ASTVผู้จัดการออนไลน์ - นักวิชาการ-ประธานศูนย์ทนายความมุสลิม-รองโฆษก- กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า-นักสิทธิมนุษยชน ร่วมวิเคราะห์ปมคาร์บอมใจกลางเมืองหาดใหญ่ ชี้ 3 ประเด็นหลัก มุ่งล้มโต๊ะแผนเจรจาสันติภาพ และตอบโต้กรณีรัฐบาลไทยแถลงต่อโอไอซีกล่าวหาว่าผู้ก่อเหตุเกี่ยวพันค้ายาเสพติด น้ำมันเถื่อน ไม่เกี่ยวอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน รวมทั้งตั้งข้อสงสัยมีคนเลี้ยงไข้ปัญหาความไม่สงบเพื่อดูดงบประมาณ และเหตุใดความรุนแรงมักเกิดขึ้นก่อนการพิจารณาต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ?
นอกจากเสียงประณามถึงการก่อเหตุอันเลวร้ายที่เกิดขึ้น ยัง,มีคำถามหลังเหตุการณ์ความสูญเสียตามมาว่า เพราะเหตุใดปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ก่อนนี้จำกัดอยู่ในอาณาเขตของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ จ.ปัตตานี, ยะลา, นราธิวาส และสี่อำเภอของ จ.สงขลานั้น กลับเริ่มขยายวงกว้างกระทั่งรุกคืบถึงใจกลางเมืองหาดใหญ่ศูนย์กลางย่านเศรษฐกิจและแหล่งท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ
มากไปกว่านั้น เมื่อเหตุวางระเบิดกลางเมืองหาดใหญ่อยู่ในช่วงเวลาประจวบเหมาะกับการที่มีข่าวว่าผู้นำรัฐบาลเดินทางไปเจรจากับขบวนการแบ่งแยกดินแดน ทั้งมีรัฐบาลมาเลเซียร่วมรับฟัง จึงทำให้ผู้ติดตามสถานการณ์การเมืองภาคใต้มาโดยตลอดวิเคราะห์ว่า เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นนั้น เป็นฝีมือของกลุ่มหัวรุนแรงในขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่ต้องการต่อต้านแนวทางการเจรจาโดยสันติวิธี
ขณะที่นักฏหมายชาวมุสลิมในพื้นที่ วิเคราะห์สถานการณ์ในมุมกลับว่า แท้ที่จริง อาจมีประเด็นละเอียดอ่อนอีกมากที่รัฐจำต้องระมัดระวัง ไม่ว่าการแสดงทีท่าต่อประชาคมโลกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หรือแม้แต่ยุทธวิธีต่างๆ ของฝ่ายความมั่นคง หากละเลยบริบทในพื้นที่ซึ่งมีความละเอียดอ่อนอย่างยิ่งในบางประเด็น อาจกลับกลายเป็นว่า แนวทางที่รัฐดำเนินอยู่ อาจเป็นเงื่อนไขที่นำไปสู่ความขัดแย้งที่บานปลายขึ้น ไม่ว่าการกล่าวหาโยงใยว่าผู้ก่อการเกี่ยวกันกับขบวนการค้ายาเสพติดและน้ำมันเถื่อน หรือการรีบออกมาแถลงต่อสาธารณะว่ารู้ตัวคนร้ายแล้ว ทั้งที่อาจยังมีพยานหลักฐานไม่มากพอ รวมถึงการที่นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ว่ารู้ตัวคนร้ายแล้ว เป็นเพียงกลุ่มเล็กๆ ไม่ใช่กลุ่มใหญ่
ไม่นับงบประมาณกว่า 40 ล้านบาทที่เตรียมทุ่มลงไปหลังเกิดเหตุดังกล่าวขึ้น กอปรกับ การต่ออายุ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ครั้งใหม่ ที่ทำให้คนในพื้นที่อดตั้งคำถามไม่ได้ว่า เพราะเหตุใด ต้องมีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้น ในแทบทุกครั้งที่ใกล้จะมีการพิจารณาการต่ออายุ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ
ทั้งหลายทั้งปวงล้วนเป็นปัจจัยที่อาจเกี่ยวพัน เชื่อมโยง และไม่ควรมองข้าม ตราบใดที่สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ยังคงปะทุรุนแรงและไม่มีทีท่าว่าจะสงบลงได้ในเร็ววัน ดังหลากหลายทัศนะจากนักวิชาการ นักกฏหมายในพื้นที่ จ. ยะลา นักสิทธิมนุษยชนผู้ขับเคลื่อนเรื่องสันติภาพในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงมุมมองเรื่องมาตรการรัฐผ่านปากคำของรองโฆษก กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า ที่ทุกความเห็นล้วนมีทั้งมิติหลากหลายและแฝงประเด็นร่วมบางอย่างที่น่าสนใจ
ล้มโต๊ะเจรจา ต่อต้านสันติวิธี
“เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นผมว่ามีแรงกดดันจากนโยบายของรัฐบาล จากแนวทางการแก้ไขปัญหาที่พยายามเปิดพื้นที่ให้กับประชาชนและเปิดพื้นที่ให้กับการทำข้อเสนอให้เกิดการกระจายอำนาจเขตปกครองพิเศษ รวมทั้งมีความพยายามเจรจาระหว่างรัฐบาลและฝ่ายขบวนการผู้ก่อเหตุการณ์ความไม่สงบ รวมทั้งภาคประชาสังคม ที่ผ่านมานโยบายของรัฐในแนวทางทางการเมืองเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น เหล่านี้เองทำให้กลุ่มขบวนการ BRN, พูโล หรือบางกลุ่มของขบวนการเหล่านี้ ไม่เห็นด้วยกับแนวทางสันติ และแสดงการตอบโต้แนวทางสันติด้วยการก่อเหตุที่สร้างความเสียหายแก่ประชาชนในวงกว้างและสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่กลางเมืองยะลา หรือกลางเมืองหาดใหญ่ซึ่งไม่เคยเกิดเหตุแบบนี้มาก่อน เพื่อเป็นการส่งสัญญาณ ในทางการเมือง ในการปฏิเสธการเจรจาอย่างสันติ” ผศ.ดร. ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ (CSCD) วิเคราะห์ว่าเหตุการณ์วางระเบิดใจกลางเมืองหาดใหญ่อาจมีที่มาจากการแสดงนัยต่อต้านแนวทางการดำเนินนโยบายที่มุ่งแก้ไขปัญหาอย่างสันติ ทั้งเพิ่มเติมถึงปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ
“ในทางกลับกัน ผมก็มองว่านโยบายตามแนวทางสันติภาพยังเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งทำให้กลุ่มที่เน้นความรุนแรงไม่เห็นด้วยและพยายามสร้างแรงกดดัน ซึ่งหากมีการใช้ยุทธวิธีทางทหารตอบโต้นั้น ผมว่ามันจะเห็นผลเพียงแค่ระยะสั้นเท่านั้น ประชามติหรือสังคมไม่เห็นด้วย เพราะมันมีผลกระทบอย่างรุนแรงมาก ผมจึงเห็นว่าแนวทางสันติอันหมายถึงการเกิดพื้นที่ในสังคม เพื่อให้ทุกๆ ฝ่าย ได้ร่วมกันหาทางออกจากปัญหาในภาคใต้นั้นยังเป็นวาระสำคัญ ไม่ใช่ว่าจะหันไปใช้มาตรการทางทหารหรือการปราบปราม ซึ่งมันไม่ใช้วิธีที่จะแก้ไขปัญหาในระยะยาวได้ แต่แน่นอนว่าต้องมีการระมัดระวังมากขึ้นในทางความมั่นคง แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไปใช้วิธีการความมั่นคง ในการแก้ปัญหาอย่างเดียว เพราะมันไม่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาในระยะยาว ดังในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก แนวทางสันติภาพก็มักจะถูกท้าทายด้วยวิธีการรุนแรงเสมอ เราจึงต้องระมัดระวังมากขึ้นแต่ต้องไม่ยอมแพ้ ต้องยืนหยัดในแนวทางสันติ”
ครั้นถามว่าหากการกระทำดังกล่าวเป็นไปเพื่อตอบโต้นโยบายรัฐ เช่นนั้นแล้วเหตุการณ์ความรุนแรงจะมีแนวโน้มขยายวงกว้างมากขึ้นและมีรูปแบบที่สร้างความเสียหายยิ่งขึ้นกว่าที่เกิดขึ้นหรือไม่? ผศ.ดร. ศรีสมภพ มองว่าเหตุการณ์อาจยังไม่บานปลายรุนแรงมากไปกว่านี้ เพราะทางฝ่ายที่ก่อเหตุเขาจะก่อเหตุได้ในช่วงที่ไม่มีการระมัดระวัง ดังนั้น ถ้าฝ่ายรัฐมีการตรวจสอบ เฝ้าระวังอย่างรัดกุมเข้มข้นมากขึ้น อีกทั้งประชาชนร่วมกันสอดส่องดูแล การก่อเหตุร้ายก็จะทำได้ยากขึ้น
“เขาจะก่อเหตุได้เฉพาะในบางครั้ง ในบางจังหวะที่เกิดช่องโหว่เท่านั้น ผมมองในแง่ของศักยภาพและจำนวนคนที่จะก่อเหตุแบบนี้ว่าคงมีอยู่จำกัด โดยเฉพาะที่หาดใหญ่ คงทำอีกไม่ง่าย หรือแม้แต่ในพื้นที่สามจังหวัดเองก็เช่นกัน จำนวนของเจ้าหน้าที่รัฐก็มีความระมัดระวังมากขึ้น คงจะก่อเหตุรุนแรงครั้งใหญ่ได้ไม่ง่าย แต่ก็ต้องยอมรับว่าสถานการณ์มีความขึ้นๆ ลงๆ แต่ความรุนแรงที่จะเพิ่มสูงไปในวงกว้างนั้นยังไม่เกิดขึ้น เพราะการเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ทางการเมือง เขาก็ต้องการการสนับสนุนจากประชาชนด้วย ถ้าเขาใช้การก่อการร้ายอย่างเดียว เขาก็จะได้รับผลกระทบสะท้อนกลับมาคือจะทำให้เขาสูญเสียเสียงสนับสนุนจากประชาชน ผมจึงเชื่อว่าเขาจะไม่ทำเช่นนั้น เพราะมันจะทำให้เขาแพ้ในทางการเมือง ถ้าจะทำ ก็ทำเพื่อสร้างกระแสในบางครั้งเท่านั้น”
ขณะที่ พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ อนุกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและผู้อำนวยการโครงการเข้าถึงความยุติธรรมแก่ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม มีความเห็นต่อเหตุระเบิดที่เกิดขึ้นว่า
“ความเสียหายที่เกิดขึ้นค่อนข้างรุนแรง เป็นเหตุการณ์ก่อการร้าย แต่ถ้าให้วิเคราะห์ว่าใครอยู่เบื้องหลังและเพื่อการใด โดยส่วนตัววิเคราะห์ว่าเขาทำเพื่อต้องการให้มีประเด็นในการพูดคุย อาจจะสอดคล้องกับการที่รัฐบาลมี ‘น้ำเสียง’ ว่าส่งใครไปมาเลย์เพื่อจะต่อรอง ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจทำให้เขาคิดว่าน่าจะช่วยเพิ่มอำนาจต่อรอง แต่ในความคิดดิฉันการกระทำเหล่านี้เป็นการกระทำที่ไร้คุณธรรม เป็นการกระทำที่ไม่ส่งเสริมให้การพูดคุยเป็นไปในทิศทางที่ดี ไม่ใช่ว่าคุณระเบิดที่นั่นที่นี่แล้วคุณจะสามารถสร้างอำนาจชอบธรรมในการต่อรอง มันไม่เป็นลูกผู้ชาย เราก็มีแถลงการณ์เรียกร้องว่าทุกฝ่ายควรจะต้องประณาม แม้นว่าจะมองไปได้ว่าเป็นการกระทำของกลุ่มผู้ก่อการที่ต้องการหวังผลประโยชน์ทางการเมืองแต่มันเป็นวิธีการที่โหดร้ายทารุณและส่งผลกระทบในวงกว้างมาก และไม่น่าจะส่งผลดีต่อการสร้างความชอบธรรมในการเรียกร้องทางการเมืองใดๆ ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยุติการใช้ความรุนแรงเพื่อต่อรองอำนาจทางการเมือง”
ตอบโต้รัฐ กล่าวหาโยงใยยาเสพติด-น้ำมันเถื่อน
นอกจากนักสิทธิมนุษยชนและนักวิชาการผู้ติดตามสถานการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มาอย่างต่อเนื่องแล้ว มุมมองจาก อาดิลัน อาลีอิสเฮาะ ประธานสำนักงานศูนย์ทนายความมุสลิม จ. สงขลา นักกฏหมายผู้คอยรับเรื่องร้องเรียนและเรียกร้องความเป็นธรรมให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์ในพื้นที่ จ. ยะลา มาอย่างยาวนาน ก็วิเคราะห์ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในแง่มุมที่น่าสนใจไม่น้อย
“ในทัศนะของผม เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมันเป็นสื่งที่รัฐเองจะต้องมาพิจารณาว่า ทำไมจึงมีการขยายวงจากพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กับ 4 อำเภอของ จ. สงขลา ไปเข้าสู่ตัวเมืองหาดใหญ่ ทั้งที่ก่อนหน้านี้เราควรต้องยอมรับว่ากลุ่มผู้ก่อความรุนแรงนั้น เขาต้องมีความสามารถ มีศักยภาพที่จะก่อเหตุความรุนแรงนอกพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอของจ.สงขลา ได้แน่นอน นี่ในความคิดของผมนะ เพราะระยะเวลาที่ผ่านมาก็เป็นเครื่องพิสูจน์แล้วว่ารัฐไม่สามารถควบคุมพื้นที่ความรุนแรงได้
“ส่วนเหตุการณ์ความรุนแรงที่หาดใหญ่ที่เกิดขึ้นนี้ มีหลายทัศนะมองว่าเหตุที่เกิดขึ้นเป็นการโต้ตอบกรณีที่มีการตั้งโต๊ะเจรจา ทั้งเจรจาโดยเปิดเผยและไม่เปิดเผย อีกกรณีก็มองว่าเนื่องมาจากการที่รัฐพยายามที่จะกำหนดทิศทางว่ากลุ่มผู้ก่อเหตุมีความเกี่ยวโยงกับผู้ค้ายาเสพติดหรือน้ำมันเถื่อนหรือของผิดกฏหมาย คือไปโยงกับการที่รัฐให้ข้อมูลหรือตอบคำถามกับประชาคมโลกมุสลิมหรือ องค์การความร่วมมืออิสลามหรือโอไอซี (Organization of Islamic Cooperation - OIC) ซึ่งผมค่อนข้างจะให้น้ำหนักไปที่การเชื่อมโยงว่าเนื่องมาจากกรณีที่รัฐจะสื่อไปยังโอไอซีว่า เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่นั้นโยงไปยังเรื่องของผู้ค้ายาเสพติด น้ำมันเถื่อน และของผิดกฏหมาย ไม่ใช่กลุ่มผู้ก่อการณ์ที่ก่อเหตุเพราะมีอุดมการณ์หรือถูกกดขี่กดขี่จากรัฐตามที่เคยมีมาในอดีต ผมว่าตรงนี้เป็นสิ่งที่น่ากลัว มันเหมือนกับเป็นการประกาศว่าสิ่งที่คุณจะบอกกับโลกภายนอกนั้น จริงๆ แล้วความจริงคืออะไร?
“มันยังมีอะไรอีกมากในยะลาที่สังคมภายนอกยังไม่รู้ อาทิเช่น ยาเสพติด น้ำมันเถื่อน หรือของผิดกฏหมายนั้น ทำไมทุกวันนี้ ในเขตตัวเมืองยะลาจึงยังมีน้ำมันเถื่อนขายกันอยู่ทั่วไป มีขายเหมือนหน้าร้านขายของชำ ผมประมาณคร่าวๆ เฉพาะในเขตตัวเมืองยะลา ประมาณ 30-40 เจ้า มีน้ำมันเถื่อนใส่ขวดวางขายอยู่แทบถนนทุกสาย ทำไมถึงไม่มีการปราบ แล้วมันเข้ามาได้อย่างไร? ซึ่งมันสวนทางกันอย่างสิ้นเชิงกับข้อมูลที่รัฐกำลังพยายามบอกกับโลกภายนอก ว่ากำลังปราบยาเสพติด ปราบน้ำมันเถื่อน แต่ในบ้านตัวเอง หน้าจมูกตัวเอง รัฐกลับยังไม่ได้ดำเนินการทำอะไร
“ผมยังมองมุมกลับว่าการกระทำของกลุมผู้ก่อการ เป็นสิ่งที่ท้าทายข้อมูลที่รัฐให้กับโอไอซี เพราะผมมองว่า ถ้าสมมติว่ากลุ่มผู้ก่อความรุนแรงได้ยินเช่นนั้นแล้วก็อาจทำให้เกิดความรู้สึกว่า ข้อมูลเหล่านั้น เป็นข้อมูลที่ดิสเครดิตผู้ก่อความรุนแรง ที่พยายามจะบอกว่าตนต่อสู้เรียกร้องเพื่อให้รัฐให้ความเป็นธรรมแก่คนในพื้นที่ หรือก่อเหตุเพื่อรักษาบาดแผล รักษาสิ่งที่ตนเจ็บปวด หรือสิ่งที่คนในสังคมมุสลิมเจ็บปวดเมื่อในอดีต แต่รัฐกลับไปป้ายสีเขาว่าเขาเป็นพวกกะเลวกะราด เป็นพวกที่เอาแต่ผลประโยชน์ของตนเองแล้วไปนำอุดมการณ์มาเป็นตัวชู
“อย่าลืมว่าพื้นที่ตรงนี้เป็นสงคราม แต่ขณะเดียวกัน ผมก็มองมุมกลับนะว่าการที่คุณทำลายมวลชน มันก็เป็นการทำลายตัวคุณไปในตัว เพราะอย่าลืมว่าพื้นที่ตรงนี้ มันเป็นการต่อสู้เพื่อแย่งชิงมวลชนเหมือนกัน แต่เมื่อมองภาพรวมแล้ว ผมยังมีมุมมองว่ารัฐเองต้องระมัดระวังการนำเสนอเรื่องพวกนี้ให้มาก บางทีมองมุมเดียวไม่ได้ ต้องมองจากมุมในพื้นที่ด้วย นอกจากนั้น เท่าที่มีรัฐบาลใหม่มากระบวนการเยียวยาหรือกระบวนแก้ปัญหาเรื่องการที่ชาวบ้านไม่ได้รับความเป็นธรรม ก็ไม่มีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรมเท่าที่ควร แต่ไม่ว่าอย่างไร ในทัศนะของผมเอง ผมก็ขอประณามผู้ที่ใช้ความรุนแรง ขอประณามการกระทำของผู้ก่อเหตุที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่เขาไม่ใช่คู่ขัดแย้ง คู่ขัดแย้งของคุณไม่ใช่ประชาชนผู้บริสุทธิ์”
ช่องโหว่มาตรการรัฐ และกรณีล้อมคอก ทุ่มอีก 40 ล้าน ตั้งด่านตรวจจะนะ
อีกประเด็นสำคัญที่ไม่อาจมองข้ามก็คือ เมื่อเกิดเหตุการณ์วางระเบิดที่หาดใหญ่แล้ว พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ผบ.ตร. เผยว่า จะทุ่มงบประมาณ 40 ล้านบาทเพื่อตั้งด่านตรวจถาวรที่ อ. จะนะ นำไปสู่คำถามที่สังคมมีต่อรัฐว่าแนวทางดังกล่าวจะสามารถป้องปรามความรุนแรงได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่
ประเด็นข้างต้น ผศ.ดร.ศรีสมภพ มองว่า การทุ่มงบประมาณลงไปในแง่ยุทธวิธีก็อาจจะได้ผล ช่วยป้องกันระมัดระวัง แต่ก็ต้องดูให้ดีด้วย เพราะเดิมทีด่านตรวจในภาคใต้นั้น โดยส่วนใหญ่เป็นด่านตรวจของทหาร ส่วนตำรวจมีด่านตรวจอยู่น้อย ยิ่งช่วงหลังๆ ก็ให้ทหารพรานทำ เพราะฉะนั้นก็ต้องดูว่ามีการประสานงานระหว่างตำรวจกับทหารอย่างไร ซึ่งยอมรับว่าตำรวจควรจะมีเพิ่มมากขึ้น เพราะตำรวจจะควบคุมเรื่องการใช้กฏหมายได้ดีกว่า ความผิดพลาดน้อยกว่า และตำรวจในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็มีการพัฒนาเพิ่มขึ้น ทั้งเรื่องอบอรมและการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ซึ่งผมมองว่าดีนะที่ตำรวจจะมาช่วย แต่ก็คงต้องประสานงานกับฝ่ายทหารให้ดี ไม่เช่นนั้น ก็จะกลายเป็นต่างคนต่างทำและขาดเอกภาพ”
ขณะเดียวกันตัวแทนจากฝ่ายความมั่นคงอย่าง พันเอก ปราโมทย์ พรหมอินทร์ รองโฆษก กอ รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า สะท้อนถึงมาตรการการทำงานและวิเคราะห์เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากมุมมองของเจ้าหน้าที่รัฐว่า
“จริงๆ แล้ว ลักษณะของผู้ก่อเหตุเขาก็ย่อมต้องหาวิธีในการก่อเหตุทุกวิถีทาง ช่วงที่ผ่านมา เขาเพลี่ยงพล้ำทั้งในทางทหารและการทำงานทางการเมืองของเจ้าหน้าที่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีความพยายามชูประเด็นเรื่องการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จากบางกลุ่มบางองค์กร แต่ไม่ได้รับกระแสตอบรับจากพี่น้องประชาชน รวมถึงการชูประเด็นปัตตานีมหานคร พี่น้องประชาชนกว่าร้อยละแปดสิบก็ไม่เอาด้วย หรือหากจะชูประเด็นเรื่องการซ้อมทรมานการละเมิดสิทธิมนุษยชนก็ไม่ได้รับการยอมรับ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ทุกคนเราเคร่งเรื่องหลักกฏหมายและไม่ละเมิดสิทธิทำให้ประชาชนในช่วงหลัง เขาหันมาให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ ดังนั้น เหตุที่เกิดขึ้น เรามองว่ากลุ่มผู้ก่อเหตุจึงทำทุกวิถีทางเพื่อสะกดมวลชนที่เข้ามาทางฝ่ายรัฐมากขึ้น และต้องการแสดงศักยภาพให้สังคมเห็นว่าเขายังอยู่ ยังไม่เพลี่ยงพล้ำ ช่วงหลังนี่เขาจึงก่อเหตุสะเปะสะปะและไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของพี่น้องประชาชน”
ครั้นถามไถ่ถึงทัศนะที่หลายฝ่ายมองว่าเกิดจากการตอบโต้นโยบายทางการเมืองหรือเพื่อตอบโต้กรณีที่รัฐแถลงว่าผู้ก่อเหตุความไม่สงบเป็นพวกค้ายาเสพติดและน้ำมันเถื่อน ทำให้เกิดการก่อความรุนแรงเพื่อแสดงนัยต่อต้านที่รัฐกล่าวหาว่าค้าของผิดกฏหมายทั้งที่ทำตามอุดมการณ์ทางการเมืองนั้น พันเอก ปราโมทย์ อธิบายว่า
“เหตุที่เกิดขึ้นเป็นการกระทำของผู้ที่ต้องการแบ่งแยกดินแดน เป็นแนวคิดที่สืบต่อมาเป็นร้อยๆ ปี และเปลี่ยนวิธีการไปเรื่อยๆ เช่นมีการรวมกลุ่มกันเป็น BRN ส่วนกรณีที่รัฐประกาศว่าเหตุในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นการกระทำของผู้ค้ายาและน้ำมันเถื่อนนั้น จริงๆ แล้วนี่เป็นประเด็นละเอียดอ่อนที่เราต้องระมัดระวังในการนำเสนอข่าว เพราะเราพูดมาตลอดว่าเหตุการณ์ในสามจังหวัดเป็นเรื่องในประเทศที่เราแก้ไขปัญหากันได้เอง จะไม่มีการเจรจา เพราะมันเป็นเรื่องคู่สงคราม สิ่งที่เขาทำเป็นสิ่งผิดกฏหมาย เขาเป็นอาชญากรที่ต้องได้รับการลงโทษทางกฏหมาย ดังนั้น มันไม่มีความจำเป็นที่เราจะต้องไปประกาศต่อประชาคมโลกว่าเขาเป็นขบวนการแบ่งแยกดินแดน มันเป็นปัจจัยภายใน เป็นเรื่องละเอียดอ่อน สิ่งที่เกิดขึ้นมันเป็นเพียงคนกลุ่มเล็กๆ ที่สร้างสถานกการณ์ขึ้นมา เป็นผู้ที่มีผลประโยชน์ร่วมด้วย มันไม่ใช่ร้อยเปอร์เซ็นต์ที่มีอุดมการณ์เรื่องแบ่งแยกดินแดน”
นอกจากวิเคราะห์เหตุการณ์ความรุนแรงแล้ว รองโฆก กอ.รมน. 4 ส่วนหน้า ได้อธิบายเพิ่มเติมถึงมาตรการด้านความมั่นคงว่า ผู้บัญชาการทหารบก เดินทางมารับฟังปัญหา และได้มอบนโยบายและการปรับแผนในเรื่องการรักษาความปลอดภัย โดยเฉพาะในเขตตัวเมือง แม้โดยปรกติจะเป็นหน้าที่ของทางจังหวัดและตำรวจอยู่แล้ว ปรกติ ทหารจะอยู่รอบนอก แต่ถ้ามีความจำเป็นให้ช่วยเสริมกำลัง เราก็พร้อมประสานงาน รวมทั้งต้องทำความเข้าใจกับชาวบ้าน เรื่องการกำหนดพื้นที่ปลอดภัย เพราะบางครั้งการดูแลความปลอดภัยก็อาจทำให้เกิดความไม่สะดวกไปบ้าง แต่เราต้องทำความเข้าใจกัน นอกจากนั้นสิ่งที่ท่านผผู้บัญชาการทหารบกต้องการคือขอให้ทุกฝ่าย ทุกองค์กรร่วมกันประณามการก่อเหตุความรุนแรงครั้งนี้ ส่วนเรื่องการติดตามจับกุมคนร้าย แม่ทัพภาค 4 ได้สั่งการให้หน่วยเฉพาะกิจในพื้นที่ดำเนินการกดดันตั้งแต่บัดนี้ เพราะคนร้ายผู้คาดว่าเป็นผู้ก่อเหตุเคยก่อเหตุมาแล้วและได้ถูกออกหมายจับมาก่อนหน้านี้ เราก็จะเร่งให้มีการจับกุมให้ได้โดยเร็วที่สุด
“เราได้รับความร่วมมือจากท่านผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ โดยท่านได้เดินทางมาหารือร่วมกับท่านแม่ทัพภาค 4 โดยท่านผู้บัญชาการตำรวจยืนยันว่าจะส่งหน่วยสืบสวนชุดพิเศษมาช่วยด้วย โดยเฉพาะทีมรวบรวมพยานหลักฐาน หลังจากที่เราจับกุมคนร้ายได้แล้ว เราต้องกการให้ผู้ต้องหาทุกคนที่ก่อเหตุละเมิดสิทธิมนุษยชนของพี่น้องประชาชน ได้รับคำพิพากษาโดยกระบวนการทางศาล นี่คือสิ่งที่ทุกหน่วยงานขณะนี้ได้หารือพร้อมกัน และท่านผบ.ตร.ก็ได้สั่งการให้มีการติดตั้งกล้อง CCTV ที่มีความละเอียดมากขึ้น ซึ่งการติดตั้งกล้องที่ด่านตรวจ อ.จะนะก็จะมีความจำเป็นมากขึ้น เพราะเป็นด่านเข้า-ออกที่ใหญ่และสำคัญ”
ประเด็นละเอียดอ่อน จิตวิทยามวลชนและยุทธวิธีทางการเมือง
ท้ายที่สุด หนึ่งในประเด้นสำคัญที่อาจส่งผลกระทบหรือก่อเกิดเป็นเงื่อนไขนำไปสู่สถานการณ์ที่บานปลายต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ ก็คงไม่พ้นประเด็นอันว่าด้วยท่าทีหรือการแสดงออกของรัฐ ซึ่งนอกเหนือไปจากการยืนหยัดในแนวทางสันติวิธีที่ควรจะโปร่งใส จริงจังและจริงใจแล้ว การแถลงข่าวว่ารู้ตัวคนร้ายเพื่อเรียกขวัญและกำลังบใจจากประชาชนตามหลักจิตวิทยามวลชน รวมถึงการให้ข่าวแก่สาธารณะทำนองว่าไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง เพราะ “ผู้ก่อเหตุเป็นเพียงกลุ่มเล็กๆ ไม่ใช่กลุ่มใหญ่” ดังที่นายกรัฐมนตรีได้กล่าวไว้นั้น ก็เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่หลายฝ่ายติดตามอย่างห่วงใย เช่นที่ ผศ.ดร. ศรีสมภพ กล่าวว่า การที่รัฐออกมาแถลงข่าวว่ารู้ตัวคนทำแล้วและบอกว่าผู้ก่อการณ์เป็นกลุ่มเล็กๆ นั้น เป็นจิตวิทยาที่รัฐใช้ต่อประชาชน เพื่อให้ประชาชนเห็นว่ารัฐรู้แล้วว่าใครทำ แต่ในทางปฏิบัติจะรู้ตัวจริงๆ หรือไม่? ก็ต้องติดตามกันต่อไป แต่ผลที่เกิดขึ้นนั้นมุ่งไปที่ประชาชนมากกว่า
“แต่ยังมีอีกประเด็นหนึ่งด้วยคือการที่มีกองกำลังทหารมากในพื้นที่ มันเป็นประเด็นเรื่องความยุติธรรมทางกฏหมาย ถ้าทหารใช้อำนาจกฏหมายพิเศษคือกฏอัยการศึกและพ.ร.ก. ฉุกเฉิน คือถ้าใช้แล้วมีความผิดพลาดมันก็จะส่งผลกระทบต่อการแก้ปัญหาโดยสันติ เพราะหลายคนก็เรียกร้องเรื่องความยุติธรรม แต่ถ้าแก้ปัญหานี้ได้ดังเช่นกรณีที่ทหารยิงชาวบ้านผู้บริสุทธิ์ 4 คน แล้วมีการสอบสวน ลงโทษทางวินัย เมื่อมีการตรวจสอบอย่างโปร่งใส ผมก็เชื่อว่าในระยะยาว ถ้าอยากแก้ปัญหาในทางการเมืองอย่างจริงจัง การถอนทหารและการยกเลิกกฏหมายพิเศษก็ควรจะเกิดขึ้น เพราะเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาด้วยสันติ แต่สำหรับการแก้ปัญหาในระยะสั้น ถ้ายังต้องมีทหารอยู่ ทหารก็ต้องรักษาความยุติธรรมไว้ให้ได้”
ส่วน อาดิลัน อาลีอิสเฮาะ กล่าวถึงประเด็นการให้ข่าวของฝ่ายรัฐในเรื่องการรู้ตัวคนร้าย และปิดท้ายถึงมาตรการในการจัดการกับเหตุการณ์ความรุนแรงหลังเกิดกรณีวางระเบิดกลางเมืองหาดใหญ่ว่า
***“ประเด็นนี้น่าสนใจตรงที่ว่า มีการเสนอข่าวว่ารู้ตัวคนร้ายที่ก่อเหตุที่สงขลาแล้ว มีการระบุชื่อตัวคนร้ายและมีการเชื่อมโยงไปโครงข่ายหนึ่ง สอง สาม ตรงนี้แหละน่ากลัว รัฐต้องรอบคอบ รัดกุมในการนำเสนอข้อมูล ซึ่งผมมองว่าหากรัฐแถลงข่าวช้าไปนิดแต่ถ้ามีข้อมูลมีหลักฐานที่รัดกุมเพียงพอก็น่าจะดีกว่า เพราะหากทำเช่นนี้ ก็จะมีคำถามสวนกลับไปทันทีว่า ‘อ้าว! ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง คุณรู้ได้ทันทีว่าผู้ก่อเหตุเป็นใคร แต่ทำไมก่อนหน้านี้ งานด้านการข่าวของคุณจึงไม่มีใครรู้ตื้นลึกหนาบางเลยว่าจะมีเหตุการณ์ความรุนแรงขึ้น’ แล้วถ้าคนที่คุณเปิดเผยชื่อปรากฏออกไป ผมไม่ได้ปกป้องนะ แต่ถ้าเขาเป็นผู้บริสุทธิ์ที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง เขาจะใช้ชีวิตต่อไปลำบากมากในสังคม สู้เรารวบรวมพยานหลักฐานแล้วจับกุมให้ได้ทีเดียวจะเหมาะสมกว่า ไม่เช่นนั้น มันก็จะเป็นบทเรียนที่ซ้ำซากเหมือนกรณีที่ดำเนินคดีจับกุมบุคคลมา 3-4 ปี แต่สุดท้ายศาลก็ยกฟ้องเพราะไม่มีหลักฐาน
“กระทั่งวันนี้ ไม่แน่ใจว่าสังคมพอจะประมวลได้หรือยัง แต่มีมุมมองหนึ่งจากคนในพื้นที่ที่ตั้งข้อสังเกตว่าเหตุการณ์ในภาคใต้ไม่สงบ เพราะมีคนต้องการทำให้มันไม่สงบ ใช่หรือไม่ ? งบประมาณเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้เหตุการณ์ไม่สงบหรือไม่? เป็นคำถามที่ทุกคนคาใจมาโดยตนลอด เช่นเดียวกันกับเรื่องการต่ออายุ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ที่มักจะต้องมีเหตุการณ์ความรุนแรงใกล้กับเวลาที่จะต้องต่ออายุ ถ้าเราดูจากสถิติที่ผ่านมา
“ผมเองคงไม่กล้าก้าวล่วงถึงขนาดว่ามันจะเกี่ยวโยงกันหรือไม่ ซึ่งในส่วนของการเป็นประตูเข้าสู่ภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทย ในสามจังหวัด การตั้งด่านตรวจก็ยังมีความจำเป็น แต่กระบวนการคัดกรองบุคคลเข้าออกในเส้นทางปัจจุบัน ถ้าเราดูไปที่นั่นแล้วผมว่ามันขึ้นอยู่กับตัวบุคคล ถ้าทุ่มงบประมาณมาเท่าใดก็ตาม แต่ตราบใดที่ตัวบุคคลยังไม่มีความสม่ำเสมอในการปฎิบัติหน้าที่ มันก็คงจะไม่สมดังเจตนารมณ์ที่ตั้งไว้”
……