xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่ายชาวสวนใต้จ่อเทน้ำยางบ้าน “ปู” จี้แก้ราคาตกวูบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - เครือข่ายชาวสวนยาง14 จังหวัดภาคใต้ และทุกภาคทั่วประเทศนัดเคลื่อนขบวนเข้ากรุงเทพฯ 10 มกราคมนี้ ชุมนุมและเทน้ำยางสดหน้าบ้านนายกรัฐมนตรี จี้แก้ปัญหาราคายางตกต่ำ หลังข้อเรียกร้องที่ยื่นไปก่อนหน้านี้ยังไม่ได้รับการตอบสนอง

วันนี้ (7 ม.ค.) เมื่อเวลา14.00 น. ที่ห้องประชุมรุ่งฉัตร โรงแรมวีแอล อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เครือข่ายชาวสวนยาง14 จังหวัดภาคใต้ นำโดย นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ สมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย, นายบุญส่ง นับทอง นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย, นายชยันต์ สังขไพฑูรย์ ประธานสภาเกษตรกรจ.สงขลา, นายพิพัฒน์ เจือละออง ส.อบจ.สงขลา ผู้ประสานงาน ได้ร่วมกันออกแถลงการณ์ฉบับที่ 2 นัดรวมตัวเคลื่อนไหวใหญ่ในวันที่ 10 มกราคม นี้

การเคลื่อนไหวครั้งนี้ กลุ่มเกษตรกรเตรียมนำรถบรรทุกน้ำยางพาราจังหวัดละ 20 คัน เคลื่อนขบวนเข้าสู่กรุงเทพฯ ไปชุมนุมและเทน้ำยางสดที่หน้าบ้านพักนายกรัฐมนตรี โดยจะเริ่มรวมตัวที่บริเวณสี่แยกคูหา อ.รัตภูมิ จ.สงขลา ก่อนเคลื่อนขบวนไปค้างคืนและเปิดเวทีปราศรัยที่ จ.พัทลุง นครศรีธรรม สุราษฎร์ธานี และรวมตัวกันทั้ง 14 จังหวัด ที่จ.ชุมพร โดยคาดว่าจะใช้เวลา5 วัน ก่อนเคลื่อนขบวนไปยังบ้านนายกรัฐมนตรี ร่วมกับเครือข่ายชาวสวนยางจากภาคต่างๆ ที่จะเดินทางเข้ามาร่วมสมทบเทน้ำยางสดประท้วง

ทั้งนี้ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ หลังจากที่เมื่อวันที่ 22 ธันวาคมที่ผ่านมาทางเครือข่ายชาวสวนยาง14 จังหวัดภาคใต้ ได้เข้ายื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการ จ.สงขลา ผ่านไปยังนายกรัฐมนตรี ให้เร่งแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำเป็นการด่วน ด้วยวิธีการแทรกแซงราคายางหรือมาตรการอื่นๆ เพื่อให้ราคายางพารามีราคาไม่ต่ำกว่า 120 บาท โดยขีดเส้นตายต้องได้รับคำตอบภายในวันที่ 6 มกราคมที่ผ่านมา แต่รัฐบาลยังนิ่งเฉยไม่มีคำตอบใดๆ ชาวสวนยางทั่วประเทศจึงจำเป็นต้องใช้มาตรการตอบโต้ตามที่ได้ประกาศไว้

นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย เผยว่า กว่า 3 เดือนที่ราคายางพาราตกต่ำ และได้มีการเรียกร้องให้เร่งแก้ปัญหา โดยขณะนี้ยางรมควันอยู่ที่กิโลกรัมละ 93 บาทส่วนน้ำยางสดอยู่ที่ 80 บาท แต่รัฐบาลยังไม่มีมาตรการใดๆ ที่ชัดเจนออกมา และยังได้ขายยางพาราให้จีนในราคาแค่ 105 บาทต่อกิโลกรัมจำนวน 180,000 ตัน ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ราคายางพาราตกต่ำ ขณะที่ผู้รับผิดชอบในรัฐบาลทั้งระดับรัฐมนตรีและผู้ที่เกี่ยวข้องไม่มีความรู้เรื่องยางพารา รวมทั้งยังเข้าไปมีเอี่ยวผลประโยชน์จากการขายยาง

ด้านนายอุดมศักดิ์ ศุทธิเวทิน ประธานเครือข่ายเกษตรกร สถาบันเกษตรกร ด้านยางพาราครบวงจรแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ได้พยายามเข้าพบกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ เพื่อเรียกร้องให้หามาตรการแก้ไขปัญหายางพาราหลังจากที่เริ่มตกต่ำมาตั้งแต่ปลายเดือนกันยายน ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องบอกว่าจะพยายามหาทางทำให้ราคายางไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 120 บาท ซึ่งเป็นราคาที่เกษตรกรพออยู่ได้ แต่จนถึงขณะนี้ราคายางพารายังต่ำกว่ากิโลกรัมละ120 บาท จึงจำเป็นต้องมีมาตรการตอบโต้เนื่องจากชาวสวนยางทั่วประเทศได้รับความเดือดร้อน




กำลังโหลดความคิดเห็น