นครศรีธรรมราช - คุกนครศรีฯ ยังสะเทือน ผู้คุมกลุ่มนอกแถวระทึกคำสั่งให้ออก 3 จนท.ยังไม่ถูกส่งมาถึงเรือนจำ ด้าน ผบก.ระดมพนักงานสอบสวนฝีมือดีทำคดี ผู้เชี่ยวชาญปลดล็อกมือถือเดินทางมาถึงแล้วเริ่มถอดรหัส สาวเครือข่ายยานรกถึงใครฟันไม่เลี้ยง กำนันเผยแก๊งขว้างมือถือยังขว้างต่อเนื่อง จ่ายค่าเป็นหูเป็นตาชาวบ้านเดือนละ 8,000 บาท และยังมีรายงานว่า การตรวจค้นนั้นยังไม่ละเอียดโดยเฉพาะแดน 4 ที่ยังมีทั้งมือถือ ยาไอซ์น่าจะร่วม กก. หลงเหลืออยู่อื้อซ่า
หลังจากปฏิบัติการนรกแตก เข้าค้นเรือนจำนครศรีธรรมราช ถึง 2 รอบเพียงไม่ถึง 24 ชม.เจ้าหน้าที่พบของต้องห้าม โทรศัพท์มือนานาชนิด ยาเสพติดจำนวนมาก และขยายผลไปถึงการดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง โดยมีเจ้าหน้าราชทัณฑ์ในส่วนของเรือนจำกลางนครศรีธรรมราช ที่อยู่ในข่ายถูกดำเนินการทั้งทางวินัย ทางอาญา และต่อเนื่องไปถึงการยึดทรัพย์ ในฐานความผิดสมคบอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ค้ายาเสพติด ซึ่งมีระวางโทษเดียวกันกับผู้ค้า ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามยาเสพติด
**รก.ผบ.เรือนจำกลางใบ้กิน-คำสั่งให้ออกผู้คุมนอกรีตมาไม่ถึง
วันนี้ (25 เม.ย.) ความคืบหน้าที่เรือนจำกลางนครศรีธรรมราช ม.1 ต.นาพรุ อ.พระพรหม จ.นครศรีธรรมราช บรรยากาศเต็มไปด้วยความเคร่งเครียด มีการติดป้ายภายในบริเวณเรือนจำข้อความว่า “เรือนจำกำแพงเพชร ขอเป็นกำลังใจให้เจ้าหน้าที่เรือนจำกลางนครศรีธรรมราช”
ส่วนการการทำงานของเจ้าหน้าที่แต่ละนายต่างมีสีหน้าเคร่งเครียดอย่างเห็นได้ชัด โดยผู้สื่อข่าวได้ติดต่อกับ นายพัชระ พูลช่วย รอง ผบ.เรือนจำกลางนครศรีธรรมราช รักษาการผู้บัญชาการเรือนจำเพื่อขอสัมภาษณ์ โดยนายพัชระปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ กล่าวเพียงว่า “ผมไม่รู้เรื่องอะไรทั้งหมด ต้องทำเป็นหนังสือมาเท่านั้น ผมเครียดมากอยากลาพักผ่อนสัก 1 เดือน เจ้าหน้าที่แต่ละคนก็เงียบ เคร่งเครียดทำเฉพาะงานกันอย่างเดียว” ก่อนที่จะขอตัวไป
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า หลังจากกรมราชทัณฑ์เปิดเผยวานนี้ (24 เม.ย.) ว่าได้มีการลงนามสั่งให้เจ้าหน้าที่เรือนจำกลางนครศรีธรรมราช จำนวน 3 ราย ให้ออกจากราชการ และตั้งกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง พร้อมกันนั้น ให้ส่งเรื่องให้ทาง ปปง.สอบสวนเส้นทางการทำธุรกรรมทางการเงิน เพื่อนำไปสู่การยึดทรัพย์ โดยตัวคำสั่งนั้นยังไม่ถูกส่งมายังเรือนจำกลางนครศรีธรรมราช ต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ทั้ง 3 ราย ส่งผลให้เจ้าหน้าที่เรือนจำ หรือผู้คุมที่อยู่ในข่ายการสอบสวนขยายผล และการจู่โจมค้นบ้านของกลุ่มเจ้าหน้าที่ดังกล่าวต่างหวาดวิตกว่าทั้ง 3 คนนั้นจะเป็นใครบ้าง
ขณะที่บรรยากาศญาติของผู้ต้องขังที่เข้าเยี่ยมนักโทษพบว่า มีญาติมาติดต่อแสดงความจำนงขอเข้าเยี่ยมอย่างหนาตาเป็นพิเศษ โดยต่างคนมีความห่วงใยญาติของตนเองที่ต้องโทษอยู่ภายในเรือนจำ เนื่องจากเกรงว่า หากเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับการค้นพบโทรศัพท์ หรือยาเสพติด จะต้องถูกเพิ่มโทษ และลดชั้นการเป็นนักโทษลงไป และส่งผลต่อไปในเรื่องของการลดโทษช่วงอภัยโทษของแต่ละปีนั่นเอง
**ญาตินักโทษเครียดแทน
นายธีระพันธ์ (สงวนนามสกุล) พี่ชายของนักโทษคดียาเสพติดที่ถูกจองจำอยู่ในแดน 5 เปิดเผยว่า เดินทางมาจาก จ.สุราษฎร์ธานีตั้งแต่ช่วงเช้าเพื่อมาติดต่อขอเยี่ยมน้องชาย ขณะนี้ครอบครัว ญาติสนิทต่างเป็นห่วงน้องชายมาก เนื่องจากแต่ละคนตั้งใจกันมากว่าหลังจากน้องชายพ้นโทษแล้วจะช่วยกันดูแลให้เป็นคนดี โดยให้เรือนจำสอนบทเรียนชีวิตครั้งใหญ่ให้แก่เขา “ผมไม่นึกเลยว่าสิ่งที่คาดหวังนั้นมันจะหมดไปจากความรู้สึก คิดไม่ถึงว่าที่ปลอดภัยที่สุดในเรือนจำเพื่อกล่อมเกลาคนให้เป็นคนดีกลายเป็นที่อันตรายที่สุด กลายเป็นแหล่งเพาะความชั่วร้ายให้มากขึ้น” นายธีระพันธ์กล่าว
**ระดมผู้เชี่ยวชาญมือถือปลดล็อกสอบเส้นทางการติดต่อเชื่อมโยง
ส่วนความเคลื่อนไหวทางด้านการดำเนินคดีในทุกคดีนั้น ได้มีการเริ่มดำเนินการอย่างเต็มรูปแบบ โดย พล.ต.ต.รณพงศ์ ทรายแก้ว ผบก.ภ.นครศรีธรรมราช ได้สั่งการให้ระดมพนักงานสอบสวนฝีมือดีจากหลาย สภ.ทั้งจังหวัด รวมทั้งพนักงานสอบสวนจากกลุ่มงานสอบสวน บก.ภ.นครศรีธรรมราช หลายนายเข้าทำคดี โดยแยกคดีออกเป็นกลุ่ม ประกอบด้วยคดีเสพยาเสพติดของนักโทษจากการตรวจพบปัสสาวะเป็นสีม่วงจำนวน 655 ราย คดีครอบครองยาเสพติด คดีสิ่งของต้องห้ามในเขตเรือนจำ ซึ่งขณะนี้ได้ส่งให้พนักงานสอบสวน สภ.พระพรหมไป
พล.ต.ต.รณพงษ์ ทรายแก้ว ผบก.ภ.นครศรีธรรมราชได้แต่งตั้งคณะทำงานพิเศษเพื่อดำเนินการเกี่ยวกับคดีเรือนจำกลางนครศรีธรรมราชโดยเฉพาะ โดยมอบหมายให้ พ.ต.อ.ญาณพัฒน์ นรสิงห์ รอง ผบก.ภ.นครศรีธรรมราช เป็นผู้อำนวยการ และตั้งชุดสืบสวนสอบสวนขึ้นมา 2 ชุด มี พ.ต.อ.เชาวศิลป์ บุญประดิษฐ์ ผกก.สส.บก.ภ.นครศรีธรรมรช เป็นหัวหน้าชุดสืบสวน และ พ.ต.อ.สุรสิทธิ์ ทิพรัตน์ เป็นหัวหน้าชุดสอบสวน เพื่อทำการขยายผลในกรณีดังกล่าว
พ.ต.อ.ญาณพัฒน์ นรสิงห์ รอง ผบก.ภ.จว.นครศรีธรรมราช ระบุว่า การดำเนินการคัดแยกของกลางที่ตรวจยึดมาได้จากเรือนจำ เร่งดำเนินการใน 3 ประเด็นคือ 1.สิ่งใดที่เป็นสิ่งของต้องห้ามและรู้ตัวเจ้าของได้มีการส่งดำเนินคดีกับเจ้าพนักงาน สภ.พระพรหม จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นที่ตั้งของเรือนจำ โดยกรณีสิ่งของต้องห้ามที่รู้ตัวเจ้าของและส่งดำเนินคดีแล้ววันนี้ (25 เม.ย.) มีจำนวน 72 ราย ส่วนใหญ่จะเป็นนักโทษในแต่ละแดนของเรือนจำ
2.กรณียาเสพติดหากรู้ตัวเจ้าของก็จะแยกส่งดำเนินคดีโดยชุดพนักงานสอบสวนที่ตั้งขึ้นเอง ซึ่งตอนนี้ยังไม่ทราบเจ้าของยาเสพติดที่ยึดได้และ 3.กรณีการตรวจปัสสาวะนักโทษในส่วนของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ตรวจสอบมีทั้งหมด 477 คนที่มีปัสสาวะสีม่วง ได้ส่งผลตรวจไปตรวจสอบอีกครั้งที่โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช โดยตอนนี้ทราบผลยืนยันว่า พบปัสสาวะมีสารเสพติดจำนวน 380 คน ซึ่งจะมีการดำเนินคดีเกี่ยวยาเสพติด ส่วนที่เหลือจะเป็นในส่วนของราชทัณฑ์จะส่งไปตรวจยืนยันที่ส่วนกลาง นอกจากนี้ อุปกรณ์ที่พบหากเป็นโทรศัพท์อย่างเดียว และทราบว่าเป็นของใครนั้นจะดำเนินคดีผิด พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ ส่วนที่มีเจ้าของ หรือไม่มีเจ้าของก็จะต้องตรวจสอบว่าเชื่อมโยงกับใคร
ส่วนโทรศัพท์มือถือทุกระบบเครือข่าย ทุกแบบทั้งสมาร์ทโฟน และแท็บเล็ตนั้น เจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญที่ถูกขอตัวโดย พล.ต.ต.รณพงศ์ ทรายแก้ว ผบก.ภ.นครศรีธรรมราช ได้เดินทางมาถึงนครศรีธรรมราช ตั้งแต่ช่วงเย็นของวานนี้ และได้จัดหมวดหมู่ระบบโทรศัพท์ และเริ่มปลดล็อกโทรศัพท์มือถือของนักโทษที่ยึดมาได้ประมาณ 350 เครื่องอย่างต่อเนื่อง เพื่อสืบค้นการติดต่อเชื่อมโยงโทรศัพท์กับหมายเลขต่างๆ ในการสืบสวนขยายผล โดยมีเป้าหมายหลักคือกลุ่มผู้ค้ายาเสพติด และเจ้าหน้าที่เรือนจำ รวมทั้งเจ้าหน้าที่อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปสู่การดำเนินคดีอย่างเด็ดขาด โดยอาจจะต้องใช้เวลาถึง 2 เดือนข้อมูลต่างๆ จึงจะรวบรวมแล้วเสร็จ
**กำนันหลังเรือนจำเผยแก๊งขว้างมือถือ-ยาเสพติดยังขว้างต่อเนื่อง
นายปานเทพ รัสมะโน กำนันตำบลนาสาร อ.พระพรหม จ.นครศรีธรรมราช กำนันเจ้าของพื้นที่หลังเรือนจำกลางนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นเขตติดต่อกับแดน 4, 5 และ 6 เปิดเผยว่า แม้ว่าเจ้าหน้าที่จะเข้าทลายครั้งใหญ่ในเรือนจำแห่งนี้ แต่ขบวนการขว้างโทรศัพท์เข้าเรือนจำนั้นยังมีเหมือนเดิม และมีทุกวันด้วยซ้ำ แสดงว่าการติดต่อภายในเรือนจำกับภายนอกยังทำได้อย่างต่อเนื่อง เมื่อคืนที่ผ่านมาช่วง 4 ทุ่มถึง 5 ทุ่ม และช่วงตี 3 ถึง ตี 4 ยังมีเข้าไปขว้างแต่ทีมงานของตนดักจับไว้ไม่ทัน สังเกตได้ว่า คนพวกนี้สวมชุดมาพร้อมทำงานคือชุดดำ
“ชาวบ้านที่ติดตามข่าวหลายคนต่างพอใจที่เจ้าหน้าที่เข้าไปสะสางในเรือนจำแห่งนี้ แต่มีหลายคนที่เสียผลประโยชน์ เนื่องจากขบวนการจะจ่ายเงินให้แก่ชาวบ้านหลายรายที่อยู่ใกล้กับบริเวณขว้างเดือนละ 7-8 พันบาท โดยให้อำนวยความสะดวกคืออยู่เฉยๆ และคอยสอดส่องดูเจ้าหน้าที่หากมีรถตำรวจ มีรถของ ชรบ.หรือทีมงานกำนันผู้ใหญ่บ้าน เข้าไปใกล้นั้นให้โทร.แจ้งพวกนี้ทันที เจ้าหน้าที่และทีมงานจะต้องคอยสังเกตว่า หากวันไหนสวนยางที่อยู่ใกล้กับกำแพงเรือนจำไม่กรีดยาง วันนั้นจะมีการขว้างสิ่งของเข้าเรือนจำ” กำนันปานเทพกล่าว
**เผยยาเสพติด-โทรศัพท์ยังเกลื่อนแดน 4
เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ระดับปฏิบัติการรายหนึ่ง (สงวนชื่อ-สกุล) เปิดเผยว่า แม้ว่าเจ้าหน้าที่จะตรวจค้นและยึดสิ่งของต้องห้าม โทรศัพท์มือถือไปได้เป็นจำนวนมากแล้วนั้น ยังคงมีโทรศัพท์เหลืออยู่อีกจำนวนหลายเครื่องซุกซ่อนอยู่ตามจุดต่างๆ เข้าใจว่าช่วงตรวจค้นเจ้าหน้าที่ตำรวจคงอ่อนล้า และไม่คุ้นชินกับกลิ่นเหม็นอับในเรือนจำ ทำให้การตรวจค้นไม่ละเอียดเท่าที่ควร รวมทั้งยาเสพติด
โดยเฉพาะแดน 4 ในขณะนี้ ยังมียาเสพติดหลงเหลืออยู่เป็นจำนวนมาก เช่น ตามจุดฝังดินต่างๆ โต๊ะปิงปอง ไม้ปิงปอง ลูกฟุตบอล ลูกบาสเกตบอล เครื่องกีฬา โต๊ะอาหาร เก้าอี้ มีจุดซุกซ่อนทั้งนั้น ขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจค้นอีกรอบแบบไม่รู้ตัวจะได้ของกลางโดยเฉพาะยาเสพติดอีกจำนวนมาก ขอบอกว่าโดยเฉพาะยาไอซ์ หรือที่เรียกกันในวงการว่า “น้ำแข็ง” ทุกแดนรวมกันแล้วยังคงมีอยู่นับเป็นกิโลกรัมทีเดียว
เจ้าหน้าที่รายเดิมยังเล่าต่อว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่ที่เข้าปฏิบัติหน้าที่ในแดนผู้ต้องขังเมื่อมาเข้าเวรนั้นจะไม่รู้ตัวก่อนว่าจะต้องเข้าไปทำหน้าที่ในแดนไหน รู้เมื่อเดินผ่านประตูไปแล้ว และแต่ละคนอยู่ในสภาพระแวงเมื่อเข้าไปในแดน และจะไม่กล้าเก็บสิ่งของใดๆ ในแดน เนื่องจากเกรงว่าสิ่งของที่เพ่นพ่านอยู่นั้นจะเป็นที่ซุกซ่อนของต้องห้าม หรือยาเสพติด อาจถูกมองได้ว่ามีส่วนรู้เห็นหรือเกี่ยวข้อง เนื่องจากฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจได้จัดวางสายไว้อย่างครอบคลุม ทั้งเจ้าหน้าที่ด้วยกันเอง รวมไปถึงนักโทษบางรายที่ถูกส่งมาจากเรือนจำอื่นให้เข้ามาอยู่ภายในหลายเดือนที่ผ่านมา ไม่รู้ว่าใครเป็นใครสายไหนต่างสงวนท่าที และพยายามไม่ทำงานนอกเหนือหน้าที่ รวมทั้งสุงสิงกับผู้ต้องขังเหมือนเคย
**แฉวิธีการขนยาเสพติด-มือถือเข้าเรือนจำ
เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์รายเดิม ยังเปิดเผยถึงวิธีการขนสิ่งของต้องห้ามจำพวกยาเสพติด และโทรศัพท์มือถือเข้าไปในเรือนจำว่า ในส่วนโทรศัพท์มือถือนั้นจะมี 2 แบบ คือแบบผ่านเข้าไปทางประตูด้านหน้าผ่านขั้นตอนการตรวจต่างๆ และแบบหลังคือโยนข้ามกำแพงเข้าเรือนจำแล้วมีผู้คุมเก็บไปส่งให้นักโทษ
แบบแรกคือผ่านเข้าทางประตูเจ้าหน้าที่จะมีส่วนรู้เห็นเป็นผู้พาเข้าไปเองผ่านทางสัมภาระต่างๆเช่น ใส่กระเป๋าเอกสาร ใส่แฟ้ม เข้าไปโดยเจ้าหน้าที่ผู้ตรวจจะให้เกียรติกันไม่ตรวจค้น ทำให้ผู้ที่พาเข้าไปสามารถเข้าไปได้อย่างง่ายดาย เช่น แท็บเล็ต หรือสมาร์ทโฟนประเภทต่างๆ จะเน้นเข้าไปทางประตูโดยเจ้าหน้าที่ และหากเข้าไปคราวละหลายเครื่องนั้น จะเข้าไปกับรถขนอาหารสด รถขนขยะ รถขนเศษอาหาร เจ้าหน้าที่จะขับรถเข้าไปแล้ว นักโทษจะนำเศษอาหาร ขยะมาใส่รถ หรือมายกของลงจากรถ จากนั้น จะหยิบเอาสิ่งของเหล่านี้กลับไปแจกจ่ายให้แก่นักโทษผู้ที่สั่ง
ซึ่งทุกขั้นตอนจะมีค่าใช้ข่าย คือ 1.เจ้าหน้าที่ผู้นำเข้า 2.นักโทษผู้ที่นำไปส่งให้ผู้สั่ง 3.ผู้คุมที่รู้เห็น นอกจากเฉพาะค่าเครื่องที่จำหน่ายกันในเรือนจำตก 2-3.5 แสนแล้ว ยังมีค่าใช้จ่ายเหล่านี้อีกหลายหมื่นบาทต่อเครื่อง ส่วนเจ้าหน้าที่จะมีรายได้ถึงคราวละหลายแสนไปจนถึงหลักล้าน
ส่วนวิธีการขว้างข้ามกำแพงเรือนจำนั้น เจ้าหน้าที่จะนัดหมายเวลาให้ขว้าง โดยเมื่อเมื่อถึงเวลานัดหมายผู้ที่อยู่ภายนอกจะขว้างเข้าไป โดยเจ้าหน้าที่ หรือนักโทษจะเป็นผู้มาเก็บแล้วนำไปแจกจ่ายให้แก่นักโทษที่สั่ง โดยมีค่าใช้จ่ายในทำนองเดียวกัน แต่วิธีการนี้จะไม่เน้นกับสมาร์ทโฟนประเภทไอโฟน หรือแท็บเล็ตต่างๆ เนื่องจากจะเสียหายง่าย
ขณะที่ยาเสพติดนั้น จะไปเข้าไปหลายรูปแบบ เช่น น้ำ คือเอายาไอซ์มาละลายน้ำแล้วส่งเข้าไปเป็นเครื่องดื่ม หรือน้ำดื่ม โดยไม่มีสี ไม่มีกลิ่น จากนั้นนักโทษจะนำไปตั้งไฟ หรือตากแห้งจนกลับมาเป็นเกล็ดอีกครั้งก่อนนำไปเสพ หรือขายให้แก่นักโทษด้วยกัน หรือแบบเข้ามาทั้งถุง จะมีเจ้าหน้าที่เอี่ยวด้วยทุกขั้นตอน ส่วนใหญ่กว่า 90 เปอร์เซ็นต์เจ้าหน้าที่นอกแถวจะเป็นคนหิ้วเข้าไป กรณีตำรวจเข้าไปพบยาไอซ์แบบยกถุงใหญ่จะเข้าไปได้อย่างไรหากไม่ใช่เจ้าหน้าที่