ปัตตานี - ทนายความคดีความมั่นคงในจังหวัดชายแดนใต้ ระบุเจ้าหน้าที่รัฐยังนิยมใช้วิธีซ้อมทรมานผู้ถูกควบคุมตัว ในระหว่างการสอบสวน มีมากกว่า 350 ราย
วันนี้ (31 พ.ค.) ที่ห้องประชุมโรงแรม ซี.เอส.ปัตตานี องค์กรแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ร่วมกับองค์กรมูลนิธิประสานวัฒนธรรม จัดแถลงรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลก ประจำปี 2555 และยังได้จัดเวทีเสวนาเรื่องสถานการณ์การซ้อมทรมาน และการลอยนวลพ้นผิดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมี นายอิสมาแอล เต๊ะ อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา, นางแยนะ สะแลแม และนายสิทธิพงษ์ จันทรวิโรจน์ ประธานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมเข้าร่วมเสวนา
ด้านนางพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ กรรมการสิทธิมนุษยชนแอมแนสตี้ อินเตอร์ชั่นแนล กล่าวว่าสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้เป็นการขัดแย้งกันด้วยอาวุธในประเทศ เช่นเดียวกับอดีตที่ผ่านมา ผู้ที่ถูกสังหารในระหว่างการขัดแย้งกันด้วยอาวุธในภาคใต้ของไทย ส่วนใหญ่แล้วยังคงเป็นพลเรือน โดยมากกว่าครึ่งเป็นชาวมุสลิม ผู้ก่อการได้เริ่มใช้ระเบิดชนิดแสวงเครื่องมากขึ้น โดยพุ่งเป้าทำร้ายพลเรือน หรือโจมตีโดยไม่แยกแยะ เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามสร้างความหวาดกลัวในบรรดาประชาชน โดยมีข้อเรียกร้องถึง 9 ข้อ
โดยเฉพาะให้มีการยุติการสนับสนุน และการให้เงินอุดหนุนการจัดซื้ออาวุธปืนขนาดเล็ก และให้เข้มงวดต่อการบังคับใช้ระเบียบที่เกี่ยวกับการครอบครองอาวุธปืน ให้ยุติการขึ้นบัญชีดำ ผู้ต้องสงสัยอย่างไม่เป็นทางการ ให้หาทางสืบหาทนายความสมชาย นิละไพจิตร และบุคคลอื่นที่บังคับให้สูญหาย เพื่อประกันว่าจะมีการนำตัวผู้ที่รับผิดชอบต่อการสูญหายมาลงโทษ และให้สัตยาบันรับรองต่ออนุสัญญาสากลว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลสูญหาย เพื่อบังคับใช้อนุสัญญาในระดับประเทศโดยทันทีหลังมีการให้สัตยาบัน เป็นต้น
ด้านนายสิทธิพงษ์ จันทรวิโรจน์ ประธานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม กล่าวว่า ในฐานะที่เรารับเป็นทนายความคดีมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งแต่แต่ปี 2550-2555 ได้รับการร้องเรียนจากลูกความว่า ถูกเจ้าหน้าที่รัฐบางคนใช้วิธีการทรมานในระหว่างควบคุมตัวมีมากกว่า 350 กว่าราย โดยมีวิธีการทรมานในหลายรูปแบบ เพื่อบังคับให้ผู้ถูกควบคุมตัวรับสารภาพก่อนนำตัวสงให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการฟ้องศาล แต่ที่น่าหนักใจมากที่เราไม่สามารถดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐผู้ที่นิยมใช้วิธีการทรมานผู้ต้องหาได้แม้สักรายเดียว เพราะมีข้อกฎหมายพิเศษที่ใช้ในพื้นที่คุ้มครองเพื่อไม่ให้เอาผิดกับเจ้าหน้าที่ได้ จึงทำให้การทรมานผู้ต้องหายังคงใช้อยู่ในพื้นที่ ถึงแม้กฎหมายรัฐธรรมนูญได้มีการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ต้องหาแล้วก็ตาม
ด้านนายอิสมาแอล เต๊ะ อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา ได้เล่าถึงเหตุการณ์ถูกเจ้าหน้าที่ทหารทรมานในระหว่างควบคุมตัวในฐานหน่วยเฉพาะกิจยะลา และในค่ายอิงคยุทธบริหารจังหวัดปัตตานี และขณะนี้เราได้มอบหมายให้ทางมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมฟ้องเอาผิดกับเจ้าหน้าที่เหล่านั้น ทั้งทางอาญา และทางแพ่ง ซึ่งขณะนี้คดียังอยู่ที่ศาล