xs
xsm
sm
md
lg

เกษตรกรสงขลา หันเลี้ยงด้วงสาคูในกะละมังเสริมรายได้กว่า 5 หมื่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - เกษตรกรใน จ.สงขลา เพาะเลี้ยงด้วงสาคูในกะละมัง จนประสบความสำเร็จ ตัวด้วงอ้วนพีส่งขายกิโลกรัมละ 250 บาท สามารถสร้างรายได้เสริมนอกเหนือจากการกรีดยางพารา เดือนละกว่า 5 หมื่นบาท

นายสังวร มะลิวรรณ อายุ 48 ปี และนางสุนันท์ มะลิวรรณ 2 สามีภรรยา ชาวหูแร่ หมู่ 3 ต.ทุ่งตำเสา อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา หันมาเพาะเลี้ยงด้วงสาคูในกะละมัง เป็นอาชีพเสริมสร้างรายได้ นอกเหนือจากอาชีพหลักที่กรีดยางพารา จนประสบความสำเร็จมีรายได้ต่อเดือนกว่า 50,000 บาท โดยสร้างโรงเรือนเพาะเลี้ยงในบริเวณบ้าน และขยายการเลี้ยงตลอดช่วง 3 ปี จนถึงขณะนี้เพิ่มเป็น 500 กะละมัง สามารถเลี้ยงด้วงสาคูออกจำหน่ายได้สูงสุด 200 กิโลกรัมต่อเดือน ขายได้กิโลกรัมละ 250 บาท และเป็นที่ต้องการของตลาดแต่ละรุ่นที่ออกมาไม่พอขาย และกำลังขยายการเพาะเลี้ยงเพิ่มขึ้น

สำหรับวิธีการการเลี้ยงด้วงสาคูในกะละมังของ นายสังวร เริ่มจากการเพาะเลี้ยงพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ หรือที่ชาวใต้เรียกว่า “แมงหวัง” ก่อน โดยเลี้ยงไว้ในต้นสาคูที่ตัดเป็นท่อนความยาวประมาณครึ่งเมตร โดยใช้ขุยมะพร้าวละเอียดมาวางไว้ด้านบนเพื่อเป็นที่อาศัย จากนั้นก็จะไข่ตัวอ่อนออกมาปล่อยไว้ 55 วันก็จะฟักตัวเป็นดักแด้ และอีก 15 วันก็จะกลับมากลายเป็นตัวแมงหวัง หรือพ่อพันธุ์แม่พันธุ์อีกครั้ง พร้อมที่จะนำไปเลี้ยงต่อในกะละมังให้เป็นตัวด้วงเพื่อส่งขาย

ส่วนขั้นตอนของการเลี้ยงในกะละมัง จะใช้ต้นสาคูมาบดผสมกับอาหารสุกรโต 1 จานผสมน้ำคลุกเคล้าให้เข้ากัน และนำพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ใส่ลงไปกะละมังละ 10 ตัวใช้เปลือกสาคูวางทับไว้ เพื่อเป็นที่อาศัยของพ่อแม่พันธุ์ และนำฝามาปิดกะละมังไว้ พ่อแม่พันธุ์ก็จะเริ่มวางไข่ ทิ้งไว้ 1 เดือนก็สามารถจับขายได้ โดยแต่ละกะละมัง จะได้ตัวด้วงประมาณ 1 กิโลกรัม แต่จะต้องคอยดูแลให้มีความชื้นสม่ำเสมอ ซึ่งเป็นเคล็ดลับสำคัญที่ทำให้ด้วงโตเร็ว รสชาติหวานมัน และมีโปรตีนสูงเป็นที่ต้องการของตลาด โดยจะมีลูกค้ามาซื้อถึงที่บ้าน และนำออกไปขายตามตลาด

ซึ่งการเลี้ยงด้วงเป็นอาชีพใหม่ที่น่าสนใจ เกษตรกรทั่วไปสามารถนำไปสร้างเป็นอาชีพเสริมได้เพราะตลาดยังต้องการสูง ที่สำคัญกากสาคูที่เหลือจากการเลี้ยงด้วงก็ยังนำไปเป็นปุ๋ยได้ด้วย นายสังวร บอกว่าพร้อมที่จะถ่ายทอดเทคนิคการเลี้ยงด้วงในกะละมังให้แก่ผู้ที่สนใจ โดยติดต่อได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 08-0035-0204 หรือมาเรียนรู้ได้ที่บ้านพัก




กำลังโหลดความคิดเห็น