xs
xsm
sm
md
lg

“ครู” สู่ “กรือเซะ” การเยียวยาที่ยังต้องตอบคำถาม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ไชยยงค์ มณีพิลึก
นายกสมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทย

ผู้เขียนเคยพูดในหลายเวที และเขียนบทความในหลายสื่อด้วยกัน ถึงเรื่องการเยียวยาเหยื่อและญาติๆ ของผู้ถูกกระทำ และผู้สูญเสียชีวิตที่ผ่านมาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า ให้ระวังคือ เรื่องของความไม่เท่าเทียม และไม่เป็นธรรม ที่อาจจะเกิดขึ้นกับการ “เยียวยา” ด้วยตัวเงิน ที่มีการกำหนดไว้สูงสุดที่ 7.5 ล้าน เพราะถ้าทำความเข้าใจกับผู้ได้รับการเยียวยาไม่ได้ จะกลายเป็นว่า รัฐกำลังสร้างความไม่เป็นธรรมครั้งใหม่ให้เกิดขึ้นในพื้นที่ จังหวัดชายแดนภาคใต้

และเรื่องที่ผู้เขียนเกรงว่าจะเกิดขึ้นก็เกิดขึ้นจนได้ โดยเริ่มจากกลุ่มครูซึ่งตลอดระยะเวลา 8 ปี ของสถานการณ์ความไม่สงบ มีครู และบุคลากรทางการศึกษาเสียชีวิตไปแล้ว 151 คน ซึ่งเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา สมาพันธ์ครูจังหวัดชายแดนภาคใต้อันเป็นสมาพันธ์ครูที่มี “บุญสม ทองศรีพราย” เป็นประธาน ก็ได้มีการประชุมแกนนำที่โรงแรมวีว่า จ.สงขลา พร้อมทั้งยื่นข้อร้องเรียนจำนวน 4 ข้อใหญ่ และ 9 ข้อย่อย ไปยัง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต. เพื่อให้มีการทบทวนเรื่องเงินเยียวยา รวมทั้งข้อเรื่องร้องเรียนในเรื่องความปลอดภัย สิทธิ และสวัสดิการอื่นที่ยังคาราคาซังอยู่ ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องเก่าๆ เดิมๆ ที่เรียกร้องในรัฐบาลชุดก่อน แต่ยังไม่ได้รับการสนองตอบ
การเยียวยาครูที่ได้รับผลกระทบไฟใต้ ยังไม่ได้รับการดูแลที่เทียบเท่าหลักเกณฑ์เยียวยาของรัฐบาลล่าสุดที่ดูแลสูงสุด 7.5 ล้านบาท แต่ครูทุกคนก็ยังทำหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ
ข้อเรียกร้องใหญ่ที่สมาพันธ์ครูเรียกร้องได้แก่ 1.เสนอให้คณะกรรมการเยียวยาพิจารณาทบทวนเพิ่มเติมการเยียวยาให้แก่กลุ่มข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษาไม่น้อยกว่ากลุ่มผู้ได้รับผลกระทบในกลุ่มอื่นๆ โดยเฉพาะในกรณีที่เกิดจากความรุนแรงมีผลกระทบต่อความรู้สึก 2.ให้คำนึงถึงความรู้สึก ความรับผิดชอบต่อภาระหน้าที่ของกลุ่มข้าราชการที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ด้วยความเสียสละ ทุ่มเท เสี่ยงภัย เพื่อความมั่นคงของประเทศ 3.สมาพันธ์ครูจังหวัดชายแดนภาคใต้จะเข้าพบเลขาธิการ ศอ.บต. เพื่อยื่นข้อเสนอต่อการเยียวยาให้กลุ่มข้าราชการ 4.เสนอข้อมูลให้แก่ข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา เพื่อผลักดันให้แก่บุคลากรในกรณีต่อไปนี้

4.1 ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา 4.2 การพิจารณาบำเหน็จ บำนาญ ความดีความชอบกรณีพิเศษ (โควตา ศอ.บต) 4.3 การมีสิทธิได้รับเงิน พสร 4.4 การบรรจุทายาทข้าราชการครู และบุคลากรการศึกษาที่เสียชีวิต จากเหตุการณ์ความไม่สงบเข้ารับราชการในหน่วยงานของรัฐ 4.5 เงินค่าตอบแทนเสี่ยงภัย 4.6 การลดหย่อนภาษีเงินได้ 4.7 การกู้เงินในอัตราดอกเบี้ยต่ำ 4.8 การเยียวยาข้าราชการและบุคลากรครูที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ และ 4.9 การบริหารสำนักงานเอกชนจังหวัด/อำเภอ

ซึ่งหากพิจารณาในเชิงลึกแล้ว จะพบว่า เรื่องที่เป็นข้อเรียกร้องส่วนใหญ่เป็นเรื่องเดิมๆ ที่สมาพันธ์ครูเคยเรียกร้องมาแล้ว ยังแต่ครั้งที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็น นายกรัฐมนตรี และเรียกร้องอีกครั้งในยุคของนายกรัฐมนตรี ที่ชื่อ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แต่ประเด็นหลักใหญ่ใจความจริงๆ ในครั้งนี้ คือ สมาพันธ์ต้องการเรียกร้อง เงินค่าเยียวยาสำหรับครูและบุคลากรทางการศึกษาที่เสียชีวิต บาดเจ็บ พิการ ในวงเงิน 7.5 ล้าน เช่นเดียวกับที่รัฐจ่ายให้แก่คน “เสื้อแดง” และจ่ายให้แก่ “เหยื่อ” ที่เสียชีวิตในกรณีตากใบ และอื่นๆ

และในขณะที่ข้อเรียกร้องของสมาพันธ์ครู 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังยื่นไม่ถึงมือของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต. เมื่อวันที่ 18 ที่ผ่านมา ญาติๆ ของเหยื่อผู้เสียชีวิตจากกรณี “กรือเซะ” และอื่นๆ ก็ได้มารวมตัวกันที่หน้ามัสยิดกรือเซะ เพื่อปฏิเสธที่จะรับเงินรายละ 4 ล้านบาท ตามมติของคณะอนุกรรมการเยียวยา และเรียกร้องให้รัฐบาลจ่ายเงินเยียวยาจำนวน 7.5 ล้านบาท เช่นเดียวกับที่อนุกรรมการและรัฐบาลมีมติจ่ายให้แก่ผู้เสียชีวิตจากกรณีตากใบ และสะบ้าย้อย โดยมีการอ้างเหตุผลต่างๆ ทั้งเรื่องผู้เสียชีวิตที่เป็นคนชรา และเยาวชน และเกิดเหตุในมัสยิดที่เป็นเขตอภัยทาน รวมทั้งผู้เสียชีวิตไม่มีอาวุธร้ายแรงเพื่อต่อสู้กับเจ้าหน้าที่รัฐ โดยตัวแทนของกลุ่มได้ยื่นหนังสือให้แก่ตัวแทนของเลขาธิการ ศอ.บต. เพื่อให้ทบทวนมติเสียใหม่

นี่เป็นกรณีย่อยๆ เพียง 2 กรณี ที่เกิดจากความไม่พอใจจากมติการเยียวยาที่เกิดขึ้น ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่า ยังมีผู้ที่ได้รับผลกระทบอีกหลายกลุ่มที่จะออกมาเคลื่อนไหว เพื่อความไม่พอใจต่อมติของคณะอนุกรรมการแต่ละคณะที่ทำหน้าที่พิจารณาในเรื่องวงเงินในการเยียวยา และการเยียวยาในด้านอื่นๆ ที่จะมีการเคลื่อนไหวเพื่อให้ได้รับการเยียวยาจำนวน 7.5 ล้านบาท อย่างที่กลุ่มตากใบ สะบ้าย้อย และกลุ่มผู้ถูกอุ้มหาย โดยเจ้าหน้าที่รัฐได้รับ

โดยข้อเท็จจริง เรื่องการเยียวยาจำนวน 7.5 ล้านบาทนั้น มีการกำหนดกติกาที่ค่อนข้างชัดเจนว่า ต้องเป็นกรณีการเสียชีวิต การบาดเจ็บ พิการ ที่เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งหากจะเอาตามกติกาจริงๆ มีเพียงกรณีตากใบ จำนวน 85 ศพ และอีกไม่กี่เหตุการณ์ เช่น กรณีอิหม่ามยะผา กาเซ็ง ที่ถูกเจ้าหน้าที่ทำร้ายจนเสียชีวิต และในกรณีถูกเจ้าหน้าที่อุ้มหายเพียง 30 กว่าเหตุการณ์เท่านั้น ที่อยู่ในข่ายได้รับการเยียวจำนวน 7.5 ล้านบาท

ในกรณีของสะบ้าย้อย และกรือเซะนั้น ต้องยอมรับความจริงว่า ผู้เสียชีวิตมีเจตนาในการโจมตีเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งไม่ว่าจะมาจากกรณีถูกแกนนำหลอกลวงให้เข้าใจผิด หรือจากกรณีถูกโฆษณาชวนเชื่อจนมีเจตนาที่จะก่อการร้าย แต่ผู้เสียชีวิตทั้งที่กรือเซะ และสะบ้าย้อย คือ “คนร้าย” อย่างแน่นอน เพียงแต่ในกรณีที่ต้องเยียวยานั้น มาจากการวินิจฉัยจากคณะกรรมการว่าเจ้าหน้าที่ทำเกินเหตุ เพราะในกรณีกรือเซะ คนร้ายส่วนหนึ่งที่ล่าถอยเข้าไปหลบซ่อนในมัสยิดนั้น เจ้าหน้าที่อาจใช้วิธีในการควบคุมตัว โดยไม่ต้องวิสามัญก็ได้

เช่นเดียวกับเหตุการณ์ที่สะบ้าย้อย ที่ต้องแบ่งเหตุการณ์เป็น 2 กรณี คือ กรณีแรกที่มีการบุกเข้าโจมตีเจ้าหน้าที่ในป้อมยาม และถูกยิงเสียชีวิต กับกรณีที่เจ้าหน้าที่ปิดล้อมกลุ่มคนที่เหลือไว้จนหมดทางสู้ ก่อนที่คนทั้งหมดจะถูกยิงเสียชีวิต ซึ่งกรณีหลังถือว่าเจ้าหน้าที่ทำเกินเหตุ แต่ที่อนุกรรมการมีความเห็นจ่ายให้กรณีสะบ้าย้อย 7.5 ล้านรวดเดียว โดยไม่แยกให้เป็น 2 เหตุการณ์ 2 กรณีนั้น เข้าใจว่าต้องการแสดงให้เห็นว่ารัฐมีความจริงใจในการเยียวยาครอบครัวผู้อยู่เบื้องหลัง โดยไม่ติดใจสืบสาวราวเรื่องให้เป็น 2 กรณีในเหตุการณ์เดียวกัน

เช่นเดียวกับกรณีผู้เสียชีวิตในบริเวณที่เกิดเหตุ ทั้งนอกมัสยิด และในมัสยิดกรือเซะ ซึ่งหากต้องการให้เกิดบรรทัดฐานก็ต้องแยกเป็น 2 เหตุการณ์ คือ เหตุการณ์ที่คนร้ายบุกเข้าโจมตีเจ้าหน้าที่ตำรวจ และวางเพลิงป้อมยามจนมีตำรวจเสียชีวิต 3 ศพ ซึ่งเป็นประจักษ์พยานว่ามีการต่อสู้ด้วยอาวุธ และกรณีผู้เสียชีวิตในมัสยิดที่อาจเข้าข่ายทำเกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ที่คณะกรรมการไม่แยกเหตุการณ์ออกเป็น 2 กรณี คือ รัฐไม่ต้องการฟื้นเรื่องราวที่ผ่านมา ไม่ต้องการที่จะพูดถึงเรื่องของ “คนร้าย” จึงได้ให้การเยียวยาเท่าๆ กัน คือ 4 ล้านบาท ทั้งที่โดยความชอบธรรม ตำรวจที่เสียชีวิตที่ป้อมยามกรือเซะควรจะได้รับการเยียวยา 7.5 ล้านบาทด้วยซ้ำ

แต่เมื่อทายาทของผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่กรือเซะเห็นว่า การที่รัฐเยียวยาในวงเงิน 4 ล้านบาทไม่เป็นธรรม และเป็นการลำเอียง สิ่งที่ ศอ.บต. ต้องเร่งดำเนินการ คือ การทบทวนมติของคณะอนุกรรมการเยียวยาที่ได้ลงมติไปแล้ว ว่าเป็นการลงมติที่ครบถ้วนหรือไม่ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่ 28 เม.ย. ที่แท้จริงเป็นอย่างไร ตรวจสอบให้แน่ชัดอีกครั้ง เพื่อให้เป็นที่พอใจแก่ทายาทของผู้สูญเสีย ในขณะเดียวกัน กลุ่มทายาทของผู้สูญเสียเองก็ต้องทำความเข้าใจกับมติของคณะอนุกรรมการเยียวยา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิในพื้นที่ และในคณะกรรมการมีทายาทของผู้สูญเสียอยู่ด้วย ซึ่งฝ่ายคณะอนุกรรมการเองก็เชื่อว่าได้ทำดีที่สุดแล้ว นั่นคือ การไม่พูดถึงเรื่องเดิมว่าใครผิดใครถูก แต่เมื่อยังเกิดปัญหาขึ้นก็ต้องมีการทบทวนกันใหม่เพื่อหาข้อยุติ

และสิ่งสำคัญที่สุด คือ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลาขาธิการ ศอ.บต. ซึ่งทำงานหนักอยู่แล้ว ต้องทำงานหนักกว่าเดิม โดยเน้นในเรื่องกระบวนการสร้างความเข้าใจให้แก่ทายาทของเหยื่อผู้สูญเสีย และสร้างความเข้าใจกับสังคมในพื้นที่ เพื่อมิให้เหตุการณ์ที่กรือเซะบานปลาย ถูกกลุ่มผู้จ้องหาผลประโยชน์นำไปขยายความเพื่อประโยชน์ส่วนตัว และหมู่คณะ ซึ่งอาจจะทำให้การเยียวยาของอนุกรรมการคณะอื่นๆอีก 7 คณะได้รับความยุ่งยากในการกำหนดหลักเกณฑ์การเยียวยา ที่แต่ละคณะยังอยู่ระหว่างการวางกรอบ กติกาในการเยียวยา เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม และสร้างคุณภาพชีวิตของครอบครัวผู้ถูกกระทำให้ดีขึ้น

ดังนั้น วันนี้ สิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไประหว่างการเยียวยา คือ การสร้างกระบวนการสื่อสารกับสังคมให้เข้าใจในกรอบ กติกาของการเยียวยา เพื่อหลีกเลี่ยงการขัดแย้ง สร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นตามเป้าหมายของการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา
กำลังโหลดความคิดเห็น