xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่มวิสาหกิจเลี้ยงโคเนื้อบ้านดงชาติตระการยิ้ม ตลาดโต-ราคาพุ่ง ป้อนร้านสเต๊กไม่ทัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายฉลอง ศรีเลื่อน กับลูกโค“ พลอยขวัญ” และเจ้าหน้าที่ สปก. กำลังรับมอบรางวัลชนะเลิศ ลูกโค (Calf Champion) ในงาน BCP cattle show  ครั้งที่  7
พิษณุโลก - สำนักงานปฏิรูปที่ดินเมืองสองแควเดินหน้าหนุนกลุ่มวิสาหกิจฯ โคเนื้อบ้านดงชาติตระการ หลังตลาดโคเนื้อสายพันธุ์ตากมาแรง ราคาดี จนผลผลิตป้อนตลาดสเต๊กแทบไม่ทัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้กลุ่มวิสาหกิจโคเนื้อในเขตปฏิรูปที่ดิน ตำบลบ้านดง อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก นำโดยนายวิชาญ สมศรี ปฏิรูปที่ดินจังหวัดพิษณุโลก และคณะพานายฉลอง ศรีเลื่อน เกษตรกรผู้เลี้ยงโคขุน นำลูกโคเพศเมียชื่อ “พลอยขวัญ” เข้าร่วมประกวดโคพันธุ์ผสมยุโรป จนได้รับรางวัลชนะเลิศประเภทลูกโค (Calf Champion) โคพันธุ์ผสมยุโรป เพศเมีย ในงานประกวดโคเนื้อบึงสามพัน BCP cattle show ครั้งที่ 7

นายฉลอง ศรีเลื่อน เจ้าของลูกโค “พลอยขวัญ” เปิดเผยว่า ลูกโคสายพันธุ์แชมป์เป็นสายพันธุ์ตาก เป็นโคลูกผสมระหว่างสายพันธ์ยุโรป (ชาร์โลเลย์) 62.5เปอร์เซ็นต์ กับบรามัน 37.5 เปอร์เซ็นต์ กำลังได้รับความนิยมกว่าพันธุ์บรามันแท้หรือพันธุ์พื้นเมืองเดิมๆ เนื่องจากโคทนทานต่อโรคและกินเก่ง ส่วนเนื้อโคก็เป็นที่ต้องการของตลาด ถือว่ามีราคาแพง ผลผลิตเมื่อส่งไปโรงชำแหละที่จังหวัดตากราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 800-900 บาท เน้นไปยังกลุ่มลูกค้าร้านสเต๊ก

ปัจจุบันราคาโคขุนพันธุ์ผสมยุโรป ช่วงอายุ 7 เดือนถึง 2 ปีสามารถจำหน่ายตัวละ 25,000-40,000 บาท ถือว่าราคาสูงกว่าพันธุ์พื้นเมืองเดิมๆ ที่เลี้ยงกันอยู่แถบ อ.นครไทย อ.วัดโบสถ์ ที่ขายกันอยู่เพียงหลักพัน ดีขึ้นมาก็แค่หมื่นบาทต่อตัวเท่านั้น เพราะเป็นการเลี้ยงแบบไม่พัฒนาสายพันธุ์ นับว่าเป็นเรื่องดีที่ ส.ป.ก.พิษณุโลกเข้ามาส่งเสริมตั้งแต่แรก ทำให้คนบ้านดง อ.ชาติตระการมีรายได้เพิ่มขึ้น และขยายกลุ่มวิสาหกิจเพิ่มขึ้น จนมีหลายกลุ่มเลี้ยงโคพันธุ์เนื้อที่บ้านดงชาติตระการถึง 90 ราย มีโคพ่อ-แม่พันธุ์ประมาณ 1,200 ตัว ณ วันนี้ผลผลิตลูกโคขุนไม่พอส่งขาย เพราะคนมาติดต่อจองซื้อตั้งแต่อายุน้อยๆ

“ผมเคยซื้อเนื้อโคขุนซึ่งเป็นวัวเลี้ยงของตนเองที่โรงชำแหละจังหวัดตาก ยอมรับว่าเนื้อโครสเยี่ยมเหมาะสำหรับทำเนื้อสเต๊ก เพียงแต่ราคาแพงเท่านั้น 2 ปีที่ผ่านมาราคาข้าวโพดและมันสำปะหลังราคาดีทำให้เกษตรกรขยายพื้นที่ปลูก แต่ลดการขยายพันธุ์โคเนื้อ ทำให้ปริมาณโคพื้นบ้านและโคขุนลดลง ทำให้ราคาโคขุนดีต่อเนื่อง ประกอบกับการบริโภคเนื้อของคนในประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทำให้ราคาโคขุนสายพันธุ์ตากเป็นที่ต้องการ โดยจังหวัดพิษณุโลกมีสถานีทดสอบสายพันธุ์ที่อำเภอนครไทย เอื้อต่อเกษตรกรกลุ่มผู้เลี้ยงโคมีการพัฒนาสายพันธุ์เรื่อยๆ อนาคตอยากให้มีโรงชำแหละ และเพิ่มการบริโภคโคขุนในพื้นที่ อ.ชาติตระการ จ.พิษณุโลกด้วย แต่วันนี้ถือว่าเป็นเรื่องยาก” เจ้าของรางวัลชนะเลิศโคพันธุ์ผสมยุโรปกล่าว

นายวิชาญ สมศรี ปฏิรูปที่ดินจังหวัดพิษณุโลก เปิดเผยว่า ส.ป.ก.สนับสนุนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนโคเนื้อ ต.บ้านดง อ.ชาติตระการ มาตลอด กระทั่งพาไปศึกษาดูงาน BSP 20112 Beungsamphan cattle show จัดโดยอำเภอบึงสามพันและจังหวัดเพชรบูรณ์ มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาและส่งเสริมอาชีพโคเนื้อ รวมไปถึงมีการประกวดโคเนื้อให้มีคุณภาพ ผลปรากฏว่าลูกโค (Calf Champion) โคพันธุ์ผสมยุโรปของคนบ้านดง จ.พิษณุโลกได้รับรางวัลชนะเลิศ ถือเป็นความสำเร็จของกลุ่มวิสาหกิจใน ต.บ้านดง อ.ชาติตระการ อนาคตตนอยากเห็นอุตสาหกรรมปลายน้ำของโคเนื้อ หากรัฐจับมือเอกชนสนันสนุนให้มีการบริโภคสัมผัสรสชาติโคเนื้อถึงแหล่งเลี้ยงจะเป็นเรื่องดีเยี่ยม เพราะพิษณุโลกเป็นเมืองจุดแวะพักของนักท่องเที่ยว

แต่บทบาท ส.ป.ก.พิษณุโลกวันนี้คงต้องทำหน้าที่สนับสนุนการขยายกลุ่มและขยายพันธุ์โคเนื้อออกไป เพราะเป็นการยกระดับฐานะของคนในท้องถิ่นให้ดีขึ้นเป็นหลัก
นายฉลอง ศรีเลื่อน คนบ้านดง ชาติตระการ จ.พิษณุโลก และโคสายพันธ์ผสมยุโรป-ชาร์โลเลย์ และบรามัน
โคขุนหรือวัว“ พลอยขวัญ” วัย 5 เดือน
กำลังโหลดความคิดเห็น