xs
xsm
sm
md
lg

“แพปลาชุมชนคูขุด” เส้นทางสู่การจัดการทรัพยากร และพึ่งตนเองของประมงพื้นบ้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


น.ส.พันธ์ วรรณบริบูรณ์
สมาคมรักษ์ทะเลไทย

ผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชนเล่ากันว่า บ้านคูขุดเดิมอยู่ที่บ้านหนองหลุกที่มีชาวบ้านราว 100 ครอบครัว ซึ่งเดิมชื่อว่า คูผุด เพราะมีทางน้ำจากหนองหลุกไปทางทิศใต้ของวัดไหลลงสู่ทะเลสาบ ต่อมาเพี้ยนมาเป็นคูขุด และมีฐานะเป็นตำบลในปี 2437 ตำบลคูขุดตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของอำเภอสทิงพระ ริมฝั่งทะเลสาบสงขลา พื้นที่ตั้งตามแนวเหนือใต้ขนานไปกับริมทะเลสาบสงขลา มีพื้นที่ประมาณ 12.52 ตารางกิโลเมตรหรือประมาณ 7,825 ไร่ ปัจจุบัน ตำบลคูขุดมี 9 หมู่บ้าน บ้านคูขุดอยู่หมู่ 4 มี 333 หลังคาเรือน มีประชากร 1,461 คน

“น้าควน” หนึ่งในแกนนำประมงพื้นบ้านบ้านคูขุดเล่าว่า คนคูขุดทำประมงมาตั้งแต่สมัยปู ย่า ตา ยาย เนื่องจากที่บ้านไม่มีที่ดินสำหรับการทำไร่ทำนาและทำสวน จากทำเลที่ตั้งของชุมชนอยู่ติดทะเลสาบอาชีพกลายเป็นอาชีพหลักของคนที่นี้ โดยเฉพาะบ้านคูขุดหมู่ 4 ทำอาชีพประมงถึงร้อยละ 80 ของประชากรทั้งหมด

น้าควน เล่าต่อว่า เมื่อก่อนกุ้งปลาชุกชุมจับปลาได้มาก แม้ว่าราคาไม่สูงนักแต่รายได้จากการทำประมงสามารถส่งลูก 2-3 คนเรียนได้สูงๆ ได้ เพราะว่าเมื่อก่อนคนหาปลาน้อยแต่ปลามีมาก ช่วงหลายปีหลังมานี้ สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงทำให้ทะเลตื้นเขิน กุ้งปลามีน้อย เพราะกุ้งปลาอยู่ไม่ได้ในน้ำที่ร้อน มันจึงไปอยู่ในทะเลลึกแถวเลหลวง ลำปำ ซึ่งไกลชุมชนออกไป ในช่วงที่คลื่นลมแรงชาวบ้านที่นี่ไม่สามารถออกไปจับปลาได้เช่นกัน

น้าควนเสริมว่า การตื้นเขินของน้ำในทะเลสาบเนื่องจากเมื่อก่อนน้ำเข้าออกทางปากระวะไหลออกทางสงขลา แต่ตอนนี้ ทางปากว่าปิดทำให้น้ำนิ่ง เมื่อน้ำนิ่งวัชพืชขึ้นมาก เมื่อมันตายทับถมกันหลายปี บริเวณไหนทะเลตื้นเขิน ต้นลำพูจะขึ้นและขวางทางน้ำ ทำให้น้ำร้อนปลา กุ้งอยู่ไม่ได้ ต้องไปอยู่ในที่น้ำลึก มีปลาเพียงบางชนิดเท่านั้นที่อยู่ได้

นอกจากนี้ มีคนทำอาชีพประมงมากขึ้น โดยเฉพาะครอบครัวมุสลิม เพราะคนมุสลิมเรียนหนังสือน้อยติดตามพ่อแม่ไปทำประมงตั้งแต่เด็กๆ เมื่อแต่งงานแยกครอบครัวก็กลายเป็นเรืออีกลำต่างหาก ต้องหากินหลายวิถีทาง จำเป็นต้องมีเครื่องมือจับปลาเพิ่มขึ้น

เมื่อถามว่าในยามที่ไม่สามารถออกไปจับปลาในทะเลได้ คนในชุมชนทำอะไร น้าควน บอกว่า คนที่ไม่มีที่ดินทำสวน ทำไร่ ทำนา ก็ไปทำงานโรงงาน คนที่มีที่ดินจะไปทำไร่ทำนา ขุดสวนเลี้ยงปลา ส่วนคนรุ่นลูกพากันเรียนหนังสือจบแล้วก็ไม่อยู่ในชุมชน เพราะถ้าอยู่ต้องทำอาชีพเดียวกับพ่อแม่ คือ การทำประมง

น้าควน กล่าวว่า ปัญหาชาวประมงมีหลากหลายปัญหา จากการทำงานหลายปีได้เกิดการรวมกลุ่มองค์กรของชาวประมงในพื้นที่เอง ได้แก่ ประมงอาสาฯ, กลุ่มออมทรัพย์บ้านคูขุด, สมาพันธ์ชาวประมงทะเลสาบ, แพปลาชุมชน, สมาคมประมงทะเลสาบอำเภอสทิงพระ ฯลฯ รวมทั้งมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาสนับสนุนหลายหน่วยงาน เช่น ประมงอำเภอ, ประมงจังหวัด, องค์การบริหารส่วนตำบลคูขุด, สถานีวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งจังหวัดสงขลา (NICA), สมาคมรักษ์ทะเลไทย องค์กรทั้งสองส่วนมีวัตถุประสงค์เพื่อดูแล รักษา ฟื้นฟูทรัพยากร โดยเน้นการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย

“แพปลาชุมชนบ้านคูขุด” รูปธรรมในการจัดการทรัพยากรตั้งแต่ต้นน้ำและปลายน้ำ

พี่สุนิตย์ ชูแก้ว ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำ เล่าให้ฟังว่า แม่บ้านที่ไปขายปลามาเล่าให้พ่อบ้านฟังว่า พ่อค้าคนกลางกดราคาปลา

“วันนี้เราได้ปลาเท่าเมื่อวาน เอามาขายวันนี้พ่อค้าบอกว่า ราคาปลาลง เราไม่รู้ว่าราคาปลาที่แท้จริงคือเท่าไรกันแน่ หรือว่าพ่อค้ามาลดราคาเอง พวกเรา 10-15 คน ได้นำปัญหามาคุยกันแล้วคิดกันว่าจะเอาอย่างไรกัน จึงคิดเรื่องการจัดตั้งแพปลา ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลัก คือ หนึ่ง ลดการเอารัดเอาเปรียบของพ่อค้าคนกลาง สอง สร้างจิตสำนึกให้แก่สมาชิกในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทะเล และสาม เป็นเวทีแลกเปลี่ยนปัญหาและร่วมกันแก้ไขปัญหา

เริ่มตั้งแต่ 25 สิงหาคม 2548 โดยรับสมัครสมาชิก คุณสมบัติของสมาชิกต้องทำอาชีพประมง และสมาชิกแต่ละคนถือหุ้นได้เพียงคนละ 1 หุ้นเท่านั้น หุ้นละ 100 บาท เริ่มแรกมีสมาชิก 14 คน ช่วงแรกไม่ได้คิดรูปแบบอะไรที่ซับซ้อน เพียงแค่ให้มีกรรมการและกำหนดเปอร์เซ็นต์ในการปันผลคืนสมาชิกและกติกาขึ้นมา โดยปันผลจากกำไรที่ได้รับแต่ละเดือน ร้อยละ 70 ปันผลคืนสมาชิก ร้อยละ 15 เป็นค่าตอบแทนกรรมการ และร้อยละ15 ตั้งเป็นกองทุนฟื้นฟู เพื่อซื้อกุ้งและลูกปลามาปล่อยลงทะเลร่วมกับประมงอำเภอและจังหวัด"

พี่สุนิตย์ เล่าให้ฟังว่า ช่วงแรกๆ ไม่มีคนมาขายที่แพเพราะขาดความเชื่อมั่น และเป็นงานใหม่ที่เราเริ่มทำ หรือที่เรียกว่า “มือใหม่” จึงประชุมกรรมการว่าจะเอาอย่างไรกัน ถ้ายังเป็นแบบนี้เราทำไม่ได้แน่นอน จึงเริ่มใหม่เมื่อวันที่ 12 สิงหาคมของปีเดียวกัน เมื่อสมาชิกไม่มาขายที่แพเราขับรถ 3 ล้อ พร้อมตาชั่งไปรับซื้อตามบ้านสมาชิก 17 คนซึ่งสมัครชุดแรกเราต้องการสร้างให้เขาเห็นว่าเราทำจริง เมื่อเขาเห็นว่าเราทำจริงตอนหลังเขาเข้ามาขายที่แพปลาเองเรื่อยๆ

ในระยะเริ่มแรก เราได้ไปศึกษาดูงานที่กลุ่มอื่น พวกเราสนใจเรื่องการจัดทำบัญชีโดยเฉพาะระบบบัญชีที่มีความโปร่งใส และตรวจสอบการทำงานได้ แล้วนำรูปแบบบัญชีของเขามาปรับให้เหมาะสมกับกลุ่มของเรา ซึ่งกลุ่มได้มีการบันทึกจำนวนกิโลที่สมาชิกนำมาขายในแต่ละวัน พร้อมกับประเภท/ชนิดของสัตว์น้ำ รวบรวม และสรุปในแต่ละเดือน เมื่อตอนสิ้นปีจะสรุปขึ้นบอร์ดให้สมาชิกเห็นว่าในแต่ละเดือนทั้งปีสมาชิกจับสัตว์ปลาประเภทใดเท่าไร ตลอด 6 ปีที่ดำเนินงานแพปลาชุมชนมา พบว่า สมาชิกมีรายได้เพิ่มขึ้น และมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สมาชิกสามารถรู้ได้ว่าในแต่ละเดือนเขามีรายได้เท่าไร นี้แค่ตัวเลขรายได้ที่ขายให้แก่แพปลาชุมชนไม่รวมรายได้จากการขายสัตว์น้ำอื่นๆ กับพ่อค้าข้างนอกอีกทางหนึ่ง

หลังจากดำเนินการไประยะหนึ่งยิ่งมีความเชื่อมั่น ซึ่งเห็นได้จากสมาชิกแพปลาที่เพิ่มขึ้นเป็น 189 คน ในขณะนี้ ร่วมทั้งความเห็นของสมาชิกคนหนึ่งว่า

“หากเราขายกับพ่อค้าเขาไม่ได้ให้อะไรกลับคืนมาให้ทะเลเราเลย แต่ขายกับแพปลาชุมชน เขาได้คืนด้วยตัวเขาเองที่ได้มีส่วนร่วมสมทบในแต่ละเดือน และการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ของกลุ่มด้วยเช่นกัน”

เมื่อถามถึงความสำเร็จจากการทำงานแพปลาชุมชน พี่สุนิตย์ บอกว่า สิ่งที่เราทำสำเร็จระดับหนึ่ง แต่ยังไม่เต็มร้อย ซึ่งหากต้องการให้เต็มร้อยจริงๆ เราต้องได้สร้างฐานทรัพยากรของเราเองด้วย ที่ผ่านมาชาวประมงได้คิด และทำเรื่องธนาคารกุ้งไข่ ชาวประมงบริจาคกุ้งในแต่ละวัน แต่ละเดือนด้วยจิตศรัทธาเพื่อเก็บไว้ในกระชัง รักษาไว้ด้วยกัน แม้ว่าเขาต้องเสียรายได้ส่วนหนึ่งไป แต่เขาได้สร้างและดูแลกุ้งไข่กันเอง แม้ว่าโครงการนี้ถูกสั่งรื้อไปแล้วก็ตาม แต่พวกเราไม่ยอมแพ้ นั่นหมายถึงเราต้องสร้างมันขึ้นมาใหม่

สิ่งที่ต้องการทำ และอยากเห็นการดำเนินงานของแพปลาชุมชนในอนาคต พี่สุนิตย์และกรรมการฯ อยากทำกิจกรรมแบบครบวงจร เพื่อบริการชาวประมงในหลายเรื่อง เช่น เครื่องมือประมง น้ำมัน เป็นต้น ตั้งใจว่าจะตั้งในรูปแบบสหกรณ์ของชุมชนให้ชาวประมงเป็นเจ้าของและมีส่วนร่วมในการบริหาร

พี่สุนิตย์ เสริมว่า แผนนี้ยังไม่ได้กำหนดระยะเวลาที่แน่นอน แต่จะค่อยๆ ทำไป เรียนรู้ไป เจอปัญหาก็ค่อยๆ แก้ไป แม้ต้องเริ่มจากศูนย์ย่อมดีกว่าพึงทุนจากข้างนอก เราต้องการทำด้วยทุนของกลุ่มเอง เพราะยั่งยืนกว่าครั้งหนึ่งพี่สุนิตย์และกรรมการฯ หลายคน เคยตั้งคำถามกับฝันของกลุ่มว่า “เราจะตั้งแพปลาของชาวบ้านได้จริงหรือ?” เราจะไปถึงไม่? เราพยายามทำไปเรื่อยๆ พร้อมกับการเรียนรู้กันไป

ความรับผิดชอบส่วนใหญ่อยู่กับกรรมการฯ จึงถามว่า กรรมการฯ มีความสุข หรือได้เรียนรู้อะไรจากการทำแพปลาชุมชนหรือไม่?

พี่สุนิตย์ บอกว่า ตัวเองไม่เคยทำบัญชีมาก่อน ทำไม่เป็นตอนนี้ก็ทำเป็น พี่อีกคนที่ทำหน้าที่รับซื้อปลา ตอนนี้ทำได้เก่งขึ้น รู้ทันตลาดมากขึ้น นอกจากนี้ เรายังรู้และเข้าใจจิตใจของสมาชิกมากขึ้น โดยเฉพาะจิตสำนึกต่อการรักและหวงแหนทรัพยากรทะเลของเขาเป็นอย่างไร ระดับไหน และที่สำคัญเราอยู่กันอย่างพี่ๆ น้องๆ มีอะไรเขาจะมาบอกคุยปรึกษากัน นี่คือ ความสุข แม้ว่าบางครั้งเราก็ท้อเช่นกัน แต่เราไม่ยอมถอย เมื่อเราเดินมาอยู่ตรงนี้ จะถอยก็เป็นห่วง

พี่สุนิตย์ และกรรมการฯ เล่าว่า ในช่วงแรกๆ ที่ชาวบ้านตั้งแพปลา อบต. คูขุดต้องการทำแพปลาของ อบต. ด้วย พยายามดึงแกนนำจากกลุ่มแพปลาชาวบ้านไปทำงาน แต่ชาวบ้านสู้ เพราะว่าชาวบ้านทำกิจกรรมอยู่แล้ว อบต. ไม่ต้องทำ เขาเลยปรับบทบาทใหม่ เมื่อเห็นว่ากลุ่มเข้มแข็งมีการจัดการได้ด้วยตัวเอง จึงสนับสนุนอุปกรณ์ต่างๆ แก่แพปลาชุมชน และกลุ่มเชิญ อบต. เข้ามามีส่วนร่วมในบางกิจกรรม บางเวทีแต่ อบต. เข้าร่วมน้อย แต่เขาไม่ได้กีดกัน หรือขัดขวางการทำงานของกลุ่ม

เมื่อหันไปถามสมาชิกท่านหนึ่ง “ป้าสหัส” ซึ่งนั่งฟังเราคุยกันมาตลอด เมื่อถามถึงความแตกต่างระหว่างการขายกับแพปลาชุมชนที่เป็นสมาชิกอยู่กับการขายกับพ่อค้าทั่วไป เป็นอย่างไร? ป้าบอกว่า ขายกับแพปลาชุมชนดีกว่า เพราะได้นำกำไรมาปันผลคืนอีกทางหนึ่ง และรู้สึกว่ามีอะไรก็คุยกันได้เสมอ ป้าสมาชิกอีกคน เสริมว่า เวลาที่เรานำปลาไปขายให้พ่อค้า เขาจัดการคัดปลาเอง เราจับต้องไม่ได้แล้ว เราไม่มีส่วนกำหนด ต่างกับการขายที่แพปลา สมาชิกคัดขนาดของปลา และสัตว์น้ำเอง คนขาย และคนรับซื้อเป็นกันเอง

แพปลาชุมชนบ้านคูขุด ดำเนินการมาได้ 6 ปี ผ่านเรื่องราวมากมาย ทั้งเป็นเรื่องที่ประสบความสำเร็จ และข้อจำกัดในการทำงาน และจุดเด่นสำคัญในเรื่องใดที่กลุ่มอื่นๆ สามารถเรียนรู้ได้

พี่สุนิตย์ บอกว่า น่าจะเป็นเรื่องร่วมคิด ร่วมทำและร่วมสร้าง เพราะนี่คือ หัวใจสำคัญในการทำงานของแพปลาของเรา

“แพปลาชุมชนบ้านคูขุด” คือ ตัวอย่างหนึ่งของรูปธรรมการจัดการทรัพยากรของพี่น้องชาวประมง เพื่อการแก้ปัญหาด้านการตลาด พร้อมกับการอนุรักษ์ทรัพยากร “เล” ซึ่งเป็นทั้งชีวิต รายได้ และแหล่งอาหารของครอบครัว และชุมชนเอาไว้
กำลังโหลดความคิดเห็น