xs
xsm
sm
md
lg

สัญญาณวิกฤตสัตว์อนุรักษ์เมืองตรัง เดือนเดียว “พะยูน” ตาย 3 ตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพข่าว-ชาวประมงโหดทุบหัวพะยูนตายหลังติดอวน
“พะยูน” สัตว์อนุรักษ์ที่ได้ชื่อว่ามีมากที่สุดใน จ.ตรัง จนเป็นที่รู้จักกันไปทั่วทั้งประเทศในขณะนี้นั้น ช่วงหลายปีที่ผ่านมีข่าวปรากฏให้ได้ยินได้ฟังอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะเรื่องของ “ความสูญเสีย” ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก เพียงแค่ก่อนหน้านี้ระยะความถี่อาจจะอยู่ในภาวะที่ยอมรับได้

แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในระยะเวลาประมาณ 30 วัน ช่วงรอยต่อระหว่างเดือนมีนาคม-เมษายน 2555 ที่ผ่านมานั้น ทำให้ผู้ที่รับทราบเริ่มแสดงถึงความรู้สึกที่น่าห่วงใย กับการตายจากไปของสัตว์อนุรักษ์ชนิดนี้ถึงจำนวน 3 ตัว แม้คาดว่าจะมีสาเหตุที่แตกต่างกันออกไปก็ตามที
แฟ้มภาพข่าว-ชาวประมงโหดทุบหัวพะยูนตายหลังติดอวน
เริ่มจาก “พะยูน” เพศเมีย อายุประมาณ 7 ปี น้ำหนัก 304 กก.และยาว 2.70 เมตร ได้ตายลงในพื้นที่ อ.กันตัง แต่ที่บริเวณลำตัวไม่พบบาดแผลใดๆ โดยที่ผู้เชี่ยวชาญยังไม่สามารถระบุสาเหตุได้ และกำลังรอผลการผ่าพิสูจน์จากสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและป่าชายเลน จ.ภูเก็ต
ซากพะยูนตายอีกแล้วเป็นตัวที่ 3 ของปี 2555
ถัดจากนั้นมา เป็นเพศผู้ อายุประมาณ 3 ปี น้ำหนัก 60-70 กก.และยาว 1.30 เมตร ลอยตายอยู่ที่บริเวณเขตรอยต่อ ระหว่างเขาน้อย-หาดหยงหลิง หมู่ที่ 6 ต.เกาะลิบง อ.กันตัง แต่ที่น่าสลดใจ ก็คือ ที่บริเวณหัว พบร่องรอยถูกทุบจนกะโหลกร้าวและยุบ รวมทั้งยังพบร่องรอยถลอกของผิวหนังด้วย

เบื้องต้นเจ้าหน้าที่สันนิษฐานสาเหตุการตาย ว่า อาจมาจากการถูกทุบด้วยของแข็ง หรืออาจไปกระแทกเข้ากับเรือของชาวประมง เนื่องจาก “พะยูน” เป็นสัตว์ที่เชื่องเหมือนกับ “โลมา” และเมื่อเรือแล่นผ่านมา จึงรีบว่ายน้ำเข้าไปหาโดยไม่ระวัง ส่วนรอยแผลที่หางน่าจะมาจากถูกเพลียงกัด
สำรวจปริมาณพะยูนที่ยังคงเหลือ
ส่วนตัวล่าสุดเป็นเพศผู้อายุประมาณ 20 ปี น้ำหนัก 200 กก.และยาว 2 เมตร ลอยตายอยู่ที่บริเวณหัวแหลมหญ้า หมู่ที่ 3 ต.เกาะลิบง อ.กันตัง แต่ที่บริเวณลำตัวไม่พบบาดแผลใดๆ ส่วนสาเหตุเบื้องต้นสันนิษฐานว่า น่าจะเกิดจากการแย่งชิงตัวเมียระหว่างตัวผู้ด้วยกันเพื่อผสมพันธุ์กัน

สำหรับสถานการณ์ของสัตว์อนุรักษ์ชนิดนี้ เฉพาะในพื้นที่ ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง ซึ่งเป็นแหล่งหญ้าทะเลขนาดใหญ่ที่มีความสมบูรณ์ที่สุดของประเทศไทย ซึ่งจากการสำรวจล่าสุดพบว่า มีเหลืออยู่ประมาณ 60 ตัว โดยมีจำนวนลดลงไปจากเดิมประมาณ 20% ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา

ขณะที่สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและป่าชายเลน จ.ภูเก็ต ก็ได้ทำการสำรวจเช่นกัน โดยล่าสุดมี "พะยูน" เหลืออยู่ใน จ.ตรัง ประมาณ 115-120 ตัว ต่างไปจากเมื่อปี 2552 ซึ่งมีการสำรวจพบถึง 130 ตัว ซึ่งข้อมูลนี้จะแสดงให้เห็นว่าเริ่มมีจำนวนลดลงไปในระดับหนึ่งแล้ว
สำรวจปริมาณพะยูนที่ยังคงเหลือ
“นายประจวบ โมฆรัตน์” ผู้อำนวยการ ศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 6 จ.ตรัง วิเคราะห์ถึงสาเหตุที่ทำให้สัตว์อนุรักษ์ชนิดนี้ มีปริมาณลดลงว่า น่าจะมาจากหลายส่วน ทั้งปัญหาที่หญ้าทะเลลดลงประมาณ 20% หรือฤดูกาลของหญ้าทะเลบางชนิดที่มีวงจรการเจริญเติบโตที่แตกต่างกัน

นอกจากนั้น ยังมีปัญหามาจากผลกระทบจากตะกอนที่เกิดจากการขนส่งทางทะเล รวมทั้งปัญหาการเปิดหน้าดิน หรือการชะล้างมาจากพื้นที่บนฝั่ง ซึ่งล้วนแล้วแต่จะทำให้ “พะยูน” อยู่ในพื้นที่เดิมได้ยากลำบาก โดยบางส่วนได้อพยพย้ายถิ่นไปหากินในทะเล จ.กระบี่ แทน และบางส่วนก็อาจต้องตายลง
หญ้าทะเลแหล่งอาหารสำคัญของพะยูน
ทั้งนี้ หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะอยู่ในระดับใด ไม่ช่วยกันอนุรักษ์ หรือมีมาตรการที่ชัดเจน และทำกันอย่างจริงๆ จังๆ อนาคตสัตว์อนุรักษ์ขึ้นชื่อของ จ.ตรัง ก็คงต้องสูญพันธุ์หมดสิ้นไป ซึ่งถือเป็นสัญญาณวิกฤตที่น่าเป็นห่วงเป็นอย่างยิ่ง เพราะนั่นอาจหมายถึงวันที่ท้องทะเลกำลังเลวร้ายถึงที่สุดแล้ว
หญ้าทะเลอาหารพะยูน
กำลังโหลดความคิดเห็น