คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย
เมื่อสิ้นอาจารย์อาคม พัฒิยะ อาจารย์สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ ประธานโครงการปรับปรุงสารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคใต้ ก็ไปเชื้อเชิญกัลยาณมิตรทางวิชาการวัฒนธรรมพื้นบ้านคือ รศ.ภิญโญ จิตต์ธรรม มาเป็นรองประธานฯ แทนอาจารย์อาคม ด้วยความเป็นผู้ใหญ่ใจดี และมีอารมณ์ขันคล้ายกัน ทำให้ผู้เขียนได้มีโอกาสใกล้ชิดสนิทสนมกับอาจารย์ภิญโญในลักษณะเดียวกันกับอาจารย์อาคม เพียงแต่ไม่ค่อยได้ไปไหนมาไหนด้วยกันมากเท่ากับการออกไปทานข้าวมื้อเที่ยง และพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และฟังอาจารย์เล่าเรื่องราวต่างๆ ให้ฟังตามประสาผู้รู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมพื้นบ้านภาคใต้ระดับปรมาจารย์คนหนึ่งทีเดียว
อาจารย์ภิญโญ จิตต์ธรรม เป็นผู้สนใจ เห็นคุณค่า และมีผลงานโดดเด่นทางด้านวัฒนธรรมพื้นบ้าน โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับคติชนวิทยา อาจารย์เป็นชาวบ้านตีนนอ อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา เกิดเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2475 บิดาชื่อนายสุทิน ยกติ้น มารดาชื่อนางเจริญศรี สกุลเดิมพืชมงคล เป็นบุตรคนโตของครอบครัว มีพี่น้องร่วมบิดามารดาด้วยกัน 6 คน
จบการศึกษาระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนประชาบาล 3 วัดสิกขาราม ตำบลคลองแดน อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา พ.ศ.2492 จบการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษา (ม.6) จากโรงเรียนมัธยมระโนดวิทยา อำเภอระโนด รับสอบชิงทุนเข้าเป็นนักเรียนฝึกหัดครูทุนจังหวัดสงขลา ไปเรียนที่โรงเรียนฝึกหัดครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา (ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา) ได้รับวุฒิการศึกษาประโยคครูประถม (ป.ป.) พ.ศ.2497 จบการศึกษาได้รับวุฒิการศึกษาประโยคครูมัธยม (ป.ม.) จากโรงเรียนฝึกหัดครูมัธยมวังจันทรเกษม
พ.ศ.2498 เข้ารับราชการที่โรงเรียนสตรีฝึกหัดครูสงขลา จังหวัดสงขลา ระหว่าง พ.ศ.2503-2504 ศึกษาต่อระดับปริญญาตรีที่วิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร (ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร) ระหว่าง พ.ศ.2522-2523 ไปศึกษาและดูงานด้านวัฒนธรรมที่ประเทศญี่ปุ่นโดยทุนรัฐบาลญี่ปุ่น และศึกษาดูงานที่ประเทศเกาหลีใต้โดยทุนส่วนตัว
สมรสกับน.ส.อุบล รสิตานนท์ เมื่อ พ.ศ.2505 มีบุตรธิดาด้วยกัน 3 คน รศ.ภิญโญ มีบทบาทและผลงานทางด้านวัฒนธรรมพื้นบ้านภาคใต้มากมายหลายประการ ดังต่อไปนี้
พ.ศ.2499 ได้ริเริ่มงานประเพณีลอยกระทงขึ้นที่จังหวัดสงขลา เนื่องจากก่อนหน้านี้ ในภาคใต้ไม่มีงานประเพณีลอยกระทงอย่างภาคกลาง โดยเริ่มที่โรงเรียนสตรีฝึกหัดครูและโรงเรียนฝึกหัดครูสงขลา ต่อมา สถาบันอื่นๆ ทำตาม และเทศบาลเมืองสงขลารับช่วงสืบทอดต่อมาจนถึงปัจจุบัน
ระหว่าง พ.ศ.2507-2508 ได้รวบรวมเพลงกล่อมเด็ก หรือเพลงร้องเรือของภาคใต้ มูลนิธิเอเชียให้ทุนจัดพิมพ์เผยแพร่เป็นครั้งแรก
รศ.ภิญโญ จิตต์ธรรม มีส่วนในการฟื้นฟูศิลปะการละเล่นพื้นบ้านโนราที่สำคัญคนหนึ่ง โดยเริ่มสนใจอยากรู้เรื่องโนราอย่างจริงจังเมื่อ พ.ศ.2507 จึงไปหาขุนอุปถัมภ์นรากร (พุ่ม เทวา) โนราชั้นครูที่อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง เพื่อศึกษาเรื่องราว เก็บข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับโนรา จากนั้น ก็มีความคิดว่าจะถ่ายทอดศิลปะการรำ การร้องโนราให้นักเรียนฝึกหัดครูสงขลา เพื่อให้นักเรียนฝึกหัดครูนำไปถ่ายทอดให้นักเรียน หรือลูกศิษย์ต่อไป เป็นการฟื้นฟู อนุรักษ์ และสืบทอดวัฒนธรรมพื้นบ้านสาขานี้ไว้สืบไป และเมื่อนำออกเผยแพร่ด้วยวิธีการต่างๆ ในนามสถาบันทางการศึกษา จะเป็นช่องทางช่วยในการปลูกฝังความนิยมอย่างกว้างขวางอีกทางหนึ่ง จึงเชิญขุนอุปถัมภ์นรากร (พุ่ม เทวา) และคณะมาฝึกโนราให้แก่นักเรียนโรงเรียนฝึกหัดครูสงขลา จำนวนประมาณ 30 คน จนสามารถรำโนราได้ภายใน 7 วัน หลังจากนั้น ก็มีการฝึกทบทวนต่อบทใหม่ให้เรื่อยๆ หลายรุ่น
เมื่อฝึกรำได้เป็นชุดๆ ตามท่ารำโนราแบบโบราณแล้ว ก็เริ่มออกรำเผยแพร่โดยรำครั้งแรกที่วัดท้ายวัง อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง ซึ่งเป็นวัดใกล้บ้านท่านขุนอุปถัมภ์นรากร เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2508 ออกรำทีละหลายคนเพื่อสร้างความตรึงตาตรึงใจแก่ผู้ชมมากกว่าการรำทีละคนสองคนอย่างเดิมๆ ปรากฏว่า ได้รับความสนใจจากผู้ชมเป็นอย่างยิ่ง ต่อมา เมื่อมีแขกบ้านแขกเมืองมาก็จะนำโนราอวดเป็นชุดๆ หน่วยงานต่างๆ ในจังหวัดสงขลาก็ขอไปรำเพื่ออวดศิลปะพื้นบ้านในเทศกาล หรือโอกาสต่างๆ เช่น เมื่อ พ.ศ.2509 เทศบาลเมืองสงขลาเชิญไปรำในงานการประชุมสันนิบาตเทศบาลครั้งที่ 7 ระหว่างวันที่ 21-25 มีนาคม 2509 ณ โรงแรมสมิหลา
ต่อมา เมื่อนักเรียนที่ฝึกหัดจบการศึกษาจึงนำเอาความรู้ความสามารถเกี่ยวกับโนราไปถ่ายทอดแก่เด็กนักเรียน และชุมชนในภาคใต้ สถาบันการศึกษา และสถาบันต่างๆ ในภาคใต้ให้ความสนใจถ่ายทอด และสืบทอดศิลปะการแสดงโนราด้วยความภาคภูมิใจ โนราแบบโบราณจึงหวนกลับมารักษาขนบธรรมเนียมการแสดงแบบดั้งเดิมกันอีกครั้งหนึ่ง
รศ.ภิญโญ จิตต์ธรรม ได้ดำเนินการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับโนรา และพิมพ์เป็นหนังสือเผยแพร่ นำนักศึกษาไปรำเผยแพร่ในโอกาสต่างๆ จนมีผู้สืบทอดกิจกรรมดังกล่าวตราบจนทุกวันนี้
พ.ศ.2510 เรียบเรียงคู่มือประกอบการสอน “ภาษาถิ่น” เพื่อใช้เป็นเอกสารประกอบการสอนนักศึกษาที่วิทยาลัยครูสงขลา(ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา) วิทยาลัยวิชาการศึกษาสงขลา (ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยทักษิณ) และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานี
(อ่านต่อฉบับหน้า วันอังคารที่ 26 มิ.ย.)
โดย...จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย
เมื่อสิ้นอาจารย์อาคม พัฒิยะ อาจารย์สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ ประธานโครงการปรับปรุงสารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคใต้ ก็ไปเชื้อเชิญกัลยาณมิตรทางวิชาการวัฒนธรรมพื้นบ้านคือ รศ.ภิญโญ จิตต์ธรรม มาเป็นรองประธานฯ แทนอาจารย์อาคม ด้วยความเป็นผู้ใหญ่ใจดี และมีอารมณ์ขันคล้ายกัน ทำให้ผู้เขียนได้มีโอกาสใกล้ชิดสนิทสนมกับอาจารย์ภิญโญในลักษณะเดียวกันกับอาจารย์อาคม เพียงแต่ไม่ค่อยได้ไปไหนมาไหนด้วยกันมากเท่ากับการออกไปทานข้าวมื้อเที่ยง และพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และฟังอาจารย์เล่าเรื่องราวต่างๆ ให้ฟังตามประสาผู้รู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมพื้นบ้านภาคใต้ระดับปรมาจารย์คนหนึ่งทีเดียว
อาจารย์ภิญโญ จิตต์ธรรม เป็นผู้สนใจ เห็นคุณค่า และมีผลงานโดดเด่นทางด้านวัฒนธรรมพื้นบ้าน โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับคติชนวิทยา อาจารย์เป็นชาวบ้านตีนนอ อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา เกิดเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2475 บิดาชื่อนายสุทิน ยกติ้น มารดาชื่อนางเจริญศรี สกุลเดิมพืชมงคล เป็นบุตรคนโตของครอบครัว มีพี่น้องร่วมบิดามารดาด้วยกัน 6 คน
จบการศึกษาระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนประชาบาล 3 วัดสิกขาราม ตำบลคลองแดน อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา พ.ศ.2492 จบการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษา (ม.6) จากโรงเรียนมัธยมระโนดวิทยา อำเภอระโนด รับสอบชิงทุนเข้าเป็นนักเรียนฝึกหัดครูทุนจังหวัดสงขลา ไปเรียนที่โรงเรียนฝึกหัดครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา (ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา) ได้รับวุฒิการศึกษาประโยคครูประถม (ป.ป.) พ.ศ.2497 จบการศึกษาได้รับวุฒิการศึกษาประโยคครูมัธยม (ป.ม.) จากโรงเรียนฝึกหัดครูมัธยมวังจันทรเกษม
พ.ศ.2498 เข้ารับราชการที่โรงเรียนสตรีฝึกหัดครูสงขลา จังหวัดสงขลา ระหว่าง พ.ศ.2503-2504 ศึกษาต่อระดับปริญญาตรีที่วิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร (ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร) ระหว่าง พ.ศ.2522-2523 ไปศึกษาและดูงานด้านวัฒนธรรมที่ประเทศญี่ปุ่นโดยทุนรัฐบาลญี่ปุ่น และศึกษาดูงานที่ประเทศเกาหลีใต้โดยทุนส่วนตัว
สมรสกับน.ส.อุบล รสิตานนท์ เมื่อ พ.ศ.2505 มีบุตรธิดาด้วยกัน 3 คน รศ.ภิญโญ มีบทบาทและผลงานทางด้านวัฒนธรรมพื้นบ้านภาคใต้มากมายหลายประการ ดังต่อไปนี้
พ.ศ.2499 ได้ริเริ่มงานประเพณีลอยกระทงขึ้นที่จังหวัดสงขลา เนื่องจากก่อนหน้านี้ ในภาคใต้ไม่มีงานประเพณีลอยกระทงอย่างภาคกลาง โดยเริ่มที่โรงเรียนสตรีฝึกหัดครูและโรงเรียนฝึกหัดครูสงขลา ต่อมา สถาบันอื่นๆ ทำตาม และเทศบาลเมืองสงขลารับช่วงสืบทอดต่อมาจนถึงปัจจุบัน
ระหว่าง พ.ศ.2507-2508 ได้รวบรวมเพลงกล่อมเด็ก หรือเพลงร้องเรือของภาคใต้ มูลนิธิเอเชียให้ทุนจัดพิมพ์เผยแพร่เป็นครั้งแรก
รศ.ภิญโญ จิตต์ธรรม มีส่วนในการฟื้นฟูศิลปะการละเล่นพื้นบ้านโนราที่สำคัญคนหนึ่ง โดยเริ่มสนใจอยากรู้เรื่องโนราอย่างจริงจังเมื่อ พ.ศ.2507 จึงไปหาขุนอุปถัมภ์นรากร (พุ่ม เทวา) โนราชั้นครูที่อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง เพื่อศึกษาเรื่องราว เก็บข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับโนรา จากนั้น ก็มีความคิดว่าจะถ่ายทอดศิลปะการรำ การร้องโนราให้นักเรียนฝึกหัดครูสงขลา เพื่อให้นักเรียนฝึกหัดครูนำไปถ่ายทอดให้นักเรียน หรือลูกศิษย์ต่อไป เป็นการฟื้นฟู อนุรักษ์ และสืบทอดวัฒนธรรมพื้นบ้านสาขานี้ไว้สืบไป และเมื่อนำออกเผยแพร่ด้วยวิธีการต่างๆ ในนามสถาบันทางการศึกษา จะเป็นช่องทางช่วยในการปลูกฝังความนิยมอย่างกว้างขวางอีกทางหนึ่ง จึงเชิญขุนอุปถัมภ์นรากร (พุ่ม เทวา) และคณะมาฝึกโนราให้แก่นักเรียนโรงเรียนฝึกหัดครูสงขลา จำนวนประมาณ 30 คน จนสามารถรำโนราได้ภายใน 7 วัน หลังจากนั้น ก็มีการฝึกทบทวนต่อบทใหม่ให้เรื่อยๆ หลายรุ่น
เมื่อฝึกรำได้เป็นชุดๆ ตามท่ารำโนราแบบโบราณแล้ว ก็เริ่มออกรำเผยแพร่โดยรำครั้งแรกที่วัดท้ายวัง อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง ซึ่งเป็นวัดใกล้บ้านท่านขุนอุปถัมภ์นรากร เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2508 ออกรำทีละหลายคนเพื่อสร้างความตรึงตาตรึงใจแก่ผู้ชมมากกว่าการรำทีละคนสองคนอย่างเดิมๆ ปรากฏว่า ได้รับความสนใจจากผู้ชมเป็นอย่างยิ่ง ต่อมา เมื่อมีแขกบ้านแขกเมืองมาก็จะนำโนราอวดเป็นชุดๆ หน่วยงานต่างๆ ในจังหวัดสงขลาก็ขอไปรำเพื่ออวดศิลปะพื้นบ้านในเทศกาล หรือโอกาสต่างๆ เช่น เมื่อ พ.ศ.2509 เทศบาลเมืองสงขลาเชิญไปรำในงานการประชุมสันนิบาตเทศบาลครั้งที่ 7 ระหว่างวันที่ 21-25 มีนาคม 2509 ณ โรงแรมสมิหลา
ต่อมา เมื่อนักเรียนที่ฝึกหัดจบการศึกษาจึงนำเอาความรู้ความสามารถเกี่ยวกับโนราไปถ่ายทอดแก่เด็กนักเรียน และชุมชนในภาคใต้ สถาบันการศึกษา และสถาบันต่างๆ ในภาคใต้ให้ความสนใจถ่ายทอด และสืบทอดศิลปะการแสดงโนราด้วยความภาคภูมิใจ โนราแบบโบราณจึงหวนกลับมารักษาขนบธรรมเนียมการแสดงแบบดั้งเดิมกันอีกครั้งหนึ่ง
รศ.ภิญโญ จิตต์ธรรม ได้ดำเนินการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับโนรา และพิมพ์เป็นหนังสือเผยแพร่ นำนักศึกษาไปรำเผยแพร่ในโอกาสต่างๆ จนมีผู้สืบทอดกิจกรรมดังกล่าวตราบจนทุกวันนี้
พ.ศ.2510 เรียบเรียงคู่มือประกอบการสอน “ภาษาถิ่น” เพื่อใช้เป็นเอกสารประกอบการสอนนักศึกษาที่วิทยาลัยครูสงขลา(ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา) วิทยาลัยวิชาการศึกษาสงขลา (ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยทักษิณ) และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานี
(อ่านต่อฉบับหน้า วันอังคารที่ 26 มิ.ย.)