xs
xsm
sm
md
lg

หัตถกรรมพื้นบ้านอาเซียน ถึงคราว...ไร้ทายาทช่างฝีมือ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตัวแทนช่างอาเซียนเดินทางมาทัศนศึกษาดูงานหัตถกรรมเมืองไทย
โดย...สุกัญญา แสงงาม

ถ้าพิจารณากันดีๆ จะเห็นว่า งานหัตถกรรมพื้นบ้านของไทยหลายแขนงคล้ายคลึงกับประเทศเพื่อนบ้านไม่ว่าจะเป็นงานมุก เครื่องปั้นดินเผา งานแกะสลักไม้ เครื่องจักสาน ปักผ้า ทอผ้า เครื่องประดับ และอื่นๆ สิ่งที่ต่างกันตรงที่แต่ละประเทศจะใส่เอกลักษณ์เฉพาะถิ่นของตนเองลงไปในชิ้นงาน
 

น่าเสียดายที่วันนี้หัตถกรรมพื้นบ้านประเทศอาเซียนที่สืบสานมาหลายชั่วอายุคน มีให้เห็นน้อยลงทุกที แทบพูดได้ว่า หาดูหรือหาซื้อได้ยากขึ้น

ในโอกาสครบรอบ 15 ปี แห่งความสัมพันธ์อาเซียนกับประเทศจีน โดยกระทรวงวัฒนธรรมประเทศไทย เชิญได้ผู้แทน 10 ประเทศอาเซียน และจีน รวมเป็น 11 ประเทศ ประเทศละ 5 คน ร่วมศึกษาดูงานและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการอนุรักษ์และการพัฒนาหัตกรรมพื้นบ้านในประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 16-29 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา

นางโครีนน่า โอราโซ หัวหน้าคณะช่างฝีมือจากประเทศฟิลิปปินส์ แสดงความเห็นว่า ดีใจที่ได้มาศึกษาแลกเปลี่ยนเรียนรู้หัตถกรรมของเพื่อนบ้าน ล้วนแล้วเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาหัตถกรรมพื้นบ้าน

ส่วนการอนุรักษ์และพัฒนางานช่างฝีมือของฟิลิปปินส์ ว่า คณะกรรมการแห่งชาติเพื่อวัฒนธรรมและศิลปะ (The national commission for culture and arts - NCCA) ได้พัฒนาแผนงานในการส่งเสริมศิลปะแบบดั้งเดิมและวัฒนธรรม โดยจัดตั้งโรงเรียนวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม ตามแผนงานของคณะกรรมการแห่งชาติเพื่อวัฒนธรรมและศิลปะ ที่มีคณะอนุกรรมการวัฒนธรรมชุมชนและศิลปะแบบดั้งเดิมดำเนินการ โรงเรียนเหล่านี้จัดการเรียนการสอนโดยใช้เป็นแหล่งเรียนรู้แบบไม่เป็นทางการ ตามที่อยู่ของครูช่างฝีมือ ซึ่งแต่ละแห่งมีการถ่ายทอดที่แตกต่างกันตามแต่ละชุมชน

อย่างไรก็ดี จากฐานข้อมูลช่างฝีมือในปัจจุบันพบว่า ลดลงมาก เพื่อให้แน่ใจว่าศิลปะแบบดั้งเดิมและครูช่างฝีมือจะไม่สูญหายไป คณะกรรมการแห่งชาติเพื่อวัฒนธรรมและศิลปะตระหนักปัญหานี้ เมื่อต้นปี 1990 ได้ก่อตั้งแหล่งเรียนรู้หัตถกรรมพื้นบ้านประมาณ 200 แห่งทั่วประเทศ เป็นแหล่งพัฒนาทักษะเกี่ยวกับงานฝีมือเฉพาะด้านหรือศิลปะสำหรับช่างฝีมือรุ่นใหม่ วิธีนี้จึงมั่นใจได้ว่างานฝีมือแบบดั้งเดิมจะคงอยู่ตลอดไป นอกจากอนุรักษ์หัตถกรรมพื้นบ้านแบบดั่งเดิมแล้ว ยังหนุนให้พัฒนาหัตถกรรมให้เข้ากับยุคสมัยหรือให้เหมาะกับการใช้งานในยุคปัจจุบันด้วย

ขณะที่ นางสาว วู เวียต ฮา ผู้ประสานงานคณะของประเทศเวียดนาม เล่าว่า ช่างฝีมือของเราสนใจหัตถกรรมพื้นบ้านของไทย โดยเฉพาะงานประดับมุก สวยงามลวดลายประณีต ซึ่งเวียดนามก็มีช่างฝีมือด้านนี้เช่นกัน ต่างกันที่ชนิดของวัสดุ (หอย) และลวดลาย

ส่วนปัญหาช่างฝีมือ หรือปราชญ์ชาวบ้านลดลงคงคล้ายประเทศอาเซียน เราพยายามผลักดันให้ช่างฝีมือถ่ายทอดศิลปหัตถกรรมให้ลูกหลานหรือผู้ที่สนใจเรียนแบบดั่งเดิม เพื่อเป็นการสืบสานวัฒนธรรมจากรุ่นสู่รุ่น ขณะเดียวกันจะมีการพัฒนาหัตถกรรมให้ทันยุคสมัยเหมาะกับการใช้งาน แต่ยังคงรักษาความเป็นเอกลักษณ์ศิลปวัฒนธรรมของเวียดนามด้วย อย่างไรก็ตาม การถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรม เราเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ เช่น ทีวี วิทยุ เสวนา สัมมนา อินเทอร์เน็ต เป็นต้น

“แนวทางการอนุรักษ์หัตถกรรมไม่ให้สูญหายนั้น รัฐบาลเปิดสถานที่การเรียนรู้ เชิญศิลปินและอาจารย์มาให้ความรู้ ให้กับคนที่สนใจ รัฐบาลให้การสนับสนุน โดยเฉพาะเด็กในหมู่บ้าน เริ่มเรียนตั้งแต่อายุน้อยๆ ในหมู่บ้าน แล้วให้ช่างฝีมือในหมู่บ้าน ถ่ายทอดความรู้ ขั้นตอนการทำให้แก่เด็ก เด็กจะสืบสานหัตถกรรมพื้นบ้านต่อจากรุ่นพ่อรุ่นแม่ปู่ย่าตายาย” นางสาว วู เวียต ฮา บอก

นางสาว วู เวียต ฮา ให้เหตุผลช่างฝีมือพัฒนาศิลปหัตถกรรมให้ทันสมัยว่า เราจำเป็นต้องพัฒนาหัตถกรรมพื้นบ้านเพื่อการค้า เพราะช่างฝีมือในชีวิตประจำวันก็ต้องกินต้องใช้ ซึ่งมีเงินมาเกี่ยวข้อง ดังนั้น ต้องดีไซน์ หรือใช้เทคโนโลยีใหม่ๆมาใช้ในการผลิต อย่างไรก็ตาม เราไม่เคยลืมแทรกความเป็นเวียดนาม รูป สัญลักษณ์ ซึ่งสื่อถึงเวียดนาม

...วันนี้เพื่อนบ้านอาเซียนมีแนวทางผลิตช่างฝีมือรุ่นใหม่ทดแทนรุ่นเก่า ขณะที่ปราชญ์หัตถกรรมพื้นบ้านของไทยบางแขนง “ช่างประดับมุก” กำลังจะไร้ทายาทสืบทอด คงต้องฝากการบ้านให้กระทรวงวัฒนธรรม หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หาผู้สืบทอดช่างฝีมือ

ช่างอาเชียน 10 ประเทศ+ จีน ร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน

เหล่าช่างฝีมืออาเซียนลงมือเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติจริง

โชว์ขั้นตอนการทำโอ่งเครื่องปั้นดินเผา
ฟิลิปปินส์ นำผลงานศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านมาโชว์
กำลังโหลดความคิดเห็น