xs
xsm
sm
md
lg

พบพะยูนตายขึ้นอืดกลางทะเลตรังเป็นตัวที่ 3 ของปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตรัง - พะยูนเพศผู้วัย 20 ปี ขึ้นอืดลอยตายกลางทะเลตรังใกล้เกาะลิบง ซึ่งถือเป็นตัวที่ 3 ในรอบปีนี้ ข้อมูลการสำรวจระบุ พะยูนหนีย้ายถิ่นไปหากินที่ จ.กระบี่ แทน

วันนี้ (6 เม.ย.) ผู้สื่อข่าวประจำ จ.ตรัง รายงานว่า ได้รับแจ้งว่า มีพะยูนตายอยู่กลางทะเลหัวแหลมหญ้า หมู่ที่ 3 ต.เกาะลิบง อ.กันตัง โดยเจ้าหน้าที่ และชาวประมงพื้นบ้านได้ร่วมกันนำซากขึ้นมาบนฝั่งที่หมู่บ้านมดตะนอย ต.เกาะลิงบง แล้ว

ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า เป็นพะยูนเพศผู้ อายุ 20 ปี วัดความยาวจากหัวถึงหางได้ 2 เมตร หนัก 200 กก. แต่ที่ลำตัวไม่พบบาดแผลใดๆ คาดว่าน่าจะตายมาแล้วไม่ต่ำกว่า 2 วัน ส่วนสาเหตุเบื้องต้น สันนิษฐานว่า น่าจะเกิดจากการแย่งชิงตัวเมียระหว่างตัวผู้ด้วยกันเพื่อผสมพันธุ์กับตัวเมียดังกล่าว

จากการสอบถาม นายหมาด ทะเลลึก ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 3 ต.เกาะลิบง ผู้พบพะยูนตัวดังกล่าวเป็นคนแรก เล่าว่า ขณะนำเรือออกทะเลไปยกไซหมึก ก็พบพะยูนในสภาพขึ้นอืดส่งกลิ่นเหม็นเน่า ลอยตายอยู่กลางทะเลหัวแหลมหญ้า จึงแจ้งให้เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบ และช่วยกันนำซากขึ้นมาบนฝั่ง ก่อนจะส่งซากไปยังสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและป่าชายเลน จ.ภูเก็ต เพื่อตรวจพิสูจน์หาสาเหตุการตายที่แท้จริงต่อไป

ขณะที่นายประจวบ โมฆรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 6 จ.ตรัง กล่าวว่า พะยูนตัวนี้ถือเป็นตัวที่ 3 ในรอบปี 2555 ที่ตายลง ซึ่งก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 30 มี.ค.ที่ผ่านมา ได้พบพะยูนเพศเมีย อายุ 2-3 ปี หนัก 60-70 กก. ตายกลางทะเลตรังที่บริเวณเขตรอยต่อระหว่างเขาน้อย-หาดหยงหลิง หมู่ที่ 6 ต.เกาะลิบง อ.กันตัง โดยมีบาดแผลถูกทุบด้วยของแข็งที่บริเวณหัว

สำหรับสถานการณ์พะยูนเฉพาะในพื้นที่ ต.เกาะลิบง อ.กันตัง ซึ่งเป็นแหล่งหญ้าพะยูนขนาดใหญ่ที่สุดนั้น จากการสำรวจล่าสุดพบว่า เหลือพะยูนอยู่ประมาณ 60 ตัว ขณะที่สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและป่าชายเลน จ.ภูเก็ต ได้ทำการสำรวจพบว่า ปัจจุบันมีพะยูนเหลืออยู่ใน จ.ตรัง ประมาณ 115-120 ตัว ส่วนเมื่อปี 2552 มีสำรวจพบ 130 ตัว ซึ่งมีแนวโน้มว่า พะยูนใน จ.ตรัง จะลดลง แต่ไปเพิ่มที่ จ.กระบี่ แทน

ทั้งนี้ สาเหตุที่พะยูนอพยพย้ายถิ่นไปจากพื้นที่ จ.ตรัง มีสาเหตุมาจากหลายส่วน ทั้งปัญหาที่หญ้าทะเลลดลงประมาณ 20% หรือผลกระทบจากตะกอนที่เกิดจากการขนส่งทางทะเล รวมทั้งปัญหาการเปิดหน้าดิน การชะล้างมาจากบนบก และฤดูกาลของหญ้าทะเลบางชนิดที่มีวงจรการเจริญเติบโตที่แตกต่างกัน จึงอาจเป็นสาเหตุให้พะยูนอพยพย้ายถิ่นไปหากินในทะเล จ.กระบี่ แทน ซึ่งหากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ช่วยกันอนุรักษ์ หรือมีมาตรการที่ชัดเจน อนาคต พะยูนใน จ.ตรัง ก็จะสูญพันธุ์หมดไป ถือเป็นวิกฤตที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก
กำลังโหลดความคิดเห็น