xs
xsm
sm
md
lg

ศูนย์วิจัยฯ 3 จ.อันดามันทำสำเร็จ เลี้ยง “ปลากะรัง” มูลค่าสูงขาย ตปท.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายเชิดศักดิ์ วงศ์กมลชุณห์ รองอธิบดีกรมประมง พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง นำคณะสื่อมวลชน ร่วมติดตามความคืบหน้าการดำเนินโครงการ “ต้นแบบการผลิตพันธ์ปลากะรังที่มีมูลค่าสูงเชิงพาณิชย์” ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่ง จ.ภูเก็ต
ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่ง 3 จังหวัดอันดามัน ประสบความสำเร็จ โครงการ “ต้นแบบการผลิตพันธุ์ปลากะรังที่มีมูลค่าสูงเชิงพาณิชย์” ส่งเสริมเกษตรกรเลี้ยงปลากะรังส่งขายต่างประเทศ หลังสำนักพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) จำกัด (สวก.) หนุนงบ 28 ล้าน ให้ดำเนินโครงการ รองอธิบดีนำสื่อมวลชนดูงาน
คณะเดินทางลงไปปล่อยปลากะรังชนิดต่างๆจำนวน 300 ตัว ที่บริเวณหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งภูเก็ต
เมื่อเวลา 15.30 น.วันนี้ (25 มี.ค.) ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งภูเก็ต อ.ถลาง จ.ภูเก็ต นายเชิดศักดิ์ วงศ์กมลชุณห์ รองอธิบดีกรมประมง พร้อมด้วย เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง นำคณะสื่อมวลชน ร่วมติดตามความคืบหน้าการดำเนินโครงการ “ต้นแบบการผลิตพันธุ์ปลากะรังที่มีมูลค่าสูงเชิงพาณิชย์” ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่ง จ.ภูเก็ต ซึ่งก่อนที่จะเดินทางมายังจังหวัดภูเก็ต คณะได้ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการดำเนินโครงการที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งพังงา จ.พังงา มาแล้ว
นายเชิดศักดิ์ วงศ์กมลชุณห์ รองอธิบดีกรมประมง
ซึ่งการลงพื้นที่ในครั้งนี้ รองอธิบดี พร้อมคณะ ได้ร่วมกันปล่อยปลากะรังจุดฟ้า หรือปลาเก๋าจุดฟ้า ปลาหมอทะเล ปลากะรังเสือ หรือปลาเก๋าเสือ จำนวน 300 ตัว ลงทะลที่บริเวณหน้าศูนย์วิจัยฯภูเก็ตด้วย ซึ่งทั้งหมดเป็นปลาที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฟั่งพังงา กระบี่ และภูเก็ต ทำการศึกษาวิจัยเพื่อเป็นโครงการต้นแบบก่อนที่จะส่งเสริมให้เกษตรกรเพาะเลี้ยงเพื่อการส่งออก
ปลาหมอทะเลเป็นสัตว์เศรษฐกิจอีกตัวที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศ
นายเชิดศักดิ์ กล่าวว่า เมื่อปี 2554 ที่ผ่านมา กรมประมงได้ขอรับการสนับสนุนงบประมาณ จำนวน 28 ล้านบาท จากสำนักพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) จำกัด หรือ สวก. เพื่อนำมาดำเนินโครงการ “ต้นแบบการผลิตปลากะรังที่มีมูลค่าสูงเชิงพาณิชย์” ซึ่งเป็นการศึกษาวิจัยการเพาะเลี้ยงปลากะรัง หรือ ปลาเก๋า ซึ่งเป็นปลาชนิดที่มีมูลค่าสูง 3 ชนิดด้วยกัน โดยให้แต่ละศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งทั้ง 3 แห่ง ดำเนินการ ซึ่งประกอบด้วย ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งพังงา ศึกษาและวิจัยการเพาะเลี้ยงปลาเก๋าเสือ หรือปลากะรังเสือ ส่วนศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงกระบี่ ศึกษาและวิจัยการเพาะเลี้ยงปลาหมอทะเล สำหรับศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งภูเก็ต ศึกษาและวิจัยการเพาะเลี้ยงปลากะรังจุดฟ้า หรือปลาเก๋าจุดฟ้า ซึ่งปลาทั้ง 3 ชนิดเป็นปลาที่มีมูลค่าสูงมาก โดยปลากะรังจุดฟ้าสามารถจำหน่ายได้กิโลกรัมละ 1,200 บาท ปลาหมอทะเล จำหน่ายได้กิโลกรัมละ 500-600 บาท และปลาเก๋าเสือ จำหน่ายได้กิโลกรัมละประมาณ 450-500 บาท ซึ่งตลาดของปลาเหล่านี้เป็นการส่งขายในต่างประเทศทั้งสิ้น โดยประเทศที่รับซื้อปลาดังกล่าวมีทั้งฮ่องกง ใต้หวัน และจีน ซึ่งรับซื้อปลาเป็น
ปลาเก๋าเสือขนาด 2 นิ้วเมื่อเลี้ยงไป 1 ปี จะขายได้ราคาสูง
นายเชิดศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับการดำเนินโครงการ “ต้นแบบการผลิตพันธุ์ปลากะรังที่มีมูลค่าสูงเชิงพาณิชย์” นั้น ดำเนินการมาแล้วกว่าหนึ่งปี พบว่า ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก สามารถผลิตพันธุ์ปลาส่งขายให้กับเกษตรกรได้แล้ว 3 รุ่น ซึ่งการผลิตพันธุ์ปลานั้นยังไม่เพียงพอกับความต้องการของเกษตรกร โดยขณะนี้พันธุ์ลูกปลากะรังจุดฟ้าขายอยู่ที่นิ้วละ 30 บาท ปลาหมอทะเลขายอยู่ที่นิ้วละ 40 บาท และปลาเก๋าเสือ นิ้วละ 10 บาท เมื่อเกษตรกรนำไปเลี้ยงจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี - 1 ปีครึ่ง มีต้นทุนการเลี้ยงอยู่ที่ประมาณ 200-300 บาท แต่สามารถขายได้กิโลกรัมละ 500-1,200 บาท ซึ่งขึ้นอยู่กับชนิดของปลา อย่างไรก็ตาม จากการดำเนินโครงการดังกล่าวมาระยะหนึ่งทางศูนย์ทั้ง 3 แห่ง สามารถขายพันธุ์ปลาให้กับเกษตรกรได้แล้วประมาณ 5 ล้านบาท
ปลากะรังจุดฟ้าขนาด 8 ขีด ซึ่งสามารถจำหน่ายได้ราคาสูงกิโลกรัมละ 1,200 บาท
อย่างไรก็ตาม สำหรับการศึกษาวิจัยการเลี้ยงปลาทั้ง 3 ชนิด ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาพัฒนาในเรื่องของอาหารสำหรับเลี้ยงปลา โดยขณะนี้ปลาที่เลี้ยงยังเลี้ยงด้วยปลาเป็ด หรือปลาขนาดเล็ก ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาให้ปลากินอาหารเม็ด ซึ่งจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของเกษตรกรลงไปได้อีกมาก
กำลังโหลดความคิดเห็น