปรากฎว่าจำเลยที่ 2 มีส่วนร่วมในการเขียนรายงานข่าว ทั้งยังได้ความจากจำเลยที่ 2 ว่าหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการรายวันจะมีบรรณาธิการข่าวหลายคนดูแลข่าวส่วนต่างๆ เช่น บรรณาธิการข่าวอาชญากรรม บรรณาธิการข่าวการเมือง บรรณาธิการข่าวเศรษฐกิจ เป็นต้น บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณาไม่สามารถเข้าไปก้าวก่ายการทำงานได้ เว้นแต่จะมีการร้องเรียนในกรณีที่มีการลงข่าวคลาดเคลื่อน เพื่อให้ดำเนินการแก้ข่าวและบรรเทาความเดือดร้อนเท่านั้นและโจทก์ไม่เคยติดต่อให้จำเลยที่ 2 แก้ไขข่าวแต่อย่างใด จึงเห็นว่า เมื่อไม่มีกฎหมายใดบัญญัติให้บรรณาธิการ เช่น ที่เคยบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. 2484 จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดจากการตีพิมพ์รายงานข่าว
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า ข้อความตามเอกสารดังกล่าว เป็นการใส่ความโจทก์โดยประการที่น่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังหรือไม่ เมื่ออ่านข้อความตามเอกสารดังกล่าวทั้งหมดแล้ว เห็นว่าเป็นรายงานข่าวพิเศษเกี่ยวกับประเด็นการบุกรุกป่าในจังหวัดเชียงราย 2 แห่ง คือ ป่าสงวนแห่งชาติแม่ข้าวต้ม-ห้วยลึก (สวนป่ากิ่วทัพยั้ง)และสวนป่าต้นน้ำแม่สลอง กับประเด็นการโยกย้ายข้าราชการเมื่อปี 2548 ซึ่งโจทก์อ้างตนเองเป็นพยานเบิกความว่า การร่วมกันเสนอข่าวของจำเลยทั้งสอง ดังกล่าวไม่เป็นความจริง เพราะโจทก์ไม่เคยบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติแม่ข้าวต้ม-ห้วยลึก(สวนป่ากิ่วทัพยั้ง) มาทำเป็นสวนลิ้นจี่ ใช้ชื่อว่า “สวนนายเอี้ยง” เลย ความจริงแล้วสวนลิ้นจี่มีเอกสารสิทธิ โดยมีนายเป็ง วังคำ เป็นเจ้าของและครอบครอง ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) หนังสือสัญญาขายที่ดินและใบเสร็จรับเงิน ขณะดำรงตำแหน่งเป้นป่าไม้จังหวัดเชียงราย
โจทก์ไม่เคยอนุญาตให้บริษัทเอกชนนำโฉนดที่ดินมาขึ้นทะเบียนเป็นสวนป่าเอกชนเพื่อรับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล และไม่เคยอนุมัติให้บริษัทเอกชนตัดไม้ ผู้ออกหนังสือรับรองการขึ้นทะเบียนที่ดินสวนป่า คือนายพินิจ บังแดง และผู้ออกหนังสือรับรองการแจ้งตัดหรือโค่นไม้ที่ได้มาจากการทำสวนป่า คือ นายศักดิ์ชัย หงส์ทอง ปลัดอำเภอรักษาราชการแทนนายอำเภอแม่จัน ขณะโจทก์ดำรงตำแหน่งป่าไม้จังหวัดเชียงรายจะเกี่ยวข้องเฉพาะกรณีการขึ้นทะเบียนที่ดินเพื่อปลูกป่า ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายได้มอบหมายให้โจทก์ในฐานะป่าไม้จังหวัดเชียงรายเป็นผู้ลงนามแทน อันเป็นการปฏิบัติราชการตามปกติทั่วไป มิใช่เป็นอำนาจหน้าที่ของโจทก์โดยตรง ตามระเบียบกรมป่าไม้ว่าด้วยการขึ้นทะเบียนที่ดินเพื่อปลูกป่าตามโครงการส่งเสริมเกษตรกรปลูกป่า พ.ศ. 2536 และหนังสือรับรองการขึ้นทะเบียนที่ดินเพื่อปลูกป่าตามโครงการส่งเสริมเกษตรกรปลูกป่า
เกี่ยวกับเรื่องทุจริตออกโฉนดที่ดินหลายพันไร่ทับพื้นที่สวนป่าแปลงปลูกป่าหน่วยจัดการต้นน้ำแม่สลองนั้น มีการตั้งคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวและรายงานการสอบสวนข้อเท็จจริงโดยฝ่ายปฏิบัติการ กองอำนวยการร่วมป้องกันและปราบปรามการลักลอบทำลายทรัพยากรป่าไม้และควบคุมไฟป่าภาคเหนือ ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์เกี่ยวข้องหรือมีส่วนร่วมกับบริษัทเอกชนที่ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินออกโดยไม่ชอบแต่อย่างใด และโจทก์ก็มิได้เป็นกรรมการหรือผู้ถือหุ้นในบริษัทไฮแลนด์ รีสอร์ท จำกัดและบริษัทไพน์เลคฮิลล์ จำกัด ส่วนหนังสือราชการของกรมป่าไม้ที่ถูกปลอมขึ้นเพื่อนำไปประกอบการขอออกโฉนดที่ดินโจทก์ก็ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง
โจทก์ไม่เคยให้อำนาจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โยกย้ายข้าราชการระดับสูงโดยไม่เป็นธรรม เพื่อมิให้ทำการสืบสวนคดีบุกรุกป่า เพราะการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับ 6 เป็นระดับ 7 หรือ ระดับ 7 เป็นระดับ 8 จะมีคณะกรรมการเป็นผู้พิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายและเลื่อนตำแหน่ง การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการจากระดับ 8 เป็นระดับ 9 เป็นหน้าที่ของสำนักงานปลัดกระทรวง โดยปลัดกระทรวงเป็นผู้พิจารณา ไม่เกี่ยวกับกรมฯ ส่วนการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการจากระดับ 9 เป็นระดับ 10 นั้นหลังจากปลัดกระทรวงพิจารณาแล้วก็จะเสนอรัฐมนตรีเพื่อนำเข้าพิจารณาในคณะรัฐมนตรี โจทก์ซึ่งเป็นอธิบดีไม่เคยมีคำสั่งให้พยานโยกย้ายหรือเลื่อนขั้นตำแหน่งให้กับข้าราชการผู้ใดเป็นการเฉพาะเจาะจง ส่วนพยานจำเลยทั้งสอง มีจำเลยที่ 2 พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม นายบัณรส บัวคลี่ และนายพิสิษฐ์ เอี่ยวสะอาด เป็นพยาน ได้ความจาก พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม นายบัณรส และนายพิสิษฐ์ ทำนองเดียวกันว่า เกี่ยวกับการบุกรุกป่าในจังหวัดเชียงรายนั้น มีความเป็นมาตั้งแต่ปี 2547 เคยมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ต้องรายงานผลการสอบข้อเท็จจริงไปยังกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตามลำดับ แต่คดีไม่มีความคืบหน้า จนกระทั่งปี 2552 ตำรวจภูธรภาค 5 ได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาใหม่อีก 1 ชุด เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องซึ่งร่วมถึงโจทก์ ซึ่งในประเด็นนี้ ข้อเท็จจริงปรากฎจากบันทึกข้อความที่ พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 มีถึงผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงรายว่า ว่ามูลเหตุที่กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 มีคำสั่งที่ 146/252 ลงวันที่ 16 เมษายน 2552 แต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงทางอาญา กรณีมีผู้บุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ข้าวต้ม-ห้วยลึก “สวนป่ากิ่วทัพยั้ง” อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย และกรณีการทุจริตบุกรุกพื้นที่สวนป่าของรัฐ โดยออกโฉนดทับซ้อนกับพื้นที่สวนป่าของหน่วยจัดการต้นน้ำแม่สลอง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย
สืบเนื่องจากตำรวจภูธรภาค 5 ได้รับหนังสือของสำนักงานบริหารพื้นที่อนุรักษ์ ที่ 15 ที่ ท.ส.0925.1/618 ลงวันที่ 27 มีนาคม 2552 แจ้งว่ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้แจ้งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เร่งรัดให้สอบสวนกรณีการกระทำผิดดังกล่าว และปรากฎข้อเท็จจริงจากบันทึกข้อความ เรื่องรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงทางอาญา ลงวันที่ 17 กรกฎาคม 2552 ว่า สำหรับกรณีการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ข้าวต้ม-ห้วยลึก “สวนป่ากิ่วทัพยั้ง” คณะกรรมการสืบสวนหาข้อเท็จจริงชุดนี้ตรวจสอบข้อเท็จจริงจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และพบว่าโจทก์เป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติแม่ข้าวต้ม-ห้วยลึก “สวนป่ากิ่วทัพยั้ง” ส่วนกรณีการทุจริตบุกรุกพื้นที่ส่วนป่าของรัฐ โดยออกโฉนดทับซ้อนกับพื้นที่สวนป่าของหน่วยจัดการต้นน้ำแม่สลอง คณะกรรมการสืบสวนหาข้อเท็จจริงชุดนี้ตรวจสอบข้อเท็จจริงจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและปรากฎข้อเท็จจริงจากบันทึกข้อความ เรื่อง ขอให้ผู้สืบสวนข้อเท็จจริงกล่าวโทษดำเนินคดีต่อพนักงานสอบสวนท้องที่ ที่เกิดคดีทุจริตบุกรุกป่าสวนป่าของรัฐ ลงวันที่ 23 กันยายน 2556 ซึ่งผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย มีถึงผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 ว่า กรณีการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ข้าวต้ม-ห้วยลึก “สวนป่ากิ่วทัพยั้ง” คณะกรรมการฯ ดังกล่าวมีความเห็นให้ดำเนินคดีกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ได้แก่ โจทก์ นายเป็ง คำวัง และเจ้าหน้าที่ซึ่งออกใบเสร็จรับเงินภาษีบำรุงท้องที่และใบเสร็จรับเงินกรมที่ดิน
ส่วนกรณีการทุจริตบุกรุกพื้นที่สวนป่าของรัฐ โดยออกโฉนดทับซ้อนกับพื้นที่สวนป่าของหน่วยจัดการต้นน้ำแม่สลอง คณะกรรมการฯ มีความเห็นให้ดำเนินคดีกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง คือ บริษัทเอกชน 2 ราย ได้แก่ บริษัท ไฮแลนด์ รีสอร์ท จำกัด และบริษัทไพน์เลคฮิว จำกัด รวมทั้งเจ้าพนักงานที่ดินและเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ซึ่งรวมถึงโจทก์ ซึ่งต่อมาผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 มีคำสั่งให้ตำรวจภูธรจังหวัดเชียงรายประสานให้นายวรวิทย์ เชื้อสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 15 เป็นผู้มาแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษเพื่อดำเนินคดี ตามบันทึกข้อความ เรื่อง ขอให้ผู้สืบสวนข้อเท็จจริงกล่าวโทษดำเนินคดีต่อพนักงานสอบสวนท้องที่ที่เกิดเหตุทุจริตบุกรุกสวนป่ารัฐ ลงวันที่ 1 ตุลาคม 2552 แต่ปรากฎว่าเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2552 นายพิสิษฐ์ เอี่ยมสะอาด พยานจำเลยซึ่งเคยเป็นทนายความให้บริษัทแมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรเมืองเชียงราย และพนักานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรแม่จัน เกี่ยวกับกรณีบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติทั้งสองแห่งดังกล่าว มีเจ้าหน้าที่รัฐได้กระทำผิด จึงส่งคำร้องทุกข์และการสอบสวนเบื้องต้นไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
รายงานข่าวเกี่ยวกับประเด็นการบุกรุกป่าในจังหวัดเชียงรายและการที่คณะกรรมการสืบสวนของตำรวจภูธรภาค 5 เสนอให้แจ้งความเอาผิดกับผู้เกี่ยวข้องซึ่งรวมถึงโจทก์ที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการรายวัน จึงเป็นการอ้างอิงข้อมูลที่ปรากฎในเอกสารราชการ ดังกล่าวข้างต้น ที่โจทก์นำสืบว่า ไม่เคยถูกแจ้งความดำเนินคดีเกี่ยวกับกรณีบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาตินั้น ก็เป็นเพราะคณะพนักงานสอบสวนได้สอบสวนแล้วมีความเห็นว่า ทั้งสองคดีดังกล่าวมีเจ้าหน้าที่ของรัฐได้กระทำความผิด จึงส่งคำร้องทุกข์และการสอบสวนเบื้องต้นไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทั้งนี้ ยังปรากฏข้อเท็จจริง ว่าในชั้นพิจารณา เมื่อจำเลยทั้งสองขอหมายเรียกพยานเอกสารเกี่ยวกับคดีบุกรุกป่าทั้งสองคดี ดังกล่าวจาก ป.ป.ช.แต่ ป.ป.ช.แจ้งเหตุขัดข้องว่าไม่สามารถส่งเอกสารตามหมายเรียก ลงวันที่ 18 พฤศภาคม 2554 ซึ่งอยู่ในสำนวน ส่วนประเด็นการโยกย้ายข้าราชการเมื่อปี 2548 นั้น พยานจำเลยทั้งสอง คือ นายบัณรสเบิกความว่า เมื่อปี 2548 มีการโยกย้ายข้าราชการของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช ตามบัญชีรายชื่อให้ข้าราชการและลูกจ้างประจำไปปฏิบัติราชการ และนักข่าวได้พูดคุยกับหนึ่งในข้าราชการที่ถูกย้ายได้ความว่า สาเหตุที่ถูกย้าย เนื่องจากรู้เรื่องเกี่ยวกับการบุกรุกป่า นอกจากนี้ หนังสือพิมพ์ฉบับอื่นๆ ได้ตีพิมพ์ข่าวว่า มีการโยกย้ายล้างบางข้าราชการอุทยานฯ แม้คำเบิกความของนายบัณรส จะเป็นเพียงพยานบอกเล่า แต่ก็ปรากฎข้อเท็จจริงว่า ในปี 2548 หลังจากที่โจทก์เข้าดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีการโยกย้ายข้าราชการครั้งใหญ่ เมื่อพิจารณาประกอบกับความล่าช้าในการสอบสวนหาข้อเท็จจริง กรณีการบุกรุกป่าในจังหวัดเชียงรายทั้งสองแห่งดังกล่าว ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปี 2547
จึงเห็นว่า การที่หนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการรายวัน เสนอรายงานข่าวเกี่ยวกับประเด็นสาธารณะและมีความสำคัญต่อประเทศและเกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกัน เป็นการตั้งข้อสงสัยพฤติกรรมของโจทก์ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูง เป็นบุคคลที่ประชาชนและสื่อมวลชนให้ความสนใจว่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการบุกรุกป่าในจังหวัดเชียงรายหรือไม่เท่านั้น กรณีหาใช่เป็นเรื่องที่หนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการรายวัน สร้างเรื่องราวขึ้นมาเองไม่ มีรายงานข่าวตามเอกสาร จะมีข้อความเกี่ยวพันกับโจทก์ มีการพิมพ์ภาพถ่ายโจทก์และระบุชื่อ - นามสกุลของโจทก์อย่างชัดเจน อันอาจทำให้ประชาชนทั่วไปเชื่อและเข้าใจว่าโจทก์ได้กระทำการตามที่รายงานข่าวระบุไว้จริง และอาจทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชังก็ตาม แต่รายงานข่าวดังกล่าวก็เป็นการแสดงความคิดเห็น ติชม และวิพากษ์วิจารณ์ด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำได้ จำเลยที่ 1 จึงได้รับการยกเว้นความผิด ตามประมวลกฎหมยอาญา มาตรา 329 (3) กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นในส่วนคดีแพ่งอีก พิพากษายกฟ้องโจทก์