xs
xsm
sm
md
lg

ทะเลตรังใกล้วิกฤต พะยูน-หญ้าทะเลลดลงต่อเนื่อง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



ตรัง - สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลฯ สำรวจทะเลตรัง พบหญ้าทะเลลดลงเกือบครึ่ง ส่วนพะยูนก็ลดลง และตายต่อเนื่องปีละเกือบ 10 ตัว ขณะเดียวกัน กลับพบว่าที่ จ.กระบี่ มีจำนวนพะยูนเพิ่มขึ้น เร่งหาสาเหตุการย้ายถิ่นของกลุ่มพะยูนต่อไป

ดร.ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ หัวหน้ากลุ่มงานสัตว์ทะเลหายาก สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน จังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า จากการจัดสัมมนาโครงการแลเลตรัง ได้มีการระดมความคิดเห็น และการแลกเปลี่ยนระหว่างกลุ่มคนทำงานด้านทะเลและชายฝั่ง ตลอดจนผู้ใช้ประโยชน์จากกิจกรรมทางทะเลและชายฝั่ง ทั้งทางตรงและทางอ้อม

ทั้งนี้ เพื่อร่วมกันประเมินสถานการณ์ของทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เสนอความคิดเห็นต่อการกำหนดมาตรการการใช้ประโยชน์ หรือการดูแลรักษาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในจังหวัดตรังร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การกำหนดทิศทางการบริหาร และการจัดการพื้นที่ชายฝั่งทะเลจังหวัดตรัง ตลอดจนนำไปสู่การกำหนดแผนงาน และกิจกรรมสนับสนุนด้านทะเลและชายฝั่งของจังหวัดตรังในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทะเลตรังถือว่ามีความโดดเด่นด้านทรัพยากรธรรมชาติ และระบบนิเวศที่สำคัญ ได้แก่ ระบบนิเวศปากแม่น้ำ ป่าจาก ป่าชายเลน หญ้าทะเล และปะการัง ซึ่งความสมบูรณ์ของทะเลตรังปรากฏชัดด้วยเป็นแหล่งของพะยูนฝูงใหญ่ที่สุดในประเทศไทย นอกจากนี้ ยังถูกจัดให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับโลก และเป็นพื้นที่ 1 ใน 11 พื้นที่ชุ่มน้ำสำคัญของประเทศไทยด้วย
ซากพะยูนที่พบในทะเลตรัง
อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจสถานการณ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจังหวัดตรัง โดยเฉพาะหญ้าทะเลและพะยูน ล่าสุด พบว่าแหล่งหญ้าทะเลจากเดิมที่มีปกคลุมกว่าร้อยละ 70 ได้ลดลงเหลือประมาณร้อยละ 50 จากพื้นที่หญ้าทะเลทั้งหมด 21,192 ไร่ โดยพื้นที่หญ้าทะเลส่วนใหญ่อยู่ที่เกาะมุกด์ และเกาะลิบง อำเภอกันตัง ซึ่งจะทำให้มีพะยูนหนาแน่นในบริเวณดังกล่าวด้วย แต่สภาพแหล่งหญ้าทะเลกลับมีความเสื่อมโทรมลง

ขณะเดียวกัน จากการสำรวจพะยูน ในปี 2555 พบว่า มีจำนวนลดลงจากปีที่ผ่านมา โดยเมื่อปี 2554 พบพะยูน ประมาณ 134-150 ตัว แต่ปีนี้กลับเหลืออยู่เพียงแค่ 110-134 ตัว และยังมีการพบพะยูนในทะเลที่จังหวัดกระบี่เพิ่มขึ้นด้วย คาดว่าน่าจะเป็นการอพยพย้ายถิ่นจากจังหวัดตรัง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจ และต้องค้นหาว่ามีอะไรมารบกวนพะยูนในจังหวัดตรัง หรือไม่ อย่างไร

ทั้งนี้ นอกจากการอพยพย้ายถิ่นของพะยูน ในจังหวัดตรังแล้ว ยังมีสาเหตุที่ทำให้สัตว์อนุรักษ์หายากชนิดนี้มีปริมาณลดลง ก็คือการตายของพะยูนทั้งแบบธรรมชาติ และแบบเกยตื้นตาย อันเนื่องมาจากปัญหาการลักลอบใช้เครื่องมือประมงที่ผิดกฎหมาย โดยปัจจุบัน พะยูนในจังหวัดตรัง มีอัตราการตายเฉลี่ยปีละ 8-10 ตัว ส่วนใหญ่อยู่ที่บริเวณตอนใต้ของเกาะลิบง อำเภอกันตัง ซึ่งเป็นแหล่งอาศัยของพะยูนหนาแน่น
กำลังโหลดความคิดเห็น