xs
xsm
sm
md
lg

นาฎลักษณ์แห่งศรัทธา “โนราโรงครู” ยืนหยัดสู่ยุคดิจิตอล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ รายงาน...

แม้ปัจจุบัน สังคมไทยจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว มีสื่อที่ทันสมัย จนบางคนแทบจะลืมอัตลักษณ์และวัฒนธรรมของไทยที่สวยงามเมื่อครั้งอดีตไปแล้ว ด้วยผลจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ทำให้สถานภาพและบทบาทของ “โนรา” ที่ปักษ์ใต้วันนี้จึงต่างกับวันวานในหลายลักษณะ แต่ยังดีที่เลือดลูกหลาน “โนรา” ยังเข้มข้น ทำให้วันพรุ่ง เรายังมี “โนรา : นาฏลักษณ์จำเพาะแห่งเมืองปักษ์ใต้” อยู่คู่ปักษ์ใต้อีกนานเท่านาน



 
โนราโรงครู หมายถึง โนราที่แสดงเพื่อประกอบเชิญโรงครู หรือบรรพบุรุษโนรามายังโรงพิธี เพื่อรับการเซ่นสังเวย รับของแก้บน และเพื่อครอบเทริด หรือผูกผ้าใหญ่แก่โนรารุ่นใหม่ ซึ่งผู้ที่จะกระทำพิธีกรรมโนราโรงครูได้นั้น จะต้องเป็นผู้ชายเท่านั้นและจะต้องรักษาความเป็นชาย (ชายบริสุทธิ์) ไปจนครบอายุ 22 ปี หลังจากนั้น จะต้องเข้าพิธีอุปสมบท และทำพิธีตัดผมจุก จึงจะมีครอบครัวได้

ปัจจุบัน โนราโรงครูยังกระทำกันอยู่ทั่วไปในภาคใต้ แต่โนราโรงครูที่สำคัญและน่าสนใจยิ่งคือโนราโรงครูวัดท่าแค ต.ท่าแค อ.เมือง จ.พัทลุง ซึ่งได้จัดมาตลอดทุกปี และปีนี้เป็นปีที่ 33

ทุกวันพุธ ที่ 2 ของเดือน 6 ของทุกปี ที่วัดท่าแคมีการจัดพิธีกรรมโนราโรงครู ซึ่งเมื่อครั้ง พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลทิฆัมพร เสด็จที่ วัดท่าแค จ.พัทลุง จึงได้กำหนดให้ วันพุธ ที่ 2 ของเดือน 6 ทุกปี ให้มีพิธีกรรมโนราโรงครู เพื่อให้ครูหมอโนรา หรือตายายโนราทั้งหมดมาร่วมชุมนุมกัน เพราะชาวบ้านเชื่อว่า บ้านท่าแคเป็นแหล่งกำเนิดโนรา และเป็นแหล่งสถิตหรือพำนักของครูโนรา
โนราสมพงษ์น้อย ดาวรุ่ง
ความเชื่อในพิธีกรรมโนราโรงครู
ความเชื่อเกี่ยวกับครูหมอโนรา ครูหมอโนราคือ บูรพาจารย์โนรา และบรรพบุรุษของโนราที่ล่วงลับไปแล้ว บางแห่งเรียกว่า “ตายายโนรา” มี พระเทพสิงหร ขุนศรีศรัทธา พระม่วงทอง แม่ศรีมาลา แม่นวลทองสำลี โนราเชื่อว่า ครูหมอโนรา หรือตายายโนรามีความผูกพันกับลูกหลานและผู้มีเชื้อสายโนรา หากไม่เคารพบูชา หรือเซ่นไหว้จะถูกลงโทษ จะแก้ได้ด้วยการบนบานบวงสรวง ถ้าจะให้ช่วยเหลือในกิจบางอย่างก็บนบานได้

ความเชื่อเรื่องการแก้บน เมื่อต้องการให้ครูหมอโนรา หรือตายายช่วยเหลือ หรือบนบานเพราะถูกครูหมอโนราลงโทษด้วยสาเหตุต่างๆ

ความเชื่อเรื่องการตัดจุก เมื่อย่างเข้าวัยหนุ่มสาว มักนำบุตรหลานของตนมาให้โนราใหญ่ตัดจุกให้ เพราะเชื่อว่าเป็นพิธีกรรมที่ขลัง ศักดิ์สิทธิ์และโนราใหญ่ มีอำนาจเร้นลับ มีคาถาอาคมจะเป็นสิริมงคล

ความเชื่อเรื่องการผูกผ้าปล่อย ชาวบ้านและคณะโนราเชื่อว่าเป็นโนรา หรือเชื้อสายโนรา หากมีความประสงค์จะเลิกรำโนรา จะต้องให้โนราใหญ่ทำพิธีผูกผ้าปล่อยให้ในพิธีโนราโรงครู จึงจะตัดขาดจากความเป็นโนรา และเชื้อสายสายโนราได้

ความเชื่อเรื่องการเข้าทรง ร่างทรง ชาวบ้านและคณะโนราเชื่อว่า วิญญาณของบรรพบุรุษและครูรา ที่เรียกว่า ครูหมอโนรา หรือตายายโนราเราสามารถติดต่อกับลูกหลานได้โดยผ่านโนราใหญ่ และการเข้าทรงในร่างของครูหมอโนราองค์นั้น

ความเชื่องเรื่องการเหยียบเสน ชาวบ้านและคณะโนราเชื่อว่า “เสน” เกิดจากการกระทำของผีเจ้าเสน ผีโอกะแชง หรือครูหมอโนรา หรือตายายโนรา ต้องการให้เด็กคนนั้นรำโนรา จึงทำเครื่องหมายเอาไว้ จะแก้ได้ก็ต่อเมือโนราใหญ่ทำพิธีเหยียบเสนให้

ความเชื่อเรื่องการรำถีบหัวควาย เป็นวิธีการแก้บนของครูหมอโนรา หรือตายายโนรา ใช้หัวควาย หรือเนื้อควายเป็นเครื่องเซ่นไหว้ ชาวบ้านและคณะโนราเชื่อว่า ครูหมอ หรือตายายโนราที่ต้องแก้บนด้วยหัวควายคือ “ทวดเกาะ” และพวก “ผีแชง”

ความเชื่อเรื่องการรำสอดเครื่องสอดกำไล ผู้ที่ต้องการจะได้รับการยอมรับในการเป็นโนราจากครูโนราต้องผ่านพิธีรำสอดเครื่องเรียก “จำผ้า”

ความเชื่อเรื่องการครอบเทริด ผูกผ้าใหญ่ ผู้ที่เป็นโนราโดยสมบูรณ์สามารถเป็นโนราใหญ่ หรือนายโรงโนราได้จะต้องได้รับการครอบเทริดหรือผูกผ้าใหญ่เสียก่อน

ความเชื่อเรื่องการรักษาอาการป่วยไข้ ชาวบ้านและคณะโนราเชื่อว่า ครูหมอ และพิธีกรรมรักษาอาการป่วยไข้ที่มาจากความผิดปกติของร่างกายด้วยการบนบานได้

 
การจัดพิธีกรรมโนราโรงครูวัดท่าแค เริ่มตั้งแต่การไหว้พระภูมิ โรงพิธีพระ แล้วเข้าโรงในวันแรก ซึ่งเป็นวันพุธตอนเย็น จากนั้นจึงทำพิธีเบิกโรง ลงโรง กาศครู เชิญครู กราบครู โนราใหญ่รำถวายครู จับบทตั้งเมือง ตามด้วยการร่ายรำทั่วไป

วันที่สอง ซึ่งเป็นวันพฤหัสบดี ถือเป็นพิธีใหญ่จะมีการเข้าทรงและถวายของเซ่นไหว้ต่างๆ บนศาลเพียงตา จะมีร่างทรงในจังหวัดต่างๆ จำนวนมากไม่ต่ำกว่า 300 คน เมื่อครูหมอโนราประทับเข้าทรงแล้ว ร่างทรงก็จะกินดอกไม้ไฟ (เทียนที่จุดไฟไว้ สามถึงเก้าดอก) พิธีจะเริ่มจาก การลงโรง กาศโรง เชิญครู เอาผ้าหุ้มต้นโพธิ์ที่เชื่อกันว่าเป็นที่เผาศพและฝังกระดูกของขุนศรีศรัทธา เซ่นไหว้ครูหมอ ตายาย โนราทั่วไปรำถวายครู การรำสอดเครื่องสอดกำไล ทำพิธีครอบเทริด หรือผูกผ้าใหญ่ พิธีแก้บนด้วยการรำถวายครูและออกพราน พิธีผูกผ้าปล่อย และการรำทั่วไปในเวลากลางคืน

วันที่สาม เริ่มตั้งแต่ ลงโรง กาศครู เชิญครู การรำทั่วไป รำบทสิบสองเพลง สิบสองบท *เหยียบเสน *ตัดผมผีช่อ *รำบทคล้องหงส์ *รำบทแทงเข้(จระเข้) เป็นอันเสร็จพิธี

*พิธีกรรมความเชื่อเรื่องเหยียบเสน : เสน คือปานแดงที่ขึ้นมาอย่างน่าเกลียดน่ากลัว ส่วนมากจะขึ้นตามใบหน้า รักษาด้วยแพทย์แผนปัจจุบันไม่หาย แต่เมื่อเข้าสู่พิธีกรรมนี้แล้ว ให้โนราเหยียบตรงที่เป็นเสน เสนก็จะค่อยๆ จางหายภายใน 1 เดือน

*พิธีแทงเข้ (จระเข้ ทำขึ้นจากต้นกล้วยตานีเท่านั้น) เป็นพิธีที่ทำขึ้นเพื่อแก้บนตามคำร้องของผู้ที่บนบานศาลกล่าวเอาไว้ เริ่มจากพิธีมีการเบิกเนตร เบิกปาก (มีของคาวใส่ไว้ในปากจระเข้) หลังจากนั้น จะทำพิธีเรียกหัวใจให้มาสิงสถิตในจระเข้ ซึ่งจะต้องให้คาถาเรียกตามความเชื่อ หากผู้ใดที่บนบานศาลกล่าวให้สมหวังในสิ่งที่ต้องการแล้ว หากไม่ทำตามคำที่บนบานไว้จะต้องเกิดเหตุวิบัติกับตนเอง หรือไม่ก็จะเกิดขึ้นกับคนในครอบครัว

*พิธีคล้องหงส์ เป็นพิธีกรรมสะเดาะเคราะห์ หรือแก้บนเช่นเดียวกับพิธีแทงเข้

กำเนิดโนรา

โนรา เป็นการละเล่นพื้นเมืองภาคใต้ที่มีมาแต่โบราณ ด้วยกาลเวลาที่ยาวนานทำให้เรื่องเล่า “โนรา” ผิดเพี้ยนกันเป็นหลายกระแส เช่นกระแสที่เล่าโดย ขุนอุปถัมภ์นรากร (โนราพุ่มเทวา) อ.ควนขนุน จ.พัทลุง ความว่า พระยาสายฟ้าฟาดเป็นกษัตริย์ครองเมืองๆ หนึ่ง มีชายาชื่อ นางศรีมาลา มีธิดาชื่อ นวลทองสำลี วันหนึ่ง นางนวลทองสำลีสุบินว่ามีเทพธิดามาร่ายรำให้ดู ท่ารำมี 12 ท่า มีดนตรีประโคม ได้แก่ กลอง โหม่ง ปี่ ทับ ฉิ่ง และ แตระ นางให้ทำเครื่องดนตรีและหัดรำตามที่สุบิน เป็นที่ครึกครื้นในปราสาท

วันหนึ่ง นางอยากเสวยเกสรบัวในสระหน้าวัง ครั้นนางกำนัลเก็บถวายให้เสวย นางก็ทรงครรภ์ แต่นางคงเล่นรำอยู่ตามปกติ วันหนึ่งพระยาสายฟ้าฟาดเสด็จมาทอดพระเนตรการรำของธิดา เห็นนางทรงครรภ์ ทรงซักไซ้เอาความจริง ได้ความว่า เหตุเพราะเสวยเกสรบัว พระยาสายฟ้าฟาดไม่ทรงเชื่อ และเห็นว่านางทำให้อัปยศจึงรับสั่งให้เอานางไปลอยแพพร้อมด้วยสนมกำนัล 30 คน แพไปติดเกาะกะชัง นางจึงเอาเกาะนั้นเป็นที่อาศัย

ต่อมา ได้ประสูติโอรส ทรงสอนให้โอรสรำโนราได้ชำนาญ แล้วเล่าเรื่องแต่หนหลังให้ทรงทราบ ต่อมา กุมารน้อยซึ่งเป็นโอรสของนางนวลทองสำลี ได้โดยสารเรือพ่อค้าไปเที่ยวรำโนรายังเมือง พระอัยกา เรื่องเล่าลือไปถึงพระยาสายฟ้าฟาด พระยาสายฟ้าฟาดจึงทรงปลอมพระองค์ไปดูโนรา เห็นกุมารน้อยมีหน้าตาคล้าย พระธิดา จึงทรงสอบถามจนได้ความจริงว่าเป็นพระราชนัดดา จึงรับสั่งให้เข้าวัง และให้อำมาตย์ไปรับนางนวลทองสำลีจากเกาะกะชัง แต่นางไม่ยอมกลับ

พระยาสายฟ้าฟาดจึงกำชับให้จับมัดขึ้นเรือพามา ครั้นเรือมาถึงปากน้ำจะเข้าเมือง ก็มีจระเข้ลอยขวางทางไว้ ลูกเรือจึงต้องปราบจระเข้ ครั้นนางเข้าเมืองแล้ว พระยาสายฟ้าฟาดให้จัดพิธีรับขวัญขึ้น และให้มีการรำโนราในงานนี้ โดยประทานเครื่องต้น อันมีเทริด กำไลแขน ปั้นเหน่ง สังวาลพาดเฉียง 2 ข้าง ปีนกนางแอ่น หางหงส์ สนับเพลา ฯลฯ ซึ่งเป็นเครื่องทรงของกษัตริย์ให้เป็นเครื่องแต่งตัวโนรา และพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้แก่กุมารน้อยราชนัดดา เป็นขุนศรัทธา

ลำดับการแสดง โนรา

การแสดงโนราที่เป็นงานบันเทิงทั่วๆ ไป แต่ละครั้ง แต่ละคณะจะมีลำดับการแสดงที่เป็นขนบนิยมดังนี้

1.ตั้งเครื่อง (ประโคมดนตรี เพื่อขอที่ทาง เมื่อเข้าโรงแสดงเรียบร้อยแล้ว)
2.โหมโรง
3.กาศครู หรือ เชิญครู (ขับร้องบทไหว้ครู กล่าวถึงประวัติความเป็นมาของโนรา สดุดีครูต้น และผู้มีพระคุณทั้งปวง
4.ปล่อยตัวนางรำ ออกรำ (อาจมี 2-5 คน) แต่ละตัวจะมีขั้นตอนดังนี้
4.1 เกี้ยวม่าน หรือขับหน้าม่าน คือการขับร้องบทกลอนอยู่หลังม่านกั้น โดยไม่ให้เห็นตัว แต่จะใช้มือดันม่านตรงทางแหวกออกเพื่อเร้าใจ ให้ผู้ชมสนใจและเป็นสัญญาณว่าตัวแสดงกำลังจะออกรำ โดยปกติตัวที่จะออกรำเป็นผู้ร้องขับบทเกี้ยวม่านเอง แต่บางครั้งอาจใช้คนอื่นร้องขับแทน บทที่ร้องมักบรรยายอารมณ์ความรู้สึกของหญิงสาววัยกำดัด หรือชมธรรมชาติ หรือกล่าวถึงคติโลก คติธรรม
4.2 ออกร่ายรำ แสดงความชำนาญ และความสามารถในเชิงรำเฉพาะตัว
4.3 นั่งพนัก ว่าบทร่ายแตระ แล้วทำบท (ร้องบทและตีท่ารำตามบทนั้นๆ) “สีโตผันหน้า” ถ้าเป็นคนรำที่ 2 หรือ 3 อาจเรียกตัวอื่นๆ มาร่วมทำบท เป็น 2 หรือ 3 คนก็ได้ หรืออาจทำบทธรรมชาติ ชมปูชนียสถาน ฯลฯ เพลงที่นิยมใช้ประกอบการทำบททำนองหนึ่ง คือเพลงทับ เพลงโทน
4.4 ว่ากลอน เป็นการแสดงความสามารถเชิงบทกลอน (ไม่เน้นการรำ) ถ้าว่ากลอนที่แต่งไว้ก่อนเรียกว่า “คำพรัด” ถ้าโนราเป็นผู้มีปฏิภาณมักว่ากลอนสด เรียกว่า “ว่ามุดโต” โดยว่าเกี่ยวกับบุคคล สถานที่ เหตุการณ์เฉพาะหน้า การว่ากลอนสดอาจว่าคนเดียวหรือว่า 2-3 คน สลับวรรคสลับกลอนกัน โดยฉับพลันจะเรียกการร้องโต้ตอบว่า “โยนกลอน”
4.5 รำอวดมือ คือรำอวดมืออีกครั้งแล้วเข้าโรง

 
5.ออกพราน คือออกตัวตลก มีการแสดงท่าเดินพราน (ลีลาการเดินของพราน) นาดพราน (ลีลาการนาดกรายของพราน) ขับบทพราน (ขับร้องบทกลอนตามลีลาของพราน) พูดตลกเกริ่นให้คอยชมนายโรงแล้วเข้าโรง
6.ออกตัวนายโรง หรือโนราใหญ่ นายโรงจะอวดท่ารำ และการขับบทกลอนพิเศษ ให้สมแก่ฐานะที่เป็นนายโรง
7.ออกพราน อีกครั้ง เพื่อบอกว่าต่อไปจะเล่นเป็นเรื่อง และจะเล่นเรื่องอะไร
8.เล่นเป็นเรื่อง

เรื่องที่นิยมแสดง
สำหรับเรื่องที่นิยมนำมาแสดงนั้น ได้กล่าวแล้วว่าโนราไม่นิยมที่จะเล่นเป็นเรื่อง คงเล่นเป็นของแถม เมื่อมีเวลาพอเรื่องที่นำมาเล่น จึงมักใช้เรื่องที่รู้กันดีอยู่แล้ว ระยะแรกๆ พบว่าเรื่องที่นิยมแสดงมี 2 เรื่อง คือ เรื่องพระรถ และเรื่องพระสุธร ต่อมาได้เพิ่มเป็น 12 เรื่อง เรื่องที่เพิ่มขึ้น เช่น สังข์ทอง สินนุราช ไกรทอง เป็นต้น

ปัจจุบัน โนราบางคณะนำเอานวนิยายสมัยใหม่มาแสดงเน้นการเดินเรื่องแบบละครพูด จนแทบจะไม่มีการรำ และการร้องบท บางคณะมีการจัดฉากเปลี่ยนฉากใช้แสงสีประกอบ จนแทบไม่เหลือเอกลักษณ์ของโนราให้เห็น
นางอาภานี จีนช่วย หรือเป็นที่รู้จักกันในนาม “โนราหนูอาบ”
 
นางอาภานี จีนช่วย หรือเป็นที่รู้จักกันในนาม “โนราหนูอาบ” ปัจจุบันเป็นครูสอนมโนราห์ที่มหาวิทยาลัยนาฏศิลป์ จ.พัทลุง เป็นหนึ่งในผู้สืบทอดเชื่อสายโนรา ซึ่งเริ่มรำโนรามาตั้งแต่อายุ 10 ขวบ เรียนกับ โนรากลิ่น พานุรัตน์ โนราแปลก บรมครูอาจารย์โนรา ซึ่งเสียชีวิตไปแล้ว และมี โนราสมพงษ์น้อยดาวรุ่ง สืบทอดต่อ

โนราหนูอาบ เล่าว่า ตนเรียนจบเพียงชั้น ป.4 และรำโนรามาตั้งแต่อายุ 10 ขวบ สืบทอดเชื้อสายมโนราจากปู่ย่าตายาย ออกรำตามงานต่างๆ และชอบช่วยเหลือสังคม จนได้บรรจุเป็นพนักงานราชการครู ที่มหาวิทยาลัยนาฏศิลป์ จ.พัทลุง เมื่อปี พ.ศ.2527 เพื่อสอนรำมโนราห์ จนปัจจุบัน มีลูกศิษย์เป็นจำนวนมาก ช่วงปิดภาคเรียนก็จะพาลูกศิษย์ไปรำตามงานต่างๆ กับคณะมโนราห์น้อม โบราณศิลป์ ซึ่งเป็นคณะมโนราห์ของตนและสามี นักศึกษาก็จะได้มีรายได้ช่วงปิดภาคเรียนด้วย

อย่างไรก็ตาม โนราหนูอาบ ยังสอนรำมโนราห์ให้แก่ลูกๆ ทั้ง 4 คน ทั้งผู้หญิงผู้ชาย ซึ่งทุกคนรำเป็นหมด เพื่อให้สืบทอดต่อ แต่ไม่ได้ให้ทุกคนยึดเป็นอาชีพ

โนราวันนี้ที่ปักษ์ใต้

ด้วยเงื่อนไขหลายประการที่เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมจากอดีตสู่ปัจจุบัน โนรา : นาฏลักษณ์อันสูงส่งและงดงามของชาวปักษ์ใต้ ก็เป็นเช่นการละเล่นพื้นบ้านอื่นที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมเหล่านั้น

การเข้ามาของสื่อสมัยใหม่ ความยาก และความลุ่มลึกในการละเล่น รวมถึงเงื่อนไขแห่งการงานของผู้คนในโลกสมัยใหม่ทำให้สถานภาพและบทบาทของ “โนรา” ที่ปักษ์ใต้วันนี้จึงต่างกับวันวานในหลายลักษณะ ทั้งรูปแบบในการแสดง สถานที่แสดงและโอกาสในการแสดง

จะอย่างไรก็ตาม วันนี้เราได้เห็นการปรับปรุงและสืบทอด “โนรา” ของบุตรหลานแห่งเมืองปักษ์ใต้ที่เข้มข้นขึ้น มีการแสดงโนราผ่านสื่อสมัยใหม่ เช่น วิทยุโทรทัศน์เป็นจำนวนมาก มีการนำโนรามาแสดงเพื่อรับใช้เนื้อหาใหม่ๆ อย่างทันการณ์ และสถานศึกษาทุกระดับ ส่งเสริมให้มีการอนุรักษ์ ฝึกโนราอย่างกว้างขวาง


 
วันพรุ่ง จึงยังเป็นวันที่หวังได้ว่า “โนรา : นาฏลักษณ์จำเพาะแห่งเมืองปักษ์ใต้” จะยังก้องเสียงดนตรีอันเร้าใจ และจะยังคงลีลาท่วงท่าการรำอันอ่อนช้อย แต่เข้มแข็ง อยู่คู่ปักษ์ใต้อีกนานเท่านาน



กำลังโหลดความคิดเห็น