ยะลา - ที่ปรึกษาเลขาธิการองค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) พร้อมคณะลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประชุมติดตามสถานการณ์ และรับทราบแนวทางการแก้ปัญหาในพื้นที่
วันนี้ (9 พ.ค.) ที่ห้องประชุมอาคารอเนกประสงค์ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ถ.สุขยางค์ เขตเทศบาลนครยะลา อ.เมือง จ.ยะลา นายอัล มัสรี่ (H.E. Mr. Sayed Kassem El- Masry) ที่ปรึกษาเลขาธิการองค์การความร่วมมืออิสลาม หรือ OIC พร้อมคณะ เดินทางลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศอย่างเป็นทางการ
โดยมี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ นายอาซิส เบญหาวัน ประธานสภาที่ปรึกษาบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พล.ต.สุภัทร วิชิตการ รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า พล.ต.ต.สายันต์ กระแสแสน รองผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส และหัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ร่วมต้อนรับ
โดยก่อนเข้าร่วมประชุม นายอัล มัสรี่ (H.E. Mr. Sayed Kassem El- Masry) ที่ปรึกษาเลขาธิการองค์การความร่วมมืออิสลาม หรือ OIC พร้อมคณะ ได้ร่วมพบปะกลุ่มบัณฑิตอาสาพัฒนาชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นนักศึกษาที่ผ่านการอบรมโดย ศอ.บต.เพื่อทำหน้าที่กลับไปทำงานด้านการพัฒนาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามตำบลหมู่บ้านของตนเอง จากนั้นได้ร่วมรับฟังบรรยายสรุปการปฏิบัติงานของ ศอ.บต. ในเรื่องการอำนวยความยุติธรรม และการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
สำหรับประเด็นสำคัญที่คณะที่ปรึกษา OIC ลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยในครั้งนี้ เป้าหมายหลักคือการติดตามสถานการณ์ และรับทราบแนวทางการแก้ปัญหาของรัฐบาลไทยต่อกรณีปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
ซึ่งที่ผ่านมา นายอัล มัสรี่ ที่ปรึกษาเลขาธิการองค์การความร่วมมืออิสลาม หรือ OIC มองว่า ประเด็นความขัดแย้งในพื้นที่ ส่วนหนึ่งเกิดจากเรื่องของอัตลักษณ์ และชาติพันธุ์ โดยได้มีการให้ข้อเสนอในการให้มีการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการใช้วัฒนธรรมมลายูท้องถิ่น และภาษามลายูกลาง รวมทั้งการปฏิบัติภายใต้หลักสิทธิมนุษยชน ที่ทาง OIC เฝ้าติดตามสถานการณ์เหล่านี้มาโดยตลอด
ทั้งนี้ นโยบายในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ผ่านมา ก็มีการดำเนินการ และมีผลการดำเนินการที่สำคัญอยู่ 4 ประเด็นหลัก คือในเรื่องโรงเรียนทวิภาษา ซึ่งดำเนินการอยู่ในโรงเรียน 4 แห่ง เพื่อเป็นการนำร่อง ผลจากการประเมินโดยมหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า การดำเนินการอยู่ในมุมที่น่าพึงพอใจ และทางกระทรวงศึกษาธิการ ได้วางแนวทางที่จะขยายโรงเรียนทวิภาษาออกไปให้ครอบคลุมในทุกพื้นที่
ส่วนในเรื่องของสิทธิมนุษยชน จะเห็นได้ว่าที่ผ่านมา นโยบายหลักคือการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ ที่ทุกคนจะต้องเข้าอยู่ในกฎหมายเดียวกันคือ ป.วิ อาญา การบังคับใช้กฎหมายในช่วงที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่อยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน ซึ่งประเด็นสิทธิมนุษยชนก็เป็นประเด็นที่เน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ทุกคนที่ลงมาปฏิบัติหน้าที่จะต้องเคารพในหลักสิทธิมนุษยชนเป็นหลัก ทำให้ในช่วงที่ผ่านมา ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะในปีงบประมาณ 2554 ไม่มีกรณีร้องเรียนการกระทำที่เข้าข่ายการละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐ
หลังจากนั้น ที่ปรึกษาเลขาธิการองค์การความร่วมมืออิสลาม หรือ OIC พร้อมคณะ เดินทางไปยังมัสยิดตะโละมาเนาะ หรือมัสยิดวาดีลอัลฮูเซ็น ตั้งอยู่ปริเวณเชิงเขาบูโด หมู่ที่ 1 ต.ลูโบะสาวอ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส หรือ ที่รู้จักกันในชื่อมัสยิด 300 ปี และจะเดินทางต่อไปยังพื้นที่ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เพื่อพบปะกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากเหตุไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป
ส่วนกำหนดการในวันที่ 10 พ.ค.55 นายอัล มัสรี่ (Al Masly) ที่ปรึกษาเลขาธิการองค์การความร่วมมืออิสลาม หรือ OIC พร้อมคณะ จะเดินทางไปรับฟังบรรยายสรุป และเยี่ยมชมศูนย์เศรษฐกิจพอเพียงของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ต.เขาตูม อ.ยะรัง จ.ปัตตานี และจะเดินทางไปเยี่ยมชมโรงเรียนทวิภาษา ในพื้นที่ อ.รามัน จ.ยะลา จากนั้น ะเดินทางต่อไปเยี่ยมชมโครงการรอตันบาตู หรือหมู่บ้านแม่หม้าย ในพื้นที่ จ.นราธิวาส ก่อนจะเดินทางกลับในวันที่ 11 พ.ค.55