ASTVผู้จัดการรายวัน - “ตัน” มาแล้ว โรงงานมูลค่า 3,500 ล้าน บนที่นิคมโรจนะ เริ่มเดินเครื่องผลิต หลังน้ำท่วมซัดปีที่แล้ว มั่นใจสิ้นปีนี้ อิชิตัน ดับเบิ้ลดริ้งค์ อาหาร รายได้ทะลุ 2,500 ล้านบาท ด้าน โออิชิ เกทับทันควัน รีโนเวตโรงงานใหม่พร้อมผลิตเต็ม 100% แล้ว
นายตัน ภาสกรนที กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท อิชิตัน กรุ๊ป จำกัด ผู้ผลิตและทำตลาดเครื่องดื่ม ชาเขียวพร้อมดื่มแบรนด์ “อิชิตัน” กล่าวว่า ขณะนี้โรงงาน อิชิตัน กรีน แฟคทอรี่ ที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ จ.พระนครศรีอยุธยา พื้นที่ 76 ไร่ ได้เริ่มกลับมาผลิตแล้ว หลังจากที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมเมื่อปลายปีที่แล้ว โดยยเป็นโรงงานที่ใช้แรงงานคนเพียง 50 คนเท่านั้น และใช้เครื่องจักรผลิตทั้งหมด จากพนักงานทั้งหมด 700 คน
*** “ตัน” ลั่น พ.ค.ผลิตเต็ม 100%
ทั้งนี้ คาดว่า กำลังผลิตจะเต็ม 100% ในเดือนพฤษภาคมนี้ ด้วยกำลังผลิตสูงถึง 136 ล้านกล่องต่อปี และแบบขวดที่ 200 ล้านขวดต่อปี หลังจากเริ่มไม่เป็นทางการวันที่ 8 มีนาคมเป็นต้นมา ด้วยกำลังผลิตเพียง 50% เท่านั้น ด้วยงบลงทุนรวม 3,500 ล้านบาท แบ่งเป็น งบลงทุนติดตั้งเครื่องจักรใหม่ 2,000 ล้านบาท และงบปรับปรุงโรงงาน 1,500 ล้านบาท
โรงงานนี้ใช้ระบบการผลิตที่เรียกว่า บรรจุเย็นแบบปลอดเชื้อ มาใช้ผลิตเครื่องดื่มอิชิตัน ออร์แกนิค กรีนที และ อิชิตัน ดับเบิ้ล ดริ๊งค์ ใช้ระบบสเตอริไรซ์ฆ่าเชื้อด้วยความร้อนเพียง 4 วินาที ก่อนบรรจุผลิตภัณฑ์ลงขวดในระบบปิดขณะอุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส ลดปริมาณพลาสติกลงได้ถึง 36% สามารถเดินเครื่องได้ต่อเนื่อง 120 ชั่วโมง ประหยัดกว่าการผลิตแบบเดิมที่สามารถเดินเครื่องต่อเนื่องได้แค่ 20 ชั่วโมง นอกจากนี้ ได้ออกแบบโครงสร้างอาคารที่นำแสงสว่างธรรมชาติมาใช้มากที่สุด จึงลดการใช้ไฟฟ้าถึง 20-50% แต่โรงงานนี้ไม่ได้สร้างกำแพงป้องกันน้ำท่วม เนื่องจากรอบนิคมโรจนะได้ทำเขื่อนป้องกันน้ำท่วมไว้แล้ว และเชื่อมั่นว่า รัฐบาลจะสามารถบริหารจัดการได้
นอกจากในส่วนของการผลิตแล้ว ยังได้ใช้งบ 50 ล้านบาท จัดทำ “ตันแลนด์ ดินแดนแห่งความสมดุล” มี 2 ส่วน คือ ที ออฟไลท์ และ เรียนรู้แบบอิชิตัน โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าเยี่ยมชมได้ทุกวัน
นายตัน กล่าวว่า หลังจากที่โรงงานผลิตได้เต็มกำลังผลิตแล้ว มั่นใจว่า สิ้นปีนี้จะมียอดขายรวม 2,500 ล้านบาท แบ่งเป็นยอดขายที่มาจากเครื่องดื่ม 2,000 ล้านบาท และอีก 500 ล้านบาท มาจากกลุ่มอาหาร และมั่นใจว่า สิ้นปีนี้ อิชิตัน จะมีส่วนแบ่งการตลาด 20% จากตลาดรวมเครื่องดื่มชาเขียว อยู่ในอันดับ 2 ของตลาด ส่วนในปี 54 บริษัทมียอดขายรวม 1,200 ล้านบาท
***โออิชิ เกทับผลิต 100% แล้ว
นายแมทธิว กิจโอธาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โออิชิได้เร่งดำเนินการปรับปรุงและฟื้นฟูโรงงานผลิตและบรรจุเครื่องดื่มชาเขียว บนพื้นที่กว่า 60 ไร่ ในนิคมอุตสาหกรรมนวนคร ซึ่งประสบกับเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ในเดือนตุลาคมปีที่แล้ว โดยโรงงานผลิตและบรรจุเครื่องดื่มชาเขียวของบริษัท ได้รับความเสียหายอย่างมาก ส่งผลกระทบทำให้ไม่สามารถผลิตสินค้าได้ และได้เริ่มเข้าไปฟื้นฟูโรงงานตั้งแต่เดือนธันวาคมในปีที่ผ่านมา ซึ่งในขณะนี้สามารถกลับมาผลิตสินค้าเพื่อตอบสนองความต้องของผู้บริโภคได้อย่างสมบูรณ์ 100% แล้ว โดยโรงงานแห่งใหม่ของโออิชินี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการสร้างความเติบโตในระยะยาวของบริษัท ที่มีนวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก ตอกย้ำวิสัยทัศน์และความพร้อมของโออิชิ ในการก้าวสู่ความเป็นผู้นำระดับโลกในธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มสไตล์ญี่ปุ่น
สำหรับการปรับปรุงและฟื้นฟูโรงงานในครั้งนี้ โออิชิยังคงใช้เทคโนโลยีการผลิตและบรรจุเย็นแบบปลอดเชื้อ (Cold Aseptic Filling) จากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งนับเป็นเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยที่สุดในโลก ยังเป็นโรงงานแห่งแรกในประเทศไทยที่นำเทคโนโลยีการผลิตแบบกรอง 2 ชั้น ในห้องฆ่าเชื้อ (Double Clean Room โรงงานแห่งใหม่ของโออิชินี้ ถือเป็นโรงงานผลิตและบรรจุเครื่องดื่มชาเขียวที่ผลิตได้เร็วที่สุด และใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ด้วยกำลังการผลิตแบบขวด PET จำนวน 600 ขวดต่อนาที โดยมีความสามารถในการผลิตแบบขวด PET จำนวนรวม 540 ล้านขวดต่อปี แบบกล่อง UHT จำนวน 360 ล้านกล่องต่อปี และแบบกระป๋อง จำนวน 260 ล้านกระป๋องต่อปี
นายอนิรุทธิ์ มหธร รองกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจเครื่องดื่ม กล่าวว่า ขณะนี้ โออิชิ มีความพร้อมอย่างเต็มที่ในด้านโรงงานและกำลังการผลิต เพื่อรองรับความต้องการของตลาดในการบริโภคที่สูงขึ้นทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ และพร้อมเดินหน้าตามแผนในการจัดกิจกรรมการตลาดสำคัญๆ ในช่วงหน้าร้อน ซึ่งมีแคมเปญใหญ่ที่มีการจัดต่อเนื่องมาตลอด 4 ปี และในปีที่ 5 นี้ ภายใต้แนวคิด “รวมที่สุดของทัวร์ยกแก๊ง” คือ แคมเปญ “โออิชิ ไปแต่ตัว...ทัวร์ยกแก๊ง 555” เป็นไฮไลต์ โดยถือเป็นช่วงไฮซีซันของธุรกิจเครื่องดื่ม ด้วยศักยภาพของการผลิตในขณะนี้ เรามั่นใจว่า จะสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างครอบคลุม และสร้างความเติบโตโดยรวมตามเป้าหมายที่วางไว้ที่ 6,700 ล้านบาท ณ สิ้นปี