xs
xsm
sm
md
lg

กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า พร้อมรับคณะ OIC ติดตามแก้ปัญหาใต้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ รองโฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า
ยะลา - กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า พร้อมต้อนรับคณะที่ปรึกษาเลขาธิการองค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) ลงพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อติดตามการแก้ปัญหาเหตุความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ในวันที่ 8-11 พ.ค.นี้

วันนี้ (8 พ.ค.) เมื่อเวลา 09.20 น. ที่ศูนย์ประชาสัมพันธ์กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า) ค่ายสิรินธร ต.เขาตูม อ.ยะรัง จ.ปัตตานี พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ รองโฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เปิดเผยว่า จากกรณีที่นายอัล มัสรี่ (Al Masly) ที่ปรึกษาเลขาธิการองค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) และคณะจะเดินทางลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศ อย่างเป็นทางการในห้วงตั้งแต่วันที่ 8-11 พ.ค.55 นี้

ซึ่งกำหนดการในการลงพื้นที่ครั้งนี้ ซึ่งเป็นครั้งที่ 3 ในการลงพื้นที่ของคณะโอไอซี โดยในวันพรุ่งนี้ (9 พ.ค.) ทางคณะจะเดินทางมารับฟังบรรยายสรุป ที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และเดินทางเข้าเยี่ยมผู้ได้รับบาดเจ็บที่โรงพยาบาลยะลา ก่อนจะเดินทางไปยังศูนย์มัรกัสดะวะห์ยะลา และเดินทางไปยังมัสยิดตะโล๊ะมาเนาะ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส หรือที่รู้จักกันในชื่อมัสยิด 300 ปี และพบปะกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากเหตุไม่สงบในพื้นที่ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี

ในวันที่ 10 พ.ค. ก็จะเดินทางมารับฟังบรรยายสรุปที่ศูนย์เศรษฐกิจพอเพียง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า และเดินทางไปเยี่ยมชมโรงเรียนทวิภาษา ที่ อ.รามัน จ.ยะลา และเดินทางไปโครงการรอตันบาตู หรือหมู่บ้านแม่หม้าย ที่จ.นราธิวาส ก่อนจะเดินทางกลับในวันที่ 11 พ.ค.ซึ่งประเด็นสำคัญที่ทางคณะที่ปรึกษา OIC ลงพื้นที่เป็นเป้าหมายหลักคือ การติดตามสถานการณ์ และรับทราบแนวทางการแก้ปัญหาของรัฐบาลไทยต่อกรณีปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

โดยที่ผ่านมา ท่านอัล มัสรี่ มองว่าประเด็นความขัดแย้งในพื้นที่ ส่วนหนึ่งเกิดจากเรื่องอัตลักษณ์ และชาติพันธุ์ ท่านได้มีการให้ข้อเสนอในการให้มีการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการใช้วัฒนธรรมมาลายูท้องถิ่น ใช้ภาษามลายู รวมทั้งการปฎิบัติภายใต้หลักสิทธิมนุษยชน ที่ทางโอไอซี เฝ้าติดตามสถานการณ์เหล่านี้มาโดยตลอด ทั้งนี้ นโยบายในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ ในช่วงที่ผ่านมา ก็มีการดำเนินการและมีผลการดำเนินการที่สำคัญอยู่ 4 ประเด็นหลักคือ ในเรื่องโรงเรียนทวิภาษา ที่ดำเนินการอยู่ในโรงเรียน 4 แห่ง เพื่อเป็นการนำร่อง ผลจากการประเมินโดยมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ลงมาประเมินพบว่า มีผลการดำเนินการอยู่ในมุมที่น่าพึงพอใจ และทางกระทรวงศึกษาฯ กำลังจะขยายโรงเรียนทวิภาษาออกไปให้ครอบคลุมในทุกพื้นที่

รองโฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ยังกล่าวอีกว่า ประเด็นที่สอง นโยบายของรัฐบาลได้มีการสนับสนุนอัตลักษณ์ของพี่น้องมุสลิมในพื้นที่มาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมในเรื่องของวัฒนธรรมท้องถิ่น ในทุกศาสนา ทั้งไทยพุทธ ทั้งไทยอิสลาม และไทยจีน ในส่วนของการใช้ภาษามลายู ก็มีการทำป้ายเป็นภาษามลายูตามสถานที่ต่างๆ เช่นสถานที่ราชการ และการส่งเสริมการนับถือศาสนา ที่ให้นับถือศาสนาได้ตามเสรีตามรัฐธรรมนูญของไทย

สำหรับในเรื่องที่สาม ในเรื่องการให้การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ มีโครงการช่วยเหลือเยียวยามาโดยตลอด รวมทั้งเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำของเจ้าหน้าที่อันเนื่องมาจากความไม่สงบในพื้นที่ ผู้ที่ได้รับผลกระทบดังกล่าวก็จะได้รับการช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นการเสียชีวิต การบังคับให้สูญหาย การถูกควบคุมตัวโดยไม่มีความผิด ภาครัฐก็จะเข้ามาช่วยเหลือเยียวยาตามระเบียบ

และข้อสุดท้าย ในเรื่องของสิทธิมนุษยชน จะเห็นได้ว่าที่ผ่านมานโยบายหลักคือการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ ที่ทุกคนจะต้องเข้าอยู่ในกฎหมายเดียวกันคือ ป.วิ อาญา การบังคับใช้กฎหมายในช่วงที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่อยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน ซึ่งประเด็นสิทธิมนุษยชนก็เป็นประเด็นที่เน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ทุกคนที่ลงมาปฎิบัติหน้าที่จะต้องเคารพในหลักสิทธิมนุษยชนเป็นหลัก ทำให้ในช่วงที่ผ่านมา ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะในปีงบประมาณ 2554 ไม่มีกรณีร้องเรียนการกระทำที่เข้าข่ายการละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐ

พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ รองโฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เผยว่า ล่าสุดเมื่อวันที่ 31 มีนาคม ที่ผ่านมา ทาง OIC ได้มีการออกเอกสารการประณามผู้ก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ว่า เป็นการกระทำที่เข้าข่ายการละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชนผู้บริสุทธิ์อย่างร้ายแรง OIC ไม่เห็นด้วยกับการแบ่งแยกดินแดน ไม่เห็นด้วยกับการก่อการร้ายทุกรูปแบบ สิ่งที่โอไอซีดำเนินการคือ เข้าไปดำเนินการช่วยเหลือพี่น้องมุสลิมทั่วโลกกว่า 500 ล้านคน ให้สามารถอยู่ร่วมกันกับประเทศต่างๆ ได้อย่างสันติ และได้รับการปฎิบัติบนพื้นฐานของความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน การที่ OIC ลงพื้นที่ก็ถือเป็นโอกาสดีที่จะได้เห็นความจริงของพื้นที่ เพื่อที่จะได้นำกลับไปทำความเข้าใจกับโลกมุสลิม ถึงความคืบหน้าในการแก้ปัญหาเพื่อให้เกิดความสงบสุขในพื้นที่
กำลังโหลดความคิดเห็น