xs
xsm
sm
md
lg

ระวังไฟใต้ลูกใหม่ “เสื้อแดง” บุกเปิดหมู่บ้านเสี้ยมคนแตกแยก/ไชยยงค์ มณีพิลึก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์ มณีพิลึก

ความจริงวันนี้ ตั้งใจจะ “วิพากษ์” ถึงนโยบายการ “ดับไฟใต้” ของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีการ “เวิร์กชอป” ระหว่างหน่วยงาน 17 หน่วย ที่ทำหน้าที่อยู่ในภูมิภาค เพื่อให้สามารถบูรณาการกันได้ ภายใต้การกำกับของ 2 หน่วยงานหลัก คือ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า และ ศอ.บต.

ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลมีนโยบายทาง “การเมือง” ที่ชัดเจนในการดับไฟใต้ หลังจากที่ 8 ปีที่ผ่านมา แนวทางในการดับไฟใต้ถูกปล่อยทิ้งให้กองทัพ โดยมี กอ.รมน. เป็นผู้กำหนดนโยบาย และยุทธวิธีในการแก้ปัญหามาโดยตลอด

แต่ที่ยังไม่อยากจะ “วิพากษ์” เพราะเห็นว่าเรื่องนี้ยังไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน และอีกอย่างคือ ต้องการที่จะรับฟังความเห็นขององค์กรต่างๆ รวมทั้ง “ปัจเจก” บุคคล ว่าจะมีความเห็นต่างเห็นด้วยกับแนวทางแก้ปัญหาความไม่สงบตามนโยบายของรัฐบาลอย่างไร

วันนี้จึงตั้งใจที่จะถึงปรากฎการณ์ใหม่ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ นั่นคือ การกำเนิดขึ้นของ “หมู่บ้านเสื้อแดง” ที่เพิ่งจะมีการขับเคลื่อนอย่างจริงจังจากแกนนำคนเสื้อแดง และเพิ่งจะมีเรื่อง “อื้ออึง” เกิดขึ้นจากการเปิดหมู่บ้านเสื้อแดงที่ อ.จะนะ จ.สงขลา
หลังเปิดหมู่บ้านเสื้อแดงที่ อ.จะนะ จ.สงขลา ไม่นานความแตกแยกก็มาเยือน เมื่อมีการเผาศาลาดังกล่าวเป็นการต่อต้าน แต่คนเสื้อแดงกร้าวประกาศจะสร้างศาลาใหม่ให้คนเสื้อแดงอย่างมั่นคงถาวรเร็วๆ นี้
เรื่องอื้ออึงดังกล่าวคือ มีการเผาศาลาที่พักที่เป็นของหมู่บ้านเสื้อแดง และมีการหยิบยกมาเป็นประเด็นทางการเมืองระหว่าง ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคเพื่อไทย จนความขัดแย้งกินบริเวณกว้าง และมีการพยายามลากเอา ศอ.บต. และ เลขาธิการ ศอ.บต. เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

โดยข้อเท็จจริงในพื้นที่ 3 จังหวัด 4 อำเภอของ จ.สงขลา มีหมู่บ้าน “สีแดง” อยู่ก่อนแล้ว หมู่บ้าน “สีแดง” คือหมู่บ้านที่ถูก “ยึดครอง” ทางด้านมวลชนของ “แนวร่วม” จากขบวนการแบ่งแยกดินแดน ซึ่งเมื่อพูดถึงหมู่บ้านสีแดงจะเป็นที่รู้กันว่าเป็นหมู่บ้านที่ทางการต้องหาทาง “แย่งชิง” มวลชนกลับมาเป็นของรัฐ

และวันนี้ 3 จังหวัด 4 อำเภอ ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็มีหมู่บ้าน “เสื้อแดง” เกิดขึ้นอีกรูปแบบหนึ่ง ที่เป็นหมู่บ้านที่มี “สัญลักษณ์” ทางการเมือง เป็นฐานมวลชนของพรรคเพื่อไทยที่มีการขยายฐานมายังภาคใต้ เพื่อเป็นฐานทางการเมืองให้แก่พรรคเพื่อไทย ดังนั้นวันนี้ เมื่อพูดหรือเขียนถึงหมู่บ้าน “สีแดง” และหมู่บ้าน “เสื้อแดง” ต้องแยกกันให้ออก และอย่าได้เดินเข้าหมู่บ้านผิดอย่างเด็ดขาด

ความจริงการเกิดขึ้นของหมู่บ้านเสื้อแดงในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเรื่องปกติ เพราะหมู่บ้านเสื้อแดงเป็นการขับเคลื่อนทางการเมืองในการสร้างฐานทางการเมืองของพรรคเพื่อไทย และผู้ที่เป็นสมาชิกหมู่บ้านเสื้อแดงก็คือ ผู้ที่นิยมชมชอบ พ.ต.ท.ทักษิณ นิยมชมชอบในนโยบายของพรรคเพื่อไทย ซึ่งในการเลือกตั้งทุกครั้งประชาชนเหล่านี้ก็ใส่คะแนนเสียงให้แก่ผู้สมัครของพรรคเพื่อไทยอยู่แล้ว เพียงแต่ที่ผ่านมา ประชาชนที่นิยมชมชอบ พ.ต.ท.ทักษิณ ในพื้นที่ภาคใต้ ไม่ได้รวมกลุ่มแสดงตัวอย่างชัดเจนเท่านั้น

ถ้าผมเป็นพรรคประชาธิปัตย์ ผมจะไม่ร้องแรกแหกกระเชอกับการจัดตั้งหมู่บ้าน “เสื้อแดง” ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างที่เป็นอยู่ แต่จะเป็นการดีด้วยซ้ำไปที่พรรคประชาธิปัตย์จะได้เห็น “ตัวเลข” ของผู้ที่สนับสนุนพรรคการเมืองอื่นๆ อย่างชัดเจน และเห็นการขับเคลื่อนทางการเมืองของพรรค “คู่แข่ง” เพื่อที่จะสามารถวิเคราะห์สถานการณ์การเลือกตั้งกันแต่เนิ่นๆ ว่าจะใช้วิชามาร หรือวิชาเทพแบบไหนในการรักษาเก้าอี้ ส.ส.ในจังหวัดชายแดนภาคใต้

เพราะในการเลือกตั้งครั้งหน้าไม่ว่าจะช้า หรือเร็ว ฐานที่มั่นของ ปชป.ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะถูก “ทะลุทะลวง” โดยพรรคเพื่อไทยอย่างแน่นอน โดยเฉพาะหลังวันที่ 31 พ.ค. เมื่อสมาชิกบ้าน 111 พ้นโทษ “แบนอร์” หรือ วันมูหะมัด นอร์ มะทา อดีตเสนาบดีพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็น “ขุนพล” ของพรรคต้องกลับมามีบทบาททางการเมืองอย่างแน่นอน

โดยเฉพาะกระแสข่าวการ “ฟื้นฟู” กลุ่ม “วาดะห์” และการจับมือกันระหว่าง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิกับพรรคเพื่อไทย เพื่อยึดพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ย่อมทำให้พรรค ปชป. หวั่นไหว แต่การหวั่นไหวจนออกอาการของพรรค ปชป. และพยายามลากจูงให้ข้าราชการ และหน่วยงานของรัฐเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ

และในขณะเดียวกับพรรคเพื่อไทย หรือแกนนำคนเสื้อแดงเองจะเคลื่อนไหว หรือจะขับเคลื่อนฐานมวลชนด้วยการตั้งหมู่บ้านเสื้อแดงที่ไหน อย่างไร ก็ทำไปเถอะ แต่อย่าได้นำเอาหน่วยงานของรัฐ และข้าราชการในพื้นที่เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการจัดตั้ง หรือของหมู่บ้านเสื้อแดง เพราะจะสร้างบรรยากาศแห่งความแตกแยกให้เกิดขึ้น
หลังเสื้อแดงตัวแม่ออกออกมาเปิดหมู่บ้านที่ อ.จะนะ สร้างความไม่พอใจให้กับคนในหมู่บ้านอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่ต้องการความแตกแยก และออกมาประกาศไม่ใช้หมู่บ้านคนเสื้อแดงอย่างที่มีการอ้าง
วันนี้ จังหวัดชายแดนภาคใต้มีปัญหาการแย่งชิงมวลชนระหว่างขบวนการแบ่งแยกดินแดนกับภาครัฐ ซึ่ง กอ.รมน.และ ศอ.บต. ยังต้องใช้นานาความรู้ความสารมารถในการแย่งชิงมวลชน และอาจจะต้องใช้เวลาเป็น 10 ปี กว่าจะได้ชัยชนะ หรือกว่าจะพ่ายแพ้

ดังนั้น จงอย่าให้ปัญหาทางการเมืองระหว่าง “เสื้อแดง” ที่เป็นมวลชนของพรรคเพื่อไทย กับคนอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นกลุ่มก้อนที่มากกว่า คือ กลุ่มคนผู้สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ต้องหันหน้าเข้าประจันเพื่อทำการ “สัประยุทธ์” ตามความต้องการของนักการเมืองที่ต้องการเพียงรักษาฐานคะแนนเสียงเพื่อการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว

ปัญหาของหมู่บ้านเสื้อแดงจะไม่เป็นปัญหาความมั่นคงเลย ถ้านักการเมืองเล่นการเมืองใน “กติกา” ไม่มีการปลุกระดมมวลชนเพื่อให้เกิดความแตกแยกให้เกิดขึ้น แต่เมื่อเห็นการขับเคลื่อนของเหล่านักการเมืองทั้ง 2 พรรค ในขณะนี้แล้วเห็นได้ชัดเจนว่า จังหวัดชายแดนภาคใต้กำลังเกิดปัญหาใหม่ขึ้น นั่นคือ การแตกแยกของประชาชนในพื้นที่เพื่อการ “เลือกข้าง” และเพื่อที่จะเป็น “ศัตรู” กันในอนาคต

และการที่นักการเมืองพยายาม “ยึดโยง” เอาศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าไปสู่ “วังวน” แห่งความขัดแย้ง ทำให้เกิดปัญหาวิกฤตศรัทธาขึ้น เพราะ ศอ.บต. คือหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการแก้ปัญหาความไม่สงบร่วมกับ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เล่น “การเมือง” ไม่ได้ แต่เมื่อถูก “การเมือง” พยายามที่จะ “เล่น” จนแปดเปื้อนจะทำให้ความเชื่อมั่นของประชาชนลดน้อยลง และจะส่งผลต่อการแก้ปัญหาความไม่สงบ

วันนี้ ปัญหาของประชาชนของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีมากจนเกินความสามารถของเจ้าหน้าที่แล้ว ฉะนั้น อย่าให้เรื่องของ “การเมือง” เข้ามาเพิ่มเติมความขัดแย้งอีกเลย ไม่สงสารประเทศชาติ ก็ขอให้สงสารประชาชนในพื้นที่ด้วยเถอะ

แค่ถูก “เสี้ยม” จากแนวร่วมขบวนการแบ่งแยกดินแดนให้ “เหินห่าง” เหมือนไม่รู้จักกันอย่างที่เป็นอยู่ จนกลายเป็นปัญหาที่ยังคลำทางแก้ไม่พบก็อ่วมพออยู่แล้ว อย่าให้คนที่นับถือศาสนาเดียวกัน ต้องมายืนกันคนละฝ่าย โดยตกเป็นเครื่องมือของ “การเมือง” และอาจจะถึงขั้นเข่นฆ่ากันในอนาคต มันจะอนาถแค่ไหน

หรืออยากเห็น จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเช่น “รวันดา” อย่างนั้นหรือ
กำลังโหลดความคิดเห็น