xs
xsm
sm
md
lg

รมว.สาธารณสุขเยี่ยมเหยื่อบึ้มยะลา เปิดครัวฮาลาลต้นแบบ รพ.ยะลา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ยะลา - รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขลงพื้นที่ เข้าเยี่ยมผู้บาดเจ็บจากเหตุคาร์บอมบ์ และเปิดครัวฮาลาลต้นแบบโรงพยาบาลยะลา พร้อมเร่งพัฒนา 56 มัสยิด เป็นศูนย์บำบัดยาเสพติด

วันนี้ (5 เม.ย.) ที่ห้อง ICU, ห้องปลอดเชื้อ และตึกศัลยกรรมชาย โรงพยาบาลศูนย์ยะลา เขตเทศบาลนครยะลา อ.เมือง จ.ยะลา นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์นิทัศน์ รายยวา รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์จักรกฤษณ์ ภูมิสวัสดิ์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการ นายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ ผู้ตรวจราชการ กสธ.เขตที่ 8 เดินทางเข้าเยี่ยมผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุคาร์บอมบ์ 2 จุด ย่านถนนรวมมิตร เขตเทศบาลนครยะลา อ.เมือง จ.ยะลา เมื่อวันที่ 31 มี.ค. ที่ยังนอนพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลศูนย์ยะลา อีก 22 ราย

พร้อมมอบกระเช้าเยี่ยมเพื่อให้กำลังใจ โดยมี นายเดชรัฐ สิมศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา นายแพทย์สวัสดิ์ อภิวัจนีวงศ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดยะลา ซึ่ง นายแพทย์พีระพงศ์ ภาวนาสุทธิไพศิฐ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลยะลา ได้สรุปผลการรักษาผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ ซึ่งในขณะนี้ยังมีผู้ที่ได้รับบาดเจ็บสาหัส ที่แพทย์ต้องดูแลอาการอย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันการติดเชื้อ ในห้องไอซียู จำนวน 3 ราย ส่วนอีก 19 ราย นอนพักรักษาตัวในห้องปลอดเชื้อ และตึกศัลยกรรมชาย, ศัลยกรรมหญิง

จากนั้น นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และคณะ ได้เดินทางไปเปิดโครงการครัวฮาลาลต้นแบบโรงพยาบาลศูนย์ยะลา ซึ่งโรงพยาบาลศูนย์ยะลาได้จัดทำโครงการครัวฮาลาลขึ้น ตั้งแต่ปี 2551 ที่ผ่านมา โดยดำเนินการเป็นครัวฮาลาล แบบธรรมดา ที่เจ้าหน้าที่ของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา เป็นผู้ปรุง และเมื่อประมาณ 2 ปีที่ผ่านมา ได้นำระบบ HAL-Q ซึ่งต้องใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เช่น การตรวจสอบแหล่งวัตถุดิบ การซื้อเครื่องปรุงที่เป็นฮาลาล และทุกขั้นตอนในการปรุง จะมีการวิเคราะห์วิจัยทางวิทยาศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นด้านเคมี ชีวภาพ และกายภาพ ซึ่งจะเพิ่มความมั่นใจมากขึ้น

เนื่องจากวัสดุที่นำมาปรุง นอกจากต้องสะอาด ถูกสุขลักษณะแล้ว จะต้องฮาลาลด้วย ทั้งนี้ ระบบ HAL-Q จะเป็นระบบที่ตรวจสอบได้ละเอียดมากขึ้น โดยที่ผ่านมาศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีสาขาที่จังหวัดปัตตานี ได้มาวางระบบให้ รวมทั้งส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบ ในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา จำนวน 2 ครั้ง ก็ได้รับการรับรองมาตรฐานอาหารฮาลาล เมื่อวันที่ 8 มี.ค.55 และถือเป็นโรงพยาบาลแห่งที่ 2 ที่ได้มาตรฐานครัวฮาลาลในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต่อจากโรงพยาบาลสตูล และเป็นโรงพยาบาลแรก และแห่งเดียวในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ผ่านการรับรอง ซึ่งถือว่าเป็นความก้าวหน้าของกระทรวงสาธารณสุข ที่นำมาตรฐานอุตสาหกรรมมาทำระบบฮาลาล

ซึ่งในปัจจุบัน โรงพยาบาลศูนย์ยะลา มีผู้ป่วยจากนอกพื้นที่ที่เป็นชาวไทยมุสลิมเข้ามารับบริการประมาณร้อยละ 70-80 เปอร์เซ็นต์ ส่วนผู้ป่วยในเป็นชาวไทยมุสลิมในพื้นที่ ประมาณร้อยละ 60 เปอร์เซ็นต์ และชาวไทยพุทธประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งการจัดทำโครงการครัวฮาลาลขึ้นในโรงพยาบาลศูนย์ยะลา นับเป็นผลที่ดีต่อผู้ที่มาเข้ารับบริการ

หลังจากนั้น นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และคณะ ได้เดินทางไปยังหอประชุมมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา อ.เมือง จ.ยะลา เพื่อเปิดการอบรมอาสาสมัครสาธารณสุข หรือ อสม.ในพื้นที่ จ.ยะลา จำนวน 944 คน เพื่อให้เป็น อสม.ที่มีความเชี่ยวชาญด้านยาเสพติด เพื่อทำหน้าที่ในการเผ้าระวัง ป้องกันปัญหายาเสพติดที่กำลังแพร่ระบาดในชุมชน หมู่บ้าน และติดตามดูแลช่วยเหลือผู้เสพยาเสพติดที่ผ่านการบำบัดแล้ว

นอกจากนั้น จะมีการเร่งให้ผู้นำชุมชน ผู้นำท้องถิ่น ฝ่ายปกครอง ฝ่ายการศึกษา และสาธารณสุข จำนวน 600 คน จาก 56 อำเภอ ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จัดตั้งทีมบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดประจำมัสยิด 56 แห่ง ที่มีการพัฒนาให้เป็นศูนย์ฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด 1 อำเภอ 1 ศูนย์ฟื้นฟู

ซึ่งภายหลังจากการเปิดการอบรม นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และคณะ ได้เดินทางไปยังมัสยิดบาโงลตา ต.บาโงย อ.รามัน จ.ยะลา เพื่อเข้าเยี่ยมผู้เข้ารับการบำบัดยาเสพติด จำนวน 40 คน ที่เข้ารับการบำบัด ซึ่งมีระยะเวลาในการบำบัด 9 วัน

นายวิทยา บูรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การเดินทางลงพื้นที่ในครั้ง เพื่อเยี่ยมให้กำลังใจผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ จากเหตุระเบิดคาร์บอมบ์ 2 จุดที่ยะลา พร้อมทั้งมอบกระเช้าเยี่ยม นอกจากนี้ เพื่อติดตามโครงการในเรื่องการจัดทำวัคซีนให้เป็น 0 ในการบำบัดเยาวชนบุตรหลานที่ติดยาเสพติด หรือผู้ที่เสพยาเสพติด ซึ่งเป็นการจัดเตรียมทีมเจ้าหน้าที่ที่จะฟื้นฟู และลงพื้นที่ในการบำบัด โดยให้โรงพยาบาลสุขภาพตำบล ซึ่งทำหน้าที่ในการดูแลรักษาพี่น้องประชาชน บุตรหลานที่อยู่ในพื้นที่ ยามเจ็บไข้ได้ป่วยแล้ว ยังได้ดำเนินการด้านการฟื้นฟู และบำบัดยาเสพติด ร่วมกับมัสยิดในพื้นที่อีกด้วย

งานอีกด้านหนึ่งคือ การเพิ่มทักษะของพี่น้องอาสาสมัครที่มีจิตอาสา คือ พี่น้อง อสม. ที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะจังหวัดยะลาซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่จะสร้างบุคคลากร อสม. ที่จะดูแลพี่น้องประชาชน นอกเหนือจาก 10 มาตรการหลัก ความชำนาญทั้ง 10 ด้านแล้ว 1 ในความชำนาญทั้ง 10 ด้าน คือการบำบัดรักษายาเสพติด และเรื่องของการดูแลอุบติภัยเพิ่มเติม ดังนั้น ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็น่าที่จะดูแลเรื่องของผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อเหตุการณ์ ซึ่งในบางครั้ง ผลกระทบเกิดขึ้นกับพี่น้องมุสลิมในพื้นที่ ก็ต้องใช้ อสม. ในพื้นที่เข้าไปช่วยดูแล

เรื่องของสารตั้งต้นในการผลิตยาเสพติดนั้น อี เฟดรีน (Ephedrine) จริงๆ แล้วที่มาของสารตั้งต้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มาจากที่อื่น แต่ในพื้นที่ส่วนใหญ่จะเป็นจำพวก พืชกระท่อม กัญชา ซึ่งเป็นหนึ่งในวิถีชีวิตของคนที่นี่ โดยทางสาธารณสุขยังคงควบคุมและดูแลอยู่ ในด้านของการสร้างขวัญและกำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขนั้น ทางกระทรวงเองมีความพร้อมในการดูแลเจ้าหน้าที่ และบุคคลากรที่ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่เสี่ยง ซึ่งตอนนี้ รัฐได้มีการจัดสรรอัตราใหม่ ของเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข จำนวน 2,000-3,000 อัตรา ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะบุคคลากรที่ยังไม่ได้บรรจุ ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ก็ได้มีการหารือกับผู้ตรวจกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจในพื้นที่

สำหรับเรื่องมาตรการระยะยาวด้านการดูแลรักษาพี่น้องประชาชน อยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างดี ซึ่งรัฐบาลดำเนินการนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉิน ซึ่งเริ่มใช้ในวันที่ 1 เมษายนนี้ แต่สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ยะลา และที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ท่านนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการเริ่มตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม เฉพาะผู้ที่เจ็บป่วยและได้รับผลกระทบ ก็จะได้รับการดูแลรักษา ถือว่าเริ่มใช้มาตรการฉุกเฉินตั้งแต่เมื่อวันที่ 31 มีนาคมมาแล้ว คือรัฐบาลจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้ทั้งหมด




กำลังโหลดความคิดเห็น