วุฒิสภาประชุมพิจารณาคดีถอด “ภักดี” พ้น ป.ป.ช.“อนุดิษฐ์” ซัดหากบริสุทธิ์ใจทำไมไม่แจ้งความเล่น บ.ยา “เจ๊หน่อย” โผล่พยานผู้ร้องยกเทปลับชัดหวังโยงเล่นนักการเมือง ชี้ ร่วมแก๊ง “หมอวัลลภ-สุจินต์” ชัด
วันนี้ (14 ก.พ.) ที่รัฐสภา การประชุมวุฒิสภา มี พล.อ.ธีรเดช มีเพียร ประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุมเพื่อพิจารณากรณี น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย และคณะยื่นคำร้องขอให้วุฒิสภา มีมติให้ นายภักดี โพธิศิริ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พ้นจากตำแหน่ง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 248 โดย พล.อ.ธีรเดช แจ้งว่า การประชุมนัดนี้เป็นการซักถาม น.อ.อนุดิษฐ์ ผู้ร้อง และ นายภักดี ผู้ถูกร้อง รวมถึงพยานบุคคลของ 2 ฝ่าย เป็นฝ่ายผู้ร้อง 4 คน ได้แก่ คุณหญิง สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อดีต รมว.สาธารณสุข นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) นพ.ชาญวิทย์ ทระเทพ ผอ.สำนักพัฒนาระบบบริการสุขภาพ และ นพ.วิชัย เทียนถาวร อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข ส่วนฝ่ายผู้ถูกร้อง 2 คน คือ นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธาน ป.ป.ช.และนายวิชัย วิวิตเสวี กรรมการ ป.ป.ช.โดยเป็นการซักถามผ่านกรรมาธิการ รวม 86 คำถาม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คำถามที่ ส.ว.ถามฝ่ายผู้ร้อง ส่วนใหญ่เป็นการย้ำถามถึงข้อพิรุธ และความไม่ชัดเจน กรณีการลาออกจากการเป็นกรรมการ บริษัท ไทยวัฒนาฟาร์มาซูติคอล แดร็กโทรส ของ นายภักดี ขณะที่ ป.ป.ช.มีมติและยืนยันหลายครั้ง ว่า นายภักดี สามารถเป็นประธานอนุกรรมการไต่สวนฯได้ หากผู้ร้องไม่ยอมรับทำไมไม่ฟ้อง กรรมการ ป.ป.ช.รวมถึงทราบข้อมูลบันทึกการโทรศัพท์ของคุณหญิง สุดารัตน์ ได้อย่างไร ว่า อยู่ในสำนวนการสอบสวนของอนุกรรมการหรือไม่ โดย น.อ.อนุดิษฐ์ ชี้แจงว่า ใบลาออกโดยการลงทะเบียนทางไปรษณีย์ของ นายภักดี โดยสามัญสำนึกถือว่าไม่น่าเชื่อถือ เพราะไม่มีการแสดงต่อเจ้าหน้าที่ ที่สำคัญ หากเข้าไปดูข้อมูลในเว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ทุกวันนี้ยังคงข้อมูลว่ายังเป็นกรรมการฯอยู่ในบริษัทดังกล่าว ถ้าบริสุทธิ์ใจจริงทำไมไม่แจ้งความฟ้องบริษัทเพื่อป้องกันความเสียหาย
น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ มีความขัดแย้งในลายเซ็นลาออกของนายภักดี ที่ยังระบุว่า เป็นกรรมการบริษัทอยู่ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ได้นำไปร้องคัดค้านมาแต่ต้น แต่ท่านไปบอกประธาน ป.ป.ช.อย่างไร ทั้งที่มีส่วนรู้เห็นกับเรื่องนี้มาตลอด สิ่งที่ ป.ป.ช.พิจารณาไม่สามารถทำตามอำเภอใจได้ ต้องเป็นไปตามเจตนารมณ์ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช. มาตรา 46 แม้จะมีมติเสียงข้างมาก แต่หากไม่เป็นไปตามกฎหมายมตินั้นก็ไม่ชอบเช่นกัน เรื่องนี้ ประธาน ป.ป.ช.เคยมาให้ปากคำวุฒิสภา พูดชัดเจนว่า นายภักดี ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว จึงไม่มีข้อโต้แย้งที่จะไม่ให้เป็นประธานอนุกรรมการ สิ่งเหล่านี้ทำให้กระบวนการการพิจารณาของ ป.ป.ช.ผิดเพี้ยนไปจากข้อเท็จจริง
จากนั้นเป็นการถามพยานผู้ร้อง คือ คุณหญิง สุดารัตน์ ว่า ทำไมไม่นำเทปการสนทนาระหว่างนพ.วัลลภ ไทยเหนือ อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข กับ นพ.ชาตรี บานชื่น อดีตรองปลัดกระทรวงขณะนั้น มาเป็นหลักฐานสำคัญในการพิจารณาคดีนี้ ซึ่ง คุณหญิง สุดารัตน์ ชี้แจงพร้อมฉายพาวเวอร์พอยท์ ที่เป็นข้อมูลและเอกสารการออกคำสั่งของ นายภักดี สมัยเป็นกรรมการไต่สวนกรณีดังกล่าวสมัยอยู่กระทรวง โดย คุณหญิง สุดารัตน์ ชี้แจงตอกย้ำให้เห็นถึงการปฏิบัติหน้าที่ไม่สุจริตของนายภักดี ว่า จากเทปสนทนาชัดเจนว่า นพ.วัลลภ พยายามหว่านล้อมให้ข้าราชการระดับสูงของกระทรวง และ นพ.ชาตรี กล่าวหาฝ่ายการเมือง โดยพร้อมจะกันบุคคลเหล่านี้เป็นพยาน มีบางช่วงของการสนทนา ที่ระบุว่า “ชาตรีไม่ร้ายแรง อยากให้ถึงนักการเมือง” ซึ่งตนนำหลักฐานนี้ไปร้องขอให้ ป.ป.ช.นำมาใช้เป็นหลักฐานสำคัญทางคดีถึง 6 ครั้ง แต่ก็ไม่เป็นผล แต่กลับใช้หลักฐานดังกล่าวเตะไปเป็นอีกคดี
คุณหญิง สุดารัตน์ ชี้แจงต่อว่า นายสุจินต์ ศิริอำไพ เป็นผู้ร้องคดีดังกล่าว เป็นนิติกรของกระทรวง แต่กลับไปเป็นพยานให้กับบริษัท พีแสควร์ มาฟ้องเรียกค่าเสียหายกับกระทรวง 1,300 ล้านบาท และ นายสุจินต์ คนนี้เป็นคนใกล้ชิดกับ นายภักดี เพราะได้มาเป็นเลขานุการคณะอนุกรรมการไต่สวนฯ หลังการปฏิวัติ นพ.วัลลภ ก็ได้เป็น รมช.สาธารณสุข และประกาศจะจัดการเรื่องดังกล่าว ขณะที่ นายสุจินต์ นำเรื่องนี้มาฟ้อง ป.ป.ช.หลังการปฏิวัติไม่กี่วัน ซึ่งมี นายภักดี เป็นกรรมการ ป.ป.ช.อยู่ ทำให้เห็นขบวนการกลุ่มนี้ชัดเจน