xs
xsm
sm
md
lg

ขึ้นลิฟต์ชมวิว-สักการะโบราณสถานเขาตังกวน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
เขาตังกวน ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลนครสงขลา มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 105 เมตร บนยอดเขาตังกวนเป็นที่ประดิษฐานโบราณสถานที่สำคัญประกอบด้วย พระธาตุเจดีย์หลวง พลับพลาที่ประทับ ร.4 และประภาคาร ทอดสายตามองจากบนยอดเขาเห็นเมืองสงขลาได้อย่างชัดเจน บ้านเรือนที่เรียงรายกันอย่างหนาแน่น บ่งบอกถึงความเจริญของนครสงขลา อีกด้านก็มองไปเห็นทะเลสาบสงขลา ริมชายฝั่งเป็นวิถีของชาวเล และเกาะหนู เกาะแมว

 
นักท่องเที่ยวสามารถขึ้นไปสักการบูชาพระธาตุเจดีย์หลวงอายุกว่า 200 ปี และชมวิวทิวทัศน์บนยอดเขา ด้วยการขึ้นลิฟต์ ที่สถานีลิฟต์เขาตังกวน ซึ่งเป็นลิฟต์ระบบทางลาด วิ่งด้วยความเร็ว 60 เมตร/นาที ตามแนวรางยาว 170 เมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 3 นาที ถึงยอดเขาตังกวน โดยมีอัตราค่าโดยสาร ผู้ใหญ่ 30 บาท เด็ก (ส่วนสูงต่ำกว่า 120 ซม.) 20 บาท เป็นตั๋วลิฟต์ ขึ้น-ลง ซึ่งเปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.30-18.30 น.
พระธาตุเจดีย์หลวง อายุกว่า 200 ปี
 
พระธาตุเจดีย์หลวง
พระธาตุเจดีย์หลวงคู่บ้านคู่เมืองสงขลาบนยอดเขาตังกวน กล่าวกันว่า เป็นเจดีย์เก่าแก่สร้างในสมัยอาณาจักรนครศรีธรรมราช ศิลปะสมัยทวารวดี เป็นพระธาตุเจดีย์ก่ออิฐถือปูนทรงระฆัง ต่อมาในปี 2409 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ ให้พระยาวิเชียรศรี (เม่น) ทำการบูรณปฏิสังขรณ์พระธาตุเจดีย์หลวงให้สูงใหญ่กว่าของเก่า และในปี พ.ศ.2539 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานพระบรมสารีริกธาตุ และเครื่องสักการบูชาประดิษฐานไว้ ณ พระธาตุเจดีย์หลวง เพื่อไว้เป็นที่สักการบูชาของชาวเมืองสงขลาสืบไป
ศาลาพระวิหารแดง
 
ศาลาพระวิหารแดง
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริให้สร้างพลับพลาที่ประทับนี้แต่ยังคงสร้างค้างอยู่ ต่อมาเมื่อ พ.ศ.2432 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสแหลมมลายูถึงเมืองสงขลา พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินขึ้นนมัสการพระเจดีย์หลวงบนยอดเขาตังกวน มีพระราชศรัทธาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างศาลาพระวิหารจนสำเร็จในเวลาต่อมา แล้วยังทรงพระราชดำริให้สร้างบันไดนาคขึ้นจากพลับพลา ซึ่งสร้างเสร็จเรียบร้อยในปี พ.ศ.2440
ประภาคาร
 
ประภาคาร
สร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เริ่มสร้างเมื่อปี พ.ศ.2439 ครั้งพระยาวิเชียรคีรี (ชม) เป็นผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาโดยสมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้โปรดให้กรมทหารเรือทำเครื่องหมายประดับประกอบตัวโคม และส่งแบบฐานปูนให้ข้าหลวงออกมาจัดการก่อสร้างประภาคารตามพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในบริเวณที่พระยาวิเชียรคีรี และพระยาชลยุทธโยธิน เป็นผู้เลือกสถานที่ ประภาคารนี้ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2440
มุมสูงบนยอดเขาตังกวนมองเห็นนครสงขลาได้อย่างชัดเจน
มองจากบนยอดเขาตังกวนเห็นทะเลสาบสงขลา และวิถีชาวเลชายฝั่ง
 
ตำนานเขาตังกวน
นานมาแล้วมีพ่อค้าจีนคนหนึ่งคุมเรือสำเภาเดินทางค้าขอบแถบชายทะเลจากเมืองจีนถึงเมืองสงขลา เมื่อขายสินค้าจนหมดแล้วก็ซื้อสินค้าจากสงขลาบรรทุกสำเภากลับไปขายเมืองจีน ปฏิบัติอยู่เช่นนี้เป็นนิจ วันหนึ่งเมื่อขายสินค้าหมดแล้วก็เข้าเมืองสงขลา เพื่อซื้อสินค้ากลับไปขายเมืองจีน ระหว่างที่เดินซื้อสินค้าอยู่พ่อค้าได้เห็นหมากับแมวคู่หนึ่งมีรูปร่างน่าเอ็นดู จึงขอซื้อหมากับแมวคู่นั้นเอาลงเรือไปด้วย ฝ่ายหมากับแมวเมื่อลงไปอยู่ในเรือนานๆ ก็เกิดความเบื่อหน่าย และอยากจะกลับไปอยู่บ้านที่สงขลาจึงปรึกษากันหาวิธีการที่จะกลับบ้าน

หมาได้บอกกับแมวว่าพ่อค้าเรือสำเภานั้นมีดวงแก้ววิเศษสำหรับการจมน้ำ หากใครได้ไว้จะว่ายน้ำไปไหนๆ ก็ไม่จมน้ำ แมวจึงคิดอุบายที่จะได้ดวงแก้ววิเศษนั้น โดยไปข่มขู่หนูให้ขโมยแก้ววิเศษของพ่อค้ามาให้ โดยที่หนูขอหนีขึ้นฝั่งไปด้วย ครั้งเรือเดินทางมาถึงเมืองสงขลาอีกครั้งหนึ่ง หนูก็ลอบเข้าไปขโมยดวงแก้ววิเศษของพ่อค้าโดยอมเอาไว้ในปาก แล้วทั้งสามหนีลงเรือว่ายน้ำจะไปขึ้นฝั่งหน้าเมืองสงขลา

ขณะที่ว่ายน้ำมาด้วยกัน หนูซึ่งว่ายอยู่ข้างหน้าก็นึกขึ้นได้ว่าดวงแก้วที่ตนอมเอาไว้ในปากนั้นมีค่ามหาศาล เมื่อถึงฝั่งหมากับแมวก็คงแย่งเอาไป จึงคิดที่จะหนีหมากับแมวขึ้นฝั่งตามลำพัง จะได้ครอบครองดวงแก้วเป็นสมบัติของตนตลอดไป แต่แมวซึ่งว่ายน้ำตามหลังหนูมาก็คิดอย่างเดียวกันกับที่หนูคิด ก็ว่ายน้ำตรงรี่เข้าไปหาหนู ฝ่ายหนูเห็นแมวตรงเข้ามาก็ตกใจ นึกว่าแมวเข้ามาจะตะปบจึงว่ายน้ำหนีสุดแรง และไม่ทันระวังตัวดวงแก้ววิเศษที่อมไว้ในปากก็ตกลงจมหายไปในน้ำ

เมื่อดวงแก้วจมน้ำแล้วทั้งหนูและแมวต่างก็หมดแรงไม่อาจจะว่ายน้ำต่อไปได้ สัตว์ทั้งสองจึงจมน้ำตายกลายเป็น “เกาะหนูเกาะแมว” อยู่ที่อ่าวหน้าเมืองสงขลา ส่วนหมาก็ตะเกียกตะกายว่ายน้ำไปจนถึงฝั่งด้วยความเหน็ดเหนื่อยหมาจึงขาดใจตายกลายเป็นหินเรียกว่า “เขาตังกวน” อยู่ริมอ่าวสงขลา ส่วนดวงแก้ววิเศษที่หล่นจากปากหนูก็แตกละเอียดเป็นหาดทรายเรียกกันว่า “หาดทรายแก้ว” อยู่ทางด้านเหนือของแหลมสนยื่นออกไปในอ่าวสงขลา

กำลังโหลดความคิดเห็น