xs
xsm
sm
md
lg

“ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อบต.กลาย” ต้นแบบคิดบวกพัฒนาศักยภาพโดยความร่วมมือจากเอกชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

องค์การบริหารส่วนตำบล ถือเป็นระดับองค์กรการปกครองในส่วนท้องถิ่นที่มีขนาดเล็กที่สุดในตำบล แต่กลับมีภาระที่ต้องดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนในระดับท้องถิ่นอย่างรอบด้าน และหากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งไหนที่มีขนาดเล็กเม็ดเงินงบประมาณที่จะบริหารจัดการทั้งทางด้านสาธารณูปโภค โครงข่ายบริการสาธารณะ และการบริหารจัดการภายในองค์กรเองย่อมน้อยลงตามไปด้วยส่งผลให้ขีดความสามารถในการพัฒนาพื้นที่เป็นไปได้อย่างล่าช้าและยากลำบาก

ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กองค์การบริหารส่วนตำบลกลาย อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช เป็นหน่วยงานขนาดเล็กที่อยู่ภายใต้การบริหารจัดการของ อบต.กลาย ซึ่งแน่นอนว่ามีปัญหาในเรื่องของการจัดการเนื่องจากอุปสรรคทางด้านงบประมาณ แต่อย่างไรก็ตามการแก้ปัญหาเหล่านั้นอยู่ในแผนการพัฒนาชุมชน ซึ่งย่อมแสวงหาความร่วมมือมาจัดการบริหารได้ไม่ยากนัก หากปัญหาเหล่านั้นถูกแก้ไขภายใต้ความร่วมมือ โดยเฉพาะความรับผิดชอบต่อสังคมที่ผู้ประกอบการภาคเอกชนขนาดใหญ่ที่มีขีดความสามารถในการสนับสนุนร่วมมือเพื่อประโยชน์ของสังคมโดยรวม

ก่อนหน้านี้เพียง 8 เดือนองค์การบริหารส่วนตำบลกลาย ได้มีความร่วมมือกับบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ได้ร่วมกันพัฒนาปรับปรุงศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านปากดวด หมู่ที่ 1 ตำบลกลาย อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อใช้เป็นสถานที่รองรับเด็กเล็กอายุระหว่าง 3-6 ขวบ ก็ได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากชุมชน โดยพ่อแม่ผู้ปกครองจากบ้านปากดวดและหมู่บ้านใกล้เคียงได้นำบุตรหลานมาฝากไว้กับที่ศูนย์เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวจากเดิม 34 คน เป็น 60 คน

ผู้บริหารองค์การบริหารส่วนตำบลกลาย บอกว่าศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านปากดวดแห่งนี้ เดิมเป็นอาคารหลังเก่า ภายหลังความร่วมมือกับภาคเอกชน ศูนย์แห่งนี้ได้ปรับปรุงอาคารให้มีสุขลักษณะที่ดีขึ้น อากาศถ่ายเทได้สะดวก และที่สำคัญคือมีการจ้างครูผู้ดูแลเด็กประจำศูนย์ ซึ่งคุณครูไม่เพียงแต่ดูแลความเรียบร้อยของเด็กๆ เท่านั้นแต่ยังมีกิจกรรมด้านการเรียนการสอนที่ศูนย์ฯ มุ่งเน้นให้เด็กมีความพร้อมและพัฒนาการในด้านต่างๆ ได้แก่ ให้ฟังภาษาไทยรู้เรื่อง และพูดภาษาไทยให้ถูกต้องชัดเจน ให้เด็กรักโรงเรียนและสมัครใจมาเรียน มีพลานามัยและสุขนิสัยที่ดี รวมถึงให้กล้าแสดงออก

“สำหรับตารางการสอนเด็กเล็ก หนึ่งหลักสูตรใช้เวลาประมาณ 16 สัปดาห์ 16 หน่วย ซึ่งแต่ละหน่วยจะสอนให้เด็กรู้จักคำต่างๆ ตัวอย่างเช่น ในสัปดาห์แรกหน่วยการเรียนรู้เรียกว่า “ปฐมนิเทศ-หน่วยครู” เด็กจะได้เรียนรู้คำต่างๆ 25 คำ เช่น ครู, นักเรียน, ผม, เธอ, สวัสดี, เด็กหญิง, เด็กชาย, ครับ, ค่ะ, วิ่ง, กระโดด, เดิน, โต๊ะ, เก้าอี้, ม้านั่ง เป็นต้น

หรืออย่างหน่วยต่อมาชื่อว่า “หน่วยตัวฉัน” จะสอนให้เด็กรู้จักอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย ว่า หัว, ผม, หู, จมูก, ตา, ปาก, ฟัน, หน้า, แก้ม, คิ้ว, มือ, นิ้ว, เล็บ, แขน, คอ, เท้า, ซ้าย, ขวา เป็นต้น ส่วนหน่วยการสอนที่น่าสนใจอื่นๆ อาทิ หน่วยทำครัวดีกว่า ,ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ,ผลไม้บ้านเรา ,เรารักดอกไม้ , ฉันแต่งตัว, สะอาดกายเจริญวัย,ห้องเรียนของฉัน, เครื่องเรียนของฉัน, กีฬาที่ฉันชอบ ,ในโรงเรียน บ้านของฉัน จนกระทั่งหน่วยที่16 สุดท้ายคือหน่วยอาหารที่ฉันชอบเป็นต้น” ผู้บริหาร อบต.กลาย กล่าว

สำหรับกิจกรรมในรอบหนึ่งวัน ซึ่งแต่ละวันถือเป็นวันที่สำคัญในการเตรียมความพร้อมของพื้นฐานชีวิตในการเรียนรู้ต่อไปในอนาคตข้างหน้าของเด็กๆ เหล่านี้ นอกจากเด็กๆ จะนอน อาบน้ำ รับประทานอาหารแล้ว ยังมีกิจกรรมสนุกๆ ข้างต้นช่วยเสริมสร้างทักษะการเรียนรู้ ทำให้เด็กๆ มีความสุขตลอดทั้งวัน ทั้งนี้เพื่อมุ่งเน้นให้เกิดการเสริมพัฒนาการที่ดีทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา เตรียมความพร้อมสำหรับการศึกษาต่อในระดับประถมศึกษา

นางอุไร มาหมัด ชาวบ้านหมู่ที่ 1 ตำบลกลาย อำเภอท่าศาลา แม่ของเด็กหญิงเพ็ญนภา มาหมัด บอกว่านำลูกสาวอายุ 4 ขวบ มาเรียนที่นี่ตั้งแต่เป็นศูนย์เด็กเล็กแห่งเดิมเป็นอาการหลังเก่าๆ เล็กๆ มีเด็กๆ อยู่เพียง 30 กว่าคน วันที่อากาศร้อนมาก เด็กๆ อยู่กันไม่ค่อยสบายนัก จนตอนนี้เมื่อมีอาคารหลังใหม่แล้ว สภาพแวดล้อมดูดีขึ้นมาก เด็กๆ จะกินจะนอนก็สบาย

“ฉันเห็นว่าศูนย์แห่งนี้ยังเหมาะสมทั้งในด้านความสะดวก ปลอดภัยในการเดินทางรับส่งของผู้ปกครองเพราะอยู่ใกล้ชุมชนซึ่งมีทั้งชาวไทยพุทธและมุสลิมอยู่รวมกัน ผู้ปกครองต่างต้องการให้บุตรหลานได้รับการดูแลทั้งเรื่องการศึกษา สุขภาพที่ดี ตลอดจนสิ่งแวดล้อม ดังนั้น อบต.กลาย ร่วมมือกับบริษัทเอกชนอย่างเชฟรอนที่จะมาประกอบกิจการสร้างศูนย์สนับสนุนในพื้นที่นี้ได้แสดงความรับผิดชอบต่อสังคมร่วมกันปรับปรุงและพัฒนาศูนย์แห่งนี้ ผู้ปกครองในพื้นที่จึงหันมาใช้บริการศูนย์พัฒนาเด็กเล็กแห่งนี้มากขึ้น” อุไร มาหมัด กล่าว

“พอเห็นอาคารเรียนใหม่ สะอาด รั้วรอบขอบชิด เลยตัดสินใจพาลูกมาฝากเรียน คิดว่าเรื่องสุขภาพอนามัยและความปลอดภัยเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ที่ศูนย์เด็กเล็กแห่งนี้ดีที่สุดและใกล้บ้าน ที่สำคัญไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ และยังมีอุปกรณ์การเรียนให้บางส่วน ไม่ว่าจะเป็นกระเป๋าเป้ใส่หนังสือ หรือเครื่องเขียนต่างๆ เพราะครอบครัวมีรายได้น้อย ทำอาชีพทำประมง ไม่มีกำลังพอที่จะซื้อของเหล่านี้มากนัก เมื่อนำลูกมาฝากที่ศูนย์แห่งนี้นับว่าช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในครอบครัวไปได้มากทีเดียว” ซาฟรีย๊ะ กอและ ชาวบ้านหมู่ที่ 1 ตำบลกลาย อำเภอท่าศาลา กล่าวเสริม

ครูกรองกาญจน์ หยูทองคำ ครูประจำศูนย์บอกว่า สาเหตุที่ชาวบ้านไว้วางใจพาบุตรหลานมาฝากเลี้ยงศูนย์แห่งนี้เพิ่มจำนวนมากขึ้นกว่าศูนย์ เดิมน่าจะเกิดจากความเชื่อถือและไว้วางใจที่องค์การบริหารส่วนตำบลกลายเข้ามาร่วมมือกับภาคเอกชนที่พร้อมส่งเสริมด้านการพัฒนาการศึกษาและสร้างสิ่งดีให้เกิดขึ้นในชุมชน ทำให้เกิดความพร้อมของอาคารและสถานที่ อุปกรณ์การเรียนการสอนต่างๆ ตลอดจนอาหารและนมที่เด็กๆ รับประทานในแต่ละมื้อ ที่ทาง อบต.กลายให้การสนับสนุนตลอดจนกิจกรรม ซึ่งทางศูนย์มุ่งเน้นให้สอดคล้องและตรงตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งคุณครูประจำศูนย์จะคอยเป็นผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด

ขณะที่นางหทัยรัตน์ อติชาติ ผู้จัดการนโยบายด้านรัฐและกิจการสัมพันธ์ กล่าวว่า เชฟรอนเองมีความตั้งใจที่จะร่วมมือร่วมใจกับชุมชนรอบๆ พื้นที่ที่เราปฏิบัติงานในการพัฒนาการศึกษาและคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน เพราะเราก็มองว่านี่คือสิ่งที่สำคัญของการสร้างคน ซึ่งแนวคิดเรื่องพลังคนนี่เป็นรากฐานของการดำเนินธุรกิจของเชฟรอนมากกว่า 50 ปี ในประเทศไทย โดยบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิตจำกัด ได้สนับสนุนปรับปรุงอาคารด้วยงบประมาณจำนวนหนึ่ง และควบคู่ไปกับการพัฒนาศูนย์ แห่งนี้ก็คือ การสนับสนุนงบประมาณในการว่าจ้างครูดูแลเด็กเล็ก ให้กับทางศูนย์พัฒนาเด็กเล็กประจำตำบลกลาย จำนวน 2 คน เป็นระยะเวลา 3 ปี นับเป็นหนึ่งตัวอย่างความสำเร็จและภาคภูมิใจของเราในการทำงานร่วมกันอย่างมี ประสิทธิภาพกับชุมชน โดยเฉพาะรากฐานของการพัฒนาเยาวชน”
กำลังโหลดความคิดเห็น