xs
xsm
sm
md
lg

ส้มโชกุนยะลาใกล้วิกฤต วอนรัฐส่งเสริมก่อนสูญพันธุ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ส้มโชกุนยะลาใกล้วิกฤต เหตุเกษตรกรหันไปปลูกยางพาราแทน วอนรัฐเร่งส่งเสริมก่อนสูญพันธุ์

นายวิทยา ลีลาภัทรพันธุ์ อดีตเจ้าของสวนส้มโชกุน จ.ยะลา เปิดเผยว่า ปัจจุบัน การปลูกส้มโชกุนในพื้นที่ จ.ยะลา ลดลงอย่างมาก จากเมื่อก่อนที่มีปลูกเป็นหมื่นไร่ ขณะนี้เหลือเพียงห้าร้อยไร่ สาเหตุอาจเนื่องมาจากราคายางดี ทำให้ผู้ปลูกส้มโชกุนหันไปปลูกยางพาราแทน

ทั้งนี้ กระบวนการดูแลส้มโชกุนเป็นกระบวนการที่ยุ่งยาก เพราะส้มโชกุนมีโรคหลัก คือ โรคมังกรเหลือง ซึ่งโรคนี้จะเกิดขึ้นในการปลูกส้มโชกุน 1 รุ่น และถ้าจะให้ส้มโชกุนมีอายุที่ยืนยาวก็จะต้องมีสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อส้ม โดยจะต้องไม่มีแปลงที่มีโรคเหลืออยู่ใกล้เคียงกับแปลงที่ดี อย่างน้อยก็ต้องเว้นระยะห่างไว้ ปกติแล้ว โรคมังกรเหลืองจะเกิดขึ้นกับมะนาว ส้มเขียวหวาน ส้มโชกุน โดยจะซ่อนอยู่ที่กิ่งพันธุ์ที่นำมาปลูก
นายวิทยา ลีลาภัทรพันธุ์ อดีตเจ้าของสวนส้มโชกุน
 
นายวิทยากล่าวว่า ที่ผ่านมา จ.ยะลา ได้พยายามพัฒนาการปลูกส้มโชกุน โดยการนำเอาต้นตอจากเมืองนอกมาติดตา เพื่อสร้างความแข็งแรงให้แก่ต้นส้ม และเป็นการป้องกันโรคกรีนนิ่ง โรครากเน่าโคนเน่า และโรคต่างๆ โดยมีการปรับปรุง และปลูกมากในช่วงหนึ่ง ถึงขนาด 8,000-10,000 ไร่

ซึ่งหลังจากที่มีการปลูกกันมาก ราคาส้มก็ตกต่ำลง ประกอบกับราคายางพารามีราคาสูงขึ้น เกษตรกรที่ปลูกส้มโชกุนจึงหันไปปลูกยางพาราแทน โดยปัจจุบันนี้ จ.ยะลา มีการปลูกส้มโชกุนไม่ถึง 500 ไร่ ถ้าหากภาครัฐไม่หันมาให้ความสนใจ หรือส่งเสริม ในอนาคตข้างหน้า ส้มโชกุนคงจะเป็นตำนานเหมือนกับส้มจุกก็เป็นได้

ในส่วนของราคาปัจจุบัน ส้มโชกุนที่มีขายตามท้องตลาดมีราคาดีมาก แต่ไม่ใช่ส้มโชกุนที่แท้จริง และไม่ใช่คุณภาพตามที่ตลาดต้องการ ถ้าหากมีการปรับปรุง ส่งเสริมในเรื่องวิชาการ กระบวนการเอาใจใส่ การดูแล การให้ธาตุอาหารแก่เกษตรกรผู้ปลูก เชื่อว่าราคาของส้มโชกุนจะสูงถึงกิโลกรัมละ 200 บาท
นางศิริษา เด่นปรีชาวงศ์ หรือเจ้หงส์ แม่ค้าขายส้มโชกุน
 
ด้านนางศิริษา เด่นปรีชาวงศ์ หรือเจ้หงส์ แม่ค้าขายส้มโชกุนเปิดเผยว่า สำหรับราคาส้มโชกุนนั้น ช่วงนี้ราคาสูงขึ้น เนื่องจากมีปริมาณผลผลิตส้มน้อย แต่หากเป็นช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ราคาก็จะไม่สูง เพราะส้มโชกุนออกผลผลิตในช่วงนั้นมาก

“ราคาของส้มในขณะนี้ก็พอที่จะมีกำไรบ้างประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าช่วงที่ส้มออกมาก รายได้ก็จะลดลง สำหรับสวนส้มในพื้นที่ขณะนี้ก็ทราบว่า ลดลงมากไปกว่าครึ่ง เนื่องจากเกษตรกรหันไปปลูกยางพาราแทน เพราะราคายางพาราจะสูงกว่าราคาส้ม คนที่ปลูกส้มจึงหันมาปลูกยางพาราแทน เพราะไม่ต้องดูแลอะไรมากมายเหมือนปลูกส้ม ตอนนี้จึงทำให้ปริมาณส้มน้อยลง ราคาส้มจึงสูงขึ้น จาก 90 บาทต่อกิโลกรัม กลายเป็น 140 บาทต่อกิโลกรัม ถ้าขนาดจัมโบ้เดิม 100 บาทต่อกิโลกรัม ก็กลายเป็น 150 บาทต่อกิโลกรัม” นางศิริษา กล่าว

กำลังโหลดความคิดเห็น