xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ตรวจฯแนะ"ปู"แก้วังน้ำเขียว ชะลอไล่ริ้อผู้บุกรุก-พิสูจน์สิทธิ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ ( 3 พ.ค.) นายศรีราชา เจริญพานิช ผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงว่า เมื่อวันที่ 27 เม.ย.ที่ผ่านมา ผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้มีหนังสือเสนอแนะความเห็นต่อกรณีปัญหาการครอบครองที่ดิน ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเขาภูหลวง (เขาแผงม้า) อุทยานแห่งชาติทับลาน และที่ดินส.ป.ก.ในพื้นที่ อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมาไปยังนายกรัฐมนตรี และประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยเห็นว่า เจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่รับผิดชอบ ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ นโยบายแต่ละหน่วยงานไม่สอดคล้อง เกิดความขัดแย้ง และแบ่งเป็น 2 ฝ่าย โดยฝ่ายปกครองและท้องถิ่นสนับสนุนพร้อมทั้งรับรองสิทธิการอยู่อาศัย และทำกินของราษฎร ส่งเสริมและกำหนดให้การท่องเที่ยวในเขต อ.วังน้ำเขียว เป็นยุทธศาสตร์ของอำเภอ ส่งผลให้มีการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว และการเกษตรเชิงนิเวศอย่างต่อเนื่อง
ส่วนกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รวมทั้งกรมป่าไม้ ไม่ได้ออกสำรวจตรวจสอบเพื่อบังคับใช้กฎหมายตามอำนาจหน้าที่อย่างจริงจัง และต่อเนื่อง แต่กลับปล่อยปละละเลยให้มีราษฎรเข้ายึดถือครอง และทำประโยชน์อยู่อาศัยทำกิน ทำการเกษตร ก่อสร้างที่พักอาศัย และใช้ประโยชน์ในที่ดินมาเป็นเวลานาน จนทำให้ราษฎรที่เปลี่ยนแปลงสภาพการใช้ประโยชน์ หรือราษฎรผู้รับโอนสิทธิการครอบครองต่อนั้น อาจเข้าใจ หรือเชื่อโดยสุจริตว่าสามารถกระทำการเช่นนั้นได้ อีกทั้งไม่ปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ตามที่ได้มีการรังวัดกันออกให้แล้วเสร็จตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 22 เม.ย.40 แต่กลับเร่งรัดดำเนินการตรวจยึด จับกุมดำเนินคดีกับราษฎรในพื้นที่ หากดำเนินการให้เรียบร้อย พื้นที่ดังกล่าวก็ไม่อยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน อีกต่อไป
สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหา ทางผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้เสนอว่า
1. กรณีปัญหาพื้นที่ทับซ้อนระหว่างเขตป่าสงวนแห่งชาติ กับเขตปฏิรูปที่ดิน และการปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ประสานงานเพื่อบูรณาการการปรับปรุงแก้ไข รูปแผนที่ที่อยู่ในความรับผิดชอบของแต่ละหน่วย ตามแนวทางดังกล่าวข้างต้น เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงกฎกระทรวง และพระราชกฤษฎีกา ที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดที่ดินของรัฐ ซึ่งจะเป็นการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน
2. กรณีปัญหาการกำหนดพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเขาภูหลวง เขตพื้นที่ป่า เพื่อการอนุรักษ์ (โซน C) บริเวณเขาแผงม้า ให้กรมป่าไม้ร่วมกับ จ.นครราชสีมา แต่งตั้งคณะทำงานประกอบด้วยภาครัฐ และภาคประชาชน เพื่อร่วมดำเนินการตรวจสอบแนวเขต และสภาพของพื้นที่ ที่ได้กำหนดให้เป็นป่าโซน C ว่าเป็นการกำหนดที่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ และสภาพความเป็นจริงหรือไม่ อย่างไร และดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
3. กรณีการปรับปรุงเขตพื้นที่ป่าไม้ (Reshape) ซึ่งผลการดำเนินการรังวัดปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน กรมป่าไม้ ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการฯ คณะทำงานมาโดยลำดับ ตั้งแต่ พ.ศ.2537 – พ.ศ.2543 สรุปผลการดำเนินการเป็นพื้นที่กันออก เนื้อที่ 273,310.22 ไร่ และพื้นที่ผนวก เนื้อที่ 110,172.95 ไร่ แต่การดำเนินการปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานยังไม่แล้วเสร็จ ดังนั้นให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพิจารณานำนโยบายการปรับปรุงเขตพื้นที่ป่าไม้ กลับมาดำเนินการให้แล้วเสร็จ เพื่อใช้แก้ไขปัญหาเรื่องแนวเขตระหว่างที่ดินของรัฐด้วยกัน และที่ดินของรัฐกับเอกชน ประชาชนให้เป็นรูปธรรมที่ถูกต้อง
4. เนื่องจากเจ้าหน้าที่ในสังกัดกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ตรวจสอบ และจะดำเนินการตรวจยึดจับกุมดำเนินคดีกับราษฎรที่ครอบครองทำประโยชน์อยู่ในพื้นที่ที่ได้มีการรังวัดกันออก เพื่อปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน หากกรมอุทยานฯได้ดำเนินการเพื่อปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานให้แล้วเสร็จ ตามมติครม. เมื่อวันที่ 22 เม.ย.40 แล้ว พื้นที่ดังกล่าว ก็จะไม่ได้อยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานอีกต่อไป
ดังนั้น เมื่อคำนึงถึงความเป็นธรรม และเพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎร ที่ได้รับผลกระทบ จึงสมควรให้กรมอุทยานฯ ชะลอ หรือระงับการตรวจยึดจับกุมดำเนินคดีกับราษฎรดังกล่าวไว้ก่อน เมื่อแก้ไขปัญหาเรื่องพื้นที่ทับซ้อน และการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแนวเขตดังกล่าวข้างต้นแล้วเสร็จ ราษฎรที่ครอบครองและทำประโยชน์อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวย่อมได้รับการคุ้มครองสิทธิในที่ดินตามควรแก่กรณีอยู่แล้ว
5 . กรณีผู้ได้รับหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.4-01) ได้เปลี่ยนแปลงสภาพการใช้ประโยชน์ ให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม นำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เพื่อกำหนดพื้นที่ในการปฏิรูปที่ดินให้สอดคล้องกับนโยบาย และยุทธศาสตร์ของ อ.วังน้ำเขียว เพื่อให้เกษตรกรที่ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ สามารถประกอบกิจการที่เป็นการบริการหรือเกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของเกษตรกรในด้านเศรษฐกิจและสังคม ได้ตามข้อ 1.5 ของประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดกิจการอื่นที่เป็นการสนับสนุนหรือเกี่ยวเนื่องกับการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ตามมาตรา 30 วรรคห้า พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 แก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2532 (ฉบับที่ 2)
ขณะที่การดำเนินการกับราษฎรที่ได้ครอบครอง และทำประโยชน์ในที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และอุทยานแห่งชาติ เห็นว่า การแก้ไขรัฐควรพิจารณาโดยอาศัยหลักเกณฑ์ 5 ข้อ คือ
1 . การพิสูจน์สิทธิการถือครองที่ดินของราษฎรในเขตป่าไม้นั้น หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบ เมื่อได้พิสูจน์สิทธิการถือครองดังกล่าว และได้ข้อยุติว่า ราษฎรได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินในพื้นที่ดังกล่าวอยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ คือก่อนวันที่ 1 ธ.ค. 2497 ราษฎรดังกล่าวนี้ ย่อมต้องได้รับสิทธิในที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน โดยหน่วยงานของรัฐ ที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปัญหาข้อขัดข้องในการดำเนินการออกหนังสือสำคัญแสดงสิทธิในที่ดินต่อไป
2. กรณีที่เป็นผู้บุกรุกเข้าแผ้วถางพื้นที่ป่าไม้โดยเจตนาชัดแจ้ง ภายหลังที่มีมติครม. เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 41 ถือว่าเป็นผู้เข้าครอบครองที่ดินในเขตป่าไม้โดยไม่สุจริต การบังคับใช้กฎหมายแก่บุคคลดังกล่าว รัฐควรต้องดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่อง และต้องดำเนินการทางด้านกฎหมายแก่ผู้บุกรุกโดยเฉียบขาด โดยจะไม่มีการพิจารณาให้สิทธิใดๆ แก่บุคคลดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อพ.ร.บ.ป่าไม้ 2484 พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ 2504 พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ 2507 หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
3. กรณีที่เป็นผู้รับโอนสิทธิจากผู้บุกรุกตาม ข้อ 2 โดยเป็นผู้ที่รู้เห็นเป็นใจ หรือ จ้างวาน หรือส่งเสริม ให้มีการบุกรุก เพื่อที่จะรับโอนสิทธินั้นมาเป็นของตน ต้องถือว่าบุคคลดังกล่าวเป็นผู้ไม่สุจริต ดังนั้นรัฐต้องดำเนินการทางกฎหมายโดยเฉียบขาดเช่นเดียวกัน
4 .กรณีที่เป็นผู้รับโอนสิทธิมาโดยไม่สุจริต เช่น รู้อยู่แล้วว่าเป็นพื้นที่ป่าไม้ หรืออยู่ระหว่างรัฐบังคับใช้กฎหมาย แต่ก็ยังขืนรับโอนสิทธิดังกล่าวมา ก็ควรที่จะไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิเช่นเดียวกัน
5. กรณีราษฎรที่ได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินอยู่ก่อน หรือภายหลังการประกาศเป็นเขตป่าไม้ครั้งแรก แต่ได้มีการโอนสิทธิไปยังบุคคลอื่นหรือที่เปลี่ยนแปลงสภาพการใช้ประโยชน์ดังกล่าวแล้ว แม้หน่วยงานของรัฐจะได้บังคับให้เป็นไปตามกฎหมายโดยการยึดพื้นที่คืนแล้วก็ตาม ถ้าเป็นผู้ที่ได้กระทำการโดยสุจริต ก็ควรที่จะได้รับการผ่อนผันให้อยู่อาศัยและทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ต่อไปในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เช่น ระยะเวลา 15 ปี ในกรณีทั่วๆ ไป หรือ 10 ปี หรือน้อยกว่า ในกรณีที่เป็นพื้นที่ต้นน้ำหรือพื้นที่ล่อแหลมต่อระบบนิเวศนั้น ทั้ง 2 กรณี จะต้องอยู่ภายใต้ข้อกำหนดและเงื่อนไขไม่ให้ก่อสร้างเพิ่มเติม และให้ปลูกต้นไม้ รวมทั้งปลูกป่าให้เต็มพื้นที่ตามที่หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่เห็นสมควรกำหนด และไม่ให้มีการกระทำในลักษณะที่เป็นการคุกคามต่อระบบนิเวศ หากฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดและเงื่อนไข ก็จะต้องให้ออกไปจากพื้นที่ทันที เนื่องจากปัจจุบันหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบยังมีงบประมาณไม่เพียงพอที่จะทำการฟื้นฟูรักษาป่า อีกทั้งอัตรากำลังบุคลากรไม่เพียงพอที่จะเข้าไปดำเนินการคุ้มครองป้องกันและดูแลรักษาสภาพป่าไว้ได้อย่างทั่วถึง ซึ่งอาจทำให้มีผู้บุกรุกพื้นที่ป่ารายใหม่เพิ่มเติมอย่างไม่มีที่สิ้นสุด จึงควรให้มีการแก้ไขปัญหาโดยวิธีที่เสนอดังกล่าวข้างต้นนี้ เพื่อให้ได้ประโยชน์ด้วยกัน ทั้งฝ่ายรัฐ และประชาชน ซึ่งจะเป็นกรณีที่ทำให้รัฐได้พื้นที่ป่าไม้ หรือพื้นที่ที่มีต้นไม้ยืนต้นเพิ่มขึ้นอีกมาก ทั้งยังเป็นกุศโลบายในการฟื้นฟูป่าให้สมบูรณ์ขึ้นได้โดยวิธีการที่ประหยัดทั้งงบประมาณและบุคลากรภาครัฐ
นายศรีราชา กล่าวด้วยว่า ก่อนหน้านี้ตนเองได้มีการพูดคุยทั้งกับอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และอธิบดีกรมอุทยาน เพื่อให้ชะลอการดำเนินการกับผู้บุกรุกไว้ก่อน เนื่องจากครม. กำลังจะมีการพิจารณาข้อเสนอของผู้ตรวจการแผ่นดิน ในเร็ว ๆ นี้ และมีมติที่ชัดเจน ซึ่งก็ได้รับการตอบรับที่ดี
อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาการบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติ และที่ดินของรัฐประเภทอื่นๆ ซึ่งในปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวของประเทศถูกบุกรุกเป็นจำนวนมาก หากจะใช้แนวทางดังกล่าวมาแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของราษฎร และการดำเนินการของรัฐที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับกรณีพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และอุทยานแห่งชาติในเขตท้องที่ อ.วังน้ำเขียว เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ราษฎรและเป็นการแก้ไขปัญหาเป็นไปในทิศทางเดียวกันอย่างเป็นรูปธรรม จึงขอให้รัฐบาลพิจารณานำหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขดังกล่าวข้างต้นไปใช้เป็นต้นแบบ ในการดำเนินการสำหรับที่ดินของรัฐอื่นๆ เพื่อให้ประชาชนได้รับการเยียวยาที่เป็นธรรม และป่าไม้ก็จะได้รับการฟื้นฟูให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นโดยเร็ว อันจะเป็นผลดีต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยในอนาคตด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น