xs
xsm
sm
md
lg

ป.ป.ช.ได้กลิ่นทุจริตจำนำข้าว เอาผิดอาญา “รบ.ปู”เปิดช่องโกง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ที่โรงแรมเชอราตันแกรนด์ วานนี้( 11 ม.ค.) นายเมธี ครองแก้ว กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงจัดการประชุมวิชาการด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ครั้งที่ 2 ซึ่งป.ช.ช. ร่วมกับธนาคารโลกจัดขึ้นว่า ป.ป.ช.จะนำข้อมูลที่ได้จากการประชุมสัมมนามาเป็นข้อมูลดำเนินนโยบายต่างๆ ที่ผ่านมานายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานป.ป.ช.เคยทำหนังสือแสดงจุดยืนไปยังรัฐบาลถึงมาตรการจำนำข้าวของรัฐบาลว่า จะได้ผลเพียงแค่บางส่วนเท่านั้น แต่มีความกังวลเรื่องช่องทางให้เกิดการทุจริตสูง จึงอยากให้ทบทวนและระมัดระวังเรื่องการทุจริต แต่ฝ่ายเมืองก็ไม่สนองตอบ
ทั้งนี้ป.ป.ช.มีหน้าที่เพียงเสนอมาตรการและให้ข้อเสนอแนะที่มีประโยชน์ แต่อำนาจการบริหารงานอยู่ที่รัฐบาล ป.ป.ช.ไม่สามารถไปออฟไซด์ได้ ถ้ารัฐบาลไม่ปฏิบัติตาม ก็เป็นเรื่องของรัฐบาล แต่ถ้าทำพลาดขึ้นมาป.ป.ช.ก็มีหน้าที่เอาผิด ซึ่งขณะนี้เริ่มการมีการแจ้งข้อมูลทุจริตโครงการจำนำข้าวมาให้ป.ป.ช.เรื่อยๆ
รศ.ดร.สิริลักษณ์ คอมันตร์ ที่ปรึกษาคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)และอนุกรรมการฝ่ายวิจัย ป.ป.ช. กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปฏิเสธที่จะยกเลิกนโยบายจำนำข้าวทั้งที่ ทางป.ป.ช.ได้เสนอความเห็นก่อนที่จะมีการประกาศนโยบายดังกล่าวว่าจะเป็นช่องทางในการทุจริต ซึ่งจะสร้างความเสียหายกับภาครัฐจำนวนมากว่า
ถือเป็นตัวอย่างที่ทำให้ ป.ป.ช.กำลังพิจารณาว่าการที่รัฐบาลไม่ปฏิบัติตามข้อเสนอเพื่อปิดช่องการทุจริตในการกำหนดนโยบายตามข้อเสนอของป.ป.ช.จะถือว่าเข้าข่ายทำผิดกฏหมายอาญา ม. 157 หรือไม่ เพราะถือว่าประพฤติโดยมิชอบ เพราะคิดว่าผลงานวิจัยต่างๆของป.ป.ช.มีหลักฐานอ้างอิงที่ยืนยันได้ ในการป้องปรามการทุจริตตั้งแต่ต้นทาง เพื่อให้มีการกำหนดมมาตรการและนโยบายของรัฐบาลให้เกิดความโปร่งใสไม่เปิดช่องให้มีการทุจริต โดยป.ป.ช.กำลังพิจารณาว่าโครงการที่ถูกทักท้วงจากป.ป.ช.ว่าจะเป็นช่องทางในการทุจริตและเกิดการทุจริตขึ้นจริง ครม.จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อการเดินหน้านโยบายดังกล่าวหรือไม่ โดยกำลังพิจารณาม.157 ของกฏหมายอาญาว่าความรับผิดชอบจะอยู่ในระดับไหน
“เราเสนอเรื่องจำนำข้าวว่า รัฐบาลนี้ ไม่ฟังคำท้วงติงของป.ป.ช. ทั้งที่เรายืนยันนโยบายว่าเกิดการทุจริตหลายขั้นตอน จึงน่าจะมีการปรับเปลี่ยนวิธีการโดยป.ป.ช.เคยเสนอไปที่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในเรื่องการประกันความเสี่ยงเพื่อให้เกษตรกร ชาวนาได้รับค่าชดเชย ซึ่งรัฐบาลในขณะนั้นก็รับฟังและไม่ได้ใช้นโยบายจำนำข้าว โดยเปลี่ยนมาใช้การประกันรายได้แทน แต่รัฐบาลนี้กลับหันไปใช้นโยบายจำนำข้าวอีก ก็เท่ากับการทำงานของ ป.ป.ช.ไม่ได้ผล ซึ่งเรากำลังพิจารณาคำนิยามของการประพฤติมิชอบเพราะเมื่อมีงานวิจัยที่ชัดเจน มีการเสนอมาตรการที่ป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริตแต่รัฐบาลไม่รับข้อเสนอของ ป.ป.ช.และก่อให้เกิดความเสียหายจริงๆ มีการทุจริตขึ้น อย่างนี้จะนิยามว่าเป็นการประพฤติผิดต่อหน้าที่หรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ที่ป.ป.ช.กำลังถกกัน แม้จะไม่ตกผลึกแต่เราก็เห็นตรงกันว่า งานวิจัยที่ป.ป.ช.ทำมาไม่ได้ทำมาเพื่อให้เชิญให้หิ้ง แต่ต้องการให้มีผลในทางปฏิบัติเพื่อป้องกันการทุจริตคอรัปชั่นได้จริง “ ร.ส.ดร.สิริลักษณ์กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ ป.ป.ช.เคยเสนอให้รัฐบาลยกเลิกนโยบายรับจำนำราคาข้าว เนื่องจากเป็นนโยบายที่เปิดชอ่งทางให้เกิดการทุจริต จนทำให้เกิดความเสียหายต่อภาครัฐนับแสนล้านบาทในแต่ละปี แต่รัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็ไม่ได้ปฏิบัติตามข้อเสนอของป.ป.ช. โดยอ้างว่าจะมีการปรังปรุงวิธีการและปิดช่องโหว่ที่ป.ป.ช.แสดงความกังวลว่าจะเกิดการทุจริต แต่หลังจากที่มีการดำเนินนโยบายก็พบว่ามีการทุจริตเกิดขึ้นในทุกขั้นตอน ซึ่งในขณะนี้เริ่มมีการร้องเรียนไปยัง ป.ป.ช.หลายกรณีแล้ว ซึ่งล่าสุดกรมสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)ก็ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบการรับจำนำข้าวในเขตจังหวัดภาคกลางตอนบนและภาคเหนือตอนล่าง หลังจากรับการร้องเรียนว่าเกษตรกร ชาวนาถูกโรงสีและผู้รับจำนำข้าวเอาเปรียบและมีกรณีการสวมสิทธิของเกษตรกรโดยเอาข้าวนอกพื้นที่เข้ามาจำนำด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น