xs
xsm
sm
md
lg

องคมนตรีเยี่ยมโครงการฟาร์มตัวอย่างฯ หลังพัฒนาจนเกษตรกรพัทลุงกินอิ่ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชาวบ้านในพื้นที่ จ.พัทลุง จำนวนมากที่ได้มีอาชีพและพื้นที่ทำกิน สร้างรายได้เลี้ยงชีพ ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าฯ ซึ่งทรงพระราชทานความช่วยเหลือ
พัทลุง - นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี และคณะเดินทางไปตรวจเยี่ยมโครงการฟาร์มตัวอย่างในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในพื้นที่ จ.พัทลุง ซึ่งพระองค์ทรงเข้าให้การช่วยเหลือแก้ปัญหา และส่งเสริมการประกอบอาชีพให้อยู่อย่างพอเพียง

วันนี้ (23 พ.ค.) เมื่อเวลา 09.30 น. นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี พร้อมด้วยนายเฉลิมเกียรติ แสนวิเศษ เลขาธิการ กปร. และคณะเดินทางไปตรวจเยี่ยมโครงการฟาร์มตัวอย่างในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ บ้านครองชีพ ตำบลนาปะขอ อำเภอบางแก้ว จังหวัดพัทลุง เพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานตามพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

ซึ่งแต่เดิม “ทุ่งครองชีพ” มีสภาพเป็นป่าพรุเสม็ดปกคลุมไปด้วยไม้เสม็ดเต็มพื้นที่ ในช่วงปี 2484 ทางราชการได้เปิดโอกาสให้ราษฎรเข้าจับจองทำกิน โดยกำหนดให้ครอบครัวละ 50 ไร่ ได้มีการปรับพื้นที่ป่าเสม็ดให้เป็นพื้นที่ทำนา

ต่อมา มีราษฎรจากเขตอำเภอใกล้เคียง และจังหวัดใกล้เคียงอพยพเข้ามาบุกรุกจับจองพื้นที่แห่งนี้มากขึ้น ทำให้มีการแย่งชิงที่ดินทำกินจนเกิดความไม่สงบขึ้นถึงขั้นรุนแรง จนถึงปี 2486 ได้มีการจัดแบ่งพื้นที่ทำกินใหม่ โดยแบ่งให้ครอบครัวละ 30 ไร่ ทำให้ทุ่งครองชีพเป็นที่นาผืนใหญ่ จนเป็นที่ยอมรับกันว่า ผลผลิตจากนาข้าวของบางแก้วสามารถเลี้ยงคนได้ทั้งจังหวัดพัทลุง

ต่อมา ประสบกับภาวะทางธรรมชาติ เกิดความแห้งแล้ง ฝนทิ้งช่วง การทำนาล้มเหลวที่นากลายเป็นนาร้าง ราษฎรหนุ่มสาวต้องอพยพไปรับจ้างขายแรงงานในต่างถิ่น จวบจนมีโครงการฟาร์มตัวอย่างขึ้นมา จึงทำให้ราษฎรหวนกลับมายังถิ่นฐานบ้านเดิมเพื่อประกอบอาชีพอีกครั้งหนึ่งในทุกวันนี้

นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี เปิดเผยว่า สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ให้จัดตั้งโครงการฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ขึ้นที่บ้านครองชีพ เพื่อเป็นแหล่งจ้างแรงงานสำหรับเกษตรกรในพื้นที่ เป็นแหล่งเรียนรู้ปฏิบัติงานการเกษตร และเป็นแหล่งผลิตอาหารของจังหวัดพัทลุง โดยได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2544

“และนับตั้งแต่มีโครงการฯ นี้ขึ้นมา ได้มีกิจกรรมหลายอย่างด้วยกัน เช่น การปลูกพืชผัก พืชไร่ ไม้ผล นาข้าว การปศุสัตว์ การประมง การปรับปรุงบำรุงดิน การเพาะชำกล้าไม้ และการแปรรูป ฯลฯ ซึ่งในปี 2551 โครงการฯ ได้ขยายผลกิจกรรมจากฟาร์มตัวอย่าง เพื่อให้เกษตรกรเข้ามาเรียนรู้ และศึกษาการทำการเกษตรที่เหมาะสม และถูกต้อง และได้นำผลสำเร็จของโครงการขยายผลสู่เกษตรกรในพื้นที่ตำบลนาปะขอ และตำบลท่ามะเดื่อ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ และแหล่งผลิตอาหารที่ปลอดภัย และได้มาตรฐาน เป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร”

จากนั้น นายพลากร สุวรรณรัฐ และคณะได้เดินทางไปวัดเขียนบางแก้ว นมัสการเจ้าอาวาสสุและรับฟังการบรรยายสรุปเกี่ยวกับโครงการแก้ไขปัญหา และพัฒนาพื้นที่หมู่บ้านอาพัดและหมู่บ้านใกล้เคียงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดพัทลุง เนื่องจากสภาพภูมิประเทศบริเวณบ้านอาพัด ตำบลจองถนน และหมู่บ้านใกล้เคียงที่ประสบปัญหาความเดือดร้อน สภาพพื้นที่โดยทั่วไปเป็นที่ราบลุ่มริมทะเลสาบสงขลาอยู่ช่วงทะเลหลวง มีลักษณะเป็นพื้นดินแบนราบมีสภาพน้ำท่วมโดยธรรมชาติ เนื่องจากอิทธิพลของน้ำในทะเลสาบสงขลาในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคมของทุกปี บริเวณวัดเขียนบางแก้วมีน้ำท่วมขังสูง ราษฎรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพการทำนาเป็นหลัก ส่งผลกระทบต่อที่อยู่อาศัย และพื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหาย

นอกจากนี้ ในช่วงฤดูแล้งได้ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร จากสาเหตุของปัญหาดังกล่าว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จึงได้มีพระราชดำริกับนายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ อดีตเลขาธิการ กปร. และนายประจักษ์ สุวรรณภักดี อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ให้ร่วมกันพิจารณาหาแนวทางให้ความช่วยเหลือแก่ราษฎร โดยการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำเค็ม และน้ำแล้ง ปัจจุบันเกษตรกรสามารถปลูกข้าว และการปลูกพืชฤดูแล้งได้ นอกจากนี้ ได้เยี่ยมชมผลผลิตข้าวสังข์หยดของกลุ่มเกษตรกรข้าวสังข์หยด หนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงของจังหวัดพัทลุง ซึ่งได้ขยายไปสู่พื้นที่ต่างๆ โดยทั่วไป และเยี่ยมชมกลุ่มปักผ้าที่นำมาแสดงในบริเวณวัดด้วย

ในช่วงบ่าย นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี และคณะ ได้ไปติดตามความก้าวหน้าของโครงการพัฒนาพื้นที่บ้านหัวป่าเขียวอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลทะเลน้อย อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้พระราชทานพระราชดำริให้ช่วยเหลือแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของราษฎรในพื้นที่ โดยให้พิจารณาจัดหาแหล่งน้ำเพื่อส่งเสริมการเกษตร และช่วยเหลือพื้นที่ทำนาที่ราษฎรเคยทำ ให้สามารถทำนาได้ และให้พิจารณาดำเนินการสำรวจ และวางแผนการใช้ที่ดินอย่างละเอียด ทำการสาธิต ทดลอง และบริการการปรับปรุงดินเปรี้ยว

เช่นเดียวกับที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส และให้พิจารณาช่วยเหลือราษฎรให้มีอาชีพเสริมหลังจากทำนาและเวลาฤดูน้ำท่วม โดยจัดตั้งศูนย์ศิลปาชีพและสร้างศาลาศิลปาชีพ คล้ายๆ กับที่บ้านเนินธัมมัง จากนั้น ได้เยี่ยมชมกิจกรรมการดำเนินงานด้านศิลปาชีพ ประกอบด้วย กลุ่มผลิตภัณฑ์กระจูดแปรรูป กลุ่มปักผ้าด้วยมือ และกลุ่มทอผ้า
กำลังโหลดความคิดเห็น