สภากลาโหมรับทราบผลสอบสวน 4 ศพหนองจิก ส่ง 4 ทหารพรานเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ระบุเงินเยียวยา 7 ล้าน ไม่ใช่ทุกคนจะได้ ต้องอยู่ที่คณะกรรมการฯ “สุกำพล” บอกให้เป็นไปตามกติกาอย่าเอาแต่ได้ ทหารที่เสียชีวิตยังไม่ได้เลย ขณะเดียวกัน สั่งทหารคุมเข้มช่วงสงกรานต์หวั่นมีบึ้ม พร้อมสกัดการลักลอบนำสิ่งผิด กม.ข้ามชายแดนเข้าไทย
ที่กระทรวงกลาโหม วันนี้ (22 มี.ค.) มีการประชุมสภากลาโหม โดยมี พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุม ร่วมด้วยผู้บัญชาการเหล่าทัพ หลังการประชุม พ.อ.ธนาธิป สว่างแสง โฆษกกระทรวงกลาโหม แถลงว่า ที่ประชุมรายงานสถานการณ์ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงการสูญเสียของประชาชนในพื้นที่ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี 4 ศพ อันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ รวมถึงมาตรการการเยียวยา ซึ่งจากการดำเนินการสอบสวนจนได้ข้อยุติจากคณะกรรมการ 2 ชุด โดยคณะกรรมการชุดที่ 1 ซึ่งมี รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้าเป็นประธาน มีข้อเสนอให้ส่งเจ้าหน้าที่ทหารพราน สังกัดกองร้อยทหารพรานที่ 4302 ทั้ง 4 นาย เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามกฎหมาย และดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการเยียวยาด้านจิตใจเพื่อมิให้เกิดเป็นเงื่อนไขในพื้นที่
พ.อ.ธนาธิปกล่าวว่า ส่วนคณะกรรมการชุดที่ 2 มี นายแวดือราแม มะมิงจิ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี ทำหน้าที่ประธานกรรมการสอบสวน มีผลการสอบสวนว่า ชาวบ้านที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตไม่ใช่คนร้าย แม้จากคำให้การทั้งหมดบ่งชี้ว่าผู้ใช้อาวุธทำให้ชาวบ้านบาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นเจ้าหน้าที่รัฐก็ตาม แต่ยังต้องติดตามต่อไปว่าเจตนาการยิงของเจ้าหน้าที่เป็นอย่างไร และกระทำเกินกว่าเหตุหรือไม่ ซึ่ง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าได้ดำเนินการตามข้อเสนอแนะดังกล่าวแล้ว รวม 8 ข้อ คือ
1. ให้ผู้กระทำผิดยอมรับความจริงและขอโทษ พร้อมกับออกมาแถลงความจริงต่อสาธารณชน 2. ให้เยียวยาหรือพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างเต็มที่และต่อเนื่อง 3. ให้นำผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม 4. ให้มีการตรวจพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์ 5. การนำคนเจ็บส่งโรงพยาบาล รวมทั้งการตรวจชันสูตรศพให้เวลานานมาก ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ควรคำนึงถึงจริยธรรมในการให้ความช่วยเหลือผู้บาดเจ็บให้มากกว่านี้ 6. ให้กำหนดมาตรการการใช้อาวุธให้รัดกุม 7. ให้ทำความเข้าใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และ 8. ให้จัดชุดแพทย์เคลื่อนที่เร็วพร้อมเข้าไปช่วยเหลือผู้ถูกทำร้ายในที่เกิดเหตุ
พ.อ.ธนาธิปกล่าวว่า ผลการพิจารณาของคณะกรรมการจะไม่มีผลต่อรูปคดี ซึ่งจะมีการดำเนินการไปตามกระบวนการยุติธรรม ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนของพนักงานสอบสวน และการตัดสินของศาลที่จะพิพากษาตามพยานหลักฐาน อย่างไรก็ตาม ในการปฏิบัติภารกิจยังยืนยันกับประชาชนว่า เจ้าหน้าที่ทุกนายมีความมุ่งมั่นที่จะทำให้ดีที่สุด เพื่อดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนผู้บริสุทธิ์ และจะปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชน และหลักกฎหมายอย่างเคร่งครัดต่อไป โดยจะให้การเคารพและยอมรับการตัดสินใจตามกระบวนการยุติธรรม พร้อมที่จะสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
พ.อ.ธนาธิปกล่าวว่า สำหรับการช่วยเหลือเยียวยาเป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายและผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2555 ที่กำหนดไว้ ซึ่งเบื้องต้นศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้มอบเงินเยียวยาให้แก่ญาติของผู้เสียชีวิตทั้ง 4 ราย รายละ 500,000 บาทแล้ว ขั้นตอนต่อไป คณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ และ ศอ.บต.จะร่วมพิจารณาว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเฉพาะกรณี โดยให้ช่วยเหลือเยียวยาเพิ่มเติมอีกไม่เกิน รายละ 7,000,000 บาท ทั้งนี้ ประชาชนในพื้นที่ยังเข้าใจคลาดเคลื่อนในเรื่องของการเยียวยา ซึ่งเรื่องเงิน 7 ล้านบาท ไม่ใช่ว่าทุกคนจะได้ แต่จะต้องดูว่าเรื่องดังกล่าวเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ทำเกินกว่าเหตุ หรือ ละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่
ด้าน พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม กล่าวก่อนประชุมสภากลาโหมว่า การเยียวยาผู้ที่เสียชีวิต 4 ศพนั้น เป็นเรื่องของคณะกรรมการเป็นผู้พิจารณาว่าเข้าข่ายที่จะได้รับเงินเยียวยา 7 ล้านหรือไม่ ซึ่งคงเป็นไปตามกติกา ส่วนที่มีชาวบ้านพื้นที่ออกมาเรียกร้องในความไม่เท่าเทียมของการเยียวยานั้น ตนมองว่าทุกอย่างมีขั้นตอนอยู่แล้ว คนเรียกร้องก็สามารถทำได้ ซึ่งทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการว่าจะทำอย่างไร ไม่ใช่จะเอาอย่างเดียว ทหารยังไม่ได้อย่างนั้นเลย อย่างไรก็ตามทุกคนจะต้องเคารพกติกา
พ.อ.ธนาธิปกล่าวด้วยว่าว่า ด้วยในวันหยุดราชการเนื่องในเทศกาลสงกรานต์ระหว่างวันที่ 13-16 เม.ย.นี้ ซึ่งมีประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนาจำนวนมาก อาจมีกลุ่มผู้ไม่หวังดี และขบวนการที่ผิดกฎหมาย ฉวยโอกาสก่อความไม่สงบ และลักลอบค้าขายสิ่งผิดกฎหมายต่างๆ ขึ้นได้ รมว.กลาโหมจึงขอให้หน่วยขึ้นตรงกระทรวงกลาโหมและเหล่าทัพ เพิ่มมาตรการในการสกัดกั้นการลักลอบขนย้ายยาเสพติดและสิ่งผิดกฎหมาย โดยเฉพาะบริเวณตามแนวชายแดน เข้มงวดกวดขันการรักษาความปลอดภัยที่ตั้ง และพื้นที่รับผิดชอบของทุกหน่วย โดยเฉพาะในพื้นที่ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญ รวมทั้งกำชับผู้ใต้บังคับบัญชา ให้ปฏิบัติตามกฎจราจร และมาตรการความปลอดภัยทางถนนอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันและลดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน
นอกจากนี้ รมว.กลาโหม ยังขอให้หน่วยขึ้นตรงกระทรวงกลาโหมและเหล่าทัพ ช่วยกันดูแลในส่วนที่รับผิดชอบ ด้วยการจัดกำลังปฏิบัติการลาดตระเวน สกัดกั้นการนำเข้ายาเสพติด ตามแนวชายแดน ซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านและในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อป้องกันมิให้แพร่ระบาดเข้ามาในพื้นที่ตอนในของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการป้องกันมิให้กำลังพลและครอบครัว เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด รวมถึงการทำให้พื้นที่หน่วยทหารและชุมชนโดยรอบ เป็นเขตปลอดยาเสพติดอย่างแท้จริง
พ.อ.ธนาธิปแถลงอีกว่า ตามที่รมว.กลาโหมได้สั่งการในที่ประชุมคณะกรรมการบริหารศูนย์สนับสนุนการปฏิบัติการ (กปก.) ครั้งที่ 1/2555 เมื่อวันที่ 15 มีนาคมนี้ให้ทุกส่วนราชการของกระทรวงกลาโหม ให้ความสำคัญเรื่องการรายงานระบบการติดตาม ความก้าวหน้าการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย โดยให้รายงานความก้าวหน้า ในวันศุกร์ทุกสัปดาห์ ในระบบศูนย์ปฏิบัติการสำนักนายกรัฐมนตรีจึงขอให้ทุกส่วนราชการของกระทรวงกลาโหม ที่ได้รับงบประมาณการฟื้นฟูโครงการสร้างพื้นฐาน และยุทโธปกรณ์ที่ได้รับความเสียหาย จากอุทกภัย และการช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบอุทกภัย เร่งดำเนินการตามกำหนดเวลา เพื่อให้นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหมสามารถเปิดดูได้ ตั้งแต่วันที่ 31 มี.ค.นี้เป็นต้นไป
นอกจากนี้ รมว.กลาโหมยังขอให้หน่วยขึ้นตรงกระทรวงกลาโหมและเหล่าทัพ โดยเฉพาะหน่วยที่มีที่ตั้งในพื้นที่ซึ่งเคยประสบภัยแล้ง ได้จัดกำลังพล ยานพาหนะ ตลอดจนเครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ ให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยแล้ง และพร้อมสนับสนุนส่วนราชการอื่นที่ร้องขอตามขีดความสามารถของหน่วย รวมถึงการแก้ไขสถานการณ์หมอกควันที่เกิดขึ้นด้วย