ยะลา - เลขาธิการ ศอ.บต.ชี้แจง กรณีการเยียวยาเหยื่อตากใบ กรือเซะ หลังคณะกรรมการเยียวยามีมติอนุมัติ ให้มีการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวถึงกรณีการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่ว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือการเยียวยาด้านจิตใจ ทำให้ชาวบ้านมั่นใจว่าหน่วยงานภาครัฐสามารถเป็นที่พึ่งได้ และทำอย่างไรให้เกิดความยุติธรรมขึ้นในชุมชน ในวันนี้นับว่า การมอบเงินเยียวยาเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่ง แต่สิ่งสำคัญคือ การดูแลด้านคุณภาพชีวิตในระยะยาว ให้พวกเขาเหล่านี้สามารถยืนอยู่ในพื้นที่ได้อย่างมีความสุข
สำหรับหลักเกณฑ์ในการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบตามมติคณะกรรมการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ สืบเนื่องจากความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ครั้งที่ 5/2555 วันอาทิตย์ที่ 10 มิถุนายน 2555 ดังนี้
1.ปรับปรุงหลักเกณฑ์การจ่ายเงินช่วยเหลือประชาชน
มติ - เห็นควรเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์การจ่ายเงินช่วยเหลือประชาชน
(1.1) กรณีเสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบจากเดิม 100,000 บาท เพิ่มเป็น 500,000 บาท
(1.2) กรณีทุพพลภาพ จากเดิม 80,000 บาท เพิ่มเป็น 500,000 บาท
ทั้งนี้ ให้มีผลสำหรับผู้ได้รับผลกระทบถึงเสียชีวิต หรือทุพพลภาพตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบเป็นต้นไป และนอกจากนั้น ให้ย้อนหลังครอบคลุมผู้เสียชีวิตและผู้ทุพพลภาพ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2547 ด้วย โดยสำหรับส่วนที่ให้มีผลย้อนหลังนี้จะดำเนินการให้เสร็จสิ้นไม่ช้ากว่าปีงบประมาณ 2555-2558 เพื่อไม่ให้เป็นภาระงบประมาณในปีหนึ่งปีใดเกินสมควร และให้นำจำนวนเงินที่ได้รับความช่วยเหลือไปแล้วมาหักออกจากจำนวนเต็มที่จะพึงได้รับด้วย
2.เงินช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์วันที่ 28 เมษายน 2547
(2.1) กรณีมัสยิดกรือเซะ-ที่ประชุมเห็นว่า ด้วยคณะกรรมการอิสระไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีเหตุการณ์ในมัสยิดกรือเซะ (ที่มีนายสุจินดา ยงสุนทร เป็นประธาน) ได้มีความเห็นว่า สมควรเสนอแนะมาตรการเร่งด่วนขั้นแรก คือ รัฐควรพิจารณาจ่ายเงินค่าช่วยเหลือให้แก่ทายาทของผู้เสียชีวิต และแก่ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บทั้งสองฝ่ายโดยอาศัยเหตุผลด้านมนุษยธรรมเป็นหลัก
อีกทั้งเป็นการตอบสนองเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล การจ่ายเงินช่วยเหลือดังกล่าวน่าจะมีส่วนช่วยในการเยียวยา และสมานแผลที่เกิดจากเหตุการณ์ที่มัสยิดกรือเซะ และอาจเป็นก้าวหนึ่งที่จะนำไปสู่ความสมานฉันท์ นอกจากนั้นแล้วน่าจะนำความพึงพอใจได้บางส่วนมาสู่บุคคล องค์การ และนานาประเทศที่กำลังจ้องมองประเทศไทยว่าจะจัดการอย่างไรกับเหตุการณ์ดังกล่าว
และย่อมส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศในเวทีนานาชาติว่าเป็นประเทศที่มีความเป็นธรรม และมนุษยธรรม ที่ประชุมจึงมีมติเห็นสมควรจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ จากเหตุการณ์วันที่ 28 เมษายน 2547 ที่มัสยิดกรือเซะ ทั้งผู้ที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และผู้ที่มิใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามเกณฑ์ในข้อ 1.1 ข้างต้นเป็นจำนวน 500,000 บาท และเงินเพิ่มพิเศษเพื่อช่วยเหลือตามระเบียบคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ฯ พ.ศ.2555 อีก 3,500,000 บาท (ครึ่งหนึ่งของเพดานเงินที่จ่ายได้ตามระเบียบดังกล่าว) รวมสองจำนวนเป็นเงินรายละ 4,000,000 บาท (ประชาชน 32 ชีวิต เจ้าหน้าที่ 3 ชีวิต)
(2.2) กรณีสะบ้าย้อย ที่ประชุมพิจารณาเห็นว่า กรณีเหตุการณ์เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547 ที่อำเภอสะบ้าย้อย เห็นสมควรจ่ายเงินช่วยเหลือตามเกณฑ์ในข้อ 1.1 ข้างต้นเป็นจำนวน 500,000 บาท และเงินเพิ่มพิเศษเพื่อช่วยเหลือตามระเบียบคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ฯ พ.ศ. 2555 อีก 7,000,000 บาท รวมสองจำนวนเป็นเงินรายละ 7,500,000 บาท (จำนวน 19 ชีวิต)
3.เงินช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์กรณีตากใบ 25 ตุลาคม 2547
ที่ประชุมพิจารณาเห็นว่า กรณีเหตุการณ์เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ที่อำเภอตากใบ เห็นสมควรจ่ายเงินช่วยเหลือตามเกณฑ์ในข้อ 1.1 ข้างต้นเป็นจำนวน 500,000 บาท และเงินเพิ่มพิเศษเพื่อช่วยเหลือตามระเบียบคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ฯ พ.ศ.2555 อีก 7,000,000 บาท รวมสองจำนวนเป็นเงินรายละ 7,500,000 บาท (จำนวน 85 ชีวิต)
4.การจ่ายเงินเยียวยาตามข้อ 2.2 และข้อ 3 ให้นำจำนวนเงินที่ได้รับความช่วยเหลือไปแล้วมาหักออกจากจำนวนเต็มที่จะพึงได้รับด้วย
5.กรณีนายสมชาย นีละไพจิตร สูญหาย และมีหลักฐานชัดเจนว่า มีเจ้าหน้าที่ของรัฐเกี่ยวข้องโดยตรงในเหตุการณ์ และมีความเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ประชุมเห็นสมควรจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาเป็นจำนวน 7,500,000 บาท ทั้งนี้ ไม่ตัดสิทธิทายาทที่จะใช้สิทธิตามกระบวนการยุติธรรมในศาลยุติธรรมต่อไป
6.กรณีผู้ถูกบังคับให้สูญหาย ที่ประชุมเห็นสมควรให้ความช่วยเหลือเยียวยาดังนี้
(6.1) ในกรณีสูญหาย โดยมีข้อมูลน่าเชื่อว่า มีเจ้าหน้าที่ของรัฐเกี่ยวข้อง ที่ประชุมเห็นสมควรจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาเป็นจำนวน 7,500,000 บาท
(6.2) ในกรณีสูญหายซึ่งมีข้อมูลชั้นต้นว่า อาจมีเจ้าหน้าที่ของรัฐเกี่ยวข้อง ที่ประชุมเห็นสมควรจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาเป็นจำนวน 4,000,000 บาท
ทั้งนี้ ที่ประชุมมอบหมายให้คณะอนุกรรมการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบกรณีถูกบังคับให้สูญหาย หรือถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนวิธีอื่นโดยเจ้าหน้าที่รัฐจนบาดเจ็บ พิการ หรือเสียชีวิต เป็นผู้พิจารณาจำแนกข้อเท็จจริงเป็นรายกรณี นอกจากกรณีที่ที่ประชุมได้มีมติ และกำหนดเกณฑ์ให้ความช่วยเหลือดังกล่าวข้างต้น ยังมีกรณีที่คณะอนุกรรมการชุดต่างๆ จะได้เร่งพิจารณาและนำเข้าพิจารณา ในคณะกรรมการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไปโดยไม่เนิ่นช้า ขอซักซ้อมความเข้าใจว่าสำหรับผู้ที่มิได้อยู่ในหลักเกณฑ์การจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาตามมติที่ประชุมในวันนี้ มิได้หมายความว่าจะไม่ได้รับการพิจารณาในโอกาสต่อไป